การเรียนรู้ที่มีคุณค่า : Open Educational Resources (OER) คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด

การเรียนรู้ที่มีคุณค่า ก็คือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ การแบ่งปันความรู้ ไม่ยึดถือในความเป็นเจ้าของมากเกินไป แนวคิดการสร้างช่องทางการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้อิสระเสรี จึงเป็นแนวคิดของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การแบ่งปันแหล่งทรัพยากรด้านการศึกษาที่มีคุณภาพสู่สังคมโลกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาได้อย่างเสรี

แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หรือ OER : Open Educational Resources เป็นนวัตกรรมหนึ่งในวงการศึกษาที่ก่อกำหนดขึ้นมาภายใต้แนวคิดดังกล่าว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนารวบรวมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเปิด (Open Courseware) เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัดในการใช้งาน ความสำเร็จของโครงการทำให้แนวคิดในการพัฒนาและแบ่งปันความรู้แก่มวลมนุษยชาติได้รับการยอมรับในชื่อของ “แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด”

ปัจจุบันมีแหล่งสนับสนุนและให้บริการ OER เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ และห้องสมุดสถาบันการศึกษาจำนวนมาก ก็ได้ผนวกทรัพยากรการเรียนรู้ดังกล่าว เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนรู้แนะนำสำหรับนักศึกษาและผู้สอน สำหรับประเทศไทยมี OER ที่มีชื่อว่า คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หรือ Thai Open Educational Resources (OER) เป็นคลังทรัพยากรที่มีการพัฒนาขึ้นภายใต้ “โครงการระบบสื่อสารออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558”

• สถาบันการศึกษาตลอดจนหน่วยงานทางด้านการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจ และเริ่มมีการพัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด หรือที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำย่อที่เรียกว่า 0ER ซึ่งเป็นการเปิดเผยแหล่งความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือเรียน วีดิทัศน์ และสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย  ทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด จึงเป็นระบบที่ถูกพัฒนาและนำไปใช้งานในสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา ดังนี้

            1. เพื่อเพิ่มชื่อเสียงหรือจุดขายให้เกิดขึ้กับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงาน ซึ่งช่วยในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้แก่ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย ให้มาสนใจในสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานในการสร้างทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด

            2. เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย ที่จะใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการสืบคั้นข้อมูล อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงาน

            3. เพื่อเพิ่มคุณภาพของการศึกษาให้เกิดแก่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย เนื่องจากทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิดนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมนวัตกรรมการสร้างความร่วมมือในการเรียนรู้อีกทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะถูกนำมาใช้ร่วมกัน และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรม

            4.  เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลที่สนใจให้สามารถข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นการเรียนรู้แบบเปิด

สรุป

           จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนแบบเปิด เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนมีบทบาทและมีความสำคัญทางการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถกำหนดทิศทางทางการเรียนของตนเองได้ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละคน ภายใต้การเลือกและการแสวงหาข้อมูลความรู้ที่มากมายหลากหลายในบริบทรอบด้าน ซึ่งรูปแบบการเรียนระบบเปิดดังกล่าวจึงเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่มีวิถีดำเนินการภายใต้แหล่งเรียนรู้ระบบเปิดหรือ Open Educational Resources : OER นั่นเอง ในอนาคต Open Educational Resources : OER ที่พัฒนาขึ้นจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญ เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่เน้นให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถคงอยู่และเป็นลูกค้าของระบบ OER ไปอย่างยั่งยืน นอกจากนี้หากมีการวางกลยุทธ์ที่ดีแล้วจะช่วยเสริมประโยชน์ต่อหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาในต้านต่าง ๆ เช่น ช่วยให้ปริมาณผู้เข้าใช้งานหรือผู้สนใจที่จะเข้าศึกษาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีการจัดการและวางแผนการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเอง ระบบ OER ที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มคุณค่าให้เกิดแก่แหล่งทรัพยากรการศึกษาที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียน และช่วยส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

อ้างอิง : https://www.thailibrary.in.th

: https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/oer-meaning/

Visits: 165

Comments

comments

Back To Top