ความรู้…คลังข้อสอบ (Item bank)

  1. Item bank เป็นคำที่เริ่มใช้ในประเทศอังกฤษ ช่วงกลางปี ค.ศ. 1960
    1. หมายถึง การจำแนกข้อสอบออกเป็นกลุ่มๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับการจัดหนังสือในห้องสมุด เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการคัดเลือกข้อสอบมาใช้ในการสร้างแบบสอบประเภทต่างๆ
    1. คำภาษาอังกฤษที่ใช้ในความหมายของคลังข้อสอบ : question bank, item pool, item collection, item reservoirs, test item libraries (Coppin, 1976; ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์, 2543)
    1. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพแบบทดสอบ ลดภาระในการออกข้อสอบใหม่ และลดค่าใช้จ่ายประหยัดเวลาในการสร้างข้อสอบใหม่

ความหมายของคลังข้อสอบ

คลังข้อสอบ หมายถึง แหล่งรวบรวมและจัดเก็บข้อสอบที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ โดยมีการจำแนกข้อสอบตามเนื้อหาวิชา พฤติกรรมการเรียนรู้ และคุณภาพข้อสอบในด้านความยากและอำนาจจำแนก เพื่อทำการจัดเก็บในลักษณะเอกสารหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างใดอย่างหนึ่ง

  1. เป็นแหล่งจัดเก็บข้อสอบที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจำนวนมาก เพื่อสามารถนำเอาไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (Mllan and Arter, 1984)
    1. 1 เป็นแหล่งรวบรวมข้อสอบรายข้อที่วัดได้ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละจุดประสงค์ ในแต่ละรายวิชา เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในด้านการวัดผลและการสอนซ่อมเสริมในแต่ละจุดประสงค์ที่ต้องการและจำเป็นได้อย่างรวดเร็ว (กรมวิชาการ, 2534)
    1. 2 เรียกอีกชื่อนึงว่า ธนาคารข้อสอบ หมายถึง ที่รวมของข้อสอบ ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อสอบเหล่านั้น ตามจุดประสงค์ของการทดสอบในครั้งต่อไป (อุทัย บุญประเสริฐ, 2540)
    1. 3 การจัดเก็บข้อสอบจำนวนมากอย่างเหมาะสมเป็นระบบ และมีกระบวนการเรียกคืนกลับมาใช้หรือปรับปรุงใหม่ (ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์, 2543)

          Mllan และ Arter (1984) ได้เสนอจำนวนข้อสอบที่เหมาะสมสำหรับจัดเก็บในคลังข้อสอบว่า หากใช้เพื่อการวัดผลในแต่ละครั้ง (การทดสอบย่อย) ควรมีจำนวน 10 ข้อ แต่ถ้าใช้เพื่อการวัดผลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ควรมีจำนวนข้อสอบ 50 ข้อ จำนวนข้อสอบในคลังข้อสอบยิ่งมีมากเท่าใดก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น เพื่อช่วยลดปัญหาการใช้ข้อสอบซ้ำบ่อยครั้งมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ข้อสอบที่จัดเก็บต้องมีลักษณะการเขียนข้อสอบที่มีความถูกต้องชัดเจนทั้งข้อคำถามและตัวเลือก มีความตรงตามเนื้อหา และมีค่าสถิติแสดงคุณภาพของข้อสอบที่เหมาะสม

          โดยทั่วไปการจัดแบ่งประเภทของข้อสอบเพื่อจัดเก็บเข้าคลังข้อสอบจะใช้เนื้อหารายวิชาเป็นเกณฑ์ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อย่อย แบ่งข้อสอบออกตามจุดประสงค์ และเพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อสอบ ควรกำหนดรหัสประจำข้อสอบที่แสดงรายละเอียดถึงเนื้อหาและจุดประสงค์ที่ต้องการวัด  

รูปแบบของคลังข้อสอบ

รูปแบบที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์

เป็นแหล่งจัดเก็บข้อสอบในยุคสมัยที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังไม่เจริญก้าวหน้า

           วิธีการจัดเก็บมี 2 ลักษณะ

     1. การจัดเก็บแบบสอบทั้งชุดตามกำหนดการสอบของสถานศึกษา ซึ่งเป็นการเก็บหลักฐานมากกว่าการนำมาใช้ใหม่

     2. การจัดเก็บเป็นข้อๆ ตามหมวดหมู่ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบรายข้อและนำกลับมาใช้ใหม่ตามความต้องการ

          การจัดเก็บลักษณะนี้เป็นกระบวนการที่ทำด้วยมือ โดยการเขียนรายละเอียดของข้อสอบแต่ละข้อลงในบัตรบันทึกคุณภาพข้อสอบแยกเป็นแผ่นๆ แล้วเก็บเข้าแฟ้ม

          ข้อด้อยของจัดเก็บข้อสอบในลักษณะนี้ คือ ต้องใช้เวลาในการคัดลอก ซึ่งทำให้เสียเวลาและอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

          เป็นแหล่งจัดเก็บข้อสอบในยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยจำนวนข้อสอบที่มีคุณภาพจะต้องมีปริมาณที่มากเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ข้อสอบซ้ำ

          การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ทำให้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การประมวลข้อสอบ การวิเคราะห์ข้อสอบ การจัดเก็บ และการสร้างแบบสอบชุดใหม่ที่สะดวกรวดเร็วต่อการนำไปใช้สอบครั้งถัดไป

          การจัดเก็บข้อสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์นี้ ยังเป็นพื้นฐานสำหรับการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Adaptive Testing: CAT) อีกด้วย   

ขั้นตอนของการพัฒนาระบบคลังข้อสอบ

ศิริชัย กาญจนวาสี (2541) ได้เสนอขั้นตอนของการพัฒนาระบบคลังข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์ไว้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. การวางแผน

          1.1 วิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดขอบข่าย คามต้องการในการใช้คลังข้อสอบ

          1.2 กำหนดลักษณะคลังข้อสอบ ใครจะเป็นผู้จัดทำระบบและพัฒนาคลังข้อสอบ ลักษณะของซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ต้องมีความจุหรือหน่วยความจำเท่าใด โครงสร้างของระบบคลังข้อสอบมีลักษณะอย่างไร ฐานข้อมูลการใช้โปรแกรมในวัตถุประสงค์ต่างๆ ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องมือต่างๆ

          1.3 กำหนดรหัสประจำข้อสอบ (coding of item) เช่น ระดับหลักสูตร ชื่อวิชา เนื้อหาสาระ จุดมุ่งหมายการเรียนการสอน จุดประสงค์การเรียนรู้ ระดับชั้นเรียน ระดับพฤติกรรมการเรียนรู้ ค่าสถิติของข้อสอบ เป็นต้น

2. ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์

          2.1 จัดหานักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เลือกภาษาโปรแกรม เขียนโปรแกรม ทดสอบโปรแกรม หรือจัดซื้อซอฟแวร์

          2.2 ประเมินระบบคลังข้อสอบ: ข้อสอบในคลังข้อสอบสามารถวัดครอบคลุมวัตถุประสงค์หรือเนื้อหาที่กำหนดหรือไม่ ให้ผลการวัดที่มีมาตรฐานเดียวกันเมื่อวัดในช่วงเวลาต่างกันหรือไม่

          2.3 จัดทำคู่มือการใช้

 3. การจัดเก็บข้อสอบเข้าคลัง

          3.1 การบันทึกข้อสอบเข้าคลัง: ค่าความตรงและความเที่ยงเท่าใดจึงจะจัดเก็บ ค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบควรกำหนดเท่าใด ใครจะเป็นผู้จัดเก็บและจะจัดเก็บตัวข้อสอบอย่างไร จำนวนข้อคำถามที่ต้องการจัดเก็บมีเท่าใด

          3.2 การปรับปรุงแก้ไข: พิจารณาความเป็นปัจจุบันของข้อสอบ มีการปรับปรุงแก้ข้อสอบหรือไม่ ใครเป็นผู้ปรับปรุงแก้ไข

4. การคัดเลือกข้อสอบจากคลังมาใช้งาน

          4.1 กำหนดลักษณะของแบบสอบที่ต้องการ: เป็นรูปแบบปลายเปิดหรือเป็นแบบกำหนดคำตอบให้ จำนวนกี่ตัวเลือก

          4.2 คัดเลือกข้อสอบโดยการสุ่ม: จะสุ่มเลือกข้อสอบอย่างไร ข้อสอบแต่ละข้อใช้บ่อยแค่ไหน

          4.3 จัดเรียงข้อสอบ: มีกระบวนการจัดเรียงข้อสอบอย่างไร ใช้คำสั่งเลือกอย่างสุ่ม หรือการจัดให้ข้อสอบแตกต่างกันในแต่ละแบบสอบ

5. การจัดพิมพ์ข้อสอบ

          5.1 กำหนดรูปแบบการจัดพิมพ์ข้อสอบ

          5.2 จัดพิมพ์ข้อสอบ

6. การให้สารสนเทศเกี่ยวกับคลังข้อสอบ

          6.1 การจำแนกลักษณะข้อสอบ

          6.2 จำนวนข้อสอบ ค่าสถิติของข้อสอบ

7. การรักษาความปลอดภัยของระบบคลังข้อสอบ

          7.1 การป้องกันการเข้าถึงคลังข้อสอบ

                   – การแบ่งระดับผู้ใช้และการเข้าถึง: ใครที่สามารถใช้ข้อสอบหรือข้อมูลอื่นๆ ในคลังข้อสอบได้ ใครสามารถเข้าไปดูรายงานผลการสอบได้บ้าง

                   – การกำหนดรหัสผ่านและทำการเปลี่ยนเป็นระยะๆ

          7.2 การป้องกันการทำลายข้อสอบ

                   – ซอฟแวร์ช่วยเตือน ตรวจจับ ทำลายสิ่งแปลกปลอม การต่อต้านป้องกันไวรัส

ประโยชน์ของคลังข้อสอบ

Choppin (1985), สุพัฒน์ สุกมลสันต์ (2539) และศิริชัย กาญจนวาสี (2541) ได้สรุปประโยชน์ของคลังข้อสอบไว้ดังนี้

     1. ทำให้ได้ข้อสอบที่ตรงกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหาของแต่ละรายวิชา สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

     2. ทำให้ได้ข้อสอบและแบบสอบที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือเป็นจำนวนมาก ผลที่ได้จากการวัดก็จะมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

     3. สร้างข้อสอบได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง มีความพร้อมในการสร้างแบบสอบได้ทุกเวลา

     4. ใช้ข้อสอบซ้ำได้หลายครั้ง ด้วยการเลือกใช้ข้อสอบที่มีระบบ

     5. ประหยัดงบประมาณ ทรัพยากร และเวลา ลดภาระด้านการออกข้อสอบให้แก่ครูผู้สอน

     6. ได้ข้อสอบที่มีลักษณะเป็นข้อสอบคู่ขนานได้

     7. สามารถจัดทำแบบสอบที่เหมาะกับความสามารถของกลุ่มผู้สอบที่เป็นเป้าหมายได้ ตลอดจนสามารถสร้างข้อสอบแบบปรับเหมาะสำหรับบุคคลได้

     8. กระตุ้นครูผู้สอนให้เกิดการพัฒนาข้อสอบให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของคลังข้อสอบที่มีต่อบุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่

     1. ผู้สอน

          เพราะคลังข้อสอบทำหน้าที่จัดเก็บข้อสอบที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนการสอน จึงทำให้สามารถสร้างข้อสอบให้ผู้เรียนได้หลายชุดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ผลการสอบสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบข้อสอบที่มีความยากและอำนาจจำแนกที่เหมาะสมกับการทดสอบเป็นรายบุคคล

     2. นักการศึกษา

         เนื่องจากคลังข้อสอบมีข้อสอบที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาและข้อสอบแต่ละข้อมีค่าพารามิเตอร์ประจำข้อสอบ ทำให้นำมาใช้เป็นสารสนเทศเพื่อการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอน ผลการสอบสามารถใช้ประเมินผลการสอนของผู้สอนแต่ละคน และยังสามารถเปรียบเทียบผลการสอนระหว่างผู้สอนหลายคน เป็นประโยชน์ในการประเมินรูปแบบการสอน เพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

3. ผู้เรียน

          เนื่องจากในการทดสอบแต่ละครั้ง จะมีปัจจัยและสภาพการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำข้อสอบของผู้เรียน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดได้ เช่น การเดา การลอก ความสะเพร่า ความกดดัน เป็นต้น ซึ่งในการพัฒนาคลังข้อสอบให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้สอบ สามารถทำได้โดยการประมาณค่าความสามารถของผู้สอบด้วยทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ (Item Response Theory: IRT) ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้

          4. นักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาการวัดความสามารถของบุคคล

          เนื่องจากความก้าวหน้าของทฤษฎีการทดสอบแนวใหม่ (ทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ) และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถคำนวณค่าพารามิเตอร์ประจำข้อสอบได้โดยที่ค่าไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มผู้สอบ นอกจากนี้ การดำเนินการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ก็สามารถจัดกระทำได้อย่างเป็นระบบ สามารถจัดสอบได้บ่อยครั้งมากขึ้นตามความพร้อม และสามารถวิเคราะห์แปลผลความสามารถของผู้สอบได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

Visits: 456

Comments

comments

Back To Top