ถ่าย VDO ตั้งค่ายังไงใช้โหมดไหนดี

หลายคนคงเคยถ่าย VDO ด้วยกล้องถ่ายรูปไม่ว่าจะเป็นชนิด dslr หรือ mirrorless ซึ่งกล้องทั้ง 2 แบบก็มีฟังค์ชั่นที่คล้ายกัน แต่ว่ามือใหม่ทั้งหลายที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องการตั้งค่า speed shutter หรือ ค่ารูรับแสง (F-Stop) รวมทั้งค่า ISO นั้นจะต้องตั้งอย่างไรวันนี้เรามาดูกัน

1. PAL กับ NTSC

คำว่า PAL กับ NTSC เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างใช่มั้ยครับ อธิบายสั้น ๆ ว่าเป็นมาตราฐานระบบสัญญาณภาพที่ใช้กันทั่วโลกซึ่งมันก็จะมีให้เลือกหลัก ๆ สองอันนี้แหละในกล้องของเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะบันทึกวิดีโอในระบบไหน ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ระบบ PAL ซึ่งข้อแตกต่างของสองอันนี้คือ PAL จะเป็นแบบ 50Hz ส่วน NTSC นั้น 60Hz ซึ่งกล้องจะปรับการตั้งค่าเฟรมเรตวิดีโอให้สัมพันกับระบบที่คุณเลือกใช้ด้วยนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมตอนเราอ่านสเปคกล้องเค้าบอกว่าถ่ายวิดีโอได้ 1080p 60fps แต่ตอนซื้อมาใช้มันตั้งได้แค่ 50fps เองเพราะกล้องซื้อในบ้านเรามันถูกตั้งไว้ที่ระบบ PAL(แต่บางรุ่นก็จะมี 60fps ให้เลือกเหมือนเดิม)มาตั้งแต่แรก แนะนำให้ตั้ง PAL ไว้ดีแล้วครับ

2. 1080p, 1080i

P = Progressive scan

I = Interlaced scan

ปัจจุบันกล้องรุ่นใหม่ๆ มันจะเป็น P เช่น 1080P ซึ่ง 1080P มีความคมชัดมากกว่า แต่ 1080i ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ ข้อดีของเค้าคือกินความจุน้อยซึ่งในอดีตจะใช้ในการส่งสัญญาณภาพและเสียงจากสถานีโทรทัศน์นั่งเอง

3. Resolution ความละเอียด จะใช้เท่าไหร่ดี

กล้องปัจจุบันถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด 4K แน่นอนว่ายิ่งความละเอียดสูงกว่าย่อมดีกว่า 4K นั้นละเอียดกว่า Full HD 1080p ถึง 4 เท่า(8 ล้านพิกเซล vs 2 ล้านพิกเซล) หากเราถ่ายวิดีโอ 4K มาใช้งานบน Full HD จะเรามีพื้นที่ให้ Crop วิดีโอได้เยอะมากโดยที่ภาพไม่แตกเลย แต่ข้อเสียของความละเอียดสูงคือขนาดมันใหญ่มาก และกินทรัพยากรคอมพิวเตอร์เราแบบสุด ๆ การตัดต่อวิดีโอ Full HD กับ 4K ต่างกันมาก 4K เราจะต้องใช้พื้นที่ HDD เยอะกว่ามาก กินแรมเยอะกว่ามาก และใช้เวลาเรนเดอร์ตอบจบงานนานกว่าอย่างชัดเจน ดังนั้นการจะเลือกใช้ความละเอียดระดับไหนอย่าลืมคิดถึงสเปคคอมพิวเตอร์ที่บ้านและ HDD ด้วยนะครับ

4. Framerate ควรเลือกใช้เฟรมเรตเท่าไหร่ดี

ในกล้องสามารถตั้งค่า เฟรมเรตได้ ตั้งแต่ 24fps, 25fps, 30fps, 50fps, 100fps หรือ ในปัจจุบันได้ถึง 120 fps ตอบสั้นๆว่าขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่เราจะเอาไปใช้งานครับ อย่างภาพยนตร์ในอดีตใช้เฟรมเรตอยู่ที่ 24fps หรือ 24 ภาพต่อ 1 วินาที ในขณะที่ระบบ PAL ตั้งแต่สมัยอนาล็อก เราก็ใช้ 25fps แต่ในปัจจุบัน facebook ก็รับอยู่ที่ 30fps ในขณะที่ Youtube ก็รองรับได้ถึง 60fps ดังนั้นไม่มีค่าที่ตายตัว แต่ถ้าจะให้ลงลึกในเชิงเทคนิคการเลือกใช้เฟรมเรตจะมีความหมายมากกว่าการนำไปใช้ เช่น การถ่ายด้วยเฟรมเรตที่สูงเช่น 100fps ก็จะมี 100 เฟรมต่อ 1 วินาที เมื่อเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ การนำช็อตที่ใช้เฟรมเรต 100fps ไปทำภาพ Slow motion ก็จะได้ภาพที่ช้าที่มีความนุ่มนวลกว่าภาพที่ใช้เฟรมเรต 50 fps แต่สิ่งที่ตามมาของการใช้เฟรมเรต 100fps คือขนาดไฟล์ที่ใหญ่นั่นเอง

5. ถ่ายวีดีโอใช้โหมดไหนดี

ในตอนนี้เราจะคุยกันแบบง่าย ๆ กันก่อนด้วยโหมด Auto และ P, A, S ถ้าคุณเข้ามาอ่านบทความนี้น่าจะเริ่มสนใจเรื่องการถ่ายวิดีโออย่างจริงจังแล้ว ผมอยากให้ลืมโหมด Auto ซะ แล้วเราจะไปหาอนาคตที่ดีกว่ากับ P, A, S กัน ซึ่งสำหรับการถ่ายวิดีโอนั้นผมแนะนำให้ใช้โหมด S เพราะเป็นโหมดที่เราควบคุมความเร็วชัตเตอร์แล้วปล่อยให้กล้องจัดการกับรูรับแสงตามใจชอบสาเหตุที่แนะนำโหมดนี้เพราะว่าในการถ่ายวิดีโอเรามีกฎเหล็กที่ต้องควบคุมความเร็วชัตเตอร์ให้เป็น 2 เท่าของเฟรมเรตที่เลือกใช้เสมอเพื่อให้การเคลื่อนไหวของวัตถุต่าง ๆ ในวิดีโอดูลื่นไหลเป็นธรรมชาตินั่นเอง

ส่วน P นั้นก็พอใช้ได้ โดยกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงให้เราถ้ากล้องของคุณถูกสอนมาจากโรงงานว่าต้องคุมความเร็วชัตเตอร์ขณะถ่ายวิดีโอให้เหมาะสมคุณถ่ายวิดีโอด้วยโหมด P ได้สบาย ๆ เลย แต่เราจะไม่รู้เลยจนกว่าจะลองและการใช้โหมด S ก็ไม่ได้ยากกว่าการใช้ P ผมจึงอยากแนะนำให้ใช้ S มากกว่า

ส่วน A นั้นไม่แนะนำเลยเพราะเราคุมรูรับแสงแต่กล้องคุมความเร็วชัตเตอร์ฉะนั้นความเร็วชัตเตอร์จะวิ่งขึ้นลงตลอดเวลาหากเราเจอสภาพแสงน้อยแม้เราจะเปิดรูรับแสงกว้างสุกแล้วก็ตามแต่กล้องคุณอาจจะให้สปีดชัตเตอร์เพียง 1/25 ในขณะที่คุณตั้งค่าเฟรมเรตที่ 50fps ซึ่งมันก็ผิดกฏที่ว่าสปีดชัตเตอร์ต้องเป็น 2 เท่าของเฟรมเรตนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.zoomcamera.net/

Visits: 358

Comments

comments

Back To Top