การคิดสร้างสรรค์

สรุปเนื้อหาจากรายวิชา Thai Mooc Cu-Cu 009 ดร.ดรัณภพ เพียรจัด คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์

การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

การฝึกให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
กระบวนการฝึกคิดสร้างสรรค์
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางความคิดสามารถฝึกได้
โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2549) ได้นำเสนอแนวคิดการฝึก
ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้

.ฝึกสร้างจินตนาการอิสระ โดยลองฝึกสร้างจินตนาการให้กับสิ่งที่เราไม่เคยพบเห็นไม่เคยได้ยิน
สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีใครทำหากเราลองสร้างภาพขึ้น แล้วค้นหาว่าจินตนาการนั้นมีประโยชน์หรือไม่
เป็นไปได้หรือไม่ในโลกแห่งความจริง เช่น กำหนดหัวข้อการเขียนเรียงความแปลกๆเช่น เมื่อฉันได้เป็นรัฐมนตรีศึกษา หรือ ตี 2 ของคืนวันที่ 31 พฤษภาคมโดยตั้งเวลาเขียนสักประมาณ 1 ชั่วโมง
การตั้งเวลาจะช่วยบังคับให้จดจ่อกับการคิดและเขียนให้เสร็จตามเวลา แล้วให้ลองตอบว่า คุณได้อะไรจากสิ่งที่เขียนบ้าง จะพบว่าสิ่งที่ได้รับจะพบจินตนาการที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือการเชื่อมโยงเหตุผลที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้หรือตื่นเต้นเมื่อคิดสิ่งใหม่ๆได้หรือเพิ่งรู้ว่าเราเองก็มีความคิดดีๆ เหมือนกัน ซึ่งหากลองฝึกเขียนพร้อมกับเพื่อนจะพบว่าแต่ละคนจะมีจินตนาการเป็นของตนเอง แต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะเรื่องที่เขียนนั้นคิดขึ้นเอง ย่อมจะไม่ซ้ำในเนื้อหากับอีกหลายคนที่เขียนในเรื่องเดียวกัน

. ฝึกมองต่างมุม การมองสิ่งเดียวกันแต่แตกต่างไปจากเดิมทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในสิ่งเดียวกันซึ่งนิสัยของนักคิดสร้างสรรค์ จะมองตรงข้ามจากเดิมเพื่อหามุมมองใหม่ๆ ที่ต่างไปจากความเคยชินเดิมๆการฝึกมองแบบมีมิติจะขยายขอบเขตความคิดให้หลุดพ้นจากกรอบแนวคิดเดิมๆ ซึ่งเป็นประโยชน์เมื่อนำไปใช้ในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ฝึกขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ โดยการฝึกจินตนาการเพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของสิ่งนั้นๆ
ช่วยให้ความคิดของเราไม่ยึดติดกับการตีความ สิ่งนั้นเพียงมุมมองเดียวตามประสบการณ์ ความรู้ หรือความเคยชิน แต่เกิดความพยายาม ออกแรงคิดเพ่งพินิจในสิ่งเดียวกันนั้นให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ที่หลากหลายและไม่เคยคิดมาก่อนหลายคนแก้ปัญหาได้ดีกว่าบุคคลอื่นในสถานการณ์ต่างๆ
เพราะเขามีทางออกที่หลากหลายมากกว่า เพราะท่ามกลางความจำกัดของปัญหาที่เหมือนไม่มีทางออก
นักคิดสร้างสรรค์จะพยายามใช้อุปกรณ์หรือทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไป โดยมองนอกกรอบความจำกัดเดิมที่มีเพื่อความเป็นไปได้อื่นๆ หรือทางเลือกใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่คิดว่าน่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

.ฝึกตั้งคำถามแบบมองต่างมุม ซึ่งเมื่อพบปัญหาให้ลองตั้งคำถามว่าเรื่องนี้มองได้กี่มุมมอง มีความเป็นไปได้กี่หนทาง มีมุมมองที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด การมองต่างมุมควรเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามของปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหา ก่อนที่เราจะพยายามคิดหาคำตอบ เราควรตั้งคำถามเพื่อให้ตัวเราเองแน่ใจว่าสิ่งๆ นั้นเป็นปัญหาจริงๆ
อาจทำให้ค้นพบว่าเราค้นพบปัญหาที่แท้จริง ทำให้เราเห็นปัญหาที่สร้างสรรค์กว่า ยกตัวอย่างเช่น เราอยู่ในห้อง พักที่อากาศร้อนจะทำอย่างไรให้เย็นสบายซึ่งต้องตั้งคำถามว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน หากคิดว่าอากาศในห้องร้อน มักจะคิดต่อไปว่า เมื่อห้องร้อนจะหาทางออกคือทำอย่างไรให้ห้องเย็น ดังนั้นทางออกที่ทำให้ห้องเย็น เช่น ติดแอร์ เปิดพัดลมติดฉนวนกันความร้อน ปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้าน ในอีกมุมหนึ่ง หากเรามองต่างมุม
โดยมองกลับกันว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตัวเรา หากเราหันมาแก้ปัญหาที่ตัวเราเองคือทำอย่างไรให้ตัวเราเย็น
เราจะคิดทางออกในอีกมุมมองหนึ่ง เช่น อาบน้ำทาแป้งเย็น ดื่มน้ำเย็นซึ่งเป็นการปรับทัศนคติพยายามมองมุมใหม่แม้ร้อนเรายังทนได้ คิดในมุมบวกและค่อยๆ พิจารณาประเด็นที่ตรงประเด็นมากที่สุด

  • ฝึกเป็นคนไม่พอใจอะไรง่ายๆ
    โดยตั้งคำถามว่า ทำไม เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะยึดติดกับการตอบสนองสิ่งต่างๆ ตามความเคยชิน
    ในการแก้ปัญหาก็เช่นกัน เรามักใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จหรือลอกเลียนแบบผู้อื่น
    ยิ่งเรามีประสบการณ์มากครั้งเท่าไรว่าแนวทางนั้นใช้ได้ดี เรายิ่งยึดติดอยู่กับความคิดนั้นอยู่ร่ำไป
    ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีคำตอบที่ดีกว่าทางออกของปัญหานี้อาจมีหลากหลายทาง คำตอบที่ได้ในครั้งแรกอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด
  • ฝึกกระตุ้นความคิดด้วยคำถามว่า
    อะไรจะเกิดขึ้น…ถ้าซึ่งคำถามนี้จะช่วยให้เราสามารถมองข้ามกฎหรือสมมติฐานบางข้อที่เราเชื่อว่าเป็นจริง
    ทำให้ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยรู้มาก่อนกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆและถ้าเราคิดหาคำตอบด้วย เราคงต้องประหลาดใจกับสิ่งที่เราคิด อาจไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมมากมาย ที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นว่าคำถามดังกล่าวไม่ได้ทำให้เราได้ความคิดสร้างสรรค์ในทันทีทันใด
    แต่คำถามจะช่วยเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับความคิดใหม่ๆ ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จะช่วยให้เราแสวงหาหนทางใหม่ๆในการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น
  • ฝึกมองมุมตรงข้าม ตั้งคำถามและหาคำตอบการมองมุมใหม่ในทางตรงข้าม เช่น
    เปลี่ยนจาก มีเป็นไม่มี เปลี่ยนจากซ้ายเป็นขวา แล้วลองตั้งคำถามแปลกๆ เช่น ทำไมนาฬิกาเดินวนขวา
    จะเป็นอย่างไรถ้าโลกนี้ไม่มีไฟฟ้า คำถามเหล่านี้โดยปกติคนเรามักยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ โดยไม่คิดตั้งคำถามให้กับความธรรมดาที่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าเราคิดคำถามที่ไม่คุ้นเคย คำถามที่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้
    ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท้าทายกรอบความคิดหรือกรอบความเชื่อของเรา ที่คิดว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นไปสู่การ มองในมุมใหม่ จากนั้นท้าทายตนเองให้หาคำตอบ คำถามเหล่านั้นจะนำไปสู่การสืบค้น หรือการเห็นภาพใหม่ๆ
    จากสิ่งเดิมๆ ในเรื่องปกติที่ไม่เคยคิดว่าจะมีความเป็นไปได้
  • ฝึกเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะไม่จำกัดความคิดไว้ที่ความจริงทั่วไป
    หรือสิ่งที่เรายอมรับกัน แต่จะพยายามผสมผสานเชื่อมโยงในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีใครทำเช่นนั้นมาก่อนหรือกระทำในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยน โดยนำมาคิดต่อ ซึ่งอาจทำให้ได้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่มีใคเคยได้คิดมาก่อน เช่น ผ้าใช้หนุนนอน หากพิจารณาผ้าจะไม่มีรูปทรงที่นำมาใช้หนุนได้แต่ปัจจุบันมีคนนำผ้านำมาม้วน แล้วจัดเก็บให้เป็นหมอนหนุนนอนได้ในที่สุด เป็นต้น ซึ่งหากเป็นคนปกติจะคิดเพียงแค่ว่าผ้าก็นำมาใช้เช็ดตัวหรือห่มนอนไม่นิยมนำผ้ามาใช้หนุนนอน แต่พอเดินทางไกลๆ การผลิตหมอนผ้าทำให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นถ้าเราเป็นนักเชื่อมโยงที่เก่ง จะสามารถทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่
  • ฝึกคิดทางลัด เป็นการฝึกมองภาพรวมแล้วมุ่งผลไปที่เป้าหมายที่ต้องการได้มาโดยเฉพาะ ดังเช่นการเล่มเกมใช้ดินสอขีดหาเส้นทางในเขาวงกต คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะพยายามหาทางลัดสู่เป้าหมาย โดยมองภาพทั้งภาพพร้อมกัน และดูเฉพาะเส้นทางว่าช่องไหนเส้นทางปิด ถ้าปิดแสดงว่าไม่สามารถเดินต่อไปได้
    ถ้าเปิดแสดงว่าเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีเส้นทางเดียว ทำให้เราได้คำตอบที่เร็วกว่าที่จะต้องเดินจากทางเริ่มต้นที่กำหนดให้ การคิดตามกรอบที่เป็นมาที่ผู้คนทั่วไปยอมรับตามปกติ แม้ว่าจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ส่วนหนึ่งจะปิดกั้น
  • ฝึกค้นหาข้อบกพร่องเพื่อพัฒนา เพราะเมื่อเรามีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม คนที่ไม่คิดสร้างสรรค์จะตอบสนองปัญหาไปตามความเคยชิน หรือใช้วิธีแก้ปัญหาในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมา หรืออาจจะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของตนเองด้วยการใช้อารมณ์ หรือตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพื่อเอาชนะ โดยไม่ได้ยั้งคิด
    แต่ตรงกันข้าม คนที่คิดสร้างสรรค์นั้นจะพยายามหาทางเลือกใหม่ๆ แม้ในขณะที่ไม่เกิดปัญหาก็จะพยายามค้นหาข้อบกพร่อง จุดอ่อน ข้อจำกัด ของสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่โดยไม่คิดอะไร ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะตั้งเป้าหมายสูงกว่าความสามารถที่จะทำได้ และตั้งใจทำสิ่งที่เกินกว่าความสามารถที่จะทำได้จริง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องใช้จินตนาการ
    และออกแรงคิดสร้างสรรค์มากขึ้นไปอีก ดังนั้นเราควรพัฒนาตนเองและงานที่ทำอยู่เสมอ อย่ายอมให้เรามาถึงจุดที่รู้สึกว่าทำตามเป้าหมายทุกอย่างครบถ้วนแล้ว เราไม่มีอะไรที่จะทำอีกแล้ว เรามีเพียงพอแล้ว เราต้องตระหนักเสมอว่าสิ่งที่เราควรเป็นนั้น ต้องอยู่สูงกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า งานที่ทำอยู่มีปัญหาอะไรบ้าง หรือจุดอ่อนของตัวเราอยู่ตรงไหน จากนั้นจดรายการปัญหาหรือจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาออกมาให้หมด แต่ถ้าเราได้คำตอบว่า มันดีอยู่แล้ว เราจะต้องถามตัวเองว่า มันดีจริงๆ ใช่หรือไม่และจะดีได้กว่านี้อีกหรือไม่
  • ฝึกคิดเองทำเอง โดยลองจดปัญหาของตัวเองออกมาให้มากที่สุด แล้วลองคิดดูว่าคุณจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่ามีปัญหาจำนวนมากที่สามารถหาทางออกด้วยตนเองได้ แต่จะมีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ สาเหตุเกิดจากหลายครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นกับเรา
    เราจะไม่คิดแก้ไขอย่างจริงจังว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและยังคงเป็นปัญหาอยู่นั้น แท้จริงแล้วหลายปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพียงแต่เราปรับทัศนคติให้เป็นเชิงบวก
    และกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา

Visits: 125

Comments

comments

Back To Top