มีหลายครั้งที่ได้รับคำถามในฐานศิษย์เก่า (หรือที่วลัยลักษณ์เรียกว่า ศึกษิต) คนหนึ่งที่จบจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า
“ศึกษิต” คืออะไร หมายถึงใคร … ตามความเข้าใจของตัวเองมาโดยตลอด ได้อธิบายว่าเป็นคำเรียก
ศิษย์เก่าที่จบจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกคนว่าเป็นศึกษิต ส่วนจะสำเร็จวิชาจาก “สำนัก” ไหนนั้น
ก็แล้วแต่ว่าเลือกเรียนอะไรกันมา…

และในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกศึกษิตให้เป็น “ศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์” เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และทางมหาวิทยาลัยได้เชิญให้เป็นแขกคนสำคัญในงานแสดงความยินดีก่ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มและโล่กิตติการ เข็มรางวัลจภ.ทองคำ เข็มประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น และโล่รางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ โดยเชิญครอบครัวของศึกษิตแห่งปีฯ เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย

ศึกษิตในความเข้าใจของเราเอง ..อย่างพื้นฐานเลยคือ จะต้องเป็นบุคคลที่เป็นทั้ง “คนดี” และ “คนเก่ง” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย …ปณิธานให้การเป็น “คนดี” นำหน้า “คนเก่ง” เห็นจะเป็นด้วยความตั้งใจ มิใช่แค่ความคล้องจอง

หากจะถามว่าดีและเก่งแค่นี้เหรอ ?

ก็คงไม่ใช่ …“ทั้งหมด” ของปณิธาน

ปณิธานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีอะไร ขอคัดลอกจากหน้าเว็บไซต์มาให้อ่านกัน ณ ตรงนี้

“มหาวิทยาลัย มีจุดมุ่งหมายหลักในการบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษา และถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้า และความเป็นเลิศทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความเรืองปัญญาและคุณธรรม รวมทั้งเอื้ออำนวยต่อ ความเจริญของสังคมและของมนุษยชาติมิมีวันเสื่อมสูญ มุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นทั้ง คนดีและคนเก่ง โดยเน้น

1. ความเป็นคนที่ทันสมัยในฐานะพลเมือง และพลโลก ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รู้รอบ

และมีทัศนคติที่กว้างไกล
2. ความเป็นนักวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในสาขาที่

ศึกษาลึกซึ้ง และประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความเป็น “ศึกษิต” ที่มีมโนธรรม คุณธรรม และจรรยาวิชาชีพ”

(เว็บไซต์ https://www.wu.ac.th)

นี่คือ “ศึกษิต”ที่ปรากฏอยู่ในปณิธานแห่งบริบทของ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”

…แล้ว “ราก” ของคำว่า ศึกษิตนั้น..มีที่มาจากไหน อย่างไร

…เราเคยบันทึกที่มาของคำว่าศึกษิตไว้ครั้งหนึ่งเมื่อนานมา .. สมัยที่ blog multiply ยังได้รับความนิยม …การบันทึกครั้งนั้นก็เหมือนครั้งนี้ คือ ค้นหาจากอินเตอร์เน็ต แล้วมารวบรวม ประมวล … ครั้งนี้มีที่ต่างไปคือ ..เราหาแหล่งอ้างอิงได้มากกว่าเดิม… ก็ขอรวบรวมมาไว้ให้ได้ทำความเข้าใจ และไตร่ตรองกัน

จาก “ศึกษิตในนิยายรักของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ” โดยคุณนัทธนัย ประสานนามได้วิเคราะห์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ลักษณะของ “ศึกษิต” หรือ “educated person” ย่อมมิได้กินความหมายเพียงแค่ผู้ที่ได้ผ่านระบบการศึกษาจนได้รับปริญญาเท่านั้น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณหรือ น.ม.ส. ทรงเป็นนักประพันธ์ที่ให้คำจำกัดความคำว่าศึกษิตเอาไว้อย่างชัดเจน อาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า คุณลักษณะของศึกษิตมีอยู่ 6 ประการ ได้แต่ ใช้ภาษาได้ดี มีจรรยาดี มีรสนิยมดี มีความคิดตรึกตรองดี มีปัญญาเติบโตดี แปลงความคิดให้กลายเป็นการกระทำได้ดี…”

(ศึกษิตในนิยายรัก หน้า 3)

นี่คือคำจำกัดความโดยสรุป .. เรายังสืบค้นไปถึงต้นตอแห่งบทประพันธ์นี้ไม่เจอ แต่มีผู้คัดลอกมาไว้ให้ได้อ่านกัน ดังนี้

“…บัณฑิตที่เป็นศึกษิต (Educated Man) พระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส (น.ม.ส.) ทรงประพันธ์ไว้อย่างน่าฟังว่า

หลักที่หนึ่งศึกษิตวิทยาสาร              ย่อมชำนาญแนวนัยใช้ภาษา
พูดก็เนียนเขียนก็แนบแบบวาจา       ไม่บอๆ บ้าๆ ภาษาคน

หลักที่สองสาทะจารเป็นญาณยึด    ความประพฤติดีงามอร่ามผล
ดำรงมั่นสัญญาสง่าคน                   ส่องสกลเป็นเยนตละแมนฯ

หลักที่สาม Good Taste มีเลสไข     ถ้าแปลได้ตรงเผ็งก็เก่งแสน
กุสุมรสสดสะอาดไม่ขาดแคลน        เปรียบเหมือนแว่นสองสว่างกระจ่างแท้ฯ

หลักที่สี่รู้ตรองให้ถ่องแท้                 ความเอียงความตรงบ่งให้แน่
ความหุนหันพลันแล่นใช่แผนแด      มีเบาะแสฉันใดก็ไตร่ตรองฯ

หลักที่ห้างอกไม่หยุดไม่สุดเติบ       เพียงกระเถิบสารพรรณ์มันสมอง
รู้ไม่พออยู่เป็นนิตย์คิดจะลอง          ดำเนินคลองปัญญาวิชาการฯ

หลักที่หกแปลความคิดประดิษฐ์ให้  เป็นความทำขึ้นได้โดยนับประสาน
ทั้งความรู้ความคิดพิศดาร              คิดไม่นานทำได้ดังใจคิด

เขาว่าลักษณ์หกยกเป็นหลัก            เพื่อประจักษ์ใจสำนึกเป็นศึกษิต
Educated Man แสนโศภิต             ชวลิตปัญญาวิชาชาญ.

จากคำประพันธ์ที่น.ม.ส. ได้ทรงประพันธ์ไว้ ท่านได้แปลมาจากภาษาอังกฤษ สำหรับใช้เป็นเครื่องตรวจสอบความเป็นศึกษิต สรุปได้ว่า ศึกษิตจะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 6 ประการ คือ 1. มีความสามารถในการใช้ภาษา 2. มีกิริยามารยาทดี 3. มีรสนิยมสูง 4. มีความคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ 5. มีความเจริญงอกงามอย่างต่อเนื่อง และ 6.มีความสามารถในการแปลความคิดเป็นการกระทำ (ดร.มารุต ดำชะอม 26 ก.ย.2532)…”

https://docuri.com/download/educated-man_59c1e0e3f581710b2869d0dd_pdf

และหากจะถามว่า…ที่ผ่านมาศึกษิตวลัยลักษณ์ที่ออกไปอยู่ในสังคมนั้น …สมหวังดังปณิธานที่ตั้งไว้หรือไม่…

อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นไปดังปณิธาน เพราะการหล่อหลอมมิใช่การหล่อเบ้า แม้การหล่อเบ้าจากเครื่องจักรเองก็ใช่จะแน่ใจว่าไม่มีสิ่งผิดแผกเกิดขึ้น

แต่เชื่อได้เลยว่า … จะมีรอยยิ้มแต้มบนใบหน้าของผู้หล่อหลอม และโอบอุ้มบัณฑิตหลายๆ ท่าน…เมื่อได้ยินคำถามนี้

“มหาวิทยาลัย…มุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นทั้ง คนดีและคนเก่ง

โดยเน้น
1. ความเป็นคนที่ทันสมัยในฐานะพลเมือง และพลโลก ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รู้รอบ และมีทัศนคติที่กว้างไกล
2. ความเป็นนักวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในสาขาที่ศึกษาลึกซึ้ง และประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติงาน
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความเป็น “ศึกษิต” ที่มีมโนธรรม คุณธรรม และจรรยาวิชาชีพ”

ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวงเวียนป้ายมหาวิทยาลัยต้อนรับงานอพ.สธ.

Visits: 29

Comments

comments