เขียนเพราะ อีกไม่กี่วันก็จะถึง วันสถาปนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 29 มีนาคม 2565

เขียนทำไม เพราะเข้ามาเป็นสมาชิกครบ 25 ปี และไม่เคยเขียนถึงเธอเลย

เพื่ออะไร ขอบคุณที่รับฉันเป็นสมาชิก ขอบคุณที่พาฉันกลับมาสู่อ้อมกอดของความรัก

ต้องขออนุญาต แบ่งยุคของวลัยลักษณ์ตามความคิดของตัวเองฉบับ บรรณฯน่ารัก นะคะ

1. ยุคหินเก่า

  • พ.ศ. 2521 ชาวนครศรีธรรมราชเริ่มรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2522 ส.ส.นครศรีธรรมราชเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2527 ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • 13 กันยายน พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยาลัยนครศรีธรรมราช สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศต่อไป

            ฉันมาที่นี่แล้ว … จะไม่บอกนะว่าตอนนั้นฉันอายุเท่าไหร่  ตอนเด็กเรียนลูกเสือแล้วต้องเดินทางไกล เดินจริง ๆ นะใช้เส้นทางเดิน เริ่มต้นที่โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา ผ่านเมรุวัดท่าสูง ตอนนั้นทั้งวัดและโรงเรียนไม่มีรั้วกั้น ข้ามถนนเข้าสู่คลองสิงห์ เดินบนคันนา ทุ่งบ้านไผ่ทั้งหมดเป็นทุ่งนากว้าง ๆ มองไปทางไหนก็เขียวสวย ท้องฟ้าสีฟ้า แดดจ้า ๆ ป่าเขียว ๆ และบ้านคนไม่ค่อยมีให้เห็น แวะกินข้าวเที่ยงที่โรงเรียนวัดสโมสร บ่ายออกเดิน ก็เดินบนคันนาอีกนั่นแหละ ผ่านทุ่งนากว้าง ๆ บ้านกลาง สี่แยกวัดโหนด เย็นถึงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 8 ใช่คุณคิดไม่ผิด ฉันเป็นเด็กราชประชานุเคราะห์ เกิดและเติบโตที่นี่ @หน้าทัพ ท่าศาลา ถึงได้บอกว่าขอบคุณที่พาฉันกลับบ้าน

2. ยุคก่อนประวัติศาสตร์

  • 4 เมษายน พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรียกเลิกมติเดิมและอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”
  • 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ประกาศ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535 ในราชกิจจานุเบกษา
  • 8 เมษายน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พุทธศักราช 2535 มีผลบังคับใช้

            เดินทางไป-กลับ เรียนหนังสือ ต้องนั่งรถสองแถวนครฯ-ท่าศาลา เห็นป้ายติดในรถ “ชาวนครฯพร้อมตั้งมหาวิทยาลัย” “นครฯต้องการมหาวิทยาลัย” “ท่าหลามีทุ่งบ้านไผ่สำหรับตั้งมหาวิทยาลัย” ฯลฯ มีป้ายนัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช และกิจกรรมรวมตัวกันมากมาย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทุ่งบ้านไผ่ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

3. ยุคประวัติศาสตร์

  • 8 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญตราพระนามของพระองค์ท่านเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
  • 24 มิถุนายน พ.ศ. 2536 จัดตั้งสำนักงานอธิการบดีและหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพฯ
  • 10 มกราคม พ.ศ. 2539 รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี
  • 21 มกราคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อ “อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ”
  • 29 มีนาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

            ฉันเป็นนักศึกษาฝึกงานบรรณารักษศาสตร์ สถาบันราชภัฏภูเก็ต และเข้าไปช่วยจัดเอกสาร ณ หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เห็นหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่โซนซ้ายมือ ชั้น 1 (เดินเข้าอาคาร) ของอาคารหอจดหมายเหตุฯ เริ่มเห็น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม มีประกาศรับสมัครพนักงานตอนที่ฉันจบเป๊ะ! ไปสมัคร-สอบข้อเขียนที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช-สอบสัมภาษณ์ที่อาคารแหลมทอง ราชเทวี กรุงเทพฯ อ๋อยังหรอกค่ะ … ฉันสอบตก ยังไม่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

4. ยุคปัจจุบัน “เป็นองค์กรธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล”

  • 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าดำเนินงาน ณ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เปิดดำเนินการรับนักศึกษารุ่นแรกขึ้นทะเบียน
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เปิดสอนวันแรก
  • พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ การเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นเมืองมหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เป็นอันดับ 1 “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ของภาคใต้ ปี 2021-2022 จากจำนวน 959 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั่วโลก

            มีประกาศรับสมัครบรรณารักษ์ ฉันสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และ … วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ฉันเข้าทำงานวันแรก ตำแหน่งบรรณารักษ์ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ฉันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กลับบ้าน เกิด-งอกงามเติบโต ที่บ้านเกิด

            วันนี้ 25 ปีที่เข้ามาเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วัน เวลา ที่ผ่าน ได้เห็นพัฒนาการ วิวัฒนาการ ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในหลากหลายบทบาท ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวลัยลักษณ์ ไม่มีคำสัญญา แต่สำนึกอยู่เสมอว่าต้องตอบแทน/สร้างสรรค์ความงดงามให้เธอและบ้านเกิดเท่าที่ทำได้

“ฉันรักวลัยลักษณ์ เพราะวลัยลักษณ์พาฉันกลับมาสู่อ้อมกอดของความรัก รักษ์วลัยลักษณ์”

ปล. ลองเติมประโยคในช่องว่างเล่น ๆ “ฉันรักวลัยลักษณ์ เพราะวลัยลักษณ์ ______________” 29 มีนา อาจมีอะไรดี ๆ มาฝาก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: https://www.wu.ac.th/th/about/66/ความเป็นมา

Visits: 129

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.