การทำสารคดีในแบบสื่อสาธารณะ

จากการไปเรียน Thai MOOC เรื่องการทำสารคดีในแบบสื่อสาธารณะ ทำให้ทราบถึง ความหมายของสารคดี ประเภทของสารคดี รูปแบบสารคดีการผลิตสารคดีในแบบสื่อสาธารณะ หลักเกณฑ์และข้อเสนอแนะในการเขียนบทสารคดี คุณสมบัติของคนเขียนบทสารคดีที่ดีมีอะไรบ้าง หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรในการดำเนินการผลิตสารคดี และการใช้มุมกล้องลักษณะต่าง ๆ

สารคดี หมายถึง การนำเสนอชุดข้อมูลที่เป็นความจริง เป็นความจริงที่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วในอดีตต่าง ๆ ก็ได้

สารคดีที่มีชุดข้อมูลที่สร้างสรรค์ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน อย่างแรก คือ การหาข้อมูล ที่ต้องค้นคว้า ศึกษาวิจัยข้อมูลเพื่อมาทำเป็นเนื้อหาในการทำสารคดี รวมถึงการศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษากลไกต่าง ๆ กระบวนการต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นเนื้อหาของสารคดี  อย่างที่ 2 คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์  หรือ Creativity ในการที่จะเล่าเรื่องของสารคดี ที่เรียกว่าวิธีการ Story telling เนื้อหาสารคดีข้อมูลดี ๆ ของสารคดี แต่ถ้าไม่ได้ประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของการเล่าเรื่องที่ดี การทำ Story telling ที่ดี สารคดีชุดนั้นก็ไม่ได้รับความน่าสนใจ ส่วนที่ 3 คือ งานผลิต หรืองาน Production หมายถึง เรื่องของการออกแบบวิธีเล่าเรื่อง ออกแบบการนำเสนอ การถ่ายทำ การตัดต่อ การทำ Post Production ต่าง ๆ และรวมถึงเรื่องการจัดหาอุปกรณ์

ในการที่จะผลิตสารคดีแต่ละชิ้น ก่อนผลิตรายการผู้ผลิตสารคดีควรจะตอบคำถาม 3 ข้อ

  1. วัตถุประสงค์ของการทำสารคดี
  2. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ชมสารคดี
  3. ประโยชน์ที่คนดูจะได้รับ

ประเภทของสารคดี

  1. สารคดีความรู้ หรือที่เราเรียกว่า General Feature เป็นสารคดีเชิงข้อมูลในการบอกเล่า จากพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ สารคดีเชิงข่าวหรือที่เรียกว่า News Documentary เนื้อหาต้องเป็นความจริง
  2. สารคดีเชิงวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เป็นข้อมูลที่อาจจะเป็นการนำเสนอข้อมูลในอนาคตอาจจะเป็นการเอาหลักทางวิชาการต่าง ๆ มาประมวลผล กลายเป็นข้อมูลใหม่ ๆ ออกมา
  3. สารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษ สารคดีประเภทนี้จะจัดขึ้นตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ป็นข้อมูลที่ค่อนข้างจะรับรู้กันในสังคม
  4. สารคดีท่องเที่ยว หรือ Touring Feature เป็นสารคดีที่มุ่งพาผู้ชมไปสู่การเรียนรู้ เรื่องราวของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน
  5. สารคดีเชิงนิเวศ หรือที่เรียกว่า Eco-documentary สารคดีเชิงนิเวศเราจะเล่าเรื่องหลัก ๆ เลยก็คือธรรมชาติวิทยากับสิ่งแวดล้อม
  6. สารคดีประเภทชีวประวัติ หรือที่เรียกว่า Biography สารคดีประเภทนี้ เป็นสารคดีที่เรามุ่งผลิตเรื่องราวของบุคคล เอาความคิด วิถีชีวิต ออกมาตีแผ่

รูปแบบสารคดี ประกอบด้วย สารคดีแบบบรรยาย สารคดีแบบเล่าเรื่อง สารคดีแบบสัมภาษณ์ สารคดีแบบละคร สารคดีแบบแอนิเมชัน และสารคดีแบบผสมผสาน

  1. สารคดีแบบบรรยาย รูปแบบมีบทบรรยายเล่าเรื่อง
  2. สารคดีแบบเล่าเรื่อง เป็นสารคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสารคดีแบบบรรยาย การเล่าเรื่องก็จะเล่ากันไป แบบมีการวางเรื่อง โครงเรื่อง เรื่องราวต่าง ๆ
  3. สารคดีแบบสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์เป็นการส่งต่อข้อมูลจริง เป็นข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดจากผู้มี ประสบการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ๆ เรื่องราวนั้น ๆ
  4. สารคดีแบบละครที่เรียกกันว่า Docudrama สารคดีแบบนี้เป็นสารคดีที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ อยากติดตามเพราะเห็นภาพของเหตุการณ์สมมุติจริง ๆ ขึ้นมาถูกสร้างขึ้นมาในแบบละครเข้ามาผสมกับตัวสารคดี
  5. สารคดีแบบแอนิเมชันการ ใช้การ์ตูนมาเล่าเรื่องแทน
  6. สารคดีแบบผสมผสาน สารคดีแบบนี้มีความน่าสนใจสูงมากที่สุด คือ มีทั้งการเล่าเรื่อง มีทั้งการบรรยาย สามารถเอาบทสัมภาษณ์มาใส่ได้ด้วย มีบางช่วงเป็นละคร หรือบางช่วงเป็นแอนิเมชันมาประกอบ

หลักเกณฑ์และข้อเสนอแนะในการเขียนบทสารคดี มาเริ่มกันที่ 4 ไม่ของการที่ไม่ควรอยู่ในบทสารคดีโทรทัศน์ หรือ นี่คือ 4 ข้อไม่ ที่เป็นหัวใจในการทำสารคดี

ไม่ที่ 1 ต้องไม่เกี่ยวกับเวลา ไม่ต้องมีความสด นำเสนอเมื่อพร้อม หมายความว่าพร้อมเมื่อไหร่ มีข้อมูลครบ เราถึงควรจะทำบทสารคดีเรื่องนั้น

ไม่ที่ 2 ไม่เกี่ยวกับข่าวการรายงานข่าว ไม่ต้องอาศัยความสด

ไม่ที่ 3 คือไม่เกิดจากการนั่งเทียน จินตนาการไม่ได้ สารคดีทุกอันจะต้องมีข้อมูลจริง

และไม่ที่ 4 คือ ไม่เยิ่นเย้อ สารคดีโทรทัศน์มีภาพเป็นหัวใจที่ทำให้คนอยากดู เขาเลือกดูสารคดีโทรทัศน์ เพราะเขาไม่อยากอ่าน ไม่พรรณนา ไม่เยิ่นเย้อ

บทบาทของสารคดีที่โทรทัศน์ทำหน้าที่มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อเหมือนกัน

ประการแรก ต้องบอกเรื่องราว ต้องชัดเจนว่าเรื่องราวที่เรานำเสนอนั้นคืออะไร ประการที่ 2 บทบาทที่เป็นก็คือ จะต้องเสนอข้อมูล คนอยากมาดูสารคดีเพราะคนอยากรู้ข้อมูลจริง ๆ ประการที่ 3 ดูแล้วได้ความรู้ และ และประการที่ 4 ดูแล้วต้องบันเทิง

การเขียนบทสารคดีให้ดีจะต้องวางแผน 3 ประการด้วยกัน

  1. วางแผนการเลือกเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจได้ตลอดเวลา
  2. ชื่อเรื่องมีความสำคัญมาก ชื่อเรื่องสำคัญเป็นหัวใจของสารคดี ต้องบอกไม่ไปไกลเกินเนื้อหา
  3. เลือกรูปแบบนำเสนอ เป็นบทบรรยาย หรือพิธีกรผสมผสานวางแผนให้ชัดเจน

คนเขียนบทสารคดีที่ดี มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ข้อแรกต้องเป็นนักเรียงความที่ดี อันนี้มีความจำเป็น ถ้าไม่ชอบเขียนมันจะเขียนดีได้อย่างไร ถ้าเรามีประสบการณ์แล้วรู้ว่า ฉันเป็นนักเรียงความได้ พรสวรรค์มีไม่เยอะแต่ถ้าเรามีความอยาก มีความชอบในสิ่งที่ทำก็จะหาพรแสวงเติมมันเต็มแล้วเขียนดีขึ้นทุกวันได้  ไม่ติดรูปแบบเดิม สไตล์ใครสไตล์มัน

หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรในการดำเนินการผลิตสารคดี

  Producer หรือผู้ควบคุมการผลิตรายการ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมาก มากที่สุดในการทำสารคดีเพราะว่าเป็นคนที่เริ่มตั้งแต่คิดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร นำเสนอประเด็นอะไร เพื่อใคร การจัดหาเงินทุน จัดหาช่องทางออกอากาศ รวมทั้งการคัดเลือกบุคลากรที่จะมาร่วมงานให้เหมาะสมกับประเด็น

ผู้เขียนบทสารคดี เป็นผู้รับแนวคิดจากผู้ผลิตรายการ และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาเรียบเรียงกลั่นกรองให้เป็นตัวอักษร และลำดับเรื่องออกมาในทิศทางที่ต้องการ โดยที่ผู้เขียนบทจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจสื่อโทรทัศน์ให้ทั้งภาพและเสียงจึงจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีศิลปะ

ผู้กำกับสารคดี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ในการผลิตรายการ เพราะผู้กำกับสารคดี คือ ผู้ที่แปลเรื่องราวในหมวดที่เขียนเป็นตัวหนังสือออกมาเป็นภาพที่เร้าใจให้น่าดูน่าชมหรือจะน่าเบื่อ ผู้กำกับสารคดีจึงเปรียบเสมือนแม่ทัพในกองทัพทำหน้าที่ควบคุมและกำกับงานทุก ๆ ด้าน

ผู้กำกับภาพ ช่างภาพที่มีประสบการณ์สูงในการผลิตสารคดี สามารถสร้างสรรค์งานด้านภาพให้ผู้กำกับได้ มีทักษะที่เชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ และเทคโนโลยีอย่างสูง เพื่อตอบสนองการผลิตงานสารคดี ผู้กำกับภาพเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะว่าต้องเป็นคนที่มีทักษะในการใช้อุปกรณ์ค่อนข้างสูง

ผู้ประสานงาน เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดทั้งของรายการและสารคดี เพราะว่าจะเป็นคนที่ดูแลในเรื่องของงบประมาณทั้งหมด เป็นคนที่ควบคุมในเรื่องของค่าใช้จ่าย และเป็นคนที่ดูแลสวัสดิการให้กับทีมงาน ทุกตำแหน่ง รวมถึงการนัดหมาย เป็นคนที่เชื่อมต่อทุก ๆ ตำแหน่งหน้าที่ของทีมงานผลิตสารคดีให้มาอยู่รวมกันให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันตรงตามแผนงานที่วางไว้

ผู้ดำเนินรายการ เป็นเสมือนผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของสารคดีให้กับผู้ชมฟัง หรือสารคดีบางเรื่อง ผู้ดำเนินรายการจะเป็นตัวแทนของผู้ชมในการพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวต่าง ๆ ในเนื้อหาสารคดี

ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นคนที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน เฉพาะเรื่องที่เราจะนำเสนอ และเป็นคนที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลที่นำเสนอในสารคดี เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

การใช้มุมกล้องลักษณะต่าง ๆ มีดังนี้

  1.  Big Close Up หรือ BCU คือ ภาพที่ใหญ่มาก ถ่ายเฉพาะหน้าคนหน้าเต็ม ๆ เพื่อที่จะแสดงอารมณ์ สื่ออารมณ์ต่าง ๆ ของหน้าคน สามารถถ่ายคน สัตว์ สิ่งของ ได้ทุกอย่างไม่มีข้อจำกัด
  2. Close-up หรือ CU คือ ภาพตั้งแต่ศีรษะจนถึงบ่า ลักษณะภาพ คือ 2 ส่วน 3 ของจอภาพ Big Close-up  คือ ภาพที่ผ่อนคลายมาจากหน้าให้เห็นถึงไหล่ การถ่ายสารคดีด้วยการใช้ Close-up มีอยู่ทั่วไป
  3. Medium Close-up หรือ MC คือ ภาพตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงหน้าอก เพื่อแสดงลักษณะของร่างกาย ของสิ่งของ ภาพ Medium Close-up ใช้ได้กับงานสารคดีทุกประเภท โดยเฉพาะกับสารคดีที่มีพิธีกร มีบุคคล
  4. ภาพ Mid-shot หรือ MS คือ ภาพตั้งแต่ศีรษะถึงเอว ภาพลักษณะนี้อาจจะเห็นแบ็คกราวด์ ด้านหลังได้ด้วย ทำให้การดูภาพสบายขึ้น
  5. Medium Long Shot หรือ MLS คือ ภาพตั้งแต่ศีรษะถึงหัวเข่า ภาพแบบนี้จะส่งให้เรารู้สึกว่า เห็นการกระทำทั้งหมดของวัตถุที่เราถ่าย เช่น คน หรือสัตว์ที่กำลังเดิน หรือทำกิจกรรมอะไรกันอยู่ ส่วนมากจะใช้ในภาพยนตร์มากที่สุด
  6. Long Shot หรือ LS คือ ภาพเต็มตัวที่มีเนื้อที่เหลือทั้งศีรษะและปลายเท้า การถ่ายภาพแบบนี้ คือ การถ่ายภาพคนเดิน ซึ่งเห็นตัวคนทั้งตัว เหลือเฟรมข้างบน และข้างล่างไว้ ให้รู้ว่าคนจะเดินจากไหนไปไหน หรือสัตว์วิ่ง ยกตัวอย่าง รถชนประสานงากัน สามารถใช้ Long Shot เพื่อที่จะเห็นลักษณะว่า รถวิ่งตรงเข้าหากัน และปะทะกันอย่างแรง
  7. Establishing shot คือ ภาพแสดงทัศนียภาพรอบ ๆ ระหว่างตัวคนกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ซึ่งให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
  8. แพน หมายถึง การเคลื่อนกล้องไปแนวระดับหนึ่ง จากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย การแพนมีสองแบบ คือ Following Pan และ Surveying Pan และ Following Pan การเคลื่อนกล้องตาม
  9. การทิลท์ คือ การเคลื่อนกล้อง จากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบน มี 2 อย่าง คือ Tilt Up และ Tilt Down
  10. ดอลลี่ คือ การเคลื่อนกล้องเข้าไปหาวัตถุ หรือการเคลื่อนกล้องออกจากวัตถุ มี Dolly In และ Dolly Out การดอลลี่ช่วยให้อารมณ์ของภาพไม่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ดูภาพนิ่ง ๆ เหมือนการแพน
  11. การซูม คือ การเคลื่อนที่ของเลนส์เข้าไปหาวัตถุนั้น ๆ การซูมมี 2 แบบ คือ Zoom In และ Zoom Out

ที่มาภาพ : https://www.freepik.com

Thai Mooc วิชา การทำสารคดีในแบบสื่อสาธารณะ

Visits: 1579

Comments

comments

Back To Top