Infographic ไม่ใช่เข็มฉีดยา แต่มีที่มาจากนางพยาบาล

จุดเริ่มต้น infographic

นางพยาบาลมาเกี่ยวข้องอะไรกับ infographic กันน้า ..

มาค่ะมา.. จะเหลา เอ้ย! เล่าให้ฟัง

จริงอยู่ ถ้าดูตามบริบท นางพยาบาลอาจจะห่างจาก infographic ไปสักนิด แต่ถ้าบอกว่า เกี่ยวโยงด้วยการนำเสนอ ..อันนี้พอจะเข้าเค้า แต่ก็ยังไม่ Wowww เท่ากับว่า …จุดเริ่มต้นของการนำเสนอแบบ Infographic นั้น เกิดจาก “นางพยาบาล”

ใช่ค่ะ …เมื่อได้ลงทะเบียนเรียนวิชา การผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course บน ThaiMOOC ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และกว้างขึ้น เพราะนอกจากในรายวิชาจะอธิบายความหมายของคำว่า Infographic ว่ามาจากคำ 2 คำ คือ Info ที่มาจาก information+graphic

“Infographic = Informaiton (ข้อมูลสารสนเทศ) + Graphic (ภาพกราฟิก)

หมายถึง การนำเสนอสารสนเทศที่มีการใช้กราฟิก มาแทนที่ข้อมูลตัวอักษร หรือตัวเลข เป็นการย่นย่อข้อมูลตัวอักษร

หรือตัวเลขจำนวนมากมาใช้ภาพกราฟิกในการสรุปเนื้อหาให้สั้น กระชับและเข้าใจง่าย เพียงกวาดตามอง”


…และตามสูตร ก่อนที่จะไปเรียนรู้วิธีการผลิตสื่อกราฟิกให้บรรเจิดเพริศแพร้ว เราก็ควรจะรู้ “ราก” หรือที่มาที่ไปของวิชานี้ และนี่ก็คือ “ใจความสำคัญ” ที่เราได้มาเจอกันจนถึงบรรทัดนี้ค่ะ

จุดเริ่มต้นของการงานออกแบบ infographic ไม่ได้เกิดจากโต๊ะน้ำชายามบ่าย หรือในร้านอาหารหรู ๆ แต่เกิดจาก ความไม่ถูกสุขลักษณะของสถานพยาบาลที่รักษาเหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำศึกสงคราม ทหารที่รอดตายจากการสู้รบในสงคราม แต่กำลังจะตายเพราะสุขอนามัยในสถานรักษาไม่ดี ทำให้บาดเจ็บรุนแรงขึ้น และหลายคนต้องเสียชีวิต !!

ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1853 ที่อังกฤษเข้าร่วมสงครามไครเมียเพื่อรบกับรัสเซีย …ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) – คือ 1 ในพยาบาลที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกับกองทัพดูแลให้ไปประจำที่ตุรกีเพื่อดูแลเหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บ

ณ พื้นที่ปฏิบัติงานช่วยชีวิตรั้วของชาติแห่งนี้… ฟลอเรนซ์วิเคราะห์ข้อมูล และพบว่า แม้จะดูแลดีเพียงใดแต่ยังคงมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บต้องเสียชีวิต เหตุเพราะติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ ระบบท่อน้ำ ระบบระบายอากาศไม่ดีมากกว่าตายเพราะการสู้รบ!!

เห็นปัญหานี้ และพยายามนำเสนอข้อมูลการเปรียบเทียบส่วนต่างจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่ถูกสุขอนามัยในค่าย และสามารถป้องกันได้ด้วยการให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขต่อรัฐบาล

ฟลอเรนซ์จึงนำเสนอข้อมูลนี้ต่อรัฐบาล เพื่อเสนอทางแก้ หวังลดการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดระบบสุขาภิบาลให้ดีขึ้น ซึ่งมันคงเต็มไปด้วยตัวหนังสือ เอกสารมากมาย ทำให้ข้อเสนอนี้ถูกเพิกเฉย

….แต่ความพยายามที่สำเร็จต้องมากับความสามารถในการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ด้วย!!

ความพยายามในการแก้ปัญหาและช่วยชีวิตคนเป็นผลสำเร็จ เมื่อฟลอเรนซ์ ไนติงเกลปรับรูปแบบการนำเสนอ นำข้อมูลมาออกแบบใหม่กลายเป็น “Diagram of the Causes of Mortality” ที่เข้าใจง่ายขึ้น ช่วยให้มองเห็นภาพการเปรียบเทียบส่วนต่างจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัย (ที่ไม่สามารถรักษาได้) และเหตุที่สามารถป้องกันได้หากมีการสาธารณสุขที่ดีกว่านี้

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล- นางพยาบาล ผู้ออกแบบอินโฟกราฟิกที่มีคุณูปการต่อวงการสาธารสุข
Nightingale Rose Diagram
L0041105 Diagram of the causes of mortality in the army Credit: Wellcome Library, London. Wellcome Images images@wellcome.ac.uk http://wellcomeimages.org Two colour charts showing the causes of mortality in the army in the East. 1858 Notes on matters affecting the health, efficiency, and hospital administration of the British Army : founded chiefly on the experience of the late war / Florence Nightingale Published: 1858. Copyrighted work available under Creative Commons Attribution only licence CC BY 4.0 http://creativecommons.org/licenses/by/4.0/

เพราะการนำเสนอในรูปแบบแผนภูมิที่เข้าใจง่าย ในที่สุดข้อเสนอของเธอก็ถูกรับฟัง กองทัพอังกฤษให้การสนับสนุน ปฏิรูประบบสาธารณสุข ส่งผลให้การสาธารณสุขในโรงพยาบาลค่ายทหารค่อย ๆ ดีขึ้น และสามารถช่วยชีวิตทหารได้เป็นจำนวนมาก

ซึ่งแผนภูมิดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกว่า “Nightingale Rose Diagram” หรือ “แผนภูมิดอกกุหลาบไนติงเกล” มีที่มาจากไดอะแกรมของไนติงเกลที่บ่งชี้ความต่างของข้อมูลด้วยสีและขยายพื้นที่ออกจากศูนย์กลางจนดูเหมือนกลีบดอกกุหลาบนั่นเอง

สำหรับ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล -นางพยาบาลท่านนี้นั้น เมื่อไปค้นข้อมูลพบว่า เธอมีคุณูปการกับวิชาชีพพยาบาลและอีกหลายวงการเป็นอย่างมาก ในวิกิพีเดียระบุว่า ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลได้รับการขนานนามและเป็นที่รู้จักว่า คือ “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (Lady of the Lamp) เนื่องจากภาพลักษณ์ติดตาของผู้คนที่เห็นกิจวัตรการตรวจดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บแม้ยามค่ำคืน และถือว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ ยกระดับวิชาชีพพยาบาล นอกจากนี้ยังมีบทบาทผลักดันการพัฒนาด้านสถิติศาสตร์อีกด้วย


เกร็จความรู้จาก เรียบเรียงข้อมูลจากการเรียน ThaiMOOC วิชาการผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course (CMU012)

และ https://www.bbc.com/thai/international-52615479


Visits: 153

Comments

comments

Back To Top