ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงาน Interpersonal Communication Skills in Workplace

รายวิชาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงาน (Interpersonal Communication Skills in Workplace) รายวิชานี้จะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญของทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงาน การตระหนักรู้ในตนเอง การรับฟังผู้อื่น การจูงใจผู้อื่น การให้ข้อมูลย้อนกลับ การเสริมพลังใจ การจัดการปัญหาอารมณ์และความเครียด และการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม

แนวคิดเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงาน

การสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงานคือ ความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เนื่องจากทุกคน ไม่ได้ มีเวลาพูด และเวลาฟังเท่ากัน โดยเฉพาะในการทำงานที่จะต้องมีการประชุม อภิปราย หาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ นอกจากนี้แต่ละคนก็มีความคิด มุมมอง ประสบการณ์ บทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน การพูดคุยกันแต่ละครั้งจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจกันอย่างมาก โดยหากองค์การใดมีบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสาร คือ สื่อสารได้ตรงกับสิ่งที่ตนเองต้องการสื่อ ควบคุม อารมณ์ได้ดี มีความสามารถในการสื่อสาร ก็จะทำให้การประชุม การอภิปรายนั้น โดยสามารถหาข้อสรุปได้ และทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในการทำงาน (Interpersonal Communication Skills in Workplace) ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน ตรงข้ามกันหากองค์การใด มีการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม หรือการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง จนกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการตระหนักรู้ในตนเอง

คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับ พฤติกรรม หรือการกระทำภายนอก เนื่องจาก พฤติกรรม หรือการ กระทำภายนอก เป็นสิ่งที่มองเห็นสังเกตได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นเบื้องหลังของพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ความคิด ความเชื่อ ความต้องการ เบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านี้มีผลอย่างมากในการแสดงพฤติกรรมของบุคคลในการสื่อสาร เช่น การพูด การแสดงสีหน้า การกระทำ หรือ แม้แต่ปฏิกิริยาของร่างกาย เช่นเมื่อเราต้องการสื่อสารกับใครสักคนหนึ่ง สิ่งที่แสดงออกในการสื่อสารจะมีทั้ง พฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง ความต้องการ แสดงออกมาพร้อมกับพฤติกรรมในการสื่อสารนั้นด้วย หากเราไม่รู้ตัวเราก็อาจจะแสดงพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้เกิดการสื่อสารที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับสิ่งที่เราต้องการได้

การฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเอง

วิธีที่ 1 การฝึกสมาธิโดยการอยู่กับลมหายใจ หรืออยู่ในความเงียบ
เราทราบดีว่า การทำสมาธิเป็นการฝึกฝนการรับรู้ได้ดีอย่างมาก การมีสมาธิโดยการอยู่กับลมหายใจด้วยการหายใจเข้าออก สามารถทำให้เรารู้ตนเองได้ดีขึ้น โดยไม่จำป็นต้องทำอย่างเป็นทางการ หรือเต็มรูปแบบการหยุด และอยู่กับลมหายใจตนเอง ด้วยการหายใจเข้าออก ประมาณ 3-5 ครั้ง อย่างรู้ตัวจะช่วยให้มีสมาธิ และรู้ตนเองมากขึ้น

วิธีที่ 2 การอยู่กับความเงียบกับธรรมชาติ
ความเงียบ มีประโยชน์ต่อการรู้ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินในความเงียบท่ามกลางธรรมชาติจะมีประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง ในการทำงานหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ ในช่วงพัก เราอาจจะหาเวลาให้ตนเอง ได้อยู่กับความเงียบในสวนหย่อม หรือใกล้ต้นไม้ ก็เป็นการฝึกตนเองได้ดี ความสงบในความเงียบจะช่วยให้เราได้ยินความคิด และอารมณ์ของตนเองชัดเจนขึ้น และก็เป็นแนวทางหนึ่งในการฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเอง

วิธีที่ 3 การคำถามเพื่อสำรวจตนเอง
การคุยกับตนเองเป็นเรื่องปกติของทุกคน เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้คุยออกมาเป็นเสียงเหมือนกันทุกคน การพูดคุยหรือการตั้งคำถามกับตนเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้แต่ละคนได้ฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเอง เช่นคำถามที่สำรวจอารมณ์ตนเอง สำรวจความคิด สำรวจความต้องการ สำรวจความคาดหวังของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฉันต้องการอะไรตอนที่ฉันโกรธเพื่อนร่วมงาน การที่ฉันกำลังทำงานอย่างหนักนี่ ฉันต้องการอะไร ความรู้สึกของฉันตอนที่เพื่อนได้เป็นหัวหน้างาน ความคิดของฉันตอนที่หัวหน้าเรียกไปต่อว่าเมื่องานผิดพลาด ตัวอย่างคำถามเหล่านี้ล้วนทำให้แต่ละคนเกิดภาวะ รู้ตัว และ มีสติ เพิ่มขึ้น

วิธีที่ 4 การจดบันทึกเพื่อทบทวนตนเองในแต่ละวัน
การจดบันทึก เป็นการทบทวนตนเองที่ดีแบบหนึ่ง เพราะการเขียนช่วยให้เราได้ไตร่ตรองตนเอง ขยายมุมมอง ความคิดของตนเอง ช่วยให้เราได้ปลดปล่อยอย่างอิสระ และทำให้รู้ทันอารมณ์ ความคิดของตนเองเพราะการเขียน และอ่านสิ่งที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เกิดภาวะรู้ตนเอง .. แม้ทุกคนอาจจะไม่ได้ชอบเขียน แต่ การเขียนเป็นการได้ระบายความคิด และทำให้เกิดการตระหนักรู้ตนเองเพิ่มขึ้นได้ดีวิธีหนึ่ง

วิธีที่ 5 การรับฟังผู้อื่น และ ขอ Feedback จากผู้อื่น
เนื่องจากการประเมินตนเอง อาจจะทำให้เราอาจพลาดบางสิ่งในการประเมินตนเอง การได้ข้อมูลจากผู้อื่นจะมีประโยชน์มากขึ้นในการประเมินตนเอง หากคุณมีความกล้าหาญที่จะขอ Feedback จากเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับการทำงานของตนเองจะช่วยให้เราได้รู้ตนเองเพิ่มขึ้น โดยจะต้องรับฟังผู้อื่นอย่างเปิดใจ และ เต็มใจที่จะรับฟังสิ่งที่พวกเขาพูด แม้ว่าสิ่งที่คนอื่นพูด อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่อยากได้ยิน ในบางเรื่องโดยเฉพาะข้อมูลด้านลบ แต่สิ่งนั้นจะทำให้เกิดการทบทวนตนเอง และรู้ตนเองเพิ่มขึ้น ที่สำคัญข้อมูลที่ได้จากคนอื่น จะเป็นส่วนประกอบในการที่เราจะฝึกตนเอง อาจจะถูก ผิด ใช่ ไม่ใช่ เราก็นำสิ่งเหล่านี้มาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองต่อไปประโยชน์ของการตระหนักรู้ในตนเอง

Visits: 183

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

Back To Top