ถ้าจะกล่าวถึงความเชื่อ หลายท่านก็คงจะนึกถึงความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, โหราศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของข้าพเจ้านั้นมีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม และมีความศรัทธาในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยตลอดระยะเวลา 23 ปี ที่ได้เข้ามาทำงานในดินแดน 9,000 ไร่แห่งนี้ที่มีนามว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” นั้นมีเรื่องราวมากมายให้พบเจอ บางช่วงเวลาก็ต้องเจอกับปัญหาให้เกิดความท้อแท้ใจบ้างก็ต้องมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้มีเพิ่มมากขึ้น

กล่าวคือ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั้นตั้งอยู่บริเวณตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตำนานกล่าวขานกันมานานถึงความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มานานว่า “พื้นที่แห่งนี้เคยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชื่อเรียกขานนามว่า “โบราณสถานตุมปัง” ซึ่งตำนานของที่นี่ ได้กล่าวไว้ในบางส่วนของหนังสือ “โบราณสถานตุมปัง  โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” เขียนโดย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หน้า 69-70 ดังข้อความที่กล่าวว่า

“ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดที่คนในภาคใต้ได้ยึดถือสืบทอดต่อ ๆ กันมามีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดอย่างแพร่หลาย เช่น ทวดกลาย ทวดเกียบ ทวดทอง และอีกหนึ่งในความเชื่อเรื่องทวดเหล่านั้นมี “ทวดตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาโบราณสถานตุมปังมาจนถึงปัจจุบันรวมอยู่ด้วย

ทวดตุมปังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในแถบอำเภอท่าศาลาเชื่อว่าเป็นงูบองหลา หรืองูจงอางเผือก (สีขาว) ที่คอยปกปักรักษาไม่ให้ใครเข้าไปทำลายแหล่งโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดร้างตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า  ผู้ที่เข้าไปขโมยสิ่งของในวัดร้างดังกล่าวไม่สามารถหาทางออกจากป่าได้ เดินหลงอยู่เป็นวัน จนเมื่อนำสิ่งของที่ขโมยกลับไปคืนไว้ที่เดิม และตั้งจิตอธิษฐานขอขมาทวดตุมปัง จึงสามารถหาทางออกจากป่าได้

ตัวอย่างของบุคคลที่เคยประสบเหตุการณ์ท่านหนึ่ง “นายสุวัฒน์ สังคภิรมณ์” (สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2533) ได้เล่าว่า เมื่อตอนหนุ่มๆ ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตพื้นที่โบราณสถานตุมปังกับเพื่อนสองคน ในขณะที่เดินป่าอยู่ได้ยินเสียงสุนัขเห่า พร้อมกับเสียงเหมือนกิ่งไม้หักผสมกับเสียงเหยียบใบไม้แห้งดังอยู่อีกฟากใกล้ ๆ ตนจึงตัดสินใจยืนบนตอไม้เพื่อสังเกตว่าต้นเสียงดังกล่าวคืออะไร เมื่อชะเง้อคอดูก็ต้องตกใจเพราะเห็นงูตัวใหญ่ที่มีลำตัวเท่าต้นหมากได้ชูคอจะทำร้ายสุนัขที่เห่าอยู่ ตนและเพื่อนจึงวิ่งหนีกันสุดชีวิต และก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปล่าสัตว์ในเขตพื้นที่ป่าดังกล่าวอีกเลย เพราะคิดว่างูดังกล่าวเป็นงูทวดเพราะตนเห็นลักษณะที่มุมปากของงูมีสีขาว ๆ ดวงตาโตเท่าผลมะเขือ ตนจึงคิดว่าทวดได้ออกมาเตือนไม่ให้มาล่าสัตว์ในเขตโบราณสถานตุมปัง และอีกหลาย ๆ คนที่เข้าไปเพื่อประสงค์ล่าสัตว์หรือนำพาสิ่งของออกจากวัดร้างตุมปังดังกล่าวมักจะพบเจอกับเหตุการณ์ประหลาด บ้างก็เดินหลงทางหาทางออกไม่เจอต้องวางสิ่งของที่หยิบมาไปวางคืนที่เดิมพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอขมาแก่ทวดตุมปังให้เมตตา จึงสามารถหาทางออกจากป่ากลับบ้านได้” 

นอกจากนี้ยังได้รับคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่โบราณ กล่าวว่า “ตุมปัง” เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ มีป่ารกทึบ โดยบริเวณที่ตั้งเป็นที่ลุ่มน้ำ มีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบสถานที่ตั้งวัด สถานที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้างมายาวนาน      มีเรื่องเล่าของผู้พบเห็น ทวดเกียบ ที่เป็นงูจงอางเผือกหงอนสีแดงสดตัวยาว จะล่องมาตามลำคลอง (คลองเกียบ)  เมื่อวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ยามเกือบจะเที่ยงคืน  เพื่อมาหา ทวดตุมปัง  ที่เป็นเสือ บำเพ็ญศีลอยู่ที่วัดตุมปัง เล่ากันว่า ท่านสามารถแปลงร่างเป็นงูเหลือมขนาดใหญ่ เมื่อทวดเกียบมาหา มีสระน้ำใส ๆ ไว้เล่นน้ำเมื่อมาเจอกัน  “ตามตำนานความเชื่อของคนโบราณ ที่ร่ำเรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ “  บางคนที่เชื่อและศรัทธา จะบนบานศาลกล่าว ขอไห้ ทวดเกียบ ทวดทุมปังช่วย เมื่อท่านได้ตามปรารถนา คนโบราณ จะแก้บนด้วย ข้าวต้มน้ำกะทิ  2 ถ้วย เรียกว่า 1 หาบ  (อ้างตามคำกล่าวของคุณปู่คง เมฆหมอก ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหัวตะพาน)

จากข้อความบางส่วนที่มีงูทวดมาปรากฎตนให้เห็นในหนังสือโบราณสถานตุมปังที่กล่าวข้างต้นนั้น ทำให้ข้าพเจ้านั้นได้หวนคิดไปถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้เคยพบเจอด้วยตนเองเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว และทำให้ค่อนข้างแน่ใจว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริง กล่าวคือ เหตุการณ์ของคืนหนึ่งเวลาประมาณ 21.00 น. หลังจากที่ตนเองขับรถมอเตอร์ไซค์กลับจากปฏิบัติงานห้องสมุดนอกเวลาทำการ ระหว่างทางบริเวณเลยสระรูปดาวทางเชื่อมจะไปอาคารวิชาการ ขณะกำลังขับรถเพลิน ๆ ก็ได้ปรากฎภาพตรงหน้าเป็นพญางูแผ่แม่เบี้ยสูงใหญ่อยู่เบื้องหน้า ระยะห่างจากตนเองประมาณแค่ 2 เมตร  ในขณะนั้นข้าพเจ้าก็คิดว่าคงจะไม่มีโอกาสมีชีวิตรอดแล้วเป็นแน่ แต่กลับกลายเป็นว่าท่านพญางูได้เลื้อยเบี่ยงหลบไปทางด้านซ้ายมือของข้าพเจ้า ในขณะที่ข้าพเจ้าก็ยังคงช็อคกับภาพเบื้องหน้านั้นอยู่ เหมือนแทบจะหยุดหายใจ จะขับรถต่อไปไม่ไหวด้วยความกลัวสุดขีด แต่ในที่สุดก็พยายามประคองขับรถไปจนถึงหอพัก ด้วยในใจที่คิดตลอดทางว่าเกิดอะไรกับตนเองกันแน่?? มันคือภาพลวงตาหรือความจริง???  ด้วยคำตอบสองทางเลือกนั้นก็ได้คิดว่าถ้าเป็นภาพลวงตา ตนเองคงจะไม่ตกใจขนาดนั้น  ซึ่งจากเรื่องเล่าดังกล่าวของข้าพเจ้าหลายท่านคงอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก และไม่อาจเป็นความจริงได้เลย ซึ่งส่วนตัวของข้าพเจ้าก็มองว่าเรื่องราวทุกอย่างถ้าเราไม่ประสบพบเจอกับตนเองก็ยากที่จะเชื่อถือได้เช่นกันโดยเฉพาะเรื่องราวเร้นลับเช่นนี้

โบราณสถานตุมปัง มีการสร้างศาลาทวดตุมปังซึ่งมี “ทวดตุมปัง” ที่มีรูปปั้นเสือเป็นสัญลักษณ์ และ “ทวดเกียบ” ที่มีสัญลักษณ์เป็นพญางูขาว มีหงอนสีแดง ซึ่งจริง ๆ ก็คือพญานาค ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ได้กล่าวไว้ว่า บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยก็จะมีคลองเกียบอยู่ด้วย เสมือนว่าเป็นการจับคู่ความสัมพันธ์ว่า “พญานาคกับน้ำ”   และสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีความเชื่อที่ตรงกันคือ ต้องเคารพในสัญลักษณ์ปีเกิดของตนเอง คือพญานาคด้วย

สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือเสมอมา และมีเรื่องต้องรบกวนทวดตุมปังให้ท่านช่วยเหลือเสมอมา และก็มักจะได้รับการตอบรับที่ดีจากท่านเสมอ  สิ่งที่ข้าพเจ้ามักจะนำไปถวายท่านคือ        “ข้าวเปียก” เป็นอาหารที่มีผู้รู้ท่านหนึ่งแนะนำมาอีกเช่นกัน  ทุกครั้งที่ไปเคารพท่านก็จะเคารพด้วยใจจริง ๆ และคิดว่าท่านรับรู้ได้ว่าเราเคารพท่านจริง ๆ (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่)  ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยอาศรมวัฒนธรรมจะจัดให้มีการทำบุญทวดตุมปัง ประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ข้าพเจ้าก็จะไปร่วมงานทำบุญในทุกครั้ง

แต่ทั้งนี้ในชีวิตของคนเราใช่ว่า จะหลงอยู่แต่กับเรื่องเร้นลับ ความเชื่อ เสียจนไม่อันทำอะไร ถ้าเช่นนั้นแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่อาจจะช่วยเราได้ เราต้องผนวกทั้งเรื่องราววิทยาศาสตร์และความเชื่อเข้าด้วยกันมองเห็นถึงเหตุและผล เราต้องช่วยตนเอง รักตนเอง ทำความดี ตั้งใจ พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดก่อน ถ้าถึงที่สุดแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องยอมรับความจริง และ เข้าใจเหตุและผลของมัน  เพื่อว่าเราจะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขที่สุด และท้ายที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอฝาก ข้อคิดดีดีเมื่อท่านเกิดความท้อแท้ใจ ของในหลวง ร.๙ ในเรื่อง “ต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา” ไว้ดังนี้คือ “การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ” พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ๒๗ มีนาคม 2523

เจ้าของผลงาน นางสาวจริยา รัตนพันธุ์ และ นางสาวสุจิตรา เมฆหมอก

Visits: 436

Comments

comments