เรียนเรื่องอะไร ภาวะผู้นำกับความรับผิดชอบต่อหน้าที่ | Leadership and Responsibility OCSC004

เพื่ออะไร

  • ความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม
  • การนำตนเอง การกำหนดเป้าหมายให้ตนเอง
  • ทีมและการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ
  • การสื่อสาร การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การบริหารความขัดแย้ง

ได้อะไร

  • มีความรับผิดชอบต่อตนเองต่อผู้อื่นและต่อสังคม
  • พัฒนาภาวะผู้นำในตัวเองกำหนดเป้าหมายให้ตัวเองได้
  • สร้างทีม สร้างเป้าหมายร่วมกัน และทำงานร่วมกับทีมอย่างมีความสุข
  • มีทักษะการสื่อสาร ร่วมกันตัดสินใจ แก้ปัญหา ไม่มีความขัดแย้ง

ในบทเรียน “ภาวะผู้นำกับความรับผิดชอบต่อหน้าที่” แนะนำทักษะเก๋ ๆ เริ่ด ๆ อะไรให้เราไปใช้ได้บ้าง

ภาวะผู้นำ (Leadership)

ความสามารถที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น จูงใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ภาวะผู้นำจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ หรือบารมีในการกำหนดหรือชักจูงให้กลุ่มสมาชิกทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และการมีอิทธิพลต่อกลุ่มต่าง ๆ เช่น กระตุ้น ชี้นำ ผลักดัน ให้บุคคลอื่น หรือกลุ่มบุคคลอื่น มีความเต็มใจ และกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการ โดยมีความสำเร็จของกลุ่มหรือองค์กรเป็นเป้าหมาย

ลักษณะผู้นำ

  • มีทักษะและความสามารถในการคิดเชิงซ้อนหรือมีทักษะการคิดในขั้นสูง รวมถึงการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์โดยอยู่ในพื้นฐานความเป็นกลาง
  • มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ
  • มีความสามารถด้านพฤติกรรมที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น
  • มีทักษะด้านสังคม การรับรู้ทางวัฒนธรรมและข้ามวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์
  • มีความสามารถในการวิเคราะห์กระบวนการ การคิดวางแผนให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ความรับผิดชอบ ภาระหรือพันธะผูกพันในการจะปฏิบัติหน้าที่การงานของผู้ร่วมงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร เนื่องจากบุคคลต้องอยู่ร่วมกันทำงานในองค์การ จำเป็นต้องปรับลักษณะนิสัย เจตคติของบุคคลเพื่อช่วยเป็นเครื่องผลักดันให้ปฏิบัติงานตามระเบียบรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและมีความซื่อสัตย์สุจริต คนที่มีความรับผิดชอบ จะทำให้การปฏิบัติงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น ความรับผิดชอบจึงเป็นภาระผูกพันที่ผู้นำต้องสร้างขึ้นเพื่อให้องค์การสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างดี ถ้าในองค์กรใดมีบุคคลที่มีความรับผิดชอบ จะทำให้เกิดผลดีต่อองค์กรดังนี้คือ

  • องค์กรจะได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ร่วมงานและผู้อื่น
  • การปฏิบัติงานจะพบความสำเร็จทันเวลาและทันต่อเหตุการณ์ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • ทำให้เกิดความเชื่อถือในตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเรียบร้อย
  • องค์กรเกิดความมั่นคงเป็นที่ยอมรับนับถือจากผู้อื่น
  • องค์กรประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นปึกแผ่นและมั่นคง
  • สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สร้างภาวะผู้นำ พัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้นำของตนเอง ให้โดดเด่นออกมาได้อย่างไร

  • ฝึกทำงานกันเป็นทีม องค์กรต่าง ๆ ต้องการผู้นำที่สามารถทำงานเป็นทีมได้
  • ฝึกเป็น “ผู้นำ” ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม สิ่งที่ยากที่สุดแต่ก็ทำได้ คือ การนำทีม พยายามทำงานที่ท้าทายความสามารถเข้าไว้
  • เชี่ยวชาญในงานของตน แต่ก็พร้อมเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ทำหน้าที่ของคุณให้เต็มที่ และดีที่สุด แล้วพัฒนาทักษะหรือรับงานใหม่ ๆ เพิ่มเติม อย่ากลัวต่อความเปลี่ยนแปลงในการทำงาน
  • เปิดใจให้กว้าง รับฟังคำวิจารณ์ และเติบโตจากสิ่งเหล่านั้น ฟังและเข้าใจให้ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการอะไรจากคุณ
  • พยายามเข้าใจความต้องการผู้อื่นอย่างแท้จริง
  • ฝึกทักษะการสื่อสาร ทักษะการพูด การเขียน และต้องสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้
  • ปฏิบัติและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ขององค์กร
ที่มา: https://wiwatchai.wordpress.com/2015/11/03/การทำงานเป็นทีม/

การทำงานเป็นทีม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญขององค์กร ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ส่งเสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ สร้างความคิดริเริ่มใหม่ ๆ จากสมาชิกในทีมที่มีทักษะ ประสบการณ์ที่หลากหลาย อาจทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในองค์กรเพิ่มขึ้น

ทีม หมายถึง กลุ่มคนทำงาน ที่มีความรับผิดชอบงานร่วมกันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยที่กลุ่มคนเหล่านั้นต้องมีความรู้สึกและมีส่วนร่วมไปด้วยกัน
การสร้างทีมงาน หมายถึง ความพยายามที่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนที่ต้องมาปฏิบัติงานร่วมกัน และทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหา และหาทางออกในการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น หน่วยงานหรือองค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีการสร้างทีมที่มีความสามัคคี และมีเป้าหมายการทำงานในทิศทางเดียวกัน
ประสิทธิภาพ หมายถึง การทำงานที่ได้ผลผลิตหรือผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งนี้ต้องมีการลดขั้นตอนและเวลาในการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายด้วย

องค์ประกอบการทำงานเป็นทีม

       1. ผู้นำทีม ต้องไม่ใช่เพียงผู้สั่งการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักการบริหารงานและบริหารบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกในทีมให้ดีด้วย โดยมีคุณลักษณะดังนี้

  • มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล สามารถมองไปข้างหน้า เข้าใจทิศทาง และรู้จักวิธีขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
  • มีความคิดริเริ่มที่ดี คิดอะไรใหม่ ๆ หาวิธีการ หรือกระบวนการใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
  • วางแผนการทำงานได้ดี รวมถึงการแบ่งงาน จัดการหน้าที่ บริหารการทำงานสมาชิกในทีม
  • มีวินัยและความรับผิดชอบ มีวินัย และควบคุมการปฎิบัติงานให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ให้ดีที่สุด
  • มีทักษะในการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมการทำงานระบบทีม และสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้กับทุกคนในทีม
  • เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียม การสื่อสารที่ดีจะทำให้กระบวนการทำงานของทีมราบรื่น และบรรลุเป้าหมาย
  • เป็นนักคิดวิเคราะห์ที่ดี สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวดเร็ว และรอบคอบ

       2. สมาชิกทีม ทุกคนในทีม นับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบการทำงานเป็นทีม โดยมีคุณลักษณะดังนี้

  • รับผิดชอบในการทำงาน ที่ได้รับมอบหมาย จะทำให้แผนงานที่ทีมวางไว้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าทีมที่มีสมาชิกที่ไม่มีความรับผิดชอบ
  • เคารพกฎและกติการ่วมกัน การทำงานในระบบทีม กฎกติกามีความสำคัญมาก ทุกคนไม่ได้ทำงานคนเดียว และทุกคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือ การเคารพและยอมรับปฎิบัติตามในกฎระเบียบเดียวกัน
  • ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานเป็นทีม เมื่อไม่มีความร่วมมือกันระบบการทำงานของทีมจะเกิดปัญหา และส่งผลกับงานที่ทำ
  • ยอมรับความแตกต่าง เปิดใจรับความคิดเห็นใหม่ ๆ ความคิดเห็นที่ต่างกันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และพิจารณาร่วมกันหาแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานการณ์นั้น ๆ
  • คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ความสำเร็จไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมมือร่วมแรงกัน

       3. กระบวนการทำงาน ทุกคนต้องเคารพกติการ่วมกัน ซึ่งเป็นกรอบสำคัญทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึง

  • ต้องแบ่งหน้าที่ชัดเจนในกระบวนการทำงานไม่ทับซ้อน แต่ละคนควรมีหน้าที่ที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่อให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย
  • ต้องมีแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อยึดถือและปฎิบัติในกรอบเดียวกัน ที่สำคัญกติกานี้ต้องยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่เอนเอียงเข้าข้างผู้ใดผู้หนึ่ง
  • กระบวนการทำงานมีความชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพผ่านขั้นตอน กระบวนการทำงานที่วางไว้
  •  สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม  องค์กรและทีมควรมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเองให้ไวตามสถานการณ์ ซึ่งระบบและกติกาต่าง ๆ ก็ควรจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยสนับสนุนให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพ

  • ผู้นำสามารถมอบหมายงานและแบ่งภาระงาน ให้ผู้อื่นดำเนินการโดยทำงานเป็นทีม และผู้นำจำเป็นต้องมีทักษะในงานที่รับผิดชอบ การขจัดปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างแรงจูงใจ
  • ผู้นำและทีมกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อดำเนินการตามนโยบาย และติดตามประเมินผลการทำงานตามแผนที่วางไว้ โดยพิจารณาตามระยะเวลา ปริมาณ และคุณภาพ เป็นต้น
  • ผู้นำและทีมต้องมีความสามัคคี เพราะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  • ผู้นำต้องสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีภายในทีม ช่วยให้การทำงานของทีมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
  • ผู้นำและทีมต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดแปลกใหม่ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์กับหน่วยงานหรือองค์กร
  • ผู้นำต้องทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจ ให้สมาชิกในทีมเกิดพลังในการทำงาน กระตือรือร้น รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งแรงจูงใจทำให้สมาชิกในทีมร่วมกันทำงานด้วยความพึงพอใจ และมีความสุขกับการทำงาน เกิดพฤติกรรมเชิงบวก สุดท้ายองค์กรจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
  • ผู้นำสามารถสอนงานหรือแนะนำวิธีการทำงาน เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มความรู้ให้บุคลากรในทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานที่ทำ        8. ผู้นำควรชื่นชมความสำเร็จของทีม เป็นแรงผลักดันให้ทีมมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทักษะการสื่อสารที่ผู้นำควรมี

  • ความสามารถในการปรับสไตล์การสื่อสาร รู้ว่าตนเองสื่อสารอยู่กับใคร เนื่องจากแรงจูงใจของพนักงานแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นผู้นำต้องทำการรู้และปรับการสื่อสารของตนเอง ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอิทธิพล และสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้
  • การฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจในความคิดเห็นแนวคิดและข้อเสนอของพนักงาน ผลักดันให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสนทนา การแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงการตั้งคำถามเชิญชวนให้อธิบายรายละเอียด
  • ความโปร่งใส สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเป้าหมาย โอกาส และความท้าทาย สร้างความไว้วางใจระหว่างทีมงานและสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแก้ปัญหา โดยไม่กลัวความผิดพลาด
  • ความชัดเจน สื่อสารอย่างเฉพาะเจาะจง และตรงไปตรงมา กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการให้ชัดเจน
  • ความสามารถในการถามคำถามแบบเปิด เพื่อเข้าใจแรงจูงใจ ความคิด และเป้าหมายของพนักงาน
  • การมีความเห็นอกเห็นใจ หรือเอาใจใส่พนักงาน ทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าต่อองค์กร
  • ภาษากายที่เป็นบวก ยิ้มอย่างจริงใจเพื่อแสดงถึงความอบอุ่นและความไว้วางใจ
  • การรับและให้ฟีดแบค สิ่งสำคัญคือฟังอย่างเดียวไม่พอ ผู้นำต้องดำเนินการกับฟีดแบคที่ได้รับด้วย

สร้างผู้นำให้องค์กร โดยเริ่มต้นพัฒนาคุณลักษณะ 5 ประการให้แก่บุคลากรเพื่อพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

  1. ความเชื่อมั่น ผู้นำที่ดีต้องมีความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้นำ เพราะถ้าเรายังไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้ว การที่ใครมาศรัทธาและไว้วางใจในตัวเราก็คงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าเราจะเชื่อแต่ตัวเราเองเท่านั้น ผู้นำที่ดีต้องรู้จักรับฟังผู้อื่นด้วย
  2. ทักษะในการฟัง ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่รับฟังอย่างตั้งใจ และมีศิลปะในการฟัง ดังมีผู้กล่าวว่าการฟังคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เมื่อเราพูดเราจะรู้เท่าที่เราพูด แต่เมื่อเราฟังเราจะรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ผู้นำจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนที่เราจะนำ เพื่อรับฟังปัญหา ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหา ปรับปรุงการทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามจุดมุ่งหมาย
  3. การตัดสินใจ ผู้นำที่ดีต้องกล้าตัดสินใจ ทั้งนี้ก่อนที่ตัดสินใจนั้นในเรื่องใดๆ ลงไปนั้น ผู้นำต้องมีกรอบความคิด และการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ที่จะหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี หากยังไม่มั่นใจ ควรมีที่ปรึกษาไว้ช่วยในการตัดสินใจด้วย
  4. การยอมรับในจุดอ่อน การกระทำที่ผิดพลาดอย่างหนึ่งของผู้นำ คือ การพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ยอมพึ่งพาผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยอมรับในจุดอ่อนของตน และพยายามสร้างสมมติฐานเอาเอง เมื่อนั้นโอกาสที่เราจะตัดสินใจผิดพลาดมารออยู่ตรงหน้าแล้ว พึงเข้าใจว่า ผู้นำไม่ใช่ยอดมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกเรื่อง สิ่งที่ควรทำคือ ยอมรับในจุดอ่อนของตน และหาคนที่ไว้ใจได้มาเป็นที่ปรึกษา การขอความช่วยเหลือไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีของคุณหมดไป ดังนั้นจงอย่าอายที่จะถาม
  5. การมีส่วนร่วม ผู้นำที่ดีต้องไม่ยึดติดกับตำแหน่งและอำนาจ ผู้นำที่จะมัดใจลูกน้องได้คือคนที่เข้าหาพวกเขา ร่วมเผชิญปัญหา และฝ่าฟันไปพร้อมๆ กับพวกเขา ให้คำแนะนำพวกเขาในสิ่งที่เราเคยผ่านมา รวมทั้งยินดีในความสำเร็จร่วมกับพวกเขา

การกระตุ้นให้เกิดภาวะผู้นำ ให้พนักงานทุกคนในองค์กร จริง ๆ แล้วภาวะผู้นำมีอยู่ภายในตัวเราทุกคน หากมีการเรียนรู้ ฝึกหัด และอบรมอย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ยากที่จะกระตุ้นภาวะผู้นำในตัวบุคคลออกมาได้ “ก้าวสู่การเป็น “ผู้นำ” “

ที่มา: ThaiMOOC OCSC004

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:OCSC+OCSC004+2019/course/

Visits: 1766

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.