ThaiMOOC KMITL009 การถ่ายภาพด้วยเทคนิคสร้างสรรค์ | Creative Photography
เพราะโทรศัพท์มีกล้อง และเราจำเป็นต้องใช้กล้องถ่ายภาพจากมือถือให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้งานที่ทำออกมาสมบูรณ์แบบทั้งบทความและภาพประกอบ
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
- ผู้เรียนสามารถอธิบายเทคนิคการตั้งความไวชัตเตอร์และรูรับแสงเพื่อการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ได้
- ผู้เรียนสามารถอธิบายเทคนิคการเคลื่อนกล้องหรือเลนส์เพื่อการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ได้
- ผู้เรียนสามารถอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพซ้อนได้
- ผู้เรียนสามารถอธิบายเทคนิคการวาดภาพด้วยแสงไฟ และภาพกลางคืนได้
- ผู้เรียนสามารถอธิบายเทคนิคจากการใช้อุปกรณ์เสริมรวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพสร้างสรรค์ด้วยมือถือได้

กล้องมือถือ ปัจจุบันกล้องมือถือมีคุณภาพสูงมาก บ่อยครั้งที่แยกไม่ออกว่าภาพไหนเป็นผลงานที่ได้จากกล้องมือถือ หรือกล้อง DSLR/Mirrorless ซึ่งการใช้งานกล้องมือถืออย่างถูกต้องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพ ช่วยลดข้อบกพร่อง และเพิ่มคุณภาพให้กับภาพที่ถ่ายจากมือถือด้วย โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจกล้องมือถือ การดูคู่มือการใช้งานรวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ จากเว็บไซต์ จะทำให้เรารู้ว่ากล้องมือถือของเราสามารถทำอะไรได้ มีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง รวมทั้งการตกแต่งภาพพื้นฐาน เช่น Picture effects ในการปรับแต่งสีของภาพให้สวยงามขึ้น หรือจะเป็นการเปิด Flash การตั้งเวลาถ่ายภาพอัตโนมัติ การสลับภาพนิ่งกับวีดิโอ การถ่ายแบบ Panorama หรือ HDR (ถ้ามี) เพราะฟังก์ชั่นเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในการถ่ายภาพให้สวย
- มือต้องนิ่ง เพราะกล้องมือถือหลายรุ่นไม่ได้มีโหมดกันการสั่น และมือถือมีน้ำหนักเบาโอกาสที่กล้องจะสั่นจึงมีมาก การถ่ายด้วยมือถือจึงต้องจับให้กระชับ แน่น อย่าให้มือสั่น ใช้มือที่ถนัดเป็นหลักแล้วประคองด้วยมืออีกข้าง วางนิ้วให้เหมาะสมและสะดวกต่อการกดชัตเตอร์
- ควรหลีกเลี่ยงแสงสว่างน้อย กล้องมือถือมีการตั้งค่าที่จำกัด จึงมีปัญหาถ่ายให้ออกมาสวยยากมาก ไม่เบลอก็สีไม่สวย หากไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็อาจวางโทรศัพท์ไว้กับฐาน หรือใช้ขาตั้งแล้วใช้ระบบตั้งเวลาถ่ายภาพอัตโนมัติแทนการกดชัตเตอร์
- เลือกมุมที่ไม่ย้อนแสง การถ่ายภาพย้อนแสง หรือฉากหลังที่มีความสว่างมากนั้น จะทำให้บุคคลหรือตัวแบบนั้นมืดจนเกือบเป็นเงาสีดำ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรเลี่ยงไปหามุมอื่นแทน ยกเว้นต้องการถ่ายภาพเงาดำแนว Silhouette ก็ถ่ายย้อนแสงได้เลย กล้องในมือถือ Smart Phone หลายรุ่นมีการวัดแสงตามจุดที่โฟกัส โดยการใช้นิ้วแตะไปยังวัตถุที่ต้องการโฟกัส กล้องก็จะทำการวิเคราะห์และปรับสภาพแสงที่เหมาะสมให้ตามสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ หรือมีแถบปรับแต่งความมืด ความสว่างให้ผู้ถ่ายเลือกได้ตามความต้องการ
- ควรหลีกเลี่ยงการซูม กล้องมือถือส่วนใหญ่เป็นแบบเลนส์ความยาวโฟกัสคงที่ ถึงแม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นซูมภาพได้ แต่ก็เป็นระบบซูมดิจิตอล ความละเอียดของภาพก็จะลดลงตามระยะการกดซูม รวมทั้งเรื่องของความคมชัดด้วย เพราะคือการ Crop ภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แนะนำให้เดินเข้าหาตัวแบบเพื่อจะได้ภาพที่คมชัด ไม่เบลอ ไม่สั่นไหว
- ถ่ายรูปไว้ก่อนแล้วค่อยมาเลือกทีหลัง ถ่ายแล้วไม่พอใจไม่ต้องรีบลบภาพทิ้ง ถ่ายไปก่อน ไม่ต้อง Preview เพราะภาพที่ได้สามารถตกแต่งภายหลังได้ บางภาพที่คิดว่าไม่สวย ดูในคอมพิวเตอร์อาจจะสวยก็ได้
การถ่ายภาพแบบแยกร่างด้วยกล้องมือถือ การถ่ายภาพแบบแยกร่าง โดยใช้โหมดพาโนราม่า (Panorama) เป็นเทคนิคที่สร้างความสนุกในการถ่าย และสร้างความน่าสนใจให้กับผลงานภาพถ่าย สามารถทำได้ง่ายด้วยกล้องมือถือ
- วิธีการ คือ ปกติการถ่ายภาพพาโนราม่า ช่างภาพจะแพนกล้องหรือเคลื่อนกล้องจากซ้ายไปขวาหรือจากขวาไปซ้ายตามถนัด เพื่อให้ได้ภาพแนวยาวที่เห็นมุมได้กว้างกว่าปกติ จังหวะที่ช่างภาพแพนกล้องนี่เองที่มีเวลาให้ผู้ที่เป็นแบบรีบวิ่งเปลี่ยนตำแหน่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จะทำกี่จุดก็แล้วแต่วางแผนกับช่างภาพว่าจะแพนจากไหนไปสิ้นสุดที่ตำแหน่งใด
- เทคนิคที่จะให้ผลดี ช่างภาพต้องเป็นคนคอยส่งสัญญาณไปยังผู้ที่เป็นแบบว่าจะให้วิ่งเปลี่ยนตำแหน่งตอนไหน ช่างภาพต้องแพนกล้องให้คล่อง อย่าเร็วไปเพราะผู้ที่เป็นแบบอาจวิ่งเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ไม่ทัน ช้าเกินไปภาพก็อาจจะเบลอได้ หรือแพนโดยไม่ได้เล็งฉากหลังหรือเส้นขอบฟ้าก็อาจได้ภาพเอียงได้
การถ่ายภาพบุคคล จุดสำคัญมากที่สุดในการถ่ายภาพบุคคลคือการโฟกัสที่ดวงตา เพราะดวงตาจะถ่ายทอดอารมณ์ออกมา การเก็บอารมณ์ด้วยการโฟกัสที่ดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- โฟกัสก่อนแล้วจัดองค์ประกอบ วิธีนี้ให้เรากดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งโดยเล็งโฟกัสที่ดวงตาแบบ แช่นิ้วค้างไว้แล้วค่อย ๆ เลื่อนกล้องอย่างช้า ๆ เพื่อจัดองค์ประกอบภาพ ระวังอย่าให้ระนาบระยะห่างระหว่างตัวแบบและกล้องเปลี่ยนไปมากนัก เพราะจะทำให้ดวงตาที่เราโฟกัสไว้หลุด เมื่อจัดองค์ประกอบภาพได้แล้วจึงกดชัตเตอร์ วิธีนี้นิยมใช้กันมากที่สุดนื่องจากมีความรวดเร็ว ช่วงแรก ๆ จะยังไม่ชำนาญ และทำให้ภาพหลุดโฟกัสบ้างตอนช่วงจัดองค์ประกอบเป็นเรื่องปกติ ทำบ่อย ๆ จะชำนาญจนแทบไม่พลาด
- จัดองค์ประกอบก่อนแล้วจึงโฟกัส คือจัดองค์ประกอบไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยเลื่อนจุดโฟกัสไปหาดวงตาแบบเพื่อโฟกัสแล้วกดชัตเตอร์ วิธีนี้โฟกัสเข้าตาแน่นอนแต่ค่อนข้างช้า จนบางครั้งอาจทำให้เราเสียโอกาสจะได้รูปนั้นไป
ภาพถ่ายเงาสะท้อน (Reflection) คือ การถ่ายภาพวัตถุให้เกิดเงาสะท้อนบนพื้นผิวของสิ่งที่สะท้อนภาพได้ ทำให้เรามองเห็นวัตถุทั้งสองทางในภาพ คือ ตัววัตถุจริง กับตัววัตถุที่เป็นเงาสะท้อน หรือจะถ่ายให้เห็นเฉพาะเงาสะท้อนก็ได้ ภาพ Landscape มักนิยมใช้เทคนิคถ่ายภาพเงาสะท้อนเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพ โดยเฉพาะเงาจากแอ่งน้ำ น้ำนิ่ง และใสยิ่งทำให้ได้ภาพถ่ายเงาสะท้อนประดุจเงาบนกระจก หรือในช่วงฤดูฝนแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนก็สามารถสร้างภาพเงาสะท้อนที่สวยงามได้ หรือแม้แต่การใช้น้ำเปล่าเทลงบนพื้น สิ่งที่มีพื้นผิวแวววาวอื่น ๆ ก็เป็นตัวช่วยอันยอดเยี่ยมที่จะทำให้ได้ภาพถ่ายเงาสะท้อน

การจัดองค์ประกอบภาพ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพทุกแบบ เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างจุดสนใจให้กับภาพ และสามารถดึงดูดสายตาของผู้ชมได้
- ก่อนอื่นต้องมองหาจุดที่จะสร้างความน่าสนใจให้ได้ก่อน เช่น เรื่องราวในภาพ หรือรายละเอียดที่จะเสริมเรื่องราวให้สวยงามได้ด้วย เป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้าจะมองหาแต่มุมสะท้อนน้ำอย่างเดียวก็คงไม่ดีแน่สะท้อนไปแล้วไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรก็จบ เพราะการถ่ายภาพก็คือการเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องในภาพหนึ่งภาพ
- เวลาที่ถ่ายภาพ Landscape มักจะใช้กฎสามส่วนในการแบ่งภาพให้ได้ความสมดุล แต่การถ่ายภาพสะท้อน บางครั้งอาจจะละเว้นเรื่องแบบนี้ไปบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่จะใช้ทฤษฎีต่าง ๆ ในการตอบโจทย์ภาพทุกภาพ แต่ยังแนะนำว่าให้สะสมมุมมองต่าง ๆ ไว้ในประสบการณ์เพื่อที่เราจะประยุกต์ใช้ได้ทุกเมื่อ
- การถ่ายภาพเงาสะท้อนจากกระจกนั้น ข้อควรระวังคือ การที่มีตัวเราสะท้อนเข้าไปอยู่ในภาพด้วยดังนั้นการเลือกองศา หรือมุมภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพสะท้อนกระจกที่ได้ผลดีนั้นผู้ถ่ายภาพควรแต่งกายด้วยชุดสีดำจะช่วยให้ลดความเด่นของตัวช่างภาพเองที่จะบังเอิญติดอยู่ในภาพได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดของการใช้เงาสะท้อน คือ แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดภาพถ่ายเงาสะท้อน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพเงาสะท้อน คือ เช้าตรู่ และบ่ายแก่ ๆ ที่ดวงอาทิตย์ใกล้เส้นขอบฟ้า สภาพแสงของทั้งสองช่วงจะทำให้ภาพถ่ายเป็นแสงสีทองเรืองรอง ช่วยให้ได้ภาพถ่ายเงาสะท้อนที่ชัดเจน และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการหามุมถ่ายจากมุมสูง ซึ่งแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาหาวัตถุจะทำให้เกิดเงาสะท้อน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการถ่ายเข้าหาแสงอาทิตย์ เพราะภาพถ่ายเงาสะท้อนที่ได้จะมืด
แอพพลิเคชั่นสำหรับถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์
- Adobe Light room เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีของ Adobe Photoshop ซึ่งสามารถตกแต่งและแชร์ภาพได้อย่างมืออาชีพ อีกทั้งยังสามารถถ่ายภาพไฟล์ DNG หรือ RAW เพื่อนำไปตกแต่งภายหลังได้
- Snapseed เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยในการปรับรูปได้แบบละเอียด สามารถเลือกปรับแสง สี ความคมชัดได้เป็นจุด ๆ ในแต่ละรูปได้ มีฟิลเตอร์อัตโนมัติหลายรูปแบบให้ และที่สำคัญคือสามารถทำภาพซ้อนโดยการผสานรูปภาพสองใบให้ภาพดูแปลกตาได้
- Enlight เป็นแอพพลิเคชั่นแต่งรูปคุณภาพสูงที่มีฟังก์ชันการทำงานครบถ้วนทุกอย่าง เช่น การควบคุมโทนภาพ สี และรายละเอียดสำหรับตกแต่งภาพในสไตล์ต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถแบ่งโทนสีของภาพ สร้างภาพขาว-ดำ ใส่ตัวอักษรและกรอบรูปได้ตามต้องการ และสามารถซ้อนภาพแบบ Double Exposure ได้เช่นกัน
- Fisheye เป็นแอพพลิเคชั่นทำภาพถ่ายธรรมดาให้เป็น Fisheye บางคนการถ่ายรูปธรรมดามันก็ดูน่าเบื่อไป แอพนี้ก็จะทำให้ภาพที่ดูธรรมดากลางเป็นภาพที่น่าสนใจได้ โดยการยืดรูปของคุณให้เหมือนคุณถ่ายรูปด้วยเลนส์ Fisheye
- Globe Photo/Roll Word/Circular เป็นแอพพลิเคชั่นที่ทำให้ภาพถ่ายมีลักษณะคล้ายกับโลกกลม ๆ ขนาดเล็กแบบนี้มา หากกล้องมือถือของเรามีฟังชั่นที่ชื่อว่า Photosphere อยู่ก็ทำได้เลย แต่ถ้ากล้องไม่มี Photosphere ก็ต้องใช้แอพต่าง ๆ เช่น Globe Photo, Roll Word หรือ Circular โดยนำภาพที่ถ่ายไว้แบบ Panorama มาม้วนผ่านแอพเหล่านี้ได้เลย
- Night Modes เป็นแอพพลิเคชั่นกล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน โดยทำการวัดค่า ISO (ค่าความไวในการรับแสง)อัตโนมัติทันทีในการถ่ายแต่ละครั้ง และมีโหมด Low-Light (โหมดการถ่ายภาพในพื้นที่แสงน้อย) อำนวยความสะดวกให้อีกด้วย ถือได้ว่าเป็นแอพกล้องถ่ายภาพตอนกลางคืนที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วไปอีกตัวหนึ่ง
สร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยมือถือ เพื่อ Blog OER และเพื่อตัวเองจะได้รับคำชมว่า “ถ่ายภาพสวย” เพราะเตรียมคำตอบพร้อมรอยยิ้มกว้าง ๆ ไว้แล้วว่า “ขอบคุณค่ะ”
ที่มา: KMITL009 การถ่ายภาพด้วยเทคนิคสร้างสรรค์
Hits: 61

Cataloger สาย Cat Slave