ไม่ว่าจะบ้านเล็กบ้านน้อย บ้านใหญ่ เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไปมักจะพบปัญหาต่าง ๆ จากอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือวัสดุ ไม่ว่าจะมาจากการสึกหรอตามกาลเวลา หรือครบอายุการใช้งาน หรือเหตุปัจจัยอื่น เช่น สัตว์กัดแทะ การใช้งานผิดวิธี หรือขาดการดูแลอย่างเช่น ท่อน้ำรั่ว ซิงค์อุดตัน หลอดไฟเสีย ฯลฯ ครันจะเรียกช่างบางทีก็ต้องรอ หรือมาก็มีค่าใช้จ่าย ค่าของค่าแรง เจอช่างดี ๆ ชีวีก็มีสุขจบทุกปัญหาด้วยคำว่าซ่อมได้ บริการทุกระดับประทับใจ แต่หากเจอช่างชุ่ย ๆ เลี้ยงไข้ ทำแบบขอไปทีซึ่งเจ้าบ้านเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ  จึงอาจตกเป็นเหยื่อ จากที่ซ่อมเล็กน้อยอาจลุกลามไปเป็นงานใหญ่ เรียกว่าบริการทุกระดับประทับด้วยรอยเท้า จึงทำให้ทุกวันนี้พ่อบ้านแม่บ้านหลายท่านได้ผันตัวเองมาเป็นช่างจำเป็น หรือที่นิยมเรียกกันว่าช่างประจำบ้าน ซึ่งปัจจุบันงานซ่อมเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก และมีแหล่งความรู้สื่อเปิดที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Youtube แบบทำตามได้เลย แต่อย่างไรก็ดีได้มีคำกล่าวที่ว่า จอมยุทธย่อมมีอาวุธคู่กายฉันได ช่างประจำบ้านย่อมต้องมีเครื่องมือพื้นฐานคู่กัน

ว่าแล้วก็มาดูกันว่าเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ทุกบ้านควรมีจะมีอะไรบ้าง

  1. ค้อน มีหลากหลายชนิด แต่ที่ควรมีติดบ้านไว้ คือ ค้อนหงอน ที่สามารถใช้ได้ทั้งตอก ทุบ และถอนตะปูได้ แนะนำให้เลือกค้อนที่มีความยาวพอเหมาะจับถนัดและกระชับมือ หุ้มด้วยยาง เพื่อช่วยให้ค้อนไม่หลุดมือได้
  2. ตลับเมตร เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ควรมี ไม่มีไม่ได้ ใช้วัดระยะ วัดขนาดของสิ่งของ เช่น วัดระยะการเดินสายไฟ ระยะเดินท่อน้ำ ตลับเมตรที่นิยมใช้จะอยู่ที่ความยาว 2-5 เมตร และควรมีขอเกี่ยวที่ปลายสายวัดด้วย
  3. ประแจเลื่อน อีกหนึ่งเครื่องมือช่างที่ขาดไม่ได้ ใช้สำหรับขันหรือคลายหัวน็อตที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม โดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก มีแค่ประแจเลื่อนตัวเดียวก็สามารถใช้ขันน็อตได้เกือบทุกขนาด เพราะปากประแจสามารถเลื่อนปรับขนาดได้
  4. คีม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับ ดัด บีบ ตัด ซึ่งจะสามารถใช้กับวัตถุขนาดเล็ก เช่น เส้นลวดหรือสายไฟ ที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้ คือคีมปากจระเข้ ปากคีมมีคมไว้สำหรับตัดด้านข้าง และสามารถใช้จับชิ้นงานได้อยู่ภายในตัวเดียวกัน และคีมปากจิ้งจก ใช้สำหรับจับโลหะแบนหรือสายไฟ ปากคีมมีลักษณะเรียวแหลมและมีขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้งานในที่แคบ และงานไฟฟ้า
  5. ไขควง ใช้ขันสกรูให้แน่นหรือคลายสกรูออก มีทั้งแบบแฉก แบบแบน และแบบอื่น ๆ ควรมีติดบ้านไว้หลายขนาด เพื่อรองรับได้ทุกการใช้งาน ในการเลือกซื้อ อาจเลือกไขควงแบบหลายขนาดที่ถอดเปลี่ยนหัวได้ในด้ามเดียว และไขควงอีกชนิดที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ ไขควงวัดไฟ ใช้วัดกระแสไฟฟ้า
  6. สว่านไฟฟ้า เป็นเครื่องมือช่างที่ช่วยงานเจาะ ไม่ว่าจะเจาะผนัง เจาะไม้ พลาสติก และโลหะให้เป็นรู ใช้งานง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก
  7. เลื่อย ใช้ในการตัดวัสดุต่าง ๆ ที่เราต้องการซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นท่อ PVC ท่ออลูมิเนียม ตะปู นอต สกรู หรือไม้ แต่เราต้องเลือกชนิดของเลื่อยให้เหมาะกับวัสดุที่ต้องการตัด ถ้าต้องการตัดพวกท่อ PVC ตะปู นอต ให้เลือกเลื่อยตัดเหล็ก
  8. เทปพันสายไฟ เทปพันเกลียว เป็นอีกเครื่องมือช่างที่ควรมีติดบ้านไว้ เพราะหากสายไฟเกิดชำรุดขึ้นมา ก็สามารถใช้เทปพันสายไฟมาซ่อมแซมได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พันรอยต่อของสายไฟเพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูดได้อีกด้วย วัสดุที่ใช้ทำเทปพันสายไฟนั้น เป็นพลาสติกที่ทนต่อการความร้อน ยืดหยุ่นได้ เทปพันเกลียว เป็นเครื่องมือช่างสามัญประจำบ้านที่ไม่ควรขาด เพราะเมื่อท่อน้ำ ท่อประปารั่วซึม สามารถหยิบเทปพันเกลียวมาพันได้ในทันที
  9. มีดคัตเตอร์ เป็นได้ทั้งเครื่องเขียน และเครื่องมือช่าง แนะนำให้แยกการใช้งานกัน เพื่อให้ง่ายกับการหยิบใช้งานได้ ซึ่งในแง่ของเครื่องมือช่าง คัตเตอร์ใช้สำหรับ กรีด ตัด เซาะ เช่น ปอกฉนวนสายไฟ
  10. ไฟฉาย สำคัญเมื่อไฟดับหรือต้องซ่อมแซมอุปกรณ์ในพื้นที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ แนะนำให้ใช้แบบที่เป็นหลอดไฟ LED ซึ่งจะให้แสงสว่างมาก แต่ใช้กระแสไฟฟ้าน้อย ซึ่งไฟฉายแบบหลอดไฟ LED นี้ สามารถใช้งานได้ยาวนาน
  11. ถุงมือ ช่วยป้องกันอันตราย และสิ่งสกปรกมาสัมผัสมือ เพราะงานช่างส่วนใหญ่ต้องมีการสัมผัสกับวัสดุแหลมคม อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ วิธีการเลือกซื้อถุงมือ ควรเลือกแบบที่สามารถระบายความร้อนได้
  12. บันได เป็นอุปรณ์ที่ควรมีติดบ้านเหมือนกัน เพื่อช่วยให้การปีนขึ้นไปทำงาน หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ในที่สูงได้ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ หรือติดตั้งอุปกรณ์บนผนังที่สูง ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าบันไดไม่จำเป็น สามารถใช้โต๊ะหรือเก้าอี้แทนก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะการใช้งานอุปกรณ์ไม่ถูกประเภท อาจทำให้เกิดอันตรายได้
  13. กล่องเครื่องมือ มีไว้เก็บเครื่องมือช่างสามัญประจำบ้าน เราควรเก็บรวบรวมไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้ง่ายกับการหยิบใช้งาน หากต้องการใช้งานแบบเร่งด่วน ก็หาเครื่องมือได้สะดวก โดยแนะนำให้เลือกขนาดที่สามารถเก็บเครื่องมือได้เพียงพอต่ออุปกรณ์ และสามารถเคลื่อนย้ายหรือหิ้วไปใหนมาใหนได้สะดวก

เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถที่จะซ่อมแซมหรือแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ ภายในบ้านได้ด้วยตนเอง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ได้ทำช่วงวันหยุด และท่านจะภูมิใจในตัวเองที่สามารถทำได้

ข้อมูลความรู้จากการเรียน Thaimooc

รายวิชา RMUTT RMUTT002 ทักษะงานช่างพื้นฐาน

ข้อมูลอ้างอิง

รายการช่างประจำบ้าน ทางช่องยูทูป Amarin TV

Visits: 60

Comments

comments