การเขียนอ้างอิงในเนื้อหาตามแบบรูปแบบ APA

การเขียนอ้างอิงในเนื้อหา เป็นการบอกรายละเอียดของแหล่งสารสนเทศที่ใช้อ้างอิงในการศึกษาค้นคว้า ด้วยการอ้างอิงลงไปในเนื้อหา ใช้รูปแบบการอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ APA (American Psychological Association) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6

การอ้างอิง (Citation) คือข้อความที่เขียนหรือพิมพ์ไว้ในเนื้อหา หรือแทรกปนไปกับเนื้อหา ข้อความยืนยันและแสดงหลักฐานการค้นคว้า และ ข้อความระบุที่มาของความรู้ที่ใช้ในงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการ

การอ้างอิงในเนื้อหา เป็นการอ้างอิงในระบบนามปี โดยระบุ ชื่อผู้เขียน และปีพิมพ์ เพื่อเป็นการชี้แนะผู้อ่านไปยังแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงท้ายเล่ม หรือบรรณานุกรม

ลักษณะการอ้างถึงงานของผู้อื่น  ด้วยวิธี  การคัดลอกทั้งข้อความ (Quoting) และ  การถอดความ (Paraphrasing) จากงานของผู้อื่น

การคัดลอกทั้งข้อความ (Quoting)

ถ้าเป็นการคัดลอกข้อความหรือความหมายของผู้อื่นหรือนำเนื้อหาเพียงบางส่วนหรือบางหน้า ไม่ใช้เนื้อหาทั้งเล่มมาเรียบเรียงเป็นสำนวนของตนเองเมื่อคัดลอกข้อความแล้ว ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา โดยระบุ ชื่อผู้แต่งเดิม ปีพิมพ์ และเลขหน้า ที่ข้อความปรากฏอยู่

ตัวอย่าง เช่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเมืองญี่ปุ่นจะมีการพัฒนาการทางด้านรูปแบบและเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ปัญหาบางประการของระบบการเมืองญี่ปุ่นก็ยังคงมีอยู่ (ศิริพร วัชชวัลคุ, 2549, น. 80)

การถอดความ (Paraphrasing) จากงานของผู้อื่น

เป็นการย่อใจความสำคัญ เรียบเรียงใหม่จัดลำดับคำ/ข้อความของประโยคใหม่ เปลี่ยนไปใช้คำอี่น ๆ แทน เพื่อที่จะอธิบายหรือแสดงความหมายของข้อความจากงานผู้อื่นที่นำมาแสดงไว้ในงานเขียนของตน โดยการถอดความหรือแปลความหรือกล่าวถึงความคิดที่อยู่ในงาน หรือข้อความของผู้อธิบาย ผู้เขียนต้องระบุเลขหน้าหรือเลขย่อหน้าที่ข้อความนั้นปรากฏอยู่

ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการอ้างอิงงานของผู้อื่น โดยการสรุปเนื้อหาหรือแนวคิดทั้งหมดหรือทั้งเล่มของงานชิ้นนั้น  ไม่ต้องระบุเลขหน้า

การอ้างอิงใช้ลักษณะการเขียนแบบระบบนาม-ปี (Author-Date) การอ้างอิงที่เขียนแทรกในเนื้อเรื่องของรายงานหรือเนื้อหาที่มีการกล่าวอ้างถึง  โดย ประกอบด้วย ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ เลขหน้า

รูปแบบ

(ชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์, และ/หรือหน้าที่อ้างอิง) อยู่ในวงเล็บ (      )  ตำแหน่งที่ต้องการ เช่น ก่อนข้อความ ระหว่างข้อความ หรือหลังข้อความ

อ้างอิงแนวคิด/เนื้อหา โดยภาพรวม (ไม่ต้องใส่เลขหน้า)

ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์  เช่น อุษา กลิ่นหอม (2561)

อ้างอิงเฉพาะหน้า บท ตอน (ต้องใส่เลขหน้า)

ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์, ระบุเลขหน้า บท ตอน   เช่น อุษา กลิ่นหอม (2561, น. 16)

ส่วนประกอบของระบบนามปี

ระบุข้อความเน้นผู้แต่ง เป็นการอ้างอิงก่อนข้อความ

     รูปแบบ ชื่อผู้แต่ง (ปีที่พิมพ์, เลขหน้า)……(ข้อความ)………

เช่น  . . . เรืองอุไร  ศรีนิลทา (2535, น. 70)  ได้กล่าวถึงจรรยาบรรณในการวิจัยของนักวิจัยไว้ดังนี้ …………

เน้นเนื้อหามากกว่าผู้แต่ง  เป็นการอ้างท้ายข้อความ

           รูปแบบ (ข้อความ) ……..(ชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์, เลขหน้า)

          เช่น หัวเรื่อง (Subject heading) หมายถึง คำ กลุ่มคำ หรือวลี ที่กหนดขึ้นใช้อย่างมีหลักเกณฑ์เป็นภาษาดรรชนี ที่ใช้ระบุเนื้อเรื่องสำคัญของวัสดุห้องสมุดอย่างสั้น ๆ ด้วยเหตุนี้หัวเรื่องจึงเป็นคำหรือวลีที่กะทัดรัด สื่อความหมายได้ชัดเจนเกี่ยวกับสาระสำคัญของเนื้อเรื่อง (อัมพร ทีขะระ, 2534, น. 61)

การลงรายการเอกสารที่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

รูปแบบ …….(ข้อความ)…….(ชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์, เลขหน้า)

ตัวอย่าง   วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (2556, น. 13)

ชื่อผู้แต่ง, ไม่ปรากฏปีพิมพ์

ตัวอย่าง

          (กิตติศักดิ์ ศรีศักดิ์อำไพ, ม.ป.ป.)

          (Reed, n.d.)

กรณีผู้แต่งชาวไทย ให้ใส่เรียงลำดับตามชื่อ–ชื่อสกุลที่ปรากฏ โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายใด ๆ ทั้งสิ้น          

          (จรัส เดชกุญชร, 2552, น. 82-83)

(วิภา เสนานาญ กงกะนันท์, 2560, น. 19)

กรณีผู้แต่งชาวต่างชาติ ให้ใส่เฉพาะชื่อสกุลเท่านั้น   

          (Smith, 2019, p. 20)

เอกสารที่มีผู้แต่ง 3-5 คน 

ในการอ้างครั้งแรก ให้ระบุชื่อทุกคน คั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,)  ยกเว้นผู้แต่งคนสุดท้าย ใช้คำว่า “และ” หรือเครื่องหมาย “, &“ เช่น

(หิรัญ หิรัญประดิษฐ์, สุขวัฒน์  จันทรปรณิก และ เสริมสุข สลักเพ็ชร, 2540, น. 10)

(Annderson, Kennedy, & Fox, 1997, p. 20)

งานเดียว ผู้แต่งคนเดียว

ผู้แต่งชาวไทย เรียงลำดับตามชื่อ–ชื่อสกุล หากเป็นงานเขียนที่เป็นภาษาไทย คำนำหน้าชื่ออื่น ๆ ให้ตัดออก  เช่น

(คณิต ณ นคร, 2560, น. 25)

ผู้แต่งมีฐานันดรศักดิ์ บรรดาศักดิ์ และสมณศักดิ์ให้ระบุด้วย ส่วนยศให้ใส่เฉพาะยศสุดท้ายเท่านั้น  โดยใส่ชื่อ-ชื่อสกุล คั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) ตามด้วยฐานันดรศักดิ์ บรรดาศักดิ์ ส่วนสมณศักดิ์ให้คงรูปเดิม เช่น

(ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, ม.ร.ว., 2543, น. 10)

ผู้แต่งชาวต่างประเทศ ใส่เฉพาะชื่อสกุลเท่านั้น ไม่ว่างานเขียนจะเป็นภาษาต่างประเทศหรือภาษาไทย เช่น

(Scott, 2014, pp. 11-17)

(แคทซ์, 2550, น. 30)

ผู้แต่งใช้นามแฝง  ให้ใส่นามแฝงนั้น ๆ เช่น ทมยันตี

งานเดียว ผู้แต่ง 2 คน

ให้ระบุชื่อผู้แต่งทั้งสองคนทุกครั้งที่มีการอ้าง เอกสารภาษาไทย ใช้คำว่า “และ” เอกสารภาษาอังกฤษ ใช้เครื่องหมาย “&” เชื่อมระหว่างคนที่ 1 และ 2 ในกรณีที่มีการอ้างถึงชื่อ ผู้แต่งในเครื่องหมายวงเล็บ (   ) เท่านั้น และใช้คำว่า “and” เชื่อมชื่อผู้แต่งที่ไม่ได้อยู่ในเครื่องหมายวงเล็บ (   )

(อุทัยวรรณ โกวิทวที และ สาธิต โกวิทวที, 2543, p. 24)

(Anderson & Kennedy, 1998, p. 18)

ชแลชเชอร์ และ ทอมพ์สัน (Schlacher & Thompson, 1974)

งานเดียว ผู้แต่ง 6 คนขึ้นไป

การอ้างถึงทุกครั้ง ให้ระบุเฉพาะผู้แต่งคนแรก ตามด้วยคำว่า “และคณะ” หรือ “และคนอื่น ๆ” สำหรับเอกสารภาษาไทย และใช้คำว่า “et al.” สำหรับเอกสารภาษาอังกฤษ เช่น

          (Annderson et al., 1997, p. 20) 

(หิรัญ หิรัญประดิษฐ์ และคณะ, 2540, น. 12)

ผู้แต่งเป็นสถาบัน

ต้องระบุชื่อของสถาบันอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสนกับสถาบันอื่น ๆ ที่อาจมีชื่อคล้าย ๆ กัน ให้ระบุชื่อสถาบันตามที่ปรากฏ

หน่วยงานของรัฐ ให้เริ่มต้นจากหน่วยงานใหญ่ไปหน่วยงานย่อย ระดับกรมก่อนเสมอ โดยเว้น 1 ระยะระหว่างหน่วยงานใหญ่และหน่วยงานย่อย ยกเว้นหน่วยงานที่มีผลงานเป็นที่รู้จักอาจลงจากหน่วยงานย่อยได้เลย เช่น

(กรมการข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว, 2559, น. 32)

หากชื่อสถาบันนั้นใช้อักษรย่อของสถาบันที่เป็นทางการ หรือเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย ให้ใช้อักษรย่อของสถาบันได้เพื่อไม่ให้ข้อความในวงเล็บยาวเกินไป แต่การอ้างครั้งแรกควรใช้ชื่อเต็มก่อนเสมอ เช่น

อ้างครั้งแรก

(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย [ททท.], 2536, น. 70)

อ้างครั้งต่อมา

(ททท., 2536, น. 73)

การระบุเลขหน้า

ให้ระบุคำว่า “น.”  สำหรับหนังสือภาษาไทย

หรือ “p.” สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษที่มีจำนวน 1 หน้า

หรือ “pp.”  สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษที่มีจำนวนมากกว่า 1 หน้า

ให้ระบุก่อนเลขหน้าเสมอ

ที่มารูปภาพ : https://www.freepik.com/

Visits: 1610

Comments

comments

Back To Top