การสาธารณสุขพื้นฐาน

ซึ่งจากการที่ได้เรียนรู้ในรายวิชาดังกล่าวนี้ จึงขอแนะนำความรู้ในบางส่วนที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่ทำงานในหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขพื้นฐาน หรืองานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อจะได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นในกรณีฉุกเฉินได้

มาเรียนรู้ “หลักการปฐมพยาบาล กรณีถูกสัตว์กัด มีแผลไหม้ และกระดูกหัก” กันเลยค่ะ

เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นในกรณีฉุกเฉินค่ะ

มาเรียนรู้กันเลยค่ะ

การปฐมพยาบาล กรณีถูกสัตว์กัด มีแผลไหม้ และกระดูกหัก          

การปฐมพยาบาล หมายถึง การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยเจ็บ ก่อนที่จะนำส่งสถานพยาบาล หรือได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป (สุริยา ณ นคร & สุชีพ ช้างเสวก, 2562)

วัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เพื่อป้องกันหรือช่วยไม่ให้ผู่ป่วยเจ็บเสียชีวิต เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยเจ็บ และ เพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว

หลักการปฐมพยาบาล คือ อย่าตื่นเต้น ตกใจ สังเกตอาการผู้บาดเจ็บ ให้การปฐมพยาบาลตามลำดับความสำคัญ และนำส่งโรงพยาบาล (กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2017)

การปฐมพยาบาลกรณีถูกสัตว์กัด

  1. การปฐมพยาบาลกรณีถูกงูกัด

ขั้นตอนการปฐมพยาบาล

  1. ทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกงูกัด โดยการใช้น้ำเกลือหรือหากไม่มีน้ำเกลือ สามารถใช้น้ำสะอาดล้างแทนได้
  2. พันแผลด้วยผ้า โดยเริ่มต้นจากการพันตั้งแต่รอยแผล พันขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงข้อต่อของอวัยวะนั้น ๆ เช่น ถ้างูกัดข้อเท้าให้พันจากแผลบริเวณข้อเท้าขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงเท้าหรือพันเหนือแผลให้มากที่สุด
  3. หลังจากนั้นให้ใช้ไม้กระดานหรือของแข็งตามและพันด้วยผ้าอีกครั้ง เป็นการเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด
  4. จัดท่าผู้ป่วย โดยให้อวัยวะที่ถูกกัดอยู่ต่ำกว่าหัวใจตลอดเวลา
  5. รีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  6. อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ พยาบาลจดจำลักษณะงู หรืออาจถ่ายภาพมาให้แพทย์ดู เพื่อความถูกต้องในการได้รับการรักษา

2. การปฐมพยาบาลกรณีถูกสุนัขหรือแมวกัด

ขั้นตอนการปฐมพยาบาล

การปฐมพยาบาลกรณีถูกสุนัขหรือแมวกัดสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  • กรณีแผลไม่กว้างมาก – ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำที่มีการไหลตลอดเวลากับสบู่อ่อน ๆ หลาย ๆ ครั้ง นาน 3-5 นาที แล้วรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
  • กรณีแผลกว้าง และลึกมาก หรือมีอาการเลือดไหลไม่หยุด – ให้ใช้ผ้าสะอาดกดแผลและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาลกรณีมีแผลไหม้ – สาเหตุที่พบบ่อย คือ แผลไหม้จากน้ำร้อนลวก และ แผลไหม้จากไฟฟ้า

  • การปฐมพยาบาลกรณีมีแผลไหม้จากน้ำร้อนลวก

          สามารถปฏิบัติตามหลัก 3C คือ

C ที่ 1 คือ Cool คือการทำให้บริเวณแผลเย็นลง ลงโดยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านบริเวณแผลเบา ๆ อย่างต่อเนื่องนาน 15-20 นาที ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเย็น สามารถใช้น้ำอุณหภูมิห้องได้

C ที่ 2 คือ Clear หลังถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกให้รีบถอดเสื้อหรือเครื่องประดับโลหะที่กำลังไหม้ หรือมีความร้อนอยู่ออกโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหลังการเกิดแผลแล้วผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวจะบวมขึ้นทำให้ถอดไม่ออกได้ในภายหลัง แต่ถ้าเสื้อผ้ายึดติดกับแผลไปแล้ว ห้ามดึงออกเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น

C ที่ 3 คือ Cover หลังจากเปิดน้ำไหลผ่านแผลและถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ออกแล้วให้รีบปิดแผล หลีกเลี่ยงวัสดุที่อาจจะยึดติดกับเนื้อเยื่อของแผลได้ เช่น สำลี ผ้าไหมพรม

  • การปฐมพยาบาลกรณีมีแผลไหม้จากไฟฟ้าช็อต

          ขั้นตอนการปฐมพยาบาลกรณีมีแผลไหม้จากไฟฟ้าช็อต มีดังนี้

ตั้งสติ อย่าเพิ่งสัมผัสผู้ที่โดนไฟช็อตหรือไฟดูดเด็ดขาด สิ่งที่ควรทำเป็นสิ่งแรก คือ มองหาแหล่งจ่ายไฟ ตัดแหล่งจ่ายไฟในบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตัวผู้ช่วยเหลือเองและผู้บาดเจ็บ เพราะถ้าไม่ตัดแหล่งจ่ายไฟก่อน หากสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตอยู่กระแสไฟก็จะไหลผ่านตัวผู้ช่วยเหลือด้วย

หลังจากตัดกระแสไฟแล้ว ให้ประเมินผู้บาดเจ็บโดยการปลุกเรียกเพื่อประเมินความรู้สึก หากไม่ตอบสนองให้ประเมินการหายใจและชีพจร หากไม่พบชีพจรให้ช่วยเหลือโดยการทำ CPR ต่อไป

ก่อนนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลให้ห่มตัวผู้บาดเจ็บด้วยผ้าแห้งและสะอาด เพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกายของผู้ป่วย

สิ่งต้องห้ามในการให้การปฐมพยาบาลกรณีมีแผลไหม้จากไฟฟ้าช็อต คือ การห้ามราดน้ำลงบนแผลของผู้บาดเจ็บโดยเด็ดขาด อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บมากขึ้น

การปฐมพยาบาลกรณีกระดูกหัก

          การปฐมพยาบาลกรณีกระดูกหักสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กระดูกหักแบบปิดและกระดูกหักแบบเปิด ซึ่งในกรณีกระดูกหักแบบเปิดจะสามารถเห็นกระดูกโผล่พ้นเนื้อออกมาภายนอกร่างกายจึงสามารถทราบได้ทันทีว่ามีการหักของกระดูกเกิดขึ้น แต่ในกรณีกระดูกหักแบบปิดซึ่งมองไม่เห็นกระดูกที่โผล่ออกมาสามารถทราบได้ว่ามีการหักของกระดูกภายในได้จากอาการดังนี้ คือ อวัยวะผิดรูป รยางค์สั้นลง ปวด บวม และจะได้ยินเสียงกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหว

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลกรณีกระดูกแขนท่อนบนหัก ใช้อุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในบริเวณนั้น เช่น ไม้ หรือ กระดาษแข็ง มาดามตั้งแต่หัวไหล่จนถึงข้อมือ หลังจากนั้นใช้ผ้าพันยึดให้กระชับ

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลกรณีกระดูกแขนท่อนล่างหัก ใช้ผ้าพับเป็นรูปสามเหลี่ยม นำผ้ามารองใต้บริเวณที่กระดูกหัก โดยให้ยอดของสามเหลี่ยมอยู่บริเวณศอก หลังจากนั้นผูกปลายผ้าทั้ง 2 ข้างบริเวณด้านหลังลำคอ

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลกรณีกระดูกขาท่อนล่างหัก ใช้อุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในบริเวณนั้น เช่น ไม้ หรือ กระดาษแข็ง ดามตั้งแต่เข่าลงไปจนถึงข้อเท้า พันยึดให้กระชับด้วยผ้า

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น เป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรมีไว้ เพื่อว่าเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ตรงหน้าท่านจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ที่มา https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:WU+WU021+2021/course/

เนื้อหาจากรายวิชา ของ WU : WU021การสาธารณสุขพื้นฐาน | Introduction to Public Health

เจ้าของผลงาน จริยา รัตนพันธุ์

Visits: 27

Comments

comments

Back To Top