
การผลิตรายการโทรทัศน์จะมีสถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไปตามรูปแบบของรายการ บางรายการอาจจะต้องประจำอยู่ที่สตูดิโอ หรือ บางรายการอาจจะเป็นรายการที่ต้องออกไปถ่ายทำนอกสถานที่ ซึ่งสถานที่ก็จะเปลี่ยนไปตามเรื่องที่จะถ่าย อีกเช่นกัน และนอกเหนือจากขั้นตอนการถ่ายทำยังมีขั้นตอนอื่นๆอีก เช่น
- ในการทำสคริปอาจจะต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล
- การออกไปเก็บภาพบรรยากาศต่างๆเพื่อนำมาประกอบในรายการ
- การสัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เราจะนำมาออกอากาศในครั้งนั้น
- การออกไปหาหรือติดต่อสถานที่ถ่ายทำรายการ
ซึ่งโดยรวมแล้วการทำงานของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จะมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปเรื่อยๆ และจะมีการเข้าออฟฟิศในช่วงเตรียมงานก่อนการถ่ายทำ แต่ในบางครั้งการเขียนสคริปหรือถ่ายทำนั้นสามารถทำได้เลยที่ออฟฟิศ ซึ่งบรรยากาศในออฟฟิศของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์นั้น ก็จะมีทั้งบริษัทใหญ่ๆ และ บริษัทที่จัดตั้งกันเองเล็กๆ บรรยากาศโดยรวมจะสนุกสนานมีระบบการทำงานแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นงานสายบันเทิง ระบบการทำงานก็จะแตกต่างไปจากงาน routine คือเวลาเข้าและออกงานจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับงานในวันนั้น โดยเฉพาะวันที่มีการถ่ายทำรายการอาจกินเวลาในการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง
ปัจจัย และองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงทุกครั้ง ในกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์ (4 M + 1 T)
- คน (MAN)
- อุปกรณ์ (MATERIAL)
- งบประมาณ (MONEY)
- การจัดการ (MANAGEMENT)
- เวลา (TIME)
หัวใจของการผลิตรายการ
- เขียนบท
- ถ่ายทำ
- กำกับ
- ตัดต่อ
ขั้นตอนการผลิตรายการ บันได 3 ขั้น ( 3 P )
PRE-PRODUCTION ขั้นตอนการเตรียมงาน
PRODUCTION ขั้นตอนการผลิตรายการ
POST-PRODUCTION ขั้นตอนเรียบเรียงและลำดับรายการ ก่อนเป็นชิ้นงาน
ขั้นเตรียมการ PRE-PRODUCTION
- วางแผน (Plan) กำหนดเรื่องราว เนื้อหา ที่ต้องการจะผลิต โดยยึดหลัก 5 W + 2H
- Who กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร / รายการตอบสนองคนกลุ่มไหน
- Why วัตถุประสงค์ในการผลิตรายการ
- What จะผลิตรายการอะไร ประเภทไหน
- Where กำหนดสถานที่ในการถ่ายทำรายการ (ในสตูดิโอ / ภายนอก) ออกอากาศช่องทางไหน ตัดต่อที่ไหน
- When จะเริ่มผลิตเมื่อไหร่ / ออกอากาศเมื่อไหร่ เวลาไหน ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย / จะใช้เวลาในการผลิตเท่าใด
- How จะผลิตรายการอย่างไร กำหนดรายละเอียดในการผลิต
- How Much ใช้งบประมาณเท่าไหร่
- วางแผน (Plan) กำหนดเรื่องราว เนื้อหา ที่ต้องการจะผลิต โดยยึดหลัก 5 W + 2H
- เอกสาร
- บุคคล / แหล่งข่าว
- สถานที่จริงที่จะไปถ่ายทำ
แล้วนำมารวบรวม สังเคราะห์ จัดทำและเรียบเรียงเนื้อหา ให้เป็นโครงร่างรายการ
- จัดทำสคริปท์ / บท
- วางแผน (Plan) กำหนดเรื่องราว เนื้อหา ที่ต้องการจะผลิต โดยยึดหลัก 5 W + 2H
- เริ่มจากวางประเด็น (Concept)
- แก่นของเรื่อง (Theme)
- เค้าโครงเรื่อง (Plot / Treatment)
- เค้าโครงเรื่องแบบละเอียด (Outline Script / Synopsis)
- บทโทรทัศน์ (Full Script)
- บทภาพ (Story board)
- ประสานงานกับส่วนต่างๆ ทั้งภายใน (ทีมงาน) และภายนอก (สถานที่ / พิธีกรหรือผู้แสดง)
ขั้นตอนผลิตรายการ PRODUCTION
สถานที่ ในสตูดิโอ
ข้อดี
– ควบคุมแสง
– ควบคุมเสียง
– ควบคุมบรรยากาศ และสามารถตกแต่งฉากได้อย่างเต็มที่
– ไม่ต้องกังวลกับสภาพดินฟ้าอากาศ
– มีความพร้อมทางด้านเทคนิค ส่วนใหญ่มีกล้องมากกว่า 3 ตัว
นอกสตูดิโอ แบ่งเป็น ในอาคาร (Indoor) และนอกอากคาร (Outdoor)
ข้อดี
– มีความเป็นธรรมชาติ ดูเป็นจริงมากกว่า
– ลดงบประมาณด้านฉาก
กระบวนการถ่าย ทั้งในสตูดิโอ และนอกสตูดิโอ จะคล้ายคลึงกัน ในกรณี ที่เป็นรายการ ที่มีการเตรียมการณ์ถ่ายทำ
- เตรียมและตรวจเช็คอุปกรณ์
- จัดเตรียมฉากและพื้นที่ที่จะใช้
- จัดเตรียมแสง และเสียง
- จัดวางตำแหน่งกล้อง
- ซักซ้อมทีมงานทุกฝ่าย
- ซ้อมการแสดง
- ถ่ายทำจริง ตามที่ได้ทำการซักซ้อมกับนักแสดงไว้แล้ว
หมายเหตุ : ควรจะมีการถ่ายทำเผื่อไว้หลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อประโยชน์ในการตัดต่อ ในการเลือกภาพ หรือแทรกภาพ (Insert / Cut away)
ความเข้าใจเรื่องภาพ
ภาพเคลื่อนไหว ที่เราเห็นในโทรทัศน์นั้น เกิดจากการนำเอาภาพนิ่งหลายๆภาพมาเรียงต่อกัน ด้วยความเร็วมากจนสายตาจับภาพไม่ทัน (ประเทศไทย ใช้ความเร็วเคลื่อนภาพโทรทัศน์ 25 ภาพ ต่อ 1 วินาที ในขณะที่ภาพยนตร์ ที่มีความเร็วของการเคลื่อนภาพ 24 เฟรม ต่อ วินาที)
- ฟิลด์ (Field) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ของระบบภาพในงานโทรทัศน์ โดย 2 ฟิลด์ จะเป็น 1 เฟรม (Frame) 25 เฟรม จะเท่ากับ 1 วินาที โดยเวลาที่นิยมใช้แสดงผลเวลาของภาพ จะเรียกว่า Time Code (TC)
- Shot เป็นหน่วยของการเรียกภาพ โดยนับตั้งแต่เริ่มบันทึกเทป ไปจนถึงสิ้นสุดการบันทึก 1 ครั้ง ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าใด
- Scene เป็นการเรียกหน่วย ที่นำ Shot หลายๆShot มาเรียงร้อยกันให้เป็นความต่อเนื่อง ไม่สะดุด หรือกระโดด
- Sequence เป็นการนำเอา Scene หลายๆ Scene มาร้อยต่อกันจนเป็นกลุ่มเนื้อหา เปรียบเหมือนหนังสือ 1 บทนั่นเอง
ขนาดภาพ
- Extreme Long Shot ( ELS) เป็นขนาดภาพที่ว้างมาก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อแนะนำสถานที่ แสดงภาพรวมทั้งหมดของฉากนั้นๆ
- Long Shot ( ELS) ภาพกว้าง ที่เจาะจงสถานที่มากขึ้น เพื่อแสดงความสำคัญของภาพฃ
- Medium Shot (MS) ภาพระยะปานกลาง เป็นภาพวัตถุในระยะปานกลางเพื่อ ตัดฉากหลังและรายละเอียดอื่นๆที่ไม่จำเป็นออกไป และเน้นเรื่องราวที่เราต้องนำเสนอ รายละเอียดจะเห็นมากมากขึ้น เช่นภาพครึ่งตัว
- Close Up (CU) ภาพระยะใกล้ เป็นภาพที่ตัดฉากหลังออกทั้ง เพื่อเน้นในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ เช่น สีหน้า แผลที่ขา ที่มือกำลังเขียนหนังสือ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ใช้สื่อด้วยภาษากาย มากกว่าการสื่อด้วยการพูด
- Extreme Close Up (ECU) ภาพใกล้มาก จะเน้นเจาะจง เฉพาะจุดที่สำคัญเท่านั้น เช่น เฉพาะแววตา ปาก เพื่อแสดงอารมณ์ของภาพ
มุมภาพ
- ภาพมุมสูง / มุมกด – ให้ความรู้สึกกดดัน หรือตกตต่ำของตัวละคร
- ภาพระดับสายตา – เป็นทั่วไป คล้ายแทนสายตาผู้ชม
- ภาพมุมต่ำ / มุมเงย – ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ มีพลัง อำนาจ
มุมภาพจะลักษณะที่ถ่าย เพื่อบอกเนื้อหา และลักษณะภาพที่ถ่าย เช่น
- ภาพที่ถ่ายจากมุมสูง (Aerial shot / bird’s eyes view)
- ภาพครึ่งอก (Bust Shot)
- ภาพเอียง (Canted Shot)
- ภาพถ่ายข้ามไหล่ (Cross Shot / X Shot)
- ภาพเต็มตัว (Full Shot)
- ภาพบุคคล 2 คนครึ่งตัว (Two Shot / Double Shot) เป็นต้น
ลักษณะของภาพ
- ภาพแบบออฟเจคตีฟ (Objective Shot) เป็นการถ่ายภาพในลักษณะแทนสายตาของผู้ชม
- ภาพแบบซับเจคตีฟ (Subjective Shot) เป็นการถ่ายภาพในลักษณะกล้องจะตั้งอยู่ในตำแหน่งแทนสายตาของผู้แสดง
การเคลื่อนกล้อง
- การแพนกล้อง (Panning) หมายถึง การเคลื่อนที่ของกล้องตามแนวนอนไปทางซ้าย หรือไปทางขวา โดยกล้องยังอยู่ ณ จุดเดิม
- การทิ้ลท์ (Tilting) หมายถึง การเคลื่อนกล้องตามแนวดิ่ง จากล่างขึ้นบน และจากบนลงล่าง โดยกล้องยังอยู่ ณ จุดเดิม เพื่อให้เห็นวัตถุตามแนวตั้งเช่น ภาพอาคารสูง
- การซูม (Zooming) หมายถึง การเปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์ ในขณะที่ถ่ายภาพโดยการใช้เลนส์ซูม ทำให้มุมภาพ เปลี่ยนไป ถ้าเปลี่ยนความยาวโฟกัสสั้นลง มุมจะกว้าง แต่ถ้าปรับความยาวโฟกัสให้ยาว มุมภาพจะแคบลง ดังนั้นการซูมจะช่วยเปลี่ยนขนาดของวัตถุให้ใหญ่ขึ้น (Zoom In) หรือเปลี่ยนขนาดของวัตถุให้เล็กลง(Zoom Out)ได้โดยตั้งขาตั้งกล้องไม่ต้องขยับเปลี่ยนตำแหน่งกล้องไป
- การดอลลี่ (Dolling) หมายถึง การเคลื่อนกล้อง เข้าหาวัตถุ เรียกว่า Dolly in หรือการเคลื่อนไหวกล้องออกจากวัตถุ เรียกว่า Dolly out
- การดอลลี่ (Dolly) จะคล้ายซูม (Zoom) ความลึกของภาพจะมากกว่าการซูม
- การแทรค (Trucking / Tracking ) หมายถึง การเคลื่อนกล้องไปด้านซ้ายหรือขวาให้ขนานกับวัตถุ
- การแทร็ค จะคล้ายกับการแพน แต่จะให้ความรู้สึกเคลื่อนผู้ชมเคลื่อนที่ เพราะฉากจะมีการเปลี่ยนแปลงตามการเคลื่อนกล้อง
- การอาร์ค (Arcing) หมายถึง การเคลื่อนกล้องในแนวเป็นรูปครึ่งวงกลม
- การเครน (Booming / Craning) หมายถึง การเคลื่อนกล้องแนวตั้ง ขึ้นลง
- การดี โฟกัส (De focus) หมายถึง การปรับเลนส์ภาพทำให้เบลอก่อนที่เปลี่ยนภาพแล้วกลับมาชัดอีกครั้ง (ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีเป็นความนึกคิดของตัวละคร)
- การชิพ โฟกัส (Shift focus) หมายถึง การปรับความคมชัดของภาพ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้ชมสนใจตรงจุดที่เราโฟกัสนั่นเอง
- สติลช็อต (Still Shot) หมายถึง การถ่ายภาพโดยไม่เคลื่อนกล้อง ใช้มากในการถ่ายทำรายการทั่วไป เป็นภาพที่เห็นกันโดยทั่วไป
ขั้นเตรียมการ POST-PRODUCTION
เป็นกระบวนการสุดท้ายก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน เป็นนำเอาภาพที่ไปถ่ายทำ มาเรียบเรียงตัดต่อส่วนที่เกินหรือไม่ต้องการออก หรือเอาภาพที่ต้องการมาแทรก มีการใส่สีสันความน่าสนใจด้วยการใช้เอฟเฟ็คต่างๆ ใส่กราฟฟิค ต่างๆ ขึ้นชื่อ ใส่ดนตรี เสียงพากย์ ไตเติ้ล
โดยรูปแบบของการตัดต่อ จะมี 2 รูปแบบ คือ
- Linear เป็นการตัดต่อ โดยการใช้สายสัญญาณ เป็นตัวส่งสัญญาณจากเครื่องเล่นเทป มายังเครื่องผสมสัญญาณภาพ (Mixer) และสร้างเอฟเฟคพิเศษ (SFX) ก่อนที่จะออกไปสู่เครื่องบันทึกเทป เรียกโดยทั่วกันว่า A/B Roll
- Non-linear เป็นการตัดต่อโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการนำเอาภาพที่ถ่ายทำมาลงในฮาร์ทดิสก์ แล้วใช้โปรแกรมทำการตัดต่อทำการตัดต่อ เมื่อเสร็จแล้วก็ถ่ายสัญญาณสู่เครื่องบันทึกเทป

เพิ่มเติม
งานศิลปกรรมโทรทัศน์ คือ การสื่อความหมายหรือสื่อสารกับผู้ชมรายการ อันได้แก่ ฉาก งานกราฟิก แสงเงา เสื้อผ้า การแต่งหน้า ตลอดจนในสิ่งต่างๆ ที่นักออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นมา
งานศิลปรรมมีความสำคัญ คือ
- สร้างความน่าสนใจ
- สร้างความน่าเชื่อถือ
- สร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง
แสงในรายการโทรทัศน์
- ต้องการให้แสงมีปริมาณที่เพียงพอ
- ต้องการให้เห็นความแตกต่างระหว่างความสว่างและความมืด
- ต้องการให้เห็นภาพเหมือนจริงตามธรรมชาติมากที่สุด
- แสดงให้เห็นรูปร่าง รูปทรง ลักษณะทางมิติ
- แสดงถึงอารมณ์ของภาพ
- แสดงถึงเวลา สถานที่ของภาพ
- สร้างความงามของภาพ (Composition) เพื่อเพิ่มจุดสนใจ
เสียงในรายการโทรทัศน์
- เสียงบรรยาย (Narration)
- เสียงพูดหรือเสียงสนทนา (Dialogue)
- เสียงดนตรี (Music)
- เสียงประกอบ (Sound Effects)
สรุปเนื้อหาการผลิตรายการโทรทัศน์
การทำงานด้านสื่อทุกแขนงมีผลกระทบต่อสังคม เพราะทุกคนบริโภคและรับสารจากสื่อ นอกเหนือจากการรับสื่อด้วยความบันเทิงแล้ว ยังต้องมีวิจารณญาณในการรับชม เพราะหากผู้ผลิตส่งต่อข้อมูลที่ผิด แง่ลบ หรือส่งเสริมทัศนะคติที่ผิดๆจะทำให้เรื่องผิดนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดา ทุกคนทำตามๆกันซึ่งส่งผลกระทบในแง่ลบมากมายต่อสัมคม แต่ในทางกลับกันถ้าการนำเสนอสื่อ มีมุมมองที่ชวนคิด ช่วยให้ผู้ชมวิเคราะห์และเสนอความคิดเห็นจนเกิดจุดเปลี่ยนที่ดีได้นั้น ก็จะส่งผลที่ดีมากมายในสังคม เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำสื่อทุกแขนงควรมีจรรยาบรรณในการนำเสนอ
ความก้าวหน้าของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์นั้นจะมาจากประสบการณ์การทำงาน การมีไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆอยู่เสมอ และการมี connection ที่ดีเพื่อขยายหรือต่อยอดงานต่อไป เป็นงานที่เน้นการปฏิบัติจึงสามารถเรียนรู้งานและพัฒนาตัวเองไปได้เรื่อยๆ จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัด
- ในช่วงแรกของการทำงานอาจเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ที่จะคอยช่วยทั้งในเรื่องของการหาข้อมูล การทำสคริป การเสนอไอเดียใหม่ๆให้กับรายการ
- หากได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถควบคุมงานทั้งหมดได้ ก็จะได้รับมอบหมายงานใหม่หรือเลื่อนตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ที่จะต้องคุมภาพรวของรายการทั้งหมด เป็นคนที่กำหนดทิศทางและตัดสินใจเรื่อง ต่างๆที่เกิดขึ้นในรายการ
- นอกจากนั้นถ้าเรามีประสบการณ์มากพอ ก็สามารถผลิตรายการเองทั้งหมดได้ โดยการเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หรือผู้ควบคุมการผลิต จะเป็นคนดูแลภาพรวมของทุกรายการที่มีอยู่ในบริษัทรวมไปถึงเรื่องงบประมาณ ความเหมาะสม การตลาด และการกำหนดรูปแบบรายการ
ซึ่งในปปัจจุบันการผลิตสื่อทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากอุปกรณ์และช่องทางที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถผลิตสื่อต่างๆออกมาได้ด้วยตัวเอง ระยะเวลาที่จะประสบความสเร็จในการทำงานก็จะสั้นลง อายุการทำงานที่น้อยลงแต่มีประสบการณ์เทียบเท่ากับคนรุ่นก่อนๆที่ทำงานมากนาน

Views: 6991
