Infographic ไม่ใช่เข็มฉีดยา แต่มีที่มาจากนางพยาบาล
นางพยาบาลมาเกี่ยวข้องอะไรกับ infographic กันน้า ..
มาค่ะมา.. จะเหลา เอ้ย! เล่าให้ฟัง
จริงอยู่ ถ้าดูตามบริบท นางพยาบาลอาจจะห่างจาก infographic ไปสักนิด แต่ถ้าบอกว่า เกี่ยวโยงด้วยการนำเสนอ ..อันนี้พอจะเข้าเค้า แต่ก็ยังไม่ Wowww เท่ากับว่า …จุดเริ่มต้นของการนำเสนอแบบ Infographic นั้น เกิดจาก “นางพยาบาล”
ใช่ค่ะ …เมื่อได้ลงทะเบียนเรียนวิชา การผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course บน ThaiMOOC ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และกว้างขึ้น เพราะนอกจากในรายวิชาจะอธิบายความหมายของคำว่า Infographic ว่ามาจากคำ 2 คำ คือ Info ที่มาจาก information+graphic
“Infographic = Informaiton (ข้อมูลสารสนเทศ) + Graphic (ภาพกราฟิก)
หมายถึง การนำเสนอสารสนเทศที่มีการใช้กราฟิก มาแทนที่ข้อมูลตัวอักษร หรือตัวเลข เป็นการย่นย่อข้อมูลตัวอักษร
หรือตัวเลขจำนวนมากมาใช้ภาพกราฟิกในการสรุปเนื้อหาให้สั้น กระชับและเข้าใจง่าย เพียงกวาดตามอง”
…และตามสูตร ก่อนที่จะไปเรียนรู้วิธีการผลิตสื่อกราฟิกให้บรรเจิดเพริศแพร้ว เราก็ควรจะรู้ “ราก” หรือที่มาที่ไปของวิชานี้ และนี่ก็คือ “ใจความสำคัญ” ที่เราได้มาเจอกันจนถึงบรรทัดนี้ค่ะ
จุดเริ่มต้นของการงานออกแบบ infographic ไม่ได้เกิดจากโต๊ะน้ำชายามบ่าย หรือในร้านอาหารหรู ๆ แต่เกิดจาก ความไม่ถูกสุขลักษณะของสถานพยาบาลที่รักษาเหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำศึกสงคราม ทหารที่รอดตายจากการสู้รบในสงคราม แต่กำลังจะตายเพราะสุขอนามัยในสถานรักษาไม่ดี ทำให้บาดเจ็บรุนแรงขึ้น และหลายคนต้องเสียชีวิต !!
ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1853 ที่อังกฤษเข้าร่วมสงครามไครเมียเพื่อรบกับรัสเซีย …ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) – คือ 1 ในพยาบาลที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกับกองทัพดูแลให้ไปประจำที่ตุรกีเพื่อดูแลเหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บ
ณ พื้นที่ปฏิบัติงานช่วยชีวิตรั้วของชาติแห่งนี้… ฟลอเรนซ์วิเคราะห์ข้อมูล และพบว่า แม้จะดูแลดีเพียงใดแต่ยังคงมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บต้องเสียชีวิต เหตุเพราะติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ ระบบท่อน้ำ ระบบระบายอากาศไม่ดีมากกว่าตายเพราะการสู้รบ!!
เห็นปัญหานี้ และพยายามนำเสนอข้อมูลการเปรียบเทียบส่วนต่างจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่ถูกสุขอนามัยในค่าย และสามารถป้องกันได้ด้วยการให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขต่อรัฐบาล
ฟลอเรนซ์จึงนำเสนอข้อมูลนี้ต่อรัฐบาล เพื่อเสนอทางแก้ หวังลดการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดระบบสุขาภิบาลให้ดีขึ้น ซึ่งมันคงเต็มไปด้วยตัวหนังสือ เอกสารมากมาย ทำให้ข้อเสนอนี้ถูกเพิกเฉย
….แต่ความพยายามที่สำเร็จต้องมากับความสามารถในการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ด้วย!!
ความพยายามในการแก้ปัญหาและช่วยชีวิตคนเป็นผลสำเร็จ เมื่อฟลอเรนซ์ ไนติงเกลปรับรูปแบบการนำเสนอ นำข้อมูลมาออกแบบใหม่กลายเป็น “Diagram of the Causes of Mortality” ที่เข้าใจง่ายขึ้น ช่วยให้มองเห็นภาพการเปรียบเทียบส่วนต่างจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัย (ที่ไม่สามารถรักษาได้) และเหตุที่สามารถป้องกันได้หากมีการสาธารณสุขที่ดีกว่านี้


เพราะการนำเสนอในรูปแบบแผนภูมิที่เข้าใจง่าย ในที่สุดข้อเสนอของเธอก็ถูกรับฟัง กองทัพอังกฤษให้การสนับสนุน ปฏิรูประบบสาธารณสุข ส่งผลให้การสาธารณสุขในโรงพยาบาลค่ายทหารค่อย ๆ ดีขึ้น และสามารถช่วยชีวิตทหารได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแผนภูมิดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกว่า “Nightingale Rose Diagram” หรือ “แผนภูมิดอกกุหลาบไนติงเกล” มีที่มาจากไดอะแกรมของไนติงเกลที่บ่งชี้ความต่างของข้อมูลด้วยสีและขยายพื้นที่ออกจากศูนย์กลางจนดูเหมือนกลีบดอกกุหลาบนั่นเอง
สำหรับ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล -นางพยาบาลท่านนี้นั้น เมื่อไปค้นข้อมูลพบว่า เธอมีคุณูปการกับวิชาชีพพยาบาลและอีกหลายวงการเป็นอย่างมาก ในวิกิพีเดียระบุว่า ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลได้รับการขนานนามและเป็นที่รู้จักว่า คือ “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (Lady of the Lamp) เนื่องจากภาพลักษณ์ติดตาของผู้คนที่เห็นกิจวัตรการตรวจดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บแม้ยามค่ำคืน และถือว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ ยกระดับวิชาชีพพยาบาล นอกจากนี้ยังมีบทบาทผลักดันการพัฒนาด้านสถิติศาสตร์อีกด้วย
เกร็จความรู้จาก เรียบเรียงข้อมูลจากการเรียน ThaiMOOC วิชาการผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course (CMU012)
และ https://www.bbc.com/thai/international-52615479