7R ลดขยะได้ง่าย ๆ เริ่มได้ที่ตัวเรา

มาสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือ สร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นด้วยหลัก 7R Reduce  Reuse  Recycle  Refuse Refill Repair และ Return  เมื่อเราเข้าใจอย่างถ่องแท้และยึดหลักการจัดการขยะแบบ 7R  ได้แล้ว อย่าลืมส่งต่อความรู้และหลักปฏิบัติให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และ เพื่อนร่วมโลก เพื่อสร้างสังคม ที่ปลอดขยะและสร้างโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในโลกของเราให้คงอยู่แบบยั่งยืนตลอดไป

7R ลดขยะได้ง่าย ๆ เริ่มได้ที่ตัวเรา

“7R ปลูกฝังแนวคิดลดขยะ เพื่อชีวิตแบบ Zer0 Waste”

                ขยะ  ขยะ  ขยะ  เชื่อว่าในทุก ๆ วัน  เราต้องสร้างขยะให้แก่โลกนี้นอน จากการดำเนินชีวิตประจำวันของ ไม่ว่าจะ แกงถุง  ซื้อสินค้าออนไลน์ ย่อมทำให้เกิดขยะมากขึ้นแน่นอน  เราอาจจะคุ้นชินกับหลัก 3R   ซึ่งได้แก่  Reduce Reuse และ Recycle แต่ในปัจจุบัน  หลัก 3R อาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดการขยะที่มีมากขึ้นตามพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารออนไลน์ ส่งถึงบ้าน  สิ่งที่จะได้ตามมาก็คือ ขยะมูลฝอย บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการใส่อาหาร หรือ สินค้าที่สั่งซื้อ  เช่นนั้นแล้วอยากจะเชิญชวนทุกคนมาจัดการขยะด้วยหลัก 7R เพื่อลดขยะ และใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่า เพื่อสร้างโลกของเราให้น่าอยู่น่าอาศัยตลอดไป

           7R  ประกอบด้วย  R  อะไรบ้าง และ หมายถึงอะไรบ้าง 

1.    Reduce   ลดการใช้ เป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง สิ่งพวกเราทุกคนสามารถทำได้  และในปัจจุบันแทบทุกคนจะพกพา ถุงผ้า ในการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าต่าง  ๆ หรือใส่อุปกรณ์ต่าง นอกจากนั้น สิ่งที่เราทำได้อีก เช่น พกแก้วน้ำ  กล่องข้าว  ปิ่นโต ตระกร้า และ สิ่งอื่น ๆ ทีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ง่าย ๆ คือปฏิเสธถุงพลาสติก กล่องโฟม  แล้วหันมา “ยืดอก พกถุงผ้า แก้วน้ำ ตะกร้า ปิ่นโต กล่องข้าว”

2. Reuse ใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก ใช้วนวนไป จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน

  • ใช้ของทุกอย่างให้คุ้มค่า ก่อนจะทิ้งสิ่งของหรือวัสดุอะไรตามความคุ้มชินของตัวเอง ลองมาทบทวนสักนิดก่อนทิ้ง ลองดูว่าขยะอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือนำมา ดีไอวาย แปลงร่างเป็นของใช้ใหม่สุดแนวได้บ้าง อาทิเช่น  ขวดน้ำ  แก้วน้ำ กะละมัง ชาม ไห  เราสามารถนำมาปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ผักสวนครัวได้ จะปลูกไว้เชยชมเอง หรือ นำแป็นของขวัญของฝากก็ได้ ประหยัด รักษ์โลก และมีคุณค่าทางใจอีกด้วย
  • ฟื้นคืนชีพผักที่เราซื้อมาปรุงอาหาร สามารถนำมาปลูกใหม่ได้เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นผักชี  ผักบุ้ง  ผักกาด ล้วนแล้วนำมาปลูกเป็นต้นใหม่ให้เจริญงอกงาม เป็นผักปลอดสารพิษ  สามารถนำมาปรุงอาหารได้อีก และประหยัดค่าใช้จ่ายแถมรักษ์โลกอีกต่างหาก
  • เสื้อผ้าเก่าจากรุ่นสู่รุ่น  ที่เห็นบ่อย ใน มวลสมาชิก Fourgreen อีกอย่างหนึ่งคือ  การนำเสื้อผ้าเก่ามาแปลงร่างเป็นเสือผ้าตัวใหม่ให้ลูก ๆ
  • กระดาษเหลือใช้  นำมาทำถุงกระดาษไว้ห่อหุ้มพืชผักสวนครัวกันแมลง หรือจะนำมาประดิดประดอยเป็นกระดาษห่อของขวัญ  ห่อปกหนังสือ  ในวัยเด็ก ขอย้อนวัยกันนิดหนึ่ง หลาย ๆ คนอาจจะมีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน คือ นำมาห่อปกหนังสือเรียน เพื่ออนุกรักษ์หนังสือ ตำราเรียนของไว้ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ซึ่งวิธีเหล่านี้นอกจากช่วยให้เราใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าแล้วยังเป็นการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยการใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ ร่วมกัน

3. Recycle  แยกขยะก่อนทิ้ง  หลายคนอาจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากต้องแยกขยะเป็นหลายประเภท  แต่ทราบหรือไม่ว่าการแยกขยะรีไซเคิลออกมา ก็เป็นการลดขยะสามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้อีกมากมาย อาทิเช่น

  • การคัดแยกปฏิทิน เพื่อส่งต่อให้ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำไปผลิตเป็นสื่ออักษรเบรลล์ ให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้    สถานที่ติดต่อ  420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ : 0-2354-8365-68, 0-2354-8370-71 โทรสาร : 0-2354-8369 อีเมล : service@blind.or.th.
  • คัดแยกพลาสติก เพื่อ ส่งโครงการ “วน” รับถุงและฟิล์มพลาสติกสะอาดกลับมารีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม  ซึ่งวิธีส่งถุงและฟิล์มพลาสติกให้โครงการ “วน” จะต้อง เก็บรวบรวมถุงหรือฟิล์มพลาสติก(สะอาดและแห้ง)ให้ได้จำนวนนึง (บีบอัดให้แน่นเพื่อประหยัดพื้นที่)  นำไปส่งตามจุดรับของโครงการ หรือส่งทางไปรษณีย์ได้ที่  โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน)  42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

              นอกจากบริจาคขยะประเภทพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ ฯลฯ สามารถเก็บรวบรวมไว้ให้มีปริมาณมากแล้วนำไปขายต่อให้ลุงซาเล้งเพื่อต่อส่งเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลอย่างถูกต้องต่อไปและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลง

4. Refuse คือ การปฎิเสธการใช้พลาสติกหรือโฟมแบบที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วหันมาเลือกใช้พลาสติกหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่น การห่อด้วยใบตอง ภาชนะใส่อาหารจากชานอ้อย หลอดดูดน้ำจากกระดาษ  เป็นต้น

5. Refill คือ  การเลือกใช้สินค้าแบบเติม   คือนำภาชนะไปเติม ทดแทนการซื้อใหม่ แค่นำภาชนะประเภทขวดไปเติมก็จะช่วยลดขยะภายในครัวเรือน อาทิ การเติมน้ำยาล้างจาน ยาสระผม สบู่เหลว  เป็นต้น ตัวอย่างร้านแบบเติม เช่น

·       Refill Station ปั๊มน้ำยา
·       ZeroMoment Refillery 
·       Foolfill Corner @ rivers & roads 
·       Zero Waste Shop Phuket 

6. Repair คือ ซ่อมได้ อะไร เราก็ซ่อมได้  คิดก่อนทิ้ง ก่อนซื้อใหม่ ลองมาเปลี่ยนพฤติกรรมที่เราคุ้นชินชอบทิ้ง  ชอบซื้อใหม่  หันมาซ่อมแซมเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง  ๆ   ก่อนทิ้งเป็นขยะ  เช่น การปะ ชุน เสื้อผ้าที่ขาด  การซ่อมโต๊ะ เก้าอี้ที่ชำรุด  หรือทาสีใหม่ให้ดูน่าใช้มา   การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ชำรุด เป็นต้น

7. Return คือ การเลือกอุดหนุนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน เช่น การใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติกสามารถคืนขวดได้ หรือการการเลือกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ฉลากลดโลกร้อน ฉลากลดคาร์บอน ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นต์ เป็นต้น

            ลองหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองตามหลัก 7R  ช่วยกัน ลดการใช้  ใช้ซ้ำ แยกขยะนำกลับมา ใช้ใหม่ ปฏิเสธวัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เลือกใช้สินค้าแบบเติม ซ่อมได้ คิดก่อนทิ้ง  ก่อนซื้อใหม่  และ เลือกอุดหนุนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน

            มาสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือ สร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นด้วยหลัก 7R Reduce  Reuse  Recycle  Refuse Refill Repair และ Return  เมื่อเราเข้าใจอย่างถ่องแท้และยึดหลักการจัดการขยะแบบ 7R  ได้แล้วอย่าลืม    ส่งต่อความรู้และหลักปฏิบัติให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และ เพื่อนร่วมโลก เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดขยะและสร้างโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัย  ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในโลกของเราให้คงอยู่แบบยั่งยืนตลอดไป

“7R ปลูกฝังแนวคิดลดขยะ เพื่อชีวิตแบบ Zer0 Waste”

Visits: 13534

Comments

comments

Back To Top