โลกทุกวันนี้ไม่ว่าอยู่กันไกลแค่ไหนก็เหมือนจะมาบรรจบใกล้กัน โดยเฉพาะมนุษย์ในทุกวันนี้เราจะเห็นว่าทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ทุกภาษาก็มีโอกาสที่จะได้มาพบกันโดยเฉพาะในสถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชน ดังนั้น การศึกษาเรื่องการข้ามวัฒนธรรมโดยในเฉพาะในแง่จิตวิทยาจึงเป็นเรื่องที่ทวีความสำคัญขึ้นมาเรื่อย ๆ แบบที่ว่าควรจะหันมาศึกษาอย่างจริงจังก็ว่าได้

ความหมาย ความสำคัญ และอิทธิพลของวัฒนธรรมของชาติต่อการทำงานร่วมกันของบุคคลในที่ทำงาน ความเชื่อในชาติพันธุ์นิยม ความฉลาดทางวัฒนธรรมและสมรรถนะทางวัฒนธรรมของบุคคล การสื่อสารและความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมในที่ทำงานและการบริหารจัดการความขัดแย้ง วัฒนธรรมองค์กร ผู้นำและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรศึกษาเอาไว้ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่า

1. เข้าใจถึงเรื่องแนวคิดของวัฒนธรรมของชาติและความสำคัญของการศึกษาวัฒนธรรมของชาติในที่ทำงาน

2. เข้าใจเรื่องปัจจัยทางวัฒนธรรมในระดับบุคคลที่สำคัญต่อการทำงานร่วมกับบุคคลจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง

3. เข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สำคัญในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

4. เข้าใจถึงองค์ประกอบขององค์กรที่สำคัญต่อการทำงานร่วมกับบุคคลจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ทีนี้เราก็ควรที่จะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับลักษณะหลักของวัฒนธรรมกันก่อน

วัฒนธรรม คือ ชุดของวัตถุที่มนุษย์จัดทำขึ้น ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมของกลุ่มคน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปในรายบุคคล ซึ่งถูกสื่อสารและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น (Matsumoto, 1996)  ลักษณะหลักของวัฒนธรรม โดยมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน ดังนี้

1. วัฒนธรรมเกิดจากการเรียนรู้

2. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน

3. วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง

4. วัฒนธรรมมีความเชื่อมโยง

            วัฒนธรรมเป็นแบบแผนที่ซับซ้อนของความคิด อารมณ์ และการประจักษ์ที่สังเกตเห็นได้แล้วที่เป็นสัญลักษณ์ โดยวัฒนธรรมนี้สามารถแบ่งออกเป็น 6 ระดับตามระดับของกลุ่มการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ดังนี้

1.วัฒนธรรมระดับชาติ (National Culture)

2.วัฒนธรรมระดับตัวตนกลุ่ม (Social Identity Group Culture)

3.วัฒนธรรมระดับองค์กร (Organizational Culture)

4.วัฒนธรรมระดับหน้าที่ (Functional Culture)

5.วัฒนธรรมระดับทีม (Team Culture)

6.วัฒนธรรมระดับบุคคล (Individual Culture)

ความสำคัญของการศึกษาจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมในบริบทการทำงาน

ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นตัวผลักดันให้มีการติดต่อสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติหลากหลายวัฒนธรรม ปัญหาของความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างบุคคลจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านการทำงานที่ต้องติดต่อกับบุคคลที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกับความคิดความเชื่อเดิมของตน นำมาซึ่งการแสดงออกทางพฤติกรรมที่อาจสร้างความขัดแย้งหรือขุ่นเคืองใจให้กับอีกฝ่าย การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนสร้างความรู้สึกยุ่งยากลำบากใจให้กับบุคคล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบให้การทำงานขาดประสิทธิภาพและเกิดความล้มเหลวในการปฏิบัติงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อบุคคล หากบุคคลไม่สามารถปรับตัวในการทำงานข้ามวัฒนธรรมได้ อาจส่งผลให้มีอาการทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น

จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม (Cross-cultural Psychology) จึงมีความสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการ

ทำงานข้ามวัฒนธรรม โดย Berry, Poortinga, Segall, and Dasen (2002) ได้ให้ความหมาย “จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม” ไว้ว่า จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์โดยคำนึงถึงการได้รับอิทธิพลจากบริบททางวัฒนธรรม เป็นการศึกษาความเหมือนและความแตกต่างของการทำงานทางด้านจิตวิทยาในบุคคลที่อยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลายและกลุ่มที่เป็นชาติพันธุ์นิยม โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางจิตสังคม นิเวศวิทยา และชีววิทยา 

          ด้วยเหตุนี้การศึกษาและการใช้ศาสตร์แห่งจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างจึงมีความสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง โดยเน้นวิธีการทางจิตวิทยาด้วยวิธีการฝึกทักษะในการรับวัฒนธรรม ทำให้บุคคลมีความสามารถในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิผล การฝึกให้มีทักษะในการติดต่อและเข้าใจเหตุผลในการแสดงพฤติกรรมของผู้อื่น ลดความรู้สึกรังเกียจและความรู้สึกแปลกปลอม และยังเป็นการฝึกป้องกันมิให้บุคคลนำความรู้ความเข้าใจเดิมของตนไปใช้กับบุคคลอื่นอย่างไม่เหมาะสม สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเรา และลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่ออื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงเกียวกับเรื่องจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมอีกหลายหลายเรื่อง ตัวอย่างอาทิเช่น

– ความเชื่อในชาติพันธุ์นิยม

– ความภาคภูมิใจในชาติ

– วัฒนธรรมเชิงเปรียบเทียบ

            ด้วยเหตุนี้ จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมในที่ทำงาน นอกจากจะช่วยให้ตัวเราซึ่งเป็นบุคลากรคนหนึ่งขององค์กรหน่วยงานที่เราปฏิบัติงานได้เข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการในการจูงใจลูกน้อง หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับเจ้านาย จึงนับเป็นเรื่องที่ควรศึกษาไว้อีกเรื่องหนึ่ง

ที่มาของข้อมูล https://thaimooc.org/course/THAIMOOC%3A%3Acourse–v1%3ASWU-SWU013-2019

จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมในที่ทำงาน | Cross-cultural psychology at work

SWU013

เจ้าของผลงาน : นายสุวัฒน์ เกิดมณี

Visits: 539

Comments

comments