การจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย
ThaiMOOC รายวิชา KMITL001 การถ่ายภาพเบื้องต้น (Basic Photography)
วัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Learning Outcomes)
1. ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกและตระหนักในจรรยาบรรณของการถ่ายภาพ (ด้านคุณธรรม จริยธรรม)
2. ผู้เรียนเข้าใจหลักการและเทคนิควิธีการถ่ายภาพ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์เสริม (ด้านความรู้)
3. ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และปรับแต่งกล้องถ่ายภาพเพื่อได้ภาพถ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด (ด้านทักษะทางปัญญา)
4. ผู้เรียนสามารถวิจารณ์ผลงานภาพถ่ายของตนเองและผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ (ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ)
5. ผู้เรียนเข้าถึงและคัดเลือกแหล่งข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ (ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข สื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ)
Why ทำไมต้องเรียนรู้: เพื่อรู้ในสิ่งที่ควรรู้ และคิดว่าไม่รู้ แล้วนำความรู้มาใช้ในการถ่ายภาพลงคลังสารสนเทศทรัพยกรแบบเปิด (OER) นำภาพถ่ายมาประกอบ Blog ที่เขียน การเรียนรู้ในวิชานี้จะเน้นการจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย แบ่งออกเป็น 11 หัวข้อดังนี้
1. รูปทรง (Form) องค์ประกอบพื้นฐาน แสดงให้เห็นรายละเอียดของมิติความลึก ความหนาของสิ่งของหรือวัตถุต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- รูปทรงเรขาคณิต (Geometric Form) ควรใช้การผสมผสานกันของรูปทรงและสัดส่วนที่เหมาะสมประกอบในการจัดองค์ประกอบภาพ
- รูปทรงธรรมชาติ (Organic Form)
- รูปทรงอิสระ (Free Form)
2. รูปร่าง (Shape) สื่อให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีลักษณะเช่นไรจากเค้าโครงภายนอก ซึ่งลักษณะของรูปร่างสามารถแยกแยะสิ่งนั้นให้เด่นชัดจากฉากหลัง ช่วยให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจ สะดุดตา และแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีถึงแม้จะไม่มีมิติความลึกหนาก็ตาม
3. รูปแบบ (Pattern) หมายถึงลักษณะรูปร่าง รูปทรง เส้น รวมถึงสิ่งที่ปรากฏซ้ำซ้อนเหมือนกันมาก ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องกัน หรือเรียงกันไปตามลำดับ
4. พื้นผิว (Texture) ลักษณะของพื้นผิว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- พื้นผิวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งหาได้จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวเรา
- พื้นผิวที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ทั้งที่สร้างด้วยมือเป็นหลัก และการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ช่วย
5. ความสมดุล (Balance) การจัดส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพ แบ่งเป็น
- ความสมดุลแบบปกติ (Formal or Symmetrical Balance) มักใช้กับการถ่ายภาพด้านหน้าตรงหรือขนานกับตัวแบบ และตัวแบบนั้นก็ควรมีลักษณะทั้งสองด้านที่เหมือนกัน
- ความสมดุลแบบไม่ปกติ (Informal or Asymmetrical Balance) เป็นการจัดส่วนประกอบที่ตัวแบบมีรูปทรงและสัดส่วนไม่เหมือนกัน
6. กรอบ (Frame) ช่วยให้ตัวแบบหรือวัตถุ สถานที่ ที่เป็นจุดสนใจของภาพน่าดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
7. น้ำหนักสี (Tone) แบ่งออกเป็น 2 วรรณะ
- สีโทนร้อน (Warm Tone) ประกอบด้วยสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง สีม่วงแดง และ
- สีโทนเย็น (Cool Tone) ประกอบด้วย สีเขียวเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วงน้ำเงิน (สีเหลืองกับสีม่วงอยู่ได้ทั้งสองวรรณะ)
ในการถ่ายภาพสามารถเลือกใช้โทนสีวรรณะเดียวในภาพทั้งหมด เพื่อทำให้ภาพดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเพื่อเน้นจุดสนใจโดยใช้โทนสีวรรณะตรงข้ามกัน
8. ฉากหน้า ฉากหลัง (Foreground and Background)
- ฉากหน้า (Foreground) หมายถึง ส่วนประกอบในภาพที่อยู่ด้านหน้าตัวแบบหรือวัตถุ สถานที่ ที่เป็นจุดสนใจหลักของภาพ
- ฉากหลัง (Background) หมายถึง ส่วนประกอบในภาพที่อยู่ด้านหลังตัวแบบหรือวัตถุ สถานที่ ที่เป็นจุดสนใจหลักของภาพ
9. กฎสามส่วน (Rule of Thirds) หมายถึง การแบ่งพื้นที่ของภาพที่มองเห็นออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กันในแนวนอนโดยใช้เส้นตรงแนวนอนคั่น 2 เส้น และแบ่งพื้นที่อีก 3 ส่วนเท่า ๆ กันในแนวตั้งโดยใช้เส้นตรงแนวตั้งอีก 2 เส้นคั่นเช่นเดียวกัน ผลจากการมีเส้นแบ่งทั้งแนวนอนและแนวตั้งจะทำให้พื้นที่ทั้งหมดของภาพมีลักษณะเป็นเหมือนตาราง 9 ช่องและเกิดจุดตัด 4 จุดที่เส้น แบ่งมาตัดกัน ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ควรวางสิ่งสำคัญหรือจุดสนใจของภาพไว้เพราะเป็นตำแหน่งที่เด่นกว่าตำแหน่งอื่น ๆ แม้แต่ตรงกลางภาพ โดยการเลือกวางตำแหน่งของจุดสนใจนั้น ให้พิจารณาตามความเหมาะสมว่าควรวางไว้ในตำแหน่งใด อาจดูจากทิศทางการเคลื่อนไหวของตัวแบบหรือการเว้นช่องว่าง แต่ก็ควรเลือกใช้เพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้นใน 4 จุด

การเลือกวางตำแหน่งของจุดสนใจนั้น ควรเลือกใช้เพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้นใน 4 จุด หรือหากจำเป็นต้องใช้มากกว่า 1 จุดก็เต็มที่ได้ไม่เกิน 2 จุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้แย่งความสนใจกัน เช่น ภาพใบหน้าของหญิงสาวบริเวณซ้ายบนซึ่งเป็นจุดสนใจสำคัญกำลังดมช่อดอกไม้ในมือบริเวณขวาล่างซึ่งเป็นจุดสำคัญรองลงมา เพื่อให้ภาพมีความสมบูรณ์จึงควรให้ช่อดอกไม้อยู่ในบริเวณจุดตัดกันอีกจุดหนึ่ง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างการมองและดอกไม้
10. ช่องว่าง (Space)
เป็นองค์ประกอบที่มักใช้ร่วมกับกฎสามส่วน หลักการเกี่ยวกับช่องว่าง คือ การเว้นพื้นที่ว่างบริเวณรอบข้างให้กับจุดสนใจ สรุปง่าย ๆ ก็คือเว้นพื้นที่ด้านหน้าให้มากกว่าด้านหลังนั่นเอง ให้พิจารณาเลือกเว้นช่องว่างให้กับตัวแบบที่เด่นชัดที่สุดเพียงจุดเดียว
11. เส้น (Line) และความลึก (Perspective)
“เส้น”เกิดจากการเรียงตัวต่อเนื่องกันของจุด (Dot) ตั้งแต่ 2 จุดขึ้นไปจนมองเห็นเป็นเส้น ช่างภาพนิยมใช้เส้นเพื่อสร้างความแปลกใหม่ดึงดูดความสนใจให้กับภาพ นอกจากนี้เส้นยังสามารถทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหว (Dynamic) หรือการสงบนิ่งอยู่กับที่ได้และช่างภาพยังนิยมใช้เส้นเพื่อนำสายตาสู่เป้าหมายหรือจุดสนใจของภาพ หรือที่เรียกว่าเกิด “ความลึก”
ลักษณะเส้นที่ใช้ในการถ่ายภาพ ประกอบด้วย
- เส้นแนวนอน แสดงถึงความรู้สึกที่สงบนิ่ง ราบเรียบ เคลื่อนไหวช้าและมั่นคง
- เส้นแนวตั้ง นิยมใช้กับการถ่ายภาพมุมต่ำเพื่อสื่อถึงความแข็งแรง มั่นคง สง่างามของจุดสนใจในภาพ แต่ถ้านำไปใช้ร่วมกับคนก็ต้องระวังไม่ให้พาดผ่านศีรษะอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับเส้นแนวนอน
- เส้นเฉียงและเส้นซิกแซก จะทำให้เกิดเส้นนำสายตาและเห็นความลึกของภาพได้ดีกว่าเส้นแนวนอนและแนวตั้ง ช่วยให้ภาพสวยงามมากขึ้น และยังสามารถสื่อถึงการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว รุนแรงได้ดี
- เส้นโค้งและเส้นตัวเอส (S) เส้นโค้ง แสดงถึงความอ่อนโยน อ่อนช้อย นุ่มนวล ร่าเริง สนุกสนาน และมีความงดงามประกอบกันไป ช่างภาพมักจะเลือกใช้นำมาเป็นเส้นนำสายตาเพื่อให้ภาพถ่ายสวยงามมากขึ้น เนื่องจากเส้นลักษณะนี้ดูแล้วรู้สึกสบายตากว่าเส้นตรง
เรียนรู้การจัดองค์ประกอบของภาพ รู้ในสิ่งที่ควรรู้กันแล้ว ออกกองถ่ายภาพคราวหน้า จะเก็บภาพสวย ๆ มาฝากกันนะคะ
ที่มา: KMITL001 การถ่ายภาพเบื้องต้น (Basic Photography)

Cataloger สาย Cat Slave