Infographic นี้…ดีไฉนนนน

สวัสดีค่ะ ผู้เขียนเรียนจบจากสำนักวิชาสารสนเทศ … วันนี้เลยมีสาระมาเล่าให้ฟังค่ะ

เนื่องจากไปลงเรียนวิชา การผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course CMU012 ในระบบ ThaiMOOC มา เลยมาแบ่งปันเธอและฉันว่า “Infographic ที่กำลังเป็นที่นิยมนี้…ดีไฉน”

ก็ขอตอบตรงนี้ว่า Infographic ดีจริง ๆ เพราะเป็นการสื่อที่มีประสิทธิภาพมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลด้วยภาพกราฟิกที่ทำให้ผู้ดูภาพสามารถเข้าใจข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ ตัวเลข สถิติปริมาณมาก ๆ ยากต่อความเข้าใจ ให้เป็นข้อมูลที่กระชับ มีความถูกต้อง ง่ายต่อความเข้าใจ ผ่านรูปภาพเพียงภาพเดียว!! ซึ่งตรงใจวัยเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยอย่างพวกเรามาก ๆ …

สวยงาม ตัวอักษรน้อย เข้าใจง่าย ใช้เวลาแป๊บเดียว !!

แต่กว่าจะใช้เวลาสร้างสรรค์ออกมาได้ ผู้ผลิตก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถกันสักนิด … ซึ่งรายวิชาการผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพเค้าได้สอนไว้ให้เยอะพอดูเลยจ๊ะ

อาจารย์วชิระ นิจบุญ และอ.เด่นธนำ เดชะประทุมวัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกไว้ว่า Infographic (อินโฟกราฟิก)ที่ดีไม่ได้หมายถึงการมีข้อมูลปริมาณมากอยู่บนภาพ หรือมีการใช้ภาพประกอบที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ

อินโฟกราฟิกที่ดี…ควรมีการจัดองค์ประกอบภาพและข้อความที่เหมาะสม ดูง่าย สบายตา

มีข้อความประกอบภาพสั้น กระชับ ชัดเจน

ส่วนภาพประกอบควรเป็นภาพที่มีรายละเอียดไม่มาก

ใช้เวลามองภาพและคำอธิบายไม่นานก็เข้าใจความหมายที่ผู้ถ่ายทอดต้องการจะสื่อสารได้

องค์ประกอบของอินโฟกราฟิกที่ดี

  1. Simplicity ความเรียบง่าย – ดูสบายตา ไม่ซับซ้อน ไม่ควรมีจุดเน้น การใช้สีหรือมีรายละเอียดของภาพและตัวหนังสือมากเกินไป เพราะอินโฟกราฟิกคือการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น

  2. Interestedness ความน่าสนใจ -เรื่องที่นำมานำเสนอควรเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อยู่ในกระแส รวมถึงการตั้งหัวเรื่องด้วย ถ้าเรื่องที่ไม่น่าสนใจก็ต้องปรับวิธีการนำเสนอทั้งการเล่า การออกแบบภาพและข้อความให้ดูน่าสนใจ 

  3. Beauty ความสวยงาม – เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะความสวยงามของภาพจะดึงดูดคนให้มาอ่าน มาดูเนื้อหาในภาพ และเป็นตัวช่วยเพิ่มการจดจำได้ด้วย  

การออกแบบข้อความและภาพที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ (ภาพจากรายวิชาการผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course)

ซึ่งอินโฟกราฟิกนี้ก็แบ่งออกเป็นหลายประเภท ข้อดีคือจะช่วยให้เราสามารถสืบค้น เลือกใช้อินโฟกราฟิกให้เหมาะกับเนื้อหาที่เราจะนำเสนอได้ แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. แบ่งตามความสลับซับซ้อน อันนี้แบ่งตามความซับซ้อนของข้อมูลที่จะเอามานำเสนอและความต้องการการโต้ตอบกับผู้ที่เข้ามาอ่าน ซึ่ง Randy Krum ได้แบ่งย่อยเป็นอีก 6 ประเภท
  2. แบ่งตามการออกแบบ layout ประกอบด้วย 9 ลักษณะย่อย
  3. แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งเป็น 7 ลักษณะย่อย

รายละเอียดของตัวอย่างประเภทอินโฟกราฟิกที่อาจารย์ยกมาให้ดูในหลักสูตร ช่วยให้เข้าใจการแบ่งลักษณะได้มากขึ้น ถ้ามีโอกาสจะนำมาฝากนะคะ หรือถ้าใครสนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนได้ เพราะยังมีเนื้อหาในส่วนของกระบวนการออกแบบและการสร้างอินโฟกราฟิกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการออกแบบอินโฟกราฟิก และสุดท้ายอาจารย์ได้แนะนำการใช้โปรแกรมสำหรับการสร้างสื่อนำเสนออินโฟกราฟิก ทั้งแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวอีกด้วย … สนุกและเข้าใจง่ายค่ะ.


เรียบเรียงข้อมูลจากการเรียน ThaiMOOC รายวิชาการผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course (CMU012)

Visits: 51

Comments

comments

Back To Top