ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ม.วลัยลักษณ์ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียน
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ม.วลัยลักษณ์ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียน

        เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา จัดกิจกรรมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนานักศึกษาและบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับบริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด (Google Cloud Partner – Specialisation Education) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ดร. ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวนาท นันทพิชัย ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายพุทธรักษ์ มูลเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

        บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ บริษัท Google ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมมือด้านการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ เพื่อการดำเนินงานตามภารกิจเกิดประสิทธิภาพ ทั้งด้านการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรในด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการเรียนการสอนของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ วิชาชีพ การจัดแหล่งเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมกิจกรรมให้แก่หน่วยงานภาคีเครือข่าย รวมทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติอย่างยั่งยืน

        กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายของวันที่ 5 เป็นการอบรมเรื่อง การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร การทำงานบนระบบคลาวด์ และ การเรียนรู้การใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ Generative AI ในการบูรณาการเรียนการสอนด้วย Bard สำหรับหัวข้อการอบรมในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจะเน้นผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มครู อาจารย์โรงเรียนมัธยม ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ Be Internet Awesome เรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเป็นพลเมืองในโลกดิจิทัล , การลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงด้วยอุปกรณ์รุ่นเก่าที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่และเริ่มการใช้งาน Chrome OS ในโรงเรียนด้วย Chrome OS Flex และช่วงสุดท้ายของวันที่ 6 เป็นหัวข้อการอบรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในหัวข้อ การพัฒนาสร้างแอพพลิเคชั่นแบบไม่ต้องใช้โค้ด ด้วย Google Appsheet ซึ่งผู้เข้าอบรมทุกคนที่ทำแบบประเมินความพึงพอใจเรียบร้อยแล้ว จะได้รับใบประกาศนียบัตรออนไลน์จากศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์