คุณภาพชีวิตดี…เริ่มต้นที่ “การนอน”

cover Sleeping for good health

“คุณภาพชีวิตดี…เริ่มที่การนอน”

“งานคือเงิน… เงินคืองานบันดาลสุข”

“การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม”

“งานได้ผลคนเป็นสุข”

หลากหลายสโกแกน แนวคิดที่ช่วยกระตุ้นให้คน

มีใจ มีแรง มีไฟในการทำงานมีหลายคนที่มุ่งทำงาน ตั้งใจทำงาน

ให้เวลากับการทำงาน เพื่อหวังความสำเร็จ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ..โดยลืมไปว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน

…โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หนึ่งชีวิตของเรา”


? เคยเบลอจนเผลอลบไฟล์ผิด หรือส่งงานพลาดบ้างหรือไม่

? เคยฟังประชุมไม่รู้เรื่องหรือเปล่า

? เคยอยู่ ๆ แล้วนึกอะไรต่อไม่ออก จำอะไรไม่ได้ หรือมันติดอยู่ที่ริมฝีปากบ้างไหม

? เคยวูบตอนกลางวัน หรือขณะขับรถ/เดินทางกี่ครั้งแล้ว

? เคยน็อตหลุด ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้บ่อยแค่ไหน

? เคยเป็นคนแก้ปัญหาได้ดี จัดการปัญหาได้ แต่เมื่อต้องรีบสรุปงาน ปิดงานให้ทันกำหนดจู่ ๆ ทักษะเหล่านั้นก็หายไปบ้างไหม

? เคยรู้สึกว่า นอนเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ นอนมากแล้วยังง่วงอีกไหม

และทราบหรือไม่ ? อาการทั้งหมดนี้ ..สาเหตุหนึ่งมากจาก “การนอนที่ไม่มีคุณภาพ”

ในรายวิชาการนอนหลับกับสุขภาพดี WU024 บทระบบ ThaiMOOC ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้บอกไว้ว่า การนอนหลับมีความสำคัญกับชีวิตของเราอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคงไว้ซึ่งภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจ  และได้ให้

ความสำคัญของการนอนหลับไว้ ดังนี้

  • การพัฒนาของระบบสมอง โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก
  • การเจริญเติบโตของร่างกาย ส่งเสริมความแข็งแรงและพัฒนาการของร่างกาย ฟื้นฟู สมรรถภาพร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างเนื้อเยื่อของร่างกาย และบรรเทาอาการเจ็บปวด
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีการนอนหลับที่ดี จะมีการหลั่งของสารเมลาโทนินที่ช่วย ในการกระตุ้นให้กระบวนการส่งเสริมจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่าง ๆ
  • การเรียนรู้ ความคิด ความจำ และภาวการณ์รู้คิด ในการจัดระบบความคิด การจดจำ และการรับสารข้อมูล รวมทั้งการคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่ดีขึ้น สามารถรับข้อมูลใหม่ ๆ และการแยกแยะข้อมูลที่แตกต่างกัน สามารถทวนซ้ำข้อมูลได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
  • การปรับตัวและส่งเสริมความสามารถในการเผชิญกับเหตุการณ์ ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ การปรับตัว และการแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งการเผชิญและการแก้ไขเฉพาะหน้าได้
  • การมีสมาธิและสามารถควบคุมอารมณ์ข้องตนเองได้ จึงสามารถช่วยลดการแสดงออกทางอารมณ์และจิตใจ มีสติสัมปชัญญะรอบคอบ และช่วยในการตัดสินใจได้เร็วและดี

ในรายวิชาได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายการนอนหลับ ตั้งแต่หลักการและแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการพักผ่อนและการนอนหลับ  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ การประเมินการนอนหลับด้วยวิธีต่าง ๆ  ผลกระทบจากปัญหาการนอนหลับ และข้อปฏิบัติเรื่องสุขอนามัยการนอนหลับ ซึ่งผลกระทบที่สำคัญของการนอนหลับส่งต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพประสิทธิภาพการทำงานของเราด้วย

“นอนนาน…ใช่ว่าจะหมายถึง นอนได้ดีมีคุณภาพ”

และ ...การนอนคุณภาพก็ไม่ได้ หมายถึงการนอนนาน …

แต่การนอนที่มีคุณภาพ คือ ….

“…การนอนหลับที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

เชิงปริมาณ คือ จำนวนชั่วโมงมากพอที่จะทำให้อวัยวะและระบบการทำงานในร่างกายได้ลดระดับการทำงานตามวงจนการนอนหลับ ซึ่งแบ่งเป็นการนอนหลับด้วยระยะที่ไม่มีการกลอกของลูกตา (non-rapid eye movement: NREM) สลับกับระยะระยะที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว (Rapid Eye Movement sleep: REM) อย่างเป็นแบบแผนตามภาพ หากใครใช้นาฬิกาข้อมือที่สามารถตรวจวัดคุณภาพการนอนคงจะเคยเจอกับคำ REM นี้

และการนอนหลับเชิงคุณภาพ คือ การวัดจากความรู้สึกว่านอนพอหรือไม่ ตื่นมาสดชื่นหรือเปล่า ทำกิจกรรมด้วยความสดใสหรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอน อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ขาดความกระตือรือร้น ฯลฯ เป็นต้น  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การนอนของเราไม่มีคุณภาพ ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ความเจ็บป่วย หรือความผิดปกติทางร่างกายที่กำลังเผชิญอยู่”   

วงจรการนอนหลับของมนุษย์ (Cycles of Sleep)

และ …เหล่านี้คือ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

  1. ปรับการนอนหลับให้เหมาะสม
  2. ผู้ป่วย ควรดูแลให้ได้รับการจัดการ หรือควบคุมอาการที่ทำให้ไม่สบาย
  3. ปัสสาวะก่อนเข้านอน
  4. รับประทานอาหารมื้อเย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเวลาเข้านอนหลับ
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทถั่ว อาหารหมักดอง และผักสดดิบ เพราะจะทำให้เกิดก๊าซในกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการไม่สุขสบายท้องได้
  6. ก่อนนอนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะส่งทำให้เพิ่มการทำงานของระบบการย่อยของอาหารทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น
  7. ก่อนนอน 2 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ชา กาแฟ เนื่องจากสารคาเฟอีนจะออกฤทธิ์ในร่างกาย 3-5 ชั่วโมง ทำให้การนอนหลับในช่วงระแรกช้ากว่าปกติ และมีผลต่อระยะเวลาของการนอนหลับลดลง
  8. ดื่มนมจืดอุ่นๆ หรือโอวัลติน (หรือถ้าหากคุณหิว) เนื่องจากมีสารแอล-ทริปโตเฟน (L-tryptophan) และมีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับสารซีโรโทนิน (serotonin) ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมที่มีรสหวาน เนื่องจากความความหวานของน้ำตาลจะทำให้เกิดความเป็นกรดในลำไส้และเกิดความแปรปรวนของกระเพาะอาหารได้
  9. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพราะจะเพิ่มระดับการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้นอนหลับได้ยากกว่าปกติ
  10. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว เช่น การเล่นเกมส์ การทำงานก่อนเข้านอน
  11. หากล้มตัวลงนอนแล้ว ยังนอนไม่หลับภายใน 30 นาที สามารถลุกจากที่นอนและทำกิจกรรมเบา ๆ จนกว่าจะรู้สึกง่วงนอน
  12. การจัดสิ่งแวดล้อม มีแนวทางการปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอน
    • ห้องนอนควรเงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวน
    • ที่นอนและหมอนให้สะอาด ไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป
    • อุณหภูมิภายในห้องนอนที่เหมาะสมต่อการนอนอยู่ที่ประมาณ 18 องศาเซลเซียส ถ้าห้องนอนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 23.9 องศาเซลเซียส จะทำให้การนอนหลับระยะ NREM 3 และการนอนหลับระยะ REM sleep ลดลง
    • ควรนอนในท่าราบ และวางหมอนได้ข้อเข่าเพื่อให้กระดูกสันหลังส่วนล่างอยู่ในลักษณะงออย่างเหมาะสม หรืออาจนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง และหนุนหมอนที่มีความสูงพอสมควร
    • หลีกเลี่ยงแสงสว่างที่รบกวนการนอน
  13. การผ่อนคลายความเครียดและลดความวิตกกังวลก่อนนอน ด้วยวิธีการสวดมนต์ การฟังเพลง ดนตรีบำบัด เพลงจังหวะสบาย ๆ อ่านหนังสือเบา ๆ ก่อนเข้านอนจะช่วยให้การนอนหลับดีและได้เร็วขึ้น

การนอนของคุณเป็นแบบไหน ลองปรับและทบทวนดูนะคะ อย่างน้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการทำสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิต หากปรับแล้วเงินเข้า งานปัง คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ถือว่าได้รับโชค ….ชีวิตของเรายังต้องใช้ทำงานหาเงิน สร้างความสุขสบายให้กับชีวิตและคนรอบข้างอีกเยอะ ดูแลใส่ใจเพิ่มสักนิด…มีแต่ได้ ไม่มีเสียแน่นอนค่ะ


เรียนรู้เรื่องราวการนอนหลับกับสุขภาพดีเพิ่มเติมได้ที่ ThaiMOOC: WU024 การนอนหลับกับสุขภาพดี | Healthy Sleep for Healthy Life


Visits: 6

Comments

comments

Back To Top