เทคนิคการถ่ายภาพแบบสื่อสาธารณะ

ซึ่งจากการที่ได้เรียนรู้ในรายวิชาดังกล่าวนี้ จึงขอแนะนำความรู้ในบางส่วนที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังเริ่มต้นการถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้เผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ  และ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีความสวยงามสื่อความหมายถูกต้องตามหลักของสื่อสาธารณะ

อันดับแรกเรามาเรียนรู้และทำความรู้จักกับการตั้งค่าพื้นฐานของกล้องเพื่อให้ได้ถ่ายภาพที่สวยงามมากขึ้น อันได้แก่

1. การปรับค่าควบคุมแสง 3 ค่า คือ ค่า F-stop, ISO และสปีดชัตเตอร์

2. การบันทึกภาพต่อวินาที หรือ Framerate

3. การปรับความสมดุลแสงสีขาว หรือ White Balance

การปรับค่าควบคุมแสง

ค่าแรก คือ ค่ารูรับแสง โดยทั่วไปเรามักจะเรียกค่ารูรับแสงสั้น ๆ ว่าค่า F เป็นการปรับขนาดรูรับแสงที่ยอมให้แสงผ่านเข้าไปตกกระทบบนเซนเซอร์ การปรับค่า F แปรผกผันกับการรับแสง กล่าวคือ ค่ารูรับแสงน้อยเซนเซอร์จะรับแสงได้มาก ภาพที่ถ่ายออกมาจะสว่าง ในขณะที่ค่ารูรับแสงมากเซนเซอร์จะรับแสงได้น้อยภาพที่ถ่ายออกมาจะมืด  จึงควรปรับค่า F-stop ให้ต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ค่าที่ 2 คือ สปีดชัตเตอร์ หรือค่าความไวของชัตเตอร์ หรือม่านที่ทำหน้าที่เปิด-ปิดการรับแสงที่ผ่านมาจากเลนส์ชัตเตอร์ หรือแผ่นทึบแสงเป็นส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของกล้อง ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าเซนเซอร์ภาพ ทำหน้าที่หลักในการควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านจากเลนส์ไปยังเซนเซอร์ เพื่อให้ภาพอยู่ในระดับที่พอดี เพื่อให้ภาพได้รับแสงที่ถูกต้อง  ภาพที่ได้จะไม่สว่าง หรือมืดเกินไป

ค่าที่ 3 คือ ISO หรือค่าความไวแสงของกล้อง ซึ่งการปรับค่า ISO  ช่วยให้ภาพถ่ายที่ได้มีความสว่างมากขึ้น หรือลดลงในปริมาณแสงของสภาพแวดล้อมที่เท่าเดิม

กล่าวคือ ค่า ISO ที่มีค่ามากจะทำให้ภาพสว่างมากขึ้น  และ ISO ที่มีค่าน้อย จะทำให้ภาพสว่างลดลง

จะเห็นได้ว่าการปรับค่า 3 ค่านี้มีความสัมพันธ์กันอยู่

สำหรับการตั้งค่า Framerate คือ ค่าการบันทึกภาพต่อวินาที  หรืออัตราความต่อเนื่องของเฟรมภาพใน 1 วินาที  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายวิดีโอ  เป็นการกำหนดให้วิดีโอ 1 วินาที เกิดภาพที่ต่อเนื่องได้กี่ภาพ  จะส่งผลให้วิดีโอมีความลื่นไหล ความละเอียด และความสวยงามมากยิ่งขึ้น  กล้องส่วนใหญ่จะมี Framerate ตั้งแต่ 24 fps ถึง 240 fps  โดย FPS ย่อมาจากเฟรม Frame per Second  ถึงแม้ว่า Framerate ที่มาก วิดีโอมีความลื่นไหลมากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่ายิ่งเยอะยิ่งดี  เพราะว่ายิ่ง Framerate มากเท่าไหร่  จะต้องใช้พื้นที่ความจำมากเท่านั้น  ดังนั้น ควรตั้งค่าให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานของวิดีโอ

และอีกหัวข้อ คือ การปรับค่าสมดุลแสงสีขาว หรือ White Balance  คือ ค่าสมดุลแสงสีขาว มีหน่วยเป็นเคลวิน (Kelvin) หรือใช้ตัวย่อว่า K เป็นระบบที่มีในกล้องดิจิทัล DSLR  Mirrorless หรือกล้อง Smartphone  เป็นค่าที่ช่วยปรับแสงของภาพไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยน  ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับสมดุลแสงสีขาวอันเนื่องจากแสงในธรรมชาติ

หัวข้อต่อมาจะมากล่าวถึง Shot Size หรือขนาดภาพมีความจำเป็นในเรื่องการถ่ายวิดีโอ  เนื่องจากในงานวิดีโอ เราจะประกอบไปด้วยภาพหลาย ๆ ภาพ  เพราะฉะนั้นการมี Shot Size  หรือขนาดภาพหลาย ๆ ขนาดภาพจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการตัดต่อหลังจากการถ่ายวิดีโอกลับมาแล้ว  Shot Size หรือ ขนาดภาพ คือ การกำหนดตำแหน่งของสิ่งที่เราต้องการถ่าย เช่น บุคคล สัตว์ สิ่งของ  และใช้วิธีการเคลื่อนที่กล้อง หรือการเลือกใช้เลนส์เพื่อให้ได้ภาพตามระยะที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นระยะใกล้ หรือระยะไกลภาพที่ได้สามารถสื่อสาร สร้างความสนใจ ด้วยความหมาย และอารมณ์ที่แตกต่างกัน ขนาดภาพมีตั้งแต่ระยะไกลมากไปจนถึงระยะใกล้มา

มารู้จักกับ 7 ขนาดภาพที่นิยมใช้โดยทั่วไป

ขนาดภาพแรกที่เราจะเริ่มเรียนรู้กัน คือ ขนาดภาพระยะไกลมาก Extreme Long Shot หรือ ELS เป็นการถ่ายภาพที่เน้นบรรยากาศ หรือภาพพื้นหลัง  ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการถ่ายควรมีขนาด 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ขององค์ประกอบภาพ

ขนาดภาพที่ 2 เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะไกล Long Shot หรือ LS  คือ ขนาดภาพที่มักใช้ต่อจาก       Extreme Long Shot ขนาดภาพนี้จะเห็นสิ่งที่เราต้องการถ่ายให้ใกล้มากขึ้น  รวมถึงบรรยากาศของฉากหลัง หรือพื้นหลังด้วย บางครั้งเรียกภาพถ่ายลักษณะนี้ว่า  ภาพกว้าง หรือ Wide Shot การถ่ายภาพบุคคลจะถ่ายให้ครบทุกส่วนของร่างกาย  เราจะเห็นท่าทาง การเคลื่อนไหว  เช่น การเดิน การวิ่ง แต่ยังคงมีบรรยากาศรอบ ๆ อยู่

ขนาดภาพที่ 3 เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะไกลปานกลาง  หรือ Medium Long Shot ใช้คำย่อว่า MLS คือ ขนาดภาพที่ใกล้กว่า Long Shot  สามารถมองเห็นตั้งแต่หัวไปจนถึงหัวเข่า  หรือที่เรียกว่า Knee Shot และบางภาพจะมองเห็นไปจนถึงขาแต่ไม่ถึงเท้า  ข้อควรระวังในการถ่าย Medium Long Shot คือ เราต้องถ่ายโดยไม่ให้ขอบของภาพไปตัดตรงข้อเข่า ไม่เช่นนั้นภาพที่เราได้  จะทำให้เกิดความรู้สึกขาดหายไม่สมบูรณ์

ขนาดภาพที่ 4 เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะปานกลาง  หรือ Medium Shot เราใช้คำย่อว่า MS คือ การถ่ายภาพที่มีขอบเขตตั้งแต่หัวไปจนถึงเอว  หรือการถ่ายภาพครึ่งตัว  จะเห็นได้ว่าเป็นภาพที่ใกล้กว่าภาพขนาด Medium Long Shot  ขนาดภาพนี้มักถูกนำไปใช้ในกรณีที่นักข่าวกำลังรายงานข่าว  หรือขณะที่พิธีกรกำลังพูดเพราะว่าขนาดภาพนี้จะทำให้เห็นสีหน้าท่าทางต่าง ๆ ของนักข่าวและพิธีกรที่กำลังพูด หรือสื่อสาร

ขนาดภาพที่ 5  เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะใกล้ปานกลาง  หรือ Medium Close-up Shot เราใช้คำย่อว่า MCU คือ ภาพถ่ายที่มีครอบเขตตั้งแต่หัวไปจนถึงช่วงไหล่  นิยมใช้ในกรณีที่นักข่าวรายงานข่าว นอกจากนี้ยังเป็นภาพที่ใช้ในฉาก ที่ต้องการแสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ และที่สำคัญเราควรเหลือขอบบนของภาพกับหัวของบุคคลให้เหมาะสม หรือที่เรียกว่า Head Room ข้อควรระวังในการถ่าย Medium Close-up Shot

ขนาดภาพที่ 6 เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะใกล้ หรือ Close-up Shot ใช้คำย่อว่า CU คือ ภาพถ่ายระยะใกล้ตั้งแต่หน้าผากไปจนถึงคาง หรือคอ เพื่อสื่อสารถึงสีหน้า ความรู้สึก อารมณ์

ขนาดภาพที่ 7 เราเรียกว่า ขนาดภาพระยะใกล้มาก หรือ Extreme Close-up Shot ใช้คำย่อว่า ECU คือ ขนาดภาพที่ถ่ายในระยะใกล้ และแคบมาก ๆ มักจะใช้ประกอบการเล่ารายละเอียดถึงสิ่งที่เราต้องนำเสนอ เช่น การถ่ายภาพบุคคลเพื่อแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึก จะเน้นไปที่ดวงตา หรือปาก หรือการถ่ายภาพประกอบการเล่าเรื่องในลักษณะอื่น ๆ เช่น การบอกเล่ารายละเอียดการทำงานของสถานีโทรทัศน์ที่กำลังมีการออกอากาศ

มารู้จักกับเรื่องมุมกล้อง หรือ Camera Angle

Camera Angle เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง กล้อง และ Subject หรือบุคคล หรือภาพที่เราต้องการถ่าย เป็นการจัดมุมมองของภาพ โดยเราใช้ตำแหน่งของกล้อง และมุมกล้องเป็นองค์ประกอบหลักในการจัด

ซึ่งในการถ่ายภาพวิดีโอโดยทั่วไป ตำแหน่งกล้อง หมายถึง ความสูงของกล้องเมื่อเทียบกับพื้นตำแหน่งในการตั้งกล้องไม่ได้วางไว้แค่เฉพาะด้านหน้าของสิ่งที่เราต้องการถ่ายเท่านั้นแต่จะมีการวางกล้องในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้มุมกล้องในแบบที่ต้องการ ส่วนมุมกล้องที่เกิดจากการวางทิศทาง ของตำแหน่งของกล้อง กับวัตถุหน้ากล้องเพื่อให้มองเห็นภาพในระดับองศาที่แตกต่างกัน การใช้มุมกล้อง ต้องให้สอดคล้องกับการเล่าเรื่อง เหตุผลของการเปลี่ยนมุมกล้องให้หลากหลาย เพื่อใช้ติดตามวัตถุ หรือบุคคล ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการสื่อความหมาย

โดยจะแบ่งออกเป็น 5 มุมกล้องด้วยกันคือ

มุมกล้องที่ 1 เรียกว่า มุมกล้องระดับสูง หรือ High Angle Shot เป็นมุมมองจากสายตา ที่มองลงมายังสิ่งที่ต้องการถ่ายหรือถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ มุมกดนั่นเอง มักจะให้ความรู้สึก ด้อยค่า ดูถูก ไร้พลังอำนาจ หรือสิ้นหวัง

มุมกล้องที่ 2 เรียกว่ามุมกล้องระดับสายตา หรือ Eye Level Shot เป็นมุมมองที่อยู่ในระดับเดียวกัน

มีระดับความสูง หรือต่ำเท่า ๆ กันกับสิ่งที่ต้องการถ่ายภาพซึ่งจะทำให้เกิดมุมมองที่มีความรู้สึกมีความเสมอภาคเป็นกันเองไม่เหนือหรือด้อยกว่ากัน เป็นมุมมองที่นิยมใช้มากที่สุด

มุมกล้องที่ 3 เรียกว่ามุมกล้องในระดับต่ำ หรือ Low Angle Shot ซึ่งจุดเด่นของมุมกล้องนี้คือการให้ความรู้สึกที่กำลังสื่อนั้นดูยิ่งใหญ่มีพลังและทรงอำนาจ

มุมกล้องที่ 4 เรียกว่ามุมสายตานก หรือ Bird Eyes View มุมนี้เป็นมุมที่มองลงมาจากที่สูงมาก ๆ แทนสายตานกที่อยู่บนท้องฟ้า เป็นมุมที่ไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน

มุมกล้องที่ 5 เรียกว่ามุมหนอนมอง หรือ Worm Eyes View มุมกล้องนี้ เป็นมุมกล้องที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับมุม Bird’s Eye View ถือว่าเป็นมุมมองที่อยู่นอกเหนือจากชีวิตประจำวันอีกมุมหนึ่ง ลักษณะของมุมนี้จะเหมือนหนอนที่กำลังมองดูผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา

จะเห็นได้ว่า เทคนิคการถ่ายภาพแบบสื่อสาธารณะมีหลากหลายเรื่องราวให้เราได้ศึกษา ซึ่งถ้าหากเราได้ศึกษาอย่างเข้าใจดีแล้ว การถ่ายภาพของเราก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายที่แม้เราจะไม่มีกล้องราคาแพง แต่เราก็จะได้ภาพที่สวยไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ที่มา  https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:THAIPBS+THAIPBS001+2021/course/

เนื้อหาจากรายวิชา เทคนิคการถ่ายภาพในแบบสื่อสาธารณะ | Shooting techniques for Public Media  พัฒนารายวิชาโดย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

เจ้าของผลงาน จริยา รัตนพันธุ์

Visits: 17

Comments

comments

Back To Top