ไมค์ห้องประชุมถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในดำเนินการประชุม เพราะเป็นหัวใจหลักของการนำเสนอข้อมูล ทั้งการอภิปรายข้อมูลและการเสนอความคิดเห็นล้วนแล้วแต่ต้องใช้ไมโครโฟนทั้งสิ้น ดังนั้นห้องประชุมต้องเตรียมไมโครโฟนให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ตั้งแต่การเลือกใช้ไมโครโฟนไปจนถึงการศึกษาปัญหาของไมโครโฟนเพื่อให้การประชุมดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
ทำความเข้าใจไมค์ห้องประชุมเบื้องต้น
ก่อนจะเริ่มต้นศึกษาปัญหาของไมโครโฟน เพื่อความเข้าใจหลักการทำงานของไมโครโฟน ควรทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของไมค์ห้องประชุมก่อน ทั้งลักษณะที่แตกต่างกันทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและการรับเสียง และเมื่อเห็นภาพแล้วจะทำให้เข้าใจปัญหาง่ายมากขึ้น
ประเภทของไมค์ห้องประชุม
สำหรับไมโครโฟนที่นิยมใช้ในห้องประชุมนั้น เป็นประเภทตั้งโต๊ะเป็นส่วนใหญ่ ไม่นิยมใช้ไมโครโฟนแบบถือ (ยกเว้นห้องประชุมอเนกประสงค์ ที่เน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก) ซึ่งไมโครโฟนแบบตั้งโต๊ะเหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็น เนื่องจากผู้พูดมีไมโครโฟนประจำตำแหน่งสามารถตอบโต้ได้ทันที ทั้งนี้ไมค์ห้องประชุมแบบตั้งโต๊ะสามารถแยกเป็นสองประเภทได้ดังนี้
1. Gooseneck Microphone
Gooseneck Microphone หรือ ไมโครโฟนก้านยาว/ไมโครโฟนคอห่าน เป็นไมโครโฟนตั้งโต๊ะที่มีลักษณะเฉพาะตัว ด้วยก้านจับไมโครโฟนที่ยาวและสามารถงอก้านไปยังทิศทางที่ต้องการได้ มีปุ่มเปิด-ปิดไมโครโฟนขณะพูด โดยส่วนมากจะพบไมโครโฟนก้านยาวได้ตามห้องประชุมสัมมนาและห้องประชุมผู้บริหาร เป็นต้น
2. Boundary Microphone
Boundary Microphone เป็นไมโครโฟนชนิดฝังโต๊ะ ประเภทเดียวกันกับไมโครโฟน Flush Mount ที่ฝังสายสัญญาณไปใต้โต๊ะ แต่แตกต่างกันที่ไมโครโฟนประเภท Boundary หัวไมโครโฟนจะเรียบไปกับโต๊ะ ส่วน Flush Mount ยังคงมีก้านไมโครโฟนอยู่ ซึ่งการเลือกใช้ไมโครโฟนประเภทนี้จะเน้นไปที่งานดีไซน์ และการออกแบบตกแต่งภายในห้องประชุม

รูปแบบการรับเสียงของไมค์ห้องประชุม
- Cardioid คือ รูปแบบไมโครโฟนที่สามารถรับเสียงด้านหน้าได้ดีที่สุด ส่วนด้านข้างประสิทธิภาพการรับเสียงจะลดน้อยลง และด้านหลังจะรับเสียงได้น้อยมาก เหมาะสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการให้เสียงภายนอกเข้าไปรบกวนเสียงผู้พูด
- Supercardioid คือ รูปแบบไมโครโฟนที่สามารถรับเสียงได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ทางด้านหน้าจะรับเสียงได้ดีกว่า แตกต่างจากไมโครโฟน Cardioid ตรงที่ทิศทางของเสียงจะแคบมากกว่า เหมาะสำหรับการบันทึกเสียงที่เจาะจงไปยังแหล่งกำเนิดเสียงโดยตรง
- Omnidirectional คือ รูปแบบไมโครโฟนที่สามารถรับเสียงรอบทิศทาง สามารถตอบสนองความถี่เสียงได้กว้าง ซึ่งไมโครโฟนประเภทนี้ไม่ควรพูดห่างไมโครโฟนมากนัก เพราะจะส่งผลให้เกิดเสียงรบกวนหรือเสียงหอนได้ง่าย

ปัญหาที่พบบ่อยกับไมค์ห้องประชุม
1. เสียงเบาผิดปกติ (Low Volume)
บ่อยครั้งที่ขณะประชุมทางไกล (Video conference) ระดับเสียงของไมโครโฟนเบาผิดปกติ ทำให้การสื่อสารในบางประเด็นขาดหายไป โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยตั้งแต่ ผู้พูดที่ปรับลดระดับเสียงเอง ทำให้เสียงกระจายไม่ถึง หรืออาจเกิดมาจากระบบควบคุมที่ไม่ได้ทำการเช็คเสียง (sound check) ก่อนเริ่มประชุม ส่งผลให้ระดับเสียงไม่พอดี
2. เสียงรบกวน (Audio Noise)
Noise หรือเสียงรบกวนที่มักเกิดขึ้นในขณะประชุมทางไกล เช่นเดียวกันกับปัญหาเสียงเบาผิดปกติ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากคลื่นสัญญาณที่เข้ามารบกวนไมโครโฟน และการส่งสัญญาณเสียงไปยังคอมพิวเตอร์ที่ไม่เสถียรจนทำให้เกิดเสียงรบกวน
3. เสียงเดินทางล่าช้า (Audio Delay)
สำหรับเสียงที่เดินทางช้าหรือ (Delay) สาเหตุไม่ได้เกิดจากไมโครโฟนโดยตรง แต่มีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น การเดินทางของสัญญาณเสียงระหว่างไมโครโฟนกับลำโพง หรือในการประชุมทางไกล ปัญหาที่เสียงเดินทางช้าก็เกิดจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เสถียร รวมถึงสามารถเกิดขึ้นได้กับห้องประชุมหรือสถานที่มีขนาดใหญ่ที่ติดตั้งลำโพงในระยะไกล ก็สามารถสร้างปัญหาเรื่อง Audio Delay ได้เช่นเดียวกัน
4. เสียงก้อง (Echo)
ปัญหาเสียงก้องมักไม่เกิดขึ้นในห้องประชุมทั่วไป (นอกเหนือจากถูกปรับแต่งจากอุปกรณ์ปรับแต่งเสียงภายในห้อง) แต่จะเกิดขึ้นขณะประชุมทางไกล เนื่องจากห้องประชุมส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงค่าอะคูสติกส์ จึงหมดปัญหาเรื่องเสียงก้อง ส่วนการประชุมทางไกลที่มักเกิดปัญหานี้ เพราะตำแหน่งของไมค์ห้องประชุมอยู่ใกล้กับลำโพงมากจนเกินไป ส่งผลให้ผู้พูดได้ยินเสียงของตัวเองหลังจากพูดไปแล้ว
5. ไมค์ห้องประชุมหอน (Feedback)
ปัญหาไมโครโฟนหอนเกิดจาก สัญญาณเสียงที่ออกจากลำโพงแล้ววนกลับเข้าไมโครโฟนอีกครั้ง ทำให้ความถี่เสียงล้นออกมากจนเกิดเป็น Feedback หรือเกิดอาการไมโครโฟนหอนนั่นเอง นอกจากนี้สาเหตุของไมโครโฟนหอนยังเกิดได้จาก ความผิดพลาดในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ รวมถึง การใช้งานของตัวผู้ใช้ไมค์ที่หันไมค์เข้าหาลำโพง เป็นต้น
ไมค์ห้องประชุมไม่ดีส่งผลอย่างไรต่อองค์กร
- ลดทอนประสิทธิภาพการประชุม การที่ไมโครโฟนมีปัญหาทั้งเรื่องเสียงเบาและเสียงรบกวนทั้งหลาย ส่งผลให้การสื่อสารติดขัด สาระสำคัญบางอย่างอาจตกหล่นไป ทำให้ประสิทธิภาพการประชุมลดลง
- ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย การที่โสตทัศนูปกรณ์ภายในห้องประชุมติดขัดหรือมีปัญหาบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ทั้งในเรื่องความพร้อมในการจัดการประชุมและความน่าเชื่อถือที่ลดลง
สรุป
ปัญหาของไมค์ห้องประชุม นั้นมีด้วยกันหลากหลายอาการตั้งแต่ เสียงเบาไปจนถึงไมโครโฟนหอน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานภายในห้องประชุมทั้งสิ้น ดังนั้นการศึกษาปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะห้องประชุมที่ดีไม่ใช่แค่เพียงสวยงาม หรือมีเทคโนโลยีห้องประชุมที่ทันสมัย แต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย
อ้างอิง https://avl.co.th/blogs/mic-problem-in-meeting-room/
Hits: 133

ฝ่ายสนับสนุนการเรียนการสอนและสื่อการศึกษา