ศิลปะ หัตถกรรม และการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้

จากการที่ได้เรียนรู้ในหลักสูตร ThaiMooc เรื่อง ศิลปะ หัตถกรรม และการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ | Arts handicrafts and Traditional play of Southern  ของมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงขออนุญาตแนะนำความรู้ในบางส่วนที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังศึกษาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ หัตถกรรม และการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ของไทยเราว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องใดบ้าง ก่อนจะมีให้เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

ซึ่งคุณค่าของศิลปะที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ก่อน ศิลปะสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของผู้คนมาตลอด ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างอะไรขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก หรือเพื่อทุ่นแรงหรือเพื่อเป็นสิ่งที่เคารพบูชาศรัทธาต่าง ๆ คุณค่าในเรื่องความงามอาจจะเป็นลักษณะเชิงนามธรรมชนิดหนึ่งแต่ของที่มีแต่ละชิ้นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเราตั้งใจให้มันใช้สอยอย่างเดียว หรือว่าให้มันเกิดความงามขึ้นด้วย

เราอาจแบ่งหมวดเป็น แบ่งหมวดเป็นงานด้านศิลปะ แบบศิลปะบริสุทธิ์หรือว่าเป็นศิลปะประยุกต์ เราก็มองว่ามันมีประเภทของจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม นาฏยะกรรม คีตกรรมวรรณกรรม หรือประเภทอื่นๆ ที่เสริมเข้ามาในยุคปัจจุบัน เช่น ภาพนิ่ง อาจเป็นฟิล์มขาวดำ ฟิล์มเนกาทีฟหรือฟิล์มสไลด์ และล่าสุดคือภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ งานที่เป็นอนิเมชั่นหรือว่าฟิล์มภาพยนตร์  ถ้าเป็นลักษณะของจิตรกรรมก็จะเป็นพวกจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฎในถ้ำ ผนังโบสถ์ ในศาสนสถาน เป็นต้น 

ประเภทประติมากรรม ก็อาจจะมาจากฝั่งกัมพูชา เวียดนามหรือจีนตอนล่างาของภาคใต้ อย่างการแกะสลัก ที่ได้รับอิทธิพลมาทางใต้ อย่าง ศิลปะศรีวิชัย  พวกรูปปั้นต่างๆ ที่เด่นๆ จะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ อาจเป็นรูปปั้นพระพิฆเนศ หรือเทพต่างๆ

          ประเภทของสถาปัตยกรรม ก็จะเป็นจากอาคารบ้านเรือน เจดีย์ของภาคใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียหรือลังกา อาจเป็นทรงระฆังคว่ำ  ในยุคก่อนนั้น การสร้างอาคารบ้านเรือน จะได้ใช้ความรู้จากวัสดุและเทคนิควิธีการ ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมภาคใต้ ที่มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ถ้าบ้านเรือนหลังคาเนี่ยจะชันนิดนึง อาจมีภูมิปัญญาว่าเพื่อให้น้ำฝนมันลงไปอย่างเร็ว  ไม่รั่วซึม ปลูกบ้านยกพื้นสูง อาจมีตีนเสา เป็นปูน หิน หรือปะการัง เพื่อกันไม่ให้ความชื้นขึ้นมาที่เสาทำให้เสาผุ หรือพวกปลวกแมลงมาทำลายเสา 

ในด้านนาฏกรรม น่าจะเป็นการแสดงพวกหนังตะลุง โนรา หรือว่าลิเกฮูลู ที่เด่นๆ มีลิเกป่า รองเง็ง เป็นต้น เครื่องดนตรีของภาคใต้จะเป็นกลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง สังเกตว่าโนราจะมีทับเป็นหลัก  หนังตะลุงจะมีโหม่งเป็นตัวกำกับเสียง   ในทางภาคใต้จะมีอารมณ์ดนตรีในลักษณะ เร่งเร้า กระฉับกระเฉง คือปลุกให้ทุกคนได้ยิน ให้รู้สึกตื่นตัว

           ประเภทวรรณกรรม ก็จะมีนิทานประโลมโลก แล้วก็ตำรายา ตำรายาบางอย่างของภาคใต้ไม่เหมือนของภาคอื่น เนื่องจากต้องใช้สมุนไพรของท้องถิ่น ภาพยนตร์ที่ภาคใต้โด่งดังมาหลาย 10 ปีที่เป็นเชิงวัฒนธรรมเช่น ครูแก เป็นหนังที่บ่งบอกถึงหนังตะลุง หรือ เรื่องโนราหรือเทริด  ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมภาคใต้ได้มากขึ้น

          ในเรื่องของอัตลักษณ์ของจิตรกรรมภาคใต้ ถ้าย้อนไปในอดีต จะเห็นถึงภาพเขียนในผนังถ้ำ หรือการวาดลวดลายลงที่เรือกอและ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเป็นหลัก

          ประเภทหัตถกรรมของภาคใต้ ก็คล้ายๆ ภาคอื่น แต่ที่พอปรากฎอยู่บ้างก็น่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะถิ่น ที่เกี่ยวกับการประมงทางทะเล เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือวิถีชีวิตของผู้คนภาคใต้

ความหมายของหัตถกรรม คือ สิ่งที่ผู้คนสร้างสรรค์ขึ้นด้วยมือเพื่อประโยชน์ใช้สอย ถ้าอธิบายเพิ่มขึ้นในเรื่องความหมาย หัตถกรรมอาจจะกินความไปถึงสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันใช้ในโอกาสพิเศษหรือใช้ในพิธีกรรม อาจจะมีเครื่องมือทุ่นแรงเข้ามาช่วยบ้างก็ได้แต่เป็นการคิดและสร้างสรรค์และก็ใช้องค์ประกอบของวัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก ขอยกตัวอย่าง

  1. กระจูด – ในภาคใต้มีที่สุราษฎร์ พัทลุง เป็นหลัก ในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลารวมไปถึงอำเภอชะอวด บริเวณพรุ ควนเคร็ง อำเภอชะอวด บริเวณพรุ ควนเคร็ง แล้วก็จังหวัดสงขลาก็มีในพื้นที่ริมชายฝั่งแถบเทพา จะนะ แถบนราธิวาส  แถบพรุโต๊ะแดง  เพราะฉะนั้นกระจุดแต่ละแหล่งจะมีรูปทรงมีลักษณะพันธุ์เฉพาะ   กระจูดที่นิยมนำมาผลิตส่วนมากเขาจะเลือกที่ต้นตั้งแต่โคนถึงปลาย  คุณสมบัติกระจูดเมื่อมีความอ่อนตัวแล้ว  มีความบาง ชาวบ้านนำมาทำผลิตภัณฑ์ พวกเสื่อกระจูดหรือว่าพวกกระเป๋ากระสอบต่าง ๆ  คุณสมบัติอีกอย่างของกระจูดก็คือ มันสามารถยอมให้สีเข้าไปปะปนได้  กระบวนการในการผลิตกระจูดจากต้นกลมให้เป็นต้นแบน  อาจจะโดยการรีด 
  2. คล้า หรือ คลุ้ม  –  คุณสมบัติของมัน   มันจะแข็งแรงผิวมันจะมัน ลื่น   จะนำมาผลิตเป็นเสื่อ แล้วก็เป็นที่นิยมในคณะโนรา ทำให้การสืบเท้า การเคลื่อนเท้า มันไม่สะดุดติดกับพื้น
  3. ไม้ไผ่ – คือนำมาผลิตพวกเครื่องจักสานหรือว่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการจับสัตว์  พวกไซ  พวกสุ่ม  หรือในส่วนของฝาผนังเรือนที่เป็นไม้ไผ่สานขัดแตะเป็นลวดลายต่าง ๆ  ไม้ไผ่นั้นก่อนที่นำมาขึ้นรูปหรือมาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาจจะแช่น้ำก่อนหรือว่ารมควันเพื่อไม่ให้มอดหรือแมลงทำลายไม้ไผ่
  4. ดินหรือทราย – พวกเครื่องปั้นดินเผา ส่วนประกอบของวัสดุที่นำมาทำเครื่องปั้นดินเผานี้ก็จะเป็นดินเหนียว อาจจะเป็นดินริมคลองบ้างหรือดินริมชายทะเล  ถ้ามีธาตุเหล็กผสมอยู่ดินเผาชนิดนั้นก็จะมีความแกร่งขึ้น ถ้าเราเคาะดินเผาชนิดนั้นก็จะก้องกังวาน
  5. เครื่องแต่งกาย (ผ้า) –  ผ้าที่มีใช้ที่เป็นงานหัตถกรรม   ก็คือผ้าทอมือประเภทต่าง ๆ เราจะแบ่งย่อยเป็นผ้าทอที่เป็นผ้าพื้น ลักษณะคือเป็นสีเดียว เป็นผ้าพื้นสีดำทั้งผืน หรือว่าสีกรมท่าทั้งผืน  นอกจากนั้นก็มีผ้าทอยกดอกที่เป็นของกลุ่มเกษตรกร  กลุ่มผ้าทอต่าง ๆ ที่ปรากฏเราอาจจะเรียกชื่อตามแหล่งผลิตอย่างเช่น ผ้ายกเมืองนคร ผ้าทอนาหมื่นศรีที่จังหวัดตรัง   ผ้าทอเกาะยอของสงขลา  ยังมีผ้าที่เราผลิตหรือว่าเราสร้างสรรค์จากผ้าพื้นที่เราพบเห็นทั่วไปอย่างเช่น ผ้าปาเต๊ะ   หรือว่าผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมต่าง ๆ  นอกจากผ้าที่เป็นผ้าชิ้นก็ยังมีผ้าที่เราเอามาทำหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ อย่างเช่นหมวก หมวกกะปิเยาะหรือว่าฮิญาบที่ใช้คุมศีรษะ  เป็นต้น
  6. ลิเภา – ลิเภาจะเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง เราก็ลอกมาแต่เส้น ลิเภามีความเหนียวแล้วก็ให้ตัวในความยืดหยุ่นสูง งานลิเภาที่เห็นก็จะเป็นพวกกระเป๋าหลัก ๆ เป็นพวกกระเป๋า   หรือว่าตะกร้า มูลค่าในการจำหน่ายอาจจะสูงสักนิดนึง  ก็จะมีที่นครศรีธรรมราช   คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของลิเภาเมื่อนำมาจักสานให้ชิดกันแล้วก็อาจจะใช้วัสดุปิดทับเป็นพวกชัน   พวกยางพืชชนิดต่าง ๆ มันสามารถกันน้ำได้ 
  7. เครื่องหวาย – ไม้หวาย  มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษก็คือมันอ่อนตัวได้เยอะ  สามารถดัดโค้งได้เยอะ  เราจะพบเห็นในงานเครื่องเรือน  เป็นต้น
ตัวอย่าง เครื่องหวาย

วัฒนธรรมการใช้สอยหัตถกรรมในภาคใต้ เรายึดวัฒนธรรมเป็นหลัก เช่น วัฒนธรรมการใช้สอยเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในครัวเรือน หรือว่ากลุ่มของใช้เพื่อการเกษตร ใช้เพื่อการดำรงชีพ ใช้เพื่อการจับสัตว์ หรือว่าใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

          ทางด้านวัฒนธรรมการใช้สอยในด้านกสิกรรม อย่างการทำนา ก็จะมีคันไถ แอก การเก็บข้าวก็จะเป็นแกะ  กรูด หรือเคียว  การทำสวนยางก็จะมีมีดกรีดยาง ถ้วยรับน้ำยาง   การทำสวนไร่นา ก็จะมีโซงโลงไว้วิดน้ำ บุ้งกี๋ เป็นต้น 

เครื่องใช้ในพิธีกรรม อย่างเช่น กริช กริชนอกจากการใช้งานที่เป็นอาวุธหรือเป็นเครื่องประกอบต่าง ๆ ส่วนหนึ่งของกริชยังนำมาใช้ในพิธีกรรมอาจจะเป็นพิธีกรรมการแต่งงานของบางวัฒนธรรมก็มีการใช้กริชประกอบ หรือว่าในการทำพิธีกรรมของโนรา เป็นต้น  หรือมีดหมอ ใช้ในการตัดขาดจากบางสิ่งบางอย่าง ตัดจากความเชื่อ ตัดจากการผูกโยงหรือหมั้นหมายอะไรต่างๆ

          เครื่องมือจับสัตว์ – ไม่ว่าจะเป็น ไซนั่ง ไซนอน ไซธนู   ข้องต่างๆ   ไม่ว่าจะเป็นข้องบา หรือว่าเป็นข้องเป็ด  นอกจากนั้นก็มีการเครื่องมือที่ใช้ขังสัตว์ด้วย  เช่น พวกตรอม ที่ใช้กักขังนกหรือสัตว์ใหญ่  ถ้าเป็นเสือก็ใช้จั่นดัก ส่วนสัตว์น้ำบางอย่างก็จะไปอยู่ในพวกการประมงเกี่ยวกับประมงชายฝั่ง หรือว่าทะเลก็จะเป็นจำพวกอวน 

          วัฒนธรรมการใช้สอยเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย   ถ้ามองในเชิงของหัตถกรรม เราอาจจะเห็นการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรือนเครื่องผูก หรือเรือนเครื่องสับ แล้วก็ยังมีลักษณะที่อยู่อาศัยหรือบ้านเรือนที่ขนาดเล็กๆ อย่างเช่นขนำที่เป็นขนาดเล็กหรือว่าที่เขาเรียกว่าเป็นห้าง

          ส่วนวัฒนธรรมการใช้สอยที่ไม่มีหมวดหมู่ ที่เรียกว่า งานเบ็ดเตล็ด ส่วนมากจะเป็นงานที่ทำขึ้นเฉพาะกิจหรือว่าเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ในยุคปัจจุบัน อย่างเช่น พวกของที่ระลึกประเภทต่างๆ ที่เป็นงานหัตถกรรม  หรือของที่ผลิตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมการใช้งานอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น กระถางต้นไม้ที่เราไม่ได้จับอยู่ในกลุ่มของที่อยู่อาศัย หรือว่าบ้านเรือน  หรือว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือว่าพวกภาชนะ พวกกระเป๋าต่างๆ  

อัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมภาคใต้  

เราอาจแบ่งเป็นประเภท หรือแบ่งตามวัสดุที่ผลิตจะง่ายกว่า เช่น

  1. วัสดุที่ทำมาจากดิน เครื่องปั้นดินเผา จุดเด่นจะอยู่ที่การผลิตดินเผาที่มีมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะแถบสงขลา  ก็มีหม้อก้นกลม หม้อดินเผาก้นกลม หรือว่าจะเป็นสวดหรือว่าหวด ที่เขาใช้หุงข้าวเหนียว อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะ ที่มีเฉพาะในพื้นที่นี้ จุดเด่นที่เราจะสังเกตุได้ง่าย การผลิตดินเผาในภาคใต้โดยเฉพาะสงขลา แถบนครศรีธรรมราช มีอายุยาวนานเป็นพันปีมาแล้ว ปัจจุบันอาจเหลือน้อย เพียงไม่กี่แหล่งแค่นั้นเอง  ลักษณะเด่นของดิน คล้ายกับดินดิบ ไม่มีการเคลือบ เป็นแบบดั้งเดิม
  2. เครื่องทอ หรือ จำพวกผ้า เครื่องทอในภาคใต้ มีสองรูปแบบ อันแรกก็คือ เป็นการทอผ้า อันที่สองเป็นการทอเสื่อ  การทอเสื่ออยู่แถวทางโซนตะวันตกแถบกระบี่ หรือพังงา ลักษณะเด่นของผ้าทอพื้นบ้านอาจเป็นการยกดอกที่มีลวดลายเฉพาะ อาจเป็นลวดลายที่ประยุกต์มาจากพืชหรือสัตว์ในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีผ้าที่เป็นผ้าพิมพ์ โดยใช้เทียนพิมพ์ ที่เรารู้จักในผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะ  อย่างชาวไทยมุสลิมนิยมใช้อาจเป็นการมัดย้อมคล้ายกับมัดหมี่ หรือผ้าจวนตานี มีลานร่องจุงที่เป็นลักษณะเฉพาะ    อย่างผ้าพานช้างที่จังหวัดตรัง ที่ชุมชนนาหมื่นสี จะเป็นการทอตัวอักษร ใช้ผ้านี้เฉพาะในพิธีกรรมความตาย เป็นการใช้ผ้าทอดระหว่างโลงศพกับผ้าไตร
  3.  ที่มองตามวัตถุดิบ วัสดุที่ผลิต ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น ประเภทหนังหรือเครื่องหนัง ใช้หนังเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่เด่นมากๆ ก็คือ รูปหนังตะลุง ทำจากหนังวัว เนื่องจากมีลักษณะโปร่งแสงมาก ทำให้การลงสี ฉายแสงผ่านรูปตัวหนังไป ก็จะปรากฏสีสวยงาม
  4. ที่เป็นโลหะ เครื่องไม้ เครื่องมือ ที่ใช้โลหะในการผลิตที่โดดเด่น คือ กริช  ภาคใต้ที่นิยมใช้และผลิตกัน ก็มี ตระกูลกริชปัตตานี  อีกตระกูลหนึ่งก็คือ ตระกูลกริชสงขลา นครศรีธรรมราช นอกจากนั้นก็จะเป็นกริชที่เป็นของเพื่อนบ้านเราแถบภาคใต้ที่มีการผลิตด้วย นอกจากนี้ก็จะมีพวกมีดพร้า บางพื้นที่เรียก มีดง้อ ที่เด่นๆ และขึ้นชื่อ คือ ที่น้ำน้อย จังหวัดสงขลา ก็จะมีการผลิตพร้า และอีกแหล่งหนึ่ง คือ ที่จังหวัดตรังที่นาป้อ  อันนี้ถือว่ามีชื่อเสียงมานาน หรืออุปกรณ์ในการทำเส้นขนมจีน ที่เป็นตัวบีบเส้น ที่เป็นโลหะชนิดทองเหลือง แล้วก็จะมีพวกหม้อทองเหลือง
  5. กลุ่มงานหัตถกรรม ที่เป็นของใช้ในอดีต ได้แก่ 1. วัสดุที่ทำจากหิน กลุ่มที่ใช้ในความเชื่อและพิธีกรรม ก็คือศิวลึงค์ กับแท่นโยนีทาละ ที่ใช้ในพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์  ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว เราก็พบแค่จัดแสงในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  อีกอย่างหนึ่งที่เราพบเห็นตามบ้านเรือนอยู่บ้างก็คือ ครกบด อาจเป็นครกบดยาหรือจะเป็นครกที่เป็นโม้ ที่ไว้โม้แป้ง 2. กลุ่มเครื่องรัก ที่ผลิตมาจากยางรัก งานลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ก็จะอยู่ในโบสถ์ในวัดเป็นส่วนใหญ่ หรือลงรักเป็นเครื่องมุก  กลุ่มต่อมาก็คือ กลุ่มเครื่องกระดาษ ก่อนหน้าจะมีหนังสือบุด ก็คือ สมุดไทย ที่เป็นระบบพับ หรือระบบเป็นแผ่น  นอกจากนั้นกระดาษก็ยังเป็นส่วนประกอบการผลิตว่าว

อัตลักษณ์ของหัตถกรรมของภาคใต้ที่โดดเด่นจริงๆ ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น ประเภทงานจักสาน คือการนำจักตอกมาสานมาขัดกัน อย่าง เสื่อกระจูด กระเป๋า  ในภาคใต้แหล่งหลักๆ คือ นราธิวาส พัทลุง สุราษฎร์ นคร   ถ้าเป็นพวกไม้ไผ่ หรือหวาย ก็จะเป็นพวก กระด้งฝัดข้าวของภาคใต้  ลักษณะเฉพาะคือ การที่มีข้อไม้ไผ่อยู่บนกระด้ง เวลาฝัดข้าว มันจะเป็นตัวแยกข้าวเปลือก  แกลบ อันนี้เป็นลักษณะเด่น

คุณค่าของงานหัตถกรรม  

ประการที่ 1 น่าจะเป็นในเรื่องของการใช้สอย เพื่อความสะดวกของผู้ใช้  ประเด็นต่อมาก็น่าจะเป็นเกี่ยวกับความเชื่อหรือว่าค่านิยม ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตก็เลยใช้ความรู้สึกนึกคิดของตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำรูปแบบหรือวาดลวดลายต่างๆ อาจจะมีเรื่องคติความเชื่อของสังคมหรือท้องถิ่นนั้นๆ   รูปแบบอาจเป็นรูปทรงของสัตว์ในท้องถิ่นหรือว่าเป็นสัตว์ทีอยู่ในความเชื่อต่างๆ  แล้วก็พวกพันธุ์ไม้ก็จะเลือกพันธุ์ไม้ที่เชื่อเป็นมงคล มาเป็นองค์ประกอบ

          ประการที่ 2 คือ เรื่องของสิ่งที่บ่งชึ้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของท้องถิ่นนั้นๆ ว่านำวัสดุอะไรมาทำ อย่างเช่น เราไปมองคันไถ หรือว่าแอกที่ใช้ในอาชีพทำนา ก็พอจะประเมินได้ว่าในพื้นที่บริเวณนั้น ในอดีตน่าจะมีการทำนาเกิดขึ้น

          ประการที่ 3 คือ ความงาม เนื่องจากผู้ทำประดิษฐ์ประดอยตั้งใจทำของชิ้นนั้นเพื่อใช้สอยเอง ส่วนหนึ่งก็จะเป็นศิลปหัตถกรรมที่ใช้ในการบูชาเป็นพุทธบูชาหรือใช้ในพิธีกรรม ก็จะมีความวิจิตรงดงามน่าสนใจ

          ประการที่ 4 คือ น่าจะเป็นสิ่งที่บอกถึงเอกลักษณ์ของสังคมนั้น ๆ เนื่องจากหัตถกรรม ที่ผลิตขึ้นมาก็จะใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นคราวนี้ทรัพยากรท้องถิ่น

ประการที่ 5 คือ คุณค่าในเรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อก่อนงานหัตถกรรมจะผลิตขึ้นเพื่อใช้สอยในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ในระยะหลัง ๆ หรือปัจจุบันงานหัตถกรรมนิยมผลิตเพื่อเป็นการสร้างรายได้ ส่วนหนึ่งก็นำมาประยุกต์แล้วก็ทำเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน ชุมชนหรือว่าของตำบลซึ่งสร้างมูลค่าจากวัตถุดิบท้องถิ่นทำให้มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นปรากฏพร้อมกับหัตถกรรมประจำท้องถิ่น เมื่อมีการผลิตขึ้นมาโครงสร้างของสังคมที่อยู่ในอาณาบริเวณนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการผลิตหัตถกรรมชิ้นนั้น ๆ อันนี้พอเรามองเชื่อมโยงมาด้านเศรษฐกิจมันเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  การบริหารจัดการเกี่ยวกับวัตถุดิบก็มีกระบวนการเกิดขึ้นตามมา จากนั้นเมื่อมีวัตถุดิบและการสร้างสรรค์ของมันใช้แรงงานมันต้องใช้ฝีมือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่ผลิตรายใหม่  หรือว่ารุ่นลูกหลานที่มาต่อช่วงก็จะมีกระบวนการเรียนรู้เพิ่มขึ้น  รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ด้านการตลาดว่าปัจจุบันหัตถกรรมชิ้นนั้น ๆ ตลาดต้องการรูปแบบต้องการรูปทรง สีสันอย่างไรเพื่อตอบสนองอันนี้ทำให้สังคมบริเวณนั้นขยับตัว เมื่อผลิตเศรษฐกิจแล้วเสร็จขั้นตอนต่อไปน่าจะเป็นส่วนของการจัดจำหน่ายก็จะมีกรอบคิดหรือกระบวนการเพิ่มขึ้นมาก็คือ ขึ้นมาก็คือจำหน่ายเป็นลักษณะเป็นตัวแทนหรือว่าเป็นจำหน่ายแบบปลีกเป็นรายชิ้น  เป็นผู้จำหน่ายเองหรือเป็นผู้ผลิตและมีผู้รับมาจำหน่าย สังคมมันก็เริ่มมีกระบวนการ  มีการเก็บสินค้าในการจัดส่งไปให้เพียงพอกับความต้องการของผู้นำไปจำหน่ายต่อหรือตามตลาด กลุ่มตัวอย่างอย่างเช่น กลุ่มผ้าพวกผ้าทอพื้นเมืองต่าง ๆ

แนวทางการอนุรักษ์ท้องถิ่นภาคใต้

การอนุรักษ์เรามองได้หลายแง่มุม เราอาจมองไปที่เราจะอนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิมอย่างไร ในเรื่องของการอนุรักษ์ อาจมีการต้องบันทึกเก็บข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับหัตกรรมชิ้นนั้น ๆ ว่ามีการผลิต สร้างสรรค์อย่างไร อนุรักษ์เพื่อให้มันรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ นอกจากนั้นในการอนุรักษ์จะกินความกว้างไปถึงการดูแลรักษาให้มันคงสภาพอยู่  เพราะอาจมีการเสื่อม มีการผุพัง ตามสภาพการใช้งาน ตามสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในส่วนตรงนี้  ผู้ใช้เอง ผลิตเอง  จำเป็นต้องมีภูมิปัญญา ในการอนุรักษ์   การรักษารูปแบบของหัตถกรรม การรักษาวัตถุดิบ คือ ให้ยืนพื้นวัตถุดิบดั้งเดิมไว้ก่อน นี้อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่เขาใช้กันในการอนุรักษ์  การอนุรักษ์ยังมีผลสืบเนื่องอีก เมื่อผ่านไปอีกหนึ่งรุ่น ในรุ่นของลูกหลานจะสืบทอดอย่างไรในการอนุรักษ์ อาจมีการถ่ายทอดในระดับครอบครัว  หรืออาจเป็นกิจกรรมที่ชุมชนร่วมกันทำขึ้น หรือแม้กระทั้งหน่วยงานการศึกษาของท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานพื้นฐานระดับประถม ก็สามารถนำการอนุรักษณ์มาเล่าสู่กันฟัง

การละเล่นของท้องถิ่นในภาคใต้ 

ในความหมายจริง ๆ ก็คือเป็นมหรสพของท้องถิ่น ที่มีอยู่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับผู้คนในท้องถิ่น   เราอาจจะแบ่งเป็นการแสดงที่อิงกับพิธีกรรม อาจจะแบ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อบูชาทางศาสนาหรือพิธีกรรมความเชื่อในธรรมชาติ หรือว่าเราจะแบ่งประเภทอีกแบบหนึ่ง เป็นการแสดงที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับศาสนานั้น ๆ หรือว่าเกี่ยวข้องกับตามกลุ่มชน  เป็นชาวเล เป็นชาวถ้ำหรือผู้คนที่อยู่ในพื้นราบ  หรือประเภทที่ใช้ตัวแสดง ที่ใช้ตัวแสดงที่เป็นผู้คนก็อย่างเช่น กลุ่มโนรานะครับ ลิเกฮูลู กลุ่มพวกนี้ก็จะใช้ผู้คนเป็นนักแสดงอีกประเภทหนึ่งก็ใช้อุปกรณ์บางสิ่งบางอย่างเป็นตัวแสดง อย่างเช่น หนังตะลุงเนี่ยใช้รูปหนังเป็นตัวแสดง หรือประเภทที่เป็นการละเล่นที่ไม่มีตัวแสดง เช่น กาหลอ กาหลอเนี่ยใช้เฉพาะเสียงอย่างเดียวไม่มีการร่ายรำ  ในอดีตโนราจะมีนักแสดงเฉพาะผู้ชายเป็นชายล้วน พอยุคต่อมาก็เริ่มมีหญิงเข้ามาแสดง เริ่มมีจำนวนหรือสัดส่วนมากกว่าชายแล้ว    อัตลักษณ์หนังตะลุงก็น่าจะเป็นการเล่นกับแสงและเงาใช้ผู้เชิด ปัจจุบันใช้ผู้เชิดคนเดียวแล้วก็มีดนตรีประกอบมีองค์ประกอบของการละเล่นนั้น ๆ โนราอาจจะเป็นมหรสพเพียงอย่างเดียวที่มีชุดมีเครื่องแบบของโนราเนี่ยเป็นลักษณะเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ชุดเป็นชุดลูกปัดแล้วก็สวมเทริด   มีความเชื่อหรือเข้าใจกันว่าโนราเนี่ยเป็นตัวแทนของกษัตริย์  ส่วนลิเกฮูลูสร้างความสนุกสนาน แล้วก็ความเพลิดเพลินจากผู้ที่ขับร้อง    กาหลอจะมีเครื่องดนตรีเฉพาะ เสียงกาหลอจะโหยหวนในอดีตอาจจะมีเล่นเฉพาะงานศพ เนื่องจากเสียงปี่ ที่เศร้า   หรือ ลิเกป่าก็จะมีแขกแดงมีการร่ายรำต่างๆ  

เกษตรกรรมการทำสวนยางของชาวภาคใต้

ท้ายที่สุดก็อยากให้ทุกคนได้คิด ได้เข้าใจว่าเราควรจะอนุรักษ์ศิลปะทั้งหมดไว้ให้ดีที่สุดอย่างไรกันบ้าง เพื่อศิลปะภาคใต้จะได้อยู่คู่กับชาติไทยสืบไป

และหากท่านสนใจรายละเอียดที่ชัดเจนของเนื้อหาในรายวิชานี้ สามารถติดตามเรียนเพิ่มเติมได้จากหลักสูตร ThaiMooc เรื่อง ศิลปะ หัตถกรรม และการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ | Arts handicrafts and Traditional play of Southern  ของมหาวิทยาลัยทักษิณ

ที่มา https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:TSU+TSU002+2019/course/

เจ้าของผลงาน จริยา รัตนพันธุ์

Visits: 29

Comments

comments

Back To Top