เทคนิคการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

คุณเคยเจอกับสิ่งเหล่านี้กับตัวเองกันบ้างไหม? เมื่อต้องสวมบทบาทหรือรับหน้าที่ในการนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากภาระหน้าที่การงานต่อผู้บริหาร ที่ประชุม หรือต่อห้องจัดสัมมนาที่มีกลุ่มผู้ฟังนั่งฟังอยู่กันเป็นจำนวนมาก ๆ

            “รู้สึกตื่นเต้น, กลัวประหม่าไม่กล้านำเสนอ, ขาดความมั่นใจในตัวเอง, นำเสนอแล้วไม่มีใครฟังเพราะขาดพลังในการนำเสนอ, สื่อที่เตรียมมาไม่น่าสนใจ, จูงใจผู้ฟังไม่ได้เพราะขาดเทคนิคในการนำเสนอ และอื่น ๆ ฯลฯ “

            หากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เราเจอหรือประสบแล้วจะทำยังไงดีละที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นหมดไป ทำให้ตัวเราเป็นคนที่นำเสนอได้อย่างมีพลัง มีเสน่ห์ และดึงดูดใจผู้ฟังได้เหมือนกับต้องมนต์สะกด งั้นเรามาเรียนรู้เทคนิคดี ๆ ในการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพกันเถอะ ลองมาดูกันครับว่ามีเทคนติอะไรบ้าง

            แต่ก่อนอื่น เรามาดูความหมายของคำว่า “การนำเสนอ” กันก่อน

            การนำเสนอ หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้นำเสนอต่อผู้ฟัง ไปจนถึงกลุ่มผู้ฟังจำนวนมาก โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจ และจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อและเกิดความเข้าใจในระยะเวลาจำกัด โดยอาศัยเทคนิค สื่อหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบการนำเสนอ อันจะทำให้การนำเสนอนั้นประสบผลสำเร็จ

การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ

            การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพย่อมเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ที่สำคัญก็ได้แก่ ผู้นำเสนอ ผู้ฟัง สาร สื่อ และอุปกรณ์การนำเสนอ โดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

1) ผู้นำเสนอ คือ บุคคลที่ถ่ายทอดข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ ความคิดเห็นและความต้องการไปยังผู้ฟัง ผู้นำเสนอจึงถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการนำเสนออย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพราะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการออกแบบการนำเสนอ มีทักษะการสื่อสารโต้ตอบที่จำเป็น มีบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกที่สามารถทำให้ผู้ฟังเชื่อถือ และมั่นใจ

2) ผู้ฟัง คือ บุคคลที่รับข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ ความคิดเห็น และความต้องการจากผู้นำเสนอ ดังนั้น ก่อนที่ผู้นำเสนอจะออกแบบหรือเลือกใช้เทคนิคใดในการนำเสนอแล้ว จะต้องมีการวิเคราะห์ผู้ฟังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการนำเสนอครั้งนั้น ๆ เพื่อที่จะได้นำเสนอได้ตรงกับใจหรือความต้องการของผู้ฟังนั่นเอง

3) สาร คือ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ ความคิดเห็น และความต้องการจากผู้นำเสนอ ซึ่งลักษณะของสารต้องเป็นเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย และชัดเจน ดังนั้น ศิลปะในการร้อยเรียงเนื้อหาของสารจากผู้นำเสนอไปสู่ผู้ฟังจึงเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งเลยทีเดียว

4) สื่อการนำเสนอ คือ ช่องทางหรือรูปแบบการนำพาสารหรือเนื้อหาข้อมูลจากผู้นำเสนอไปยังผู้ฟัง

5) อุปกรณ์การนำเสนอ คือ เครื่องมือในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประกอบการนำเสนอให้น่าสนใจและประสบผลสำเร็จ

วัตถุประสงค์ของการนำเสนอ

1) การนำเสนอเพื่อแจ้งให้ทราบ เป็นรูปแบบการนำเสนอที่ชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือการรายงานความคืบหน้า รายงานผลสรุปการดำเนินงาน

2) การนำเสนอเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการนำเสนอที่บอกกล่าว แจ้งให้ผู้ฟังทราบถึงแนวคิด ความคิดเห็นที่สนับสนุนหรือคัดค้านแนวคิดวิธีการแบบเดิม รวมถึงความคิดใหม่ของผู้นำเสนอหรือนำแนวคิดของบุคคลอื่นในทางเดียวกันมาประกอบเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนซึ่งผู้ฟังอาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้

3) การนำเสนอเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นรูปแบบการนำเสนอที่มีวัตถุประสงค์การใช้ความพยายามเพื่อเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือพฤติกรรมของบุคคลอื่น

4) การนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบ เป็นการนำเสนอบอกเล่าเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมกันนั้นก็เป็นการขอข้อคิดเห็น ข้อสังเกต และคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง

5) การนำเสนอเพื่อตัดสินใจหรืออนุมัติ เป็นการนำเสนอที่ต้องมีการเตรียมข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและครบถ้วนด้วยกระบวนการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน

มาทำความรู้จักรูปแบบการนำเสนอกัน

รูปแบบที่ 1 จำนวนผู้นำเสนอ

– แบบเดี่ยวหรือการนำเสนอด้วยบุคคลเดียว

– แบบผู้นำเสนอจำนวน 2 คน

– แบบผู้นำเสนอมากกว่า 2 คนขึ้นไป

รูปแบบที่ 2 จำนวนผู้ฟัง

– ผู้ฟังกลุ่มใหญ่ เป็นการนำเสนอตั้งแต่ผู้ฟัง 35 คนขึ้นไป

– ผู้ฟังกลุ่มเล็ก เป็นการนำเสนอตั้งแต่ 2 ถึง 35 คน

– ตัวต่อตัว

รูปแบบที่ 3 ระดับความเป็นทางการ

– ทางการ เป็นการนำเสนอที่มีรูปแบบชัดเจน

– ไม่เป็นทางการ เป็นการนำเสนอเหมือนกับการพูดคุยกันระหว่างผู้ฟังกับผู้นำเสนอ

รูปแบบที่ 4 ระดับความถี่ การนำเสนอแบบครั้งเดียว และการนำเสนอที่จัดขึ้นเป็นประจำ

รูปแบบที่ 5 ระดับความสัมพันธ์

– บุคคลในองค์กรเดียวกัน

– บุคคลต่างองค์กรกัน

รูปแบบที่ 6 ต่างสถานที่

– การประชุมทางโทรศัพท์

– การประชุมทางวีดิโอ

การเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอ

            การเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญเพราะนั่นหมายถึงว่า เรามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งเรื่องการนำเสนอก็เช่นเดียวกันต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวผู้นำเสนอ

การเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอ ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 : การศึกษาวัตถุประสงค์ ขั้นตอนที่ 2 : วิเคราะห์และเข้าใจผู้ฟัง ขั้นตอนที่ 3 : การวางแผนนำเสนอ และขั้นตอนที่ 4 : การฝึกซ้อมเพื่อความมั่นใจ

            โดยรายละเอียดการเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอทั้ง 4 ขั้นตอนดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 : การศึกษาวัตถุประสงค์

            ขั้นตอนการศึกษาวัตถุประสงค์ จะช่วยให้ผู้นำเสนอทราบว่าควรที่จะเตรียมเนื้อหา หรือรายละเอียดสำคัญ ๆ ที่จะนำไปเสนอในเรื่องใด หรือหัวข้อใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การนำเสนอกระชับ ตรงประเด็น น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ อันจะทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกว่าเสียเวลาหรือน่ารำคาญ

ขั้นตอนที่ 2 : วิเคราะห์และเข้าใจผู้ฟัง

            การรู้จักเข้าใจผู้ฟังเป็นอีกขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมก่อนการนำเสนอ โดยมีหลักทฤษฎีในการวิเคราะห์ที่เรียกว่า APEKABO ดังนี้

AAudienceกลุ่มผู้ฟัง
PPreference Thinkingแนวความคิด
EExpectionความคาดหวัง
KKnowledgeความรู้
AAttitudeทัศนคติ
BBackgroundภูมิหลัง
OOthersอื่น ๆ

Audience – – กลุ่มผู้ฟังคือใคร มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะพูดหรือนำเสนออย่างไร หากเราวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังผิด       สิ่งที่เราเตรียมมาทั้งหมดอาจไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ฟัง ทำให้การนำเสนอไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรหรืออาจรุนแรงไปจนถึงขั้นล้มเหลวเลยทีเดียวก็อาจเป็นไปได้

Preference Thinking – – แนวความคิด โดยส่วนใหญ่ก็คืออาชีพหรือลักษณะการทำงานของกลุ่มผู้ฟังที่เราจะไปนำเสนอ เพราะอาชีพของคนเรามักมีอิทธิพลต่อความเคยชินทำให้มีแนวคิดหรือวิธีการรับฟังและสื่อสารข้อมูลตามแบบฉบับของคนในอาชีพนั้น เช่น นักบัญชีก็จะทำงานเกี่ยวข้องกับตัวเลข การเตรียมข้อมูลนำเสนอก็ควรที่จะเน้นตัวเลขเป็นหลักสำคัญ เป็นต้น

Expection – – ความคาดหวัง หากเราทราบความคาดหวังหรือสิ่งที่ผู้ฟังต้องการทราบจะช่วยให้เราเตรียมเนื้อหาได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ฟัง ส่งผลให้การนำเสนอของเราน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ

Knowledge – – ความรู้ ความเข้าใจ การเข้าใจกลุ่มผู้ฟังตรงจุดนี้จะช่วยให้เราสามารถวางขอบเขตของเนื้อหาว่าควรลงรายละเอียดให้ลึกหรืออธิบายเพียงแค่ภาพรวมกว้าง ๆ ก็เพียงพอ

Attitude – – ทัศนคติ คือสิ่งที่ผู้ฟังอาจได้รับรู้มาบ้างเกี่ยวกับตัวผู้นำเสนอ บางครั้งเราควรทราบว่าผู้ฟังมีทัศนคติอย่างไรต่อตัวเรา หากเป็นไปในแง่ลบเราก็จะได้เตรียมตัวหาทางแก้ไขหรือรับมือเมื่อถึงเวลาในการนำเสนอ

Background – – เรื่องราวหรือภูมิหลังที่อาจมีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้ฟังอื่น ๆ ผู้นำเสนอควรค้นหาว่ามีเรื่องราวที่เกี่ยวโยงมาก่อนหน้านี้หรือไม่ เคยมีใครนำเสนอหัวข้อเดียวกันมาก่อนหรือไม่แล้วมีผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

Others – – ข้อมูลเรื่องอื่น ๆ บางอย่างอาจมีประโยชน์สำหรับวิเคราะห์ผู้ฟังเพื่อเตรียมข้อมูลในการนำเสนอให้ครอบคลุมและรอบด้านยิ่งขึ้นเพื่อประสิทธิภาพและผลสำเร็จในการนำเสนอ เช่นในเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้

– จำนวนผู้ฟัง

– ระยะเวลาที่ใช้ในการนำเสนอ

– ลำดับการนำเสนอ

– สถานที่

ขั้นตอนที่ 3 : การวางแผนนำเสนอ

            สำหรับขั้นตอนนี้ สิ่งสำคัญลำดับแรกสุดที่ผู้นำเสนอคำนึงถึง คือ การเตรียมข้อมูลเนื้อหาเพราะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ฟังได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางเอาไว้ นอกจากนั้นผู้นำเสนอก็ควรมีการวางแผนในการกำหนดขอบเขตของเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มผู้ฟัง ระยะเวลาที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ในการนำเสนอ หลังจากนั้นก็ต้องจัดลำดับเนื้อหาว่าควรนำเสนอประเด็นใดก่อนหรือหลังซึ่งอาจเรียงลำดับความสำคัญ ระยะเวลาก่อน-หลัง ลำดับตามเหตุและผล ซึ่งลำดับการเรียงเนื้อหาโดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพรวมดังนี้

– เปิดการนำเสนอ เป็นส่วนการนำเสนอที่ดำเนินการก่อนเข้าสู่บทนำ ซึ่งผู้นำเสนอจะต้องสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังตั้งใจฟังการนำเสนออย่างเต็มที่

– บทนำ เป็นการกล่าวถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอ

– เนื้อหา กล่าวถึงสาระสำคัญที่ต้องการให้กลุ่มผู้ฟังทราบหรือรับฟัง ด้วยภาษาที่กะทัดรัด เฉียบคม เข้าใจง่าย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้ตั้งใจฟังการนำเสนอโดยตลอด

– บทสรุป เป็นการนำเสนอในช่วงท้ายที่มีความสำคัญไม่ต่างจากการเปิดการนำเสนอ บทสรุปการนำเสนอจะช่วยให้ผู้พูดหรือผู้นำเสนอได้สรุปเน้นถึงประเด็นสำคัญ ๆ ของเรื่องที่ได้ดำเนินการนำเสนอมาและกระตุ้นให้ผู้ฟังลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เป็นเป้าหมายซึ่งผู้นำเสนอจะสรุปสาระสำคัญทั้งหมด รวมถึงข้อสรุป ข้อเสนอแนะ ทางเลือก

            สำหรับสัดส่วนการนำเสนอมักจะแบ่งออกเป็น การเปิดนำเสนอและบทนำ จะมีสัดส่วนที่ 10-15% เนื้อหา 70-80% และบทสรุปมีสัดส่วน 10-15%

ขั้นตอนที่ 4 การฝึกซ้อมเพื่อการสร้างความมั่นใจ

            การที่จะนำเสนอให้มีประสิทธิภาพได้นั้น นอกจากการเตรียมความพร้อมตามขั้นตอนทั้ง 3 ขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วนั้น การฝึกซ้อมก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้นำเสนอเกิดความคล่องแคล่ว ความราบรื่นในการนำเสนอ สามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงระหว่างการนำเสนอ

            การฝึกซ้อมเพื่อสร้างความมั่นใจ มีหลักสำคัญอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. การจัดทำบทพูดหรือโน้ตย่อ

2. การฝึกซ้อมใช้สื่อและอุปกรณ์การนำเสนอต่าง ๆ

3. การฝึกซ้อมโดยมีผู้ฟัง

4. การฝึกซ้อมโดยการบันทึกวีดิโอ

5. ความถี่ในการฝึกซ้อม

สื่อและอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอ

            ผู้นำเสนอแต่ละคนก็ย่อมมีบุคลิกภาพหรือสไตล์การนำเสนอเป็นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป พร้อมกันนั้นความแตกต่างก็ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อหา วัตถุประสงค์ที่จะสื่อสารนำเสนอไปยังกลุ่มผู้ฟังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการนำเสนอครั้งนั้น ๆ และหากต้องเจอหรือนำเสนอในเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก สื่อและอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอเพื่อช่วยการนำเสนอให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณลักษณะของสื่อและอุปกรณ์ที่ดีในการนำเสนอมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้

1. ต้องสามารถช่วยให้การสื่อสารไม่คลุมเครือ มีความชัดเจน และสมบูรณ์

2. สื่อและอุปกรณ์ที่เราเลือกใช้ประกอบการนำเสนอนั้น ต้องสามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาหรือข้อมูลได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว

3. สื่อและอุปกรณ์นั้นต้องทำให้การนำเสนอมีความน่าสนใจ และกระตุ้นจูงใจให้ผู้เข้าร่วมฟังการนำเสนอนั้นติดตามโดยตลอด ไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย หรือมีความสนใจต่อสิ่งเร้าอื่น

4. สื่อและอุปกรณ์ต้องทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถจดจำสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ ซึ่งสามารถสื่อสิ่งที่เป็นนามธรรมให้ผู้ฟังเห็นเป็นรูปธรรมจดจำง่าย

5. สื่อและอุปกรณ์นำเสนอต้องมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ฟัง

หลักการเลือกใช้สื่อและอุปกรณ์ในการนำเสนอ

            ในหลักการเลือกใช้สื่อและอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอ มีหลักอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1. จำนวนของกลุ่มผู้ฟัง

2. สถานที่ในการที่จะไปนำเสนอ

3. สื่อและอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเสนอต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งสามารถที่จะเลือกใช้สื่อในการนำเสนอได้มากกว่า 1 ชนิด

4. ทักษะและความสามารถของผู้นำเสนอในการใช้สื่อและอุปกรณ์แต่ละประเภท

5. ปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ

ชนิดของสื่อและอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการนำเสนอ ในที่นี้รวบรวมมาให้ 10 ชนิดด้วยกันได้แก่

1. สไลด์ Powerpoint

2. เครื่องฉายภาพ 3 มิติ (Digital Visualizer)

3. กระดานขาว หรือ กระดานดำ

4. แผ่นพลิก (Flip Chart)

5. เอกสารคู่มือ (Handouts)

6. แบบจำลอง

7. วีดิทัศน์และภาพยนตร์

8. การสาธิต

9. ไมโครโฟน

10. เครื่องชี้ Laser Pointer

ทักษะของผู้นำเสนอ

            ผู้นำเสนอถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการที่จะดำเนินการนำเสนอให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตนเองได้กำหนดหรือวางเอาไว้ ซึ่งผู้นำเสนอจำต้องฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะในการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นที่ผู้นำเสนอควรมีที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

1) ทักษะในการคิด

            ทักษะในการคิดเป็นกระบวนการทางสมองที่มีสมรรถนะสูงของบุคคลในการแสดงออกด้านภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ท่าทาง และสัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งสื่อสารไปยังบุคคลอื่นให้ได้รับรู้และความนึกคิดของตนเอง

            ความสำคัญต่อการนำเสนอ : การมีทักษะการคิดจะทำให้ผู้นำเสนอรู้จักลำดับความคิดอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้การทำขอบเขตเนื้อหาของข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอเป็นไปอย่างกระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย

2) ทักษะในการฟัง

            ทักษะในการฟังเป็นการรับรู้ความหมายจากเสียงที่ได้ยิน ทั้งจากบุคคลโดยตรง จากแหล่งของสื่ออื่นทั้งที่เป็นรูปของข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ที่ได้สื่อสารกันมา

            ความสำคัญต่อการนำเสนอ : ทักษะในการฟังหากผู้นำเสนอใส่ใจและฝึกฝน จะทำให้ผู้นำเสนอสะสมองค์ความรู้อย่างรอบด้านจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ แล้วสามารถนำความรู้นั้นมากลั่นกรองเรียบเรียงเป็นเนื้อหาเพื่อนำเสนอได้

3) ทักษะการพูด

            ทักษะการพูด คือ การใช้ถ้อยคำ ระดับภาษา น้ำเสียง และกิริยาท่าทางเป็นเครื่องสื่อสารความรู้สึกนึกคิดและความต้องการจากผู้พูดไปสู่ผู้ฟังให้ได้รับรู้และเข้าใจ

            ความสำคัญต่อการนำเสนอ : ทักษะการพูดหากได้ฝึกฝนจนชำนาญจะทำให้มีข้อผิดพลาดในการนำเสนอน้อยลง การถ่ายทอดข้อมูลจะมีความราบรื่นไม่ติดขัด ดังนั้นผู้นำเสนอจะต้องหมั่นฝึกฝนการพูดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

4) ทักษะการอ่าน

            ทักษะการอ่าน เป็นการรับรู้ความหมายจากอักษรที่เรียบเรียงถ้อยคำ แล้วแปลความหมายจากคำ ประโยค เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ต่าง ๆ

            ความสำคัญต่อการนำเสนอ : ผู้นำเสนอจำต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้อ่านที่มีความเชี่ยวชาญในการสะสมองค์ความรู้ สามารถประมวลสิ่งที่อ่านและนำมาใช้ในการนำเสนอได้อย่างครอบคลุมและตรงตามความต้องการ

5) ทักษะการเขียน

            ทักษะการเขียน เป็นวิธีการถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และความต้องการของบุคคลออกมาเป็นสัญลักษณ์ ตัวอักษร แทนถ้อยคำในภาษาพูดเพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านได้เข้าใจตามจุดมุ่งหมายของผู้เขียน

            ความสำคัญต่อการนำเสนอ : การเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเชื่อ ความรู้สึก และทัศนคติของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้ทราบโดยผ่านถ้อยคำ ดังนั้นสำนวนในการถ่ายทอดการนำเสนอด้วยการเขียนจึงต้องเลือกสรรถ้อยคำ ภาษา ให้สื่อความหมายเข้าใจได้อย่างชัดเจน และถูกต้อง ตรงตามกาลเทศะ

บุคลิกภาพของผู้นำเสนอ

          รู้หรือไม่ว่า การนำเสนอแต่ละครั้งจากผลการศึกษาวิจัยทำให้พบว่า คำพูดนั้นส่งผลต่อการรับรู้ไปยังผู้ฟังประมาณร้อยละ 7 ขณะที่น้ำเสียงมีอิทธิพลร้อยละ 38 แต่ส่วนที่สำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้ในการนำเสนอถึงร้อยละ 55-65 นั่นคือภาษากายของผู้นำเสนอ ได้แก่ ท่าทาง การเคลื่อนไหว สีหน้า และแววตา ดังนั้น ถ้าหากผู้นำเสนอมีการใช้คำพูดที่เหมาะสมไปพร้อมกับการแสดงภาษากายที่สื่อสารออกมาให้ผู้ฟังได้เห็นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างดีย่อมทำให้การนำเสนอในครั้งนั้นประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวังเอาไว้อย่างแน่นอน

            นี้ก็คือตัวอย่างพอสังเขปที่จะพัฒนาตัวเราให้กลายเป็นผู้นำเสนออย่างมืออาชีพด้วยเทคนิคการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้เรามีพลังความเชื่อมั่นและการดึงดูดโน้มน้าวใจผู้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการนำเสนอคือหัวใจสำคัญของการสร้างความรู้ความเข้าใจ การนำเสนอที่ดีจะทำให้เราผู้นำเสนอบรรลุต่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่เราวางไว้นั่นเอง

ที่มา https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:CMU+CMU017+2017/course/

เนื้อหาจากรายวิชาของ CMU: CMU017
เทคนิคการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ | Effective Presentation Technique
เจ้าของผลงาน   นายสุวัฒน์  เกิดมณี

Visits: 2729

Comments

comments

Back To Top