นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารการศึกษาและการเรียนรู้ | Innovation and Information Technology for Educational Communication and Learning

การออกแบบระบบการเรียนการสอน

การออกแบบระบบการเรียนการสอนจะประกอบด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จในการเรียนการสอนตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ ดังนั้น เมื่อมีการออกแบบระบบการเรียนการสอน ผู้ออกแบบจะต้องดำเนินงานตามกระบวนการ 5 ขั้นตอน ในการออกแบบ โดยหลักการพื้นฐานในการออกแบบระบบการเรียนการสอน (Instructional Systems Design (ISD) model/framework) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ADDIE Model หรือแบบจำลอง ADDIE ที่มีองค์ประกอบ 5 ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ (Analysis) การออกแบบ (Design) การพัฒนา (Development) การนำไปใช้ (Implementation) และการประเมินผล (Evaluation) 

การวิเคราะห์ (A: Analysis)

การวิเคราะห์เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการออกแบบระบบการเรียนการสอน ผู้ออกแบบจะต้องกำหนดความจำเป็นในการเรียน ทำการวิเคราะห์เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอน คุณลักษณะของผู้เรียน และวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนเพื่อรวบรวมข้อมูล สำหรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตของบทเรียน ขั้นการวิเคราะห์

การออกแบบ (D: Design)

การออกแบบในระบบการเรียนการสอนจะใช้ข้อมูลที่ได้รับจากขั้นกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจว่าจะสอนอย่างไรจึงจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การออกแบบเป็นกระบวนการกำหนดว่าจะดำเนินการเรียนการสอนอย่างไร โดยมีการเขียนวัตถุประสงค์ กำหนดวิธีสอนและกลยุทธ์ในการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ กำหนดเนื้อหาบทเรียนและแบ่งย่อยหัวข้อและลำดับการนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้สูงสุด เลือกสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมมาช่วยเสริมการเรียนรู้ กำหนดวิธีการประเมินผลว่าผู้เรียนจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และจัดทำลำดับขั้นตอนของการเรียน ดังนั้น ขั้นการออกแบบประกอบด้วยขั้นตอนย่อย คือ การระบุวัตถุประสงค์ ระบุวิธีสอน ระบุเนื้อหา ระบุสื่อการเรียนการสอน ระบุวิธีการประเมินผล

การพัฒนา (D: Development)

เมื่อมีการออกแบบระบบการเรียนการสอนเรียบร้อยแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการผลิตและการใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการของการพัฒนา โดยเป็นขั้นการผลิตสื่อการเรียนการสอนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนตามที่ออกแบบไว้ การเขียนแผนการสอน การสร้างแบบทดสอบหรือแบบประเมินต่าง ๆ โดยในขั้นนี้ ผู้ออกแบบต้องตรวจสอบว่าสิ่งที่ผลิตมานั้นมีคุณภาพดีและสามารถใช้ในการเรียนการสอนและการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นการประเมินระหว่างการผลิต (Formative evaluation) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินความถูกต้องและเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเนื้อหาบทเรียน ด้านการออกแบบ ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ฯลฯ เมื่อประเมินและตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงแล้ว ต่อไปเป็นการทดลองใช้เพื่อประเมินหาประสิทธิภาพเบื้องต้นว่าสิ่งที่ผลิตนั้นจะสามารถใช้ได้ผลดีเพียงใดเพื่อนำข้อมูลไปแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาใช้งานจริง

การนำไปใช้ (I: Implementation)

เมื่อสิ้นสุดกระบวนการพัฒนาและได้สิ่งที่ผลิตออกมาแล้ว จะเป็นขั้นของการดำเนินการสอนหรือการนำไปใช้ ซึ่งเป็นการนำระบบการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้มาใช้ในสภาพแวดล้อมจริงของการเรียนการสอน ในขั้นตอนนี้ การเรียนการสอนอาจมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น ผู้สอนควรมีการเตรียมตัวก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามระบบการเรียนการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นให้ดีเพื่อให้เกิดความมั่นใจและสามารถดำเนินการสอนตามระบบจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อันจะเป็นผลส่งถึงความสำเร็จของระบบการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้ด้วย

การประเมินผล (E: Evaluation)

เมื่อดำเนินการสอนผ่านไปแล้ว จะถึงกระบวนการขั้นสุดท้าย คือ การประเมินระบบการเรียนการสอนว่ามีปัญหาและอุปสรรคในขั้นตอนใดบ้างที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ นับตั้งแต่การวิเคราะห์จนถึงขั้นดำเนินการสอนที่ได้ทำไปแล้ว มีสิ่งใดในขั้นตอนใดที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนอื่นหรือควรปรับปรุงขั้นตอนใดบ้างเพื่อให้ระบบการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้นกว่าเดิม การประเมินขั้นสุดท้ายนี้จะเป็นในลักษณะของการประเมินสรุปผล (Summative evaluation) โดยการประเมินประสิทธิภาพของระบบการเรียนการสอนโดยตรงในส่วนของผลกระทบของเนื้อหาบทเรียน สื่อการเรียนการสอน และวิธีการสอน

คุณค่าของการใช้วิธีระบบต่อประสิทธิภาพทางการศึกษา

1. ทำให้เห็นขั้นตอนที่ชัดเจนในการดำเนินงาน

2. ทำให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด

3. มุ่งพัฒนาสายงานให้ครบถ้วนอยู่เสมอและดียิ่งขึ้น

4. สามารถตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานได้ทุกกรณี

5. ผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพ

6. ผู้บริหารสามารถเข้าใจข้อมูลในการบริหารงานโครงการในปีต่อ ๆ ไปได้เป็นอย่างดี

อ้างอิงบทความจาก Thaimook เรื่อง นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารการศึกษาและการเรียนรู้ 

อ้างอิงรูปภาพ https://wuttichaiteacher.online/archives/2361

Visits: 40

Comments

comments

Back To Top