เรื่องเล่า…จากหลักสูตรการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC บน ThaiMOOC

ThaiMOOC

เคยเรียนแล้ว และเมื่อมาเรียนอีก ก็ยิ่งรู้…ยิ่งเข้าใจ และยิ่งตระหนัก
ในความสำคัญของการเตรียมการ


“รายวิชานี้จะเป็นเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ในเรื่องของการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนออนไลน์บนระบบเปิด

ซึ่งเมื่อเรียนแล้วจะช่วยให้เข้าใจกระบวนการ ขั้นตอนการผลิตรายวิชาบนระบบ MOOC ได้ดียิ่งขึ้น
เหมาะสำหรับอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่สนใจการสร้างวีดิทัศน์บนสื่อออนไลน์ทุกคน ที่จะรู้และเข้าใจในกระบวนการและหน้าที่ของตัวเอง”

ต้องออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนเคยเรียนรายวิชานี้เมื่อนานมาแล้ว เนื่องจากต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชาที่จะเปิดสอนบน ThaiMOOC ตอนนั้นยังเรียนเพราะความจำเป็น เรียนโดยไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับ ThaiMOOC เลย

แต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี ได้มีโอกาสกลับมาทบทวนใหม่ก็พบว่า “ยิ่งเรียนยิ่งรู้ – ยิ่งอ่านยิ่งใช่” เอาเนื้อหามาจับกับประสบการณ์ที่เราต้องทำ ทำให้ตระหนักและเข้าใจการทำงานมากขึ้น ทั้งยังช่วยตอกย้ำว่า การเตรียม หรือการวางแผนก่อนที่จะผลิตวีดีทัศน์สักหนึ่งชิ้นนั้น…มีความสำคัญอย่างยิ่ง

หลักสูตรการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC (VidoeX-Thai) สอนโดยรศ.ดร. สุรพล บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เนื้อหาจะไล่ลำดับตามขั้นตอนการผลิต ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน อันเป็นขั้นตอนพื้นฐานของการผลิตวีดิทัศน์โดยทั่วไป แต่ในส่วนของรายละเอียดนั้นจะจำเพาะเจาะลงไปในส่วนที่ผู้ผลิตรายวิชาบท MOOC ต้องรู้ ควรรู้ หรือทำตาม พร้อมแทรกเกร็ดความรู้ เทคนิคต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก

ซึ่งจะนำส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์มาฝาก และถือเป็นบันทึกย่อสำหรับตัวเองด้วย…


พื้นฐานของการผลิตวีดีโอมี 4 ขั้นตอน

  1. Pre-Production ขั้นตอนการวางแผน เตรียมงาน ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด ต้องให้เวลาในการดำเนินการ
  2. Production  ขั้นตอนการบันทึก/ถ่ายทำวีดีโอ
  3. Post-Production ขั้นตอนการตัดต่อวีดิทัศน์   ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากที่สุด  
  4. Derivery การจัดส่ง เป็นขั้นตอนอัปโหลดส่วนวิดีโอ เสียง และ subtitle ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไปยัง THAI-MOOC  เพื่อเตรียมเปิดให้กับผู้สนใจมาลงเรียน 

มาดูรายละเอียดกัน….

  • Pre-Production กระบวนการก่อนการผลิต คือ ขั้นตอนการวางแผน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ “สำคัญที่สุด” ในการสร้างและนำเสนอวิดีโออย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามแผนงาน ThaiMOOC จะเกี่ยวข้องกับการเตรียมเนื้อหาในทุกด้าน และเน้นที่การเตรียมผลิตวีดิทัศน์เตรียมเนื้อหาให้ชัดเจน มีการเขียนสคริปต์ หรือสตอรีบอร์ด การแบ่งเวลา การจัดทำงบประมาณ การเตรียมตัวของผู้สอน/ผู้บรรยาย และการค้นหาสถานที่-เตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำ ซึ่งเนื้อหาวิดีโอจะต้องสัมพันธ์กับ Course Outline โครงสร้างเนื้อหา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้งานเสร็จทันเป้าหมาย และคุ้มค่าที่สุด
    • วิดีโอจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. วิดีโอแนะนำรายวิชา หรือ Introduce Video เป็นวิดีโอการตลาดสั้น ๆ สำหรับดึงดูดให้คนมาลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรเรา และ 2. วิดีโอเนื้อหาหลักสูตร มีการเตรียมนอกจากจะต้องดูเนื้อหาที่จะเอาทำเป็นวิดีโอแล้ว ยังต้องคำนึงถึงกราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องไม่ผิดลิขสิทธิ์
    • การเตรียมความพร้อมก่อนการผลิต
      1. การเขียนบทและภาพ บอกเล่าถึงความสำคัญของบท รูปแบบ และประเภทของการเขียนบท บทโทรทัศน์มีหลายประเภทกัน
        • บทเเบบที่ 1 ก็คือบทโทรทัศน์เเบบคร่าว ๆ หรือเราเรียกว่า Fact
        • บทเเบบที่ 2 ก็จะเป็นบทเเบบการเเสดง
        • บทเเบบที่ 3 จะเป็นเเบบกึ่งสมบูรณ์
        • บทเเบบที่ 4 จะเป็นโทรทัศน์บทเเบบสมบูรณ์
        • เเละบทเเบบที่ 5 จะเป็นเเผนภาพประกอบ หรือที่เราเรียกว่า Story board นั่นเอง
      2. การเขียนเนื้อหาย่อย และคุณภาพในการผลิตวีดิทัศน์
      3. การจัดการงบประมาณในการผลิตสื่อ
      4. การทำงานกับผู้สอน – การเตรียมตัวของผู้สอน การทำความเข้าใจในบท/เนื้อหาร่วมกันให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน การจัดเตรียมสถานที่ถ่ายทำ
    • Story board ก็เป็นโครงสร้างคร่าว ๆ ให้เราเห็นขอบเขตของเนื้อหา เเต่ Script จะเป็นตัวขยายตัวกำหนดเค้าโครง กำหนดของเขตของสิ่งที่เราจะนำเสนอ
  • Production การถ่ายทำวีดิทัศน์ หลักสูตรจะแนะนำรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ว่าทำได้อย่างไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง, ข้อกำหนดมาตรฐานการบันทึก, เทคนิควิธีการถ่าย, การจัดแสง เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการผลิตงานชิ้นอื่น ๆ ได้ด้วย
  • Post-Production ขั้นตอนการตัดต่อวีดิทัศน์ เป็นกระบวนการหลังการผลิตคือเมื่อบันทึกวีดีโอเสร็จแล้วจะถูกนำมาปรับแต่งตัดต่อรวมกับสื่ออื่น ไม่ว่าจะเสียง กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพวิดีโอให้กลายเป็นวีดิทัศน์ที่ดี
    • ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากที่สุด  การตัดต่อวีดิทัศน์ที่ดี การเลือกใช้กราฟิก อนิเมชัน และสื่ออื่น ๆ การจัดการสีและเสียง
    • โดยเน้นย้ำให้ระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ หากนำสื่อของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งวิธีที่ปลอดภัยคือ ขออนุญาตอย่างถูกต้อง, หาซื้อจากแหล่งที่ขาย, ดาวน์โหลดจากแหล่งที่มีสัญญาอนุญาต Creative Commons หรือหากจำเป็นต้องใช้สื่อจากแหล่งอื่นจริง ๆ ให้นำลิงค์เป็นสื่อเสริมท้ายบทเรียนแทน
  • Derivery การจัดส่ง คือ การบอกเล่าขั้นตอนการนำสื่อขึ้นระบบ ThaiMOOC โดยแต่ละขั้นก็จะบอกขั้นตอน และลำดับการทำงานไว้อย่างละเอียดเข้าใจง่าย ซึ่งจะมี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
    • ขั้น 1. อัพโหลดวิดีโอเข้า Youtube และ
    • ขั้น 2. นำสื่อขึ้นระบบ ThaiMOOC

10 Trick หรือ 10 เทคนิค จากการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC บน ThaiMOOC

  1. อย่าลืมหรืออย่าข้ามเรื่องของ 4 step
  2. ก่อนที่จะบันทึก ต้องรู้ก่อนว่าวิดีโอที่เรานั้น ควรจะมีการเตรียมอย่างไร ก่อนที่เริ่มบันทึกวิดีโอ
    – จะต้องเตรียมเนื้อหาให้ชัดเจนก่อน อาจรวมถึงภาพประกอบ หากเราจะใช้สไลด์เป็นสื่อประกอบ
    – เตรียมให้ชัดเจน และต้องรู้ว่าในแต่ละส่วนย่อยจะใช้เวลาเท่าไหร่ 
  3. ในการผลิตสื่อวีดิทัศน์ ควรจะถ่ายทำหลาย ๆ ครั้ง แล้วเลือกครั้งที่ดีที่สุด
    เราอาจจะถ่ายได้หลาย ๆ เทคแล้วเลือกเทคที่ดีที่สุดมาใช้
  4. สื่อที่เราใช้ใน MOOC ไม่ควรต่ำกว่า 6-9 นาที  มีงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่ทำวิจัยเรื่องของความยาวของสื่อวีดิทัศน์บนระบบ MOOC พบว่าการใช้วิดีโอที่มีความยาว 6-9 นาทีเป็นวิดีโอที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และเรียนรู้ได้ดีที่สุด
  5. ก่อนจะบันทึกควรจะตรวจสอบอุปกรณ์ และลองบันทึกสื่อ หรือลองบันทึกอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อน
    เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการบันทึก หรือการถ่ายทำ
  6. ขณะบันทึก หรือเมื่อบันทึกเสร็จแล้ว ควรจะตรวจสอบระบบเสียงว่า มีเสียงเข้า มีระดับของเสียงเป็นไปตามที่เรากำหนดหรือไม่ อาจจะใช้หูฟัง หรือดูในมอนิเตอร์ระหว่างที่บันทึก
  7. เมื่อบันทึกเสร็จแล้ว ควรตรวจเช็กคุณภาพของภาพว่าเป็นไปตามที่เรากำหนด มีข้อผิดพลาดอย่างใดหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อผิดพลาด เราก็ควรจะบันทึกใหม่
  8. หลังจากที่เราบันทึกแล้ว เราควรจะมีการสำรองไฟล์ หรือจัดเก็บไฟล์ให้ดีหากหายไปกู้คืนยาก หรือจะผลิตใหม่ นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งเงิน และเวลาที่จะเพิ่มขึ้น
  9. เมื่อตัดต่อเสร็จ ควรตั้งชื่อไฟล์ หรือผลงานให้ตรงกับเรื่อง หรือตรงกับเนื้อหาที่ใช้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการผลิตสื่อ การตั้งชื่อไฟล์ควรจะเป็นภาษาอังกฤษ และตรงกับชื่อเรื่องที่เรากำลังบรรยายอยู่
  10. ก่อนนำข้อมูลขึ้นระบบ  ควรจะตรวจสอบไฟล์ที่เราจะอัพเสียก่อน ไฟล์ที่เราจะใช้ในระบบไม่ควรจะมีไฟล์ที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะลำบากในการอัพโหลด หรือการรับชม 

ผู้สอนได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “…อย่างไรก็ตามผมก็ขออยากจะฝากเรื่องของการผลิตสื่อ หนึ่ง ก็คือ เรื่องของการวางแผนให้ชัดเจน มีการออกแบบสื่อให้มีความน่าสนใจ

มีการประสานงานกับทีมงาน หรือสถานที่ที่เราจะใช้ในการถ่ายทำ

ในระหว่างการถ่ายทำก็ควรจะมีการควบคุมคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพ เสียง แสง หรือสิ่งรบกวนอื่น ๆ

หลังจากนั้นเมื่อเราถ่ายทำเสร็จแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบคุณภาพของภาพ หรือผลงานที่ได้

การตัดต่อก็ควรจะมีเพื่อตัดส่วนที่ไม่ต้องการ หรือมีข้อผิดพลาดออก

ดังนั้น ทั้งหมดนี้เป็น 10 Trick หรือ 10 เทคนิค ในการที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ”


– รศ.ดร. สุรพล บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – ผู้สอน

อนึ่ง หลักสูตรนี้ได้เปิดให้เรียนมานานพอสมควรแล้ว อาจมีข้อกำหนดบางอย่างของ MOOC ที่ปรับไปจากในบทเรียนแต่โดยรวมแล้วหลักสูตรนี้ยังเป็นหลักสูตรที่มีประโยนช์ต่อการผลิตและพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง


เข้าชมข้อมูลหลักสูตรบน ThaiMOOC หลักสูตรการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC (VidoeX-Thai)


Visits: 39

Comments

comments

Back To Top