การผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ จะทำให้ผู้ศึกษาได้เห็นภาพรวมของการออกแบบกราฟิกเพื่อการนำเสนอ ความหมาย องค์ประกอบและประโยชน์ของอินโฟกราฟิก ประเภทของอินโฟกราฟิก กระบวนการออกแบบอินโฟกราฟิก การสร้างอินโฟกราฟิกอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อควรระวังในการออกแบบอินโฟกราฟิก โปรแกรมสำหรับการสร้างสื่อนำเสนออินโฟกราฟิก

หลายคนคงได้ยินคำว่าอินโฟกราฟิก Infographic กันบ่อยมากในช่วงนี้ทั้งในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์และสื่อสาธารณะทั่วไป Infographic มาจากคำ 2 คำ ผสมเข้าด้วยกัน คือ คำว่า Information และ Graphic ซึ่งหมายถึง การนำเสนอสารสนเทศที่มีการใช้ภาพกราฟิกมาแทนที่ข้อมูลตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นการย่นย่อข้อมูล ตัวอักษรหรือตัวเลขจำนวนมากมาใช้ภาพกราฟิกในการสรุปเนื้อหาให้สั้นกระซับและเข้าใจง่ายเพียงกวาดตามองซึ่งเหมาะสำหรับคนในยุค IT ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลที่ซับซ้อนและมีจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วก่อนที่พวกเขาจะเบื่อหน่ายเสียก่อน ดังนั้นอินโฟกราฟิกจึงเปรียบเหมือนเป็นผู้ช่วยเข้ามาจัดการกับข้อมูล-ตัวเลข-ตัวอักษรที่เรียงรายเป็นจำนวนมากเหมือนยาขมให้กลายร่างมาเป็นภาพที่สวยงามการสร้างผลงานด้านอินโฟกราฟิกจึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้กราฟิกดีไซเนอร์ได้แสดงทักษะการสื่อสารอย่างเต็มที่เพราะอันที่จริงแล้วการแปลงข้อมูลให้ออกมาเป็นภาพกราฟิกก็เป็นสิ่งที่คนทำกันมาตลอดไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด กราฟิก กราฟรูปทรงต่าง ๆ ตาราง แผนที่ แผนผัง หรือไดอะแกรม แต่ทักษะทางด้านอินโฟกราฟิกนั้น จำเป็นต้องจัดระเบียบข้อมูล ที่ทั้งมากและหลากหลาย ให้จบได้ในภาพเดียว

ประโยชน์ของภาพอินโฟกราฟิก

                ภาพอินโฟกราฟิกที่ดีย่อมสามารถถ่ายทอดเนื้อหาความรู้หรือข่าวสารต่างๆให้ผู้ดูภาพรับรู้ข้อมูลที่ผู้ถ่ายทอดต้องการจะสื่อสารไปยังผู้ดูภาพจากการมองภาพเพียงภาพเดียวซึ่งหลักการนี้สามารถที่จะนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น การนำเสนอเนื้อหาที่ยากต่อความเข้าใจให้เป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย การถ่ายทอดเนื้อหาที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม การโฆษณาสินค้า บริการต่างๆ รวมไปถึงการอธิบายผลการสำรวจโพล์และผลงานวิจัย เป็นต้นโดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่มีเนื้อหาประเภทที่ต้องการการอธิบายที่มีลักษณะเป็นนามธรรมผู้เรียนเข้าใจได้ยากและต้องการการอธิบายขั้นตอนอย่างกระชับรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางเจตคติเพื่อรณรงค์ให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม ตัวอย่างของอินโฟกราฟิกที่น่าสนใจอย่างเช่นภาพอินโฟกราฟิก การให้บริการเครือข่ายไร้สาย Jumbo Plus ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวอย่างอินโฟกราฟิกเรื่อง รู้สู้ Flood ที่ให้ความรู้ในเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะน้ำท่วมอย่างมีสติและเข้าใจมีเนื้อหาและวิธีการอธิบายที่เข้าถึงชาวบ้านประชาชนอย่างรวดเร็วโดนใจกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนในยุคดิจิตอลและให้ความสำคัญเรื่องน้ำท่วมว่าเป็นอย่างไรและตัวอย่างอินโฟกราฟิกที่ได้รับความนิยม Did you Know? ที่ให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนโดยเฉพาะในเรื่องการสถิติต่างๆ

ประเภทของอินโฟกราฟิก

                เราจึงแบ่งประเภทของอินโฟกราฟิกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. อินโฟกราฟิกที่แบ่งตามความสลับซับซ้อน

2. การแบ่งตามการออกแบบเลย์เอาท์ Layout

3. การแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

                โดยแต่ละประเภทมีรายละเอียดอย่างไรกันบ้าง ตามมาอ่านกันได้เลยครับ

ประเภทที่ 1 อินโฟกราฟิกที่แบ่งตามความสลับซับซ้อน

                โดย Randy Krum กล่าวไว้ในหนังสือ Cool Infographics Effective Communication with Data Visualization and Design ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 ลักษณะดังนี้ครับ

1. ภาพนิ่ง เป็นแบบที่เรียบง่ายและพบเห็นได้ทั่วไปมากที่สุดนิยมเผยแพร่ออนไลน์โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือ พิมพ์ลงกระดาษมักอยู่ในรูปของไฟล์ JPG PNG GIF และ PDF เป็นต้น

2. ซูมมิ่ง เป็นแบบที่เพิ่มส่วนต่อประสานเข้าไปอีกชั้นเพื่อให้เกิดการโต้ตอบกับอินโฟกราฟิก คุณสมบัติหลักของงานประเภทนี้ คือ การอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูเพื่ออ่านรายละเอียดของข้อมูลเนื้อหาได้มักพบในการออกแบบดิจิตัลแบนเนอร์ หรือโปสเตอร์ใหญ่ๆ ข้อได้เปรียบของอินโฟกราฟิกประเภทนี้ คือความสามารถในการนำเสนอภาพรวมของแนวคิดทั้งหมดโดยไม่ต้องการเลื่อนไปดูที่อื่นในขณะเดียวกันสามารถเข้าใจรายละเอียดและความสัมพันธ์ระหว่างรายละเอียดกับภาพรวมได้

3. ภาพอินโฟกราฟิกแบบคลิกได้ หรือ Clickable เป็นแบบที่เพิ่มส่วนต่อประสานเข้าไปอีกชั้นเพื่อให้เกิดการโต้ตอบกับอินโฟกราฟิกคุณสมบัติหลักของงานประเภทนี้คือการอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถคลิกลิงค์ของ HTML ได้ซึ่งนักออกแบบใช้การออกแบบในลักษณะนี้เพื่อลดข้อมูลที่อยู่บนภาพให้ภาพคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายและการเข้าถึงได้ง่ายโดยการให้ผู้อ่านที่ต้องการได้ข้อมูลเพิ่มเติมคลิกลิงค์ไปศึกษาเพิ่มเติมแทนซึ่งการคลิกลิงค์อาจคลิกลงบนภาพหรืออาจใช้วิธีการ mouse-over ใช้ pop-up อินโฟกราฟิกได้

4. แอนิเมชั่น คือ อินโฟกราฟิกที่สามารถเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงได้ขณะที่ผู้อ่านเรียกดูอินโฟกราฟิก อินโฟกราฟิกลักษณะนี้มีความหลากหลายตั้งแต่บาร์ชาร์ตที่ขยับขึ้นลงได้สีที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลหรือตัวละครที่เล่าเรื่องราว เป็นต้น ซึ่งอินโฟกราฟิกแบบแอนิเมชั่นจะแตกต่างจากแบบวีดิโอเพราะรูปแบบของไฟล์อินโฟกราฟิกจะไม่ใช่ไฟล์ประเภทวีดิโอแต่เป็น html โค้ด หรือ ประเภทไฟล์แอนิเมชั่น



5. อินโฟกราฟิกแบบ วิดีโอ เป็นประเภทอินโฟกราฟิกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจากความนิยมอย่างมากของสื่อวิดีโอในปัจจุบันบนยูทูป และทัมเบลอร์ เป็นต้น เพราะนอกจากอินโฟกราฟิกนี้จะดึงดูดความสนใจได้แล้วยังมีผลงานวิจัยสนับสนุนว่าอินโฟกราฟิกที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีและเป็นวิดีโอคุณภาพสูงจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในเชิงบวก

6.อินโฟกราฟิกแบบมี ปฏิสัมพันธ์หรือ Interactive Infographic เป็นอินโฟกราฟิกที่แบ่งตามความสลับซับซ้อนประเภทสุดท้ายซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถควบคุมอินโฟกราฟิกได้ซึ่งได้รับความนิยมมากเช่นกันเพราะทำให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับอินโฟกราฟิกได้ ตัวอย่างเช่น อินโฟกราฟิกบนเว็บไซต์ของ The New York Times ซึ่งแสดงอินโฟกราฟิกรูปแผนที่ในสหรัฐอเมริกา

ประเภทที่ 2 การแบ่งตามการออกแบบเลย์เอาท์

ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 9 ลักษณะ ดังนี้

1. Visualized Article ซึ่งเป็นอินโฟกราฟิกสำหรับการนำเสนอบทความงานเขียนนำมาเล่าผ่าน Infographicดังนั้นการนำเสนอ Infographic แบบนี้ต้องใช้การนำเสนอที่เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละชนิด เช่น ถ้ามีตัวเลขก็ควรนำเสนอแบบกราฟต่างๆ หรือ ตัวหนังสือก็สามารถสื่อสารด้วยภาพประกอบ

 2. Listed การบอกเล่าเรื่องราวจากหัวข้อหลักแล้วค่อยแตกออกมาเป็นหัวข้อย่อย Infographic ในรูปแบบนี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ค่อยเยอะและไม่เครียดจนเกินไป

3.  Comparison อินโฟกราฟิก รูปแบบนี้เป็นการนำเสนอรูปภาพสองภาพคู่กันให้เห็นความแต่งต่างกันอย่างชัดเจน เป็นการนำเสนอรูปภาพสองภาพคู่กันให้เห็นความแต่งต่างกันอย่างชัดเจนโดยมีเทคนิคในการใช้จัดวางที่เหมือนกันทั้งสองฝั่งทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนโดยการใช้สีคู่ตรงข้ามเป็นการแบ่งฝั่งทำให้ดูง่ายขึ้น

4. Structure Infographic รูปแบบนี้เป็นการพยายามอธิบายการสร้างภาพและมีคำอธิบายประกอบเพื่อให้เห็นส่วนประกอบภายในของวัตถุที่ต้องการจะเสนอ

5. Timeline เหมาะสำหรับใช้เล่าความเป็นมาโดยใช้เส้นแทนระยะเวลาเพื่ออธิบายหรือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถใช้ได้กับประวัติของบุคคล ประวัติขององค์กร หรือประวัติของสถานที่

6. Flow Chart เป็น Infographic ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่เป็นลำดับขั้นตอนเหมาะกับการนำเสนอแบบมีการตั้งคำถามกับผู้อ่านเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบคำตอบที่ต้องการโดยการอ่านไล่ลงไปตามเส้นจากด้านบนลงไปถึงด้านล่างสุด

7. Road Map อินโฟกราฟิกแบบ Road Mapเป็นการอธิบายทีละขั้นตอนเหมาะสำหรับการอธิบายขั้นตอนการทำงานหรือการเดินทาง เช่น ขั้นตอนการทำงานขององค์กร ขั้นตอนการรับพนักงานเข้าทำงาน



8. Useful Bait Useful Bait เป็น Infographic ที่ใช้อธิบายขั้นตอนวิธีการทำงานหรือการเปรียบเทียบข้อมูลเชิงลึกที่มีความจำเป็นต้องอาศัยความละเอียดสูงจึงจำเป็นต้องทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

9. Number Porn Infographic เป็นการถ่ายทอดข้อมูลเชิงสถิติโดยการใช้ตัวเลขเป็นจุดเด่นในการนำเสนอข้อมูลพร้อมกับภาพกราฟิกที่น่าสนใจ เช่น กราฟชนิดต่างๆ เป็นต้น

ประเภทที่ 3 อินโฟกราฟิกแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

                อินโฟกราฟิกประเภทนี้มีหลายแบบด้วยกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ อาทิเช่น จำพวกเรื่องราวเกี่ยวกับข่าวเด่น’ประเด็นร้อนและสถานการณ์วิกฤตเป็น Infographics ที่ได้รับการแชร์มากๆมักจะเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ แบบต่อมาคือ อินโฟกราฟิกแบบสอนฮาวทูเรื่องต่าง ๆ เป็นการบอกเล่ากลยุทธ์ต่างๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น เล่าถึงกลยุทธ์การออมเงินที่ใคร ๆ ก็มักมองข้าม แบบต่อมาคือ อินโฟกราฟิกแบบบอกเล่าตำนานหรือวิวัฒนาการ เรื่องราวบางอย่างอาจต้องถ่ายทอดผ่านตำราหนาๆแต่ด้วย Infographics จะช่วยทำให้ตำนานเหล่านั้นบรรจุอยู่ในพื้นที่ๆจำกัดได้อย่างน่าทึ่ง อินโฟกราฟิกแบบ อธิบายผลสำรวจ และ งานวิจัย Infographics ประเภทนี้เหมาะที่จะถ่ายทอดงานวิจัยที่ดูยุ่งเหยิงและเต็มไปด้วยตัวเลขอีกทั้งข้อมูลจำนวนมหาศาลออกมาเป็นแผนภาพที่สวยงาม เหล่านี้เป็นต้น และนี่คือตัวอย่างของอินโฟกราฟิกประเภทนี้

                การสร้างอินโฟกราฟิกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรศึกษาเพราะสามารถที่จะทำให้เราย่อยข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและอาจไม่น่าสนใจมาสร้างเป็นสื่อเป็นภาพซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของเราที่ได้นำเสนอมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้ในที่สุด

ที่มา https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:CMU+CMU012+2017/course/

เนื้อหาจากรายวิชาของCMU: CMU012

การผลิตสื่อกราฟิกอย่างมืออาชีพ | Graphic Design Crash Course

เจ้าของผลงาน นายสุวัฒน์ เกิดมณี

Visits: 549

Comments

comments