ประวัติการถ่ายภาพของโลกและในประเทศไทย

ประวัติการถ่ายภาพของโลก

         มนุษย์ใช้วิธีการวาดภาพลงบนวัสดุชนิดต่างๆเพื่อใช้เป็นเครื่องบันทึกความทรงจำและใช้เพื่อสื่อความหมาย ซึ่งการวาดภาพนั้นในสมัยโบราณนั้นต้องใช้ระยะเวลานานและไม่เหมือนความเป็นจริงในธรรมชาติทำให้มนุษย์เกิดความคิดที่จะหาวิธีการสร้างสรรค์ภาพโดยใช้ระยะเวลาที่น้อยที่สุดและได้ภาพที่สมบูรณ์เหมือนจริงมากที่สุด จากความพยายามของมนุษย์ดังกล่าวทำให้เกิดกระบวนการถ่ายภาพขึ้น โดยพัฒนาจากศาสตร์ 2 สาขา มาประกอบกัน คือ สาขาฟิสิกส์เกี่ยวกับแสงและกล้องถ่ายภาพ สาขาเคมี เกี่ยวกับสารไวแสงซึ่งในภายหลังได้พัฒนาเป็นฟิล์มถ่ายภาพและน้ำยา สำหรับล้างฟิล์มและน้ำยาสำหรับสร้างภาพ 400 ปี ก่อนคริสตศักราช อริสโตเติล( Aristotle ) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกได้จดบันทึกไว้ว่า ถ้าปล่อยให้ลำแสงผ่านเข้าทางรูเล็กๆในห้องที่มืดแล้วให้แสงตกกระทบกับกระดาษที่วางห่างจากรูประมาณ 15 ซ.ม จะทำให้เกิดภาพปรากฏบนกระดาษเป็นเงารางๆไม่ชัดเจนมากในลักษณะภาพหัวกลับ

ประวัติการถ่ายภาพในประเทศไทย

        การถ่ายภาพในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการนำมาเผยแพร่ของบาทหลวงแห่งโรมันคาทอลิค ชื่อ ยีน แบบตีสตา ปาลเลกัวซ์ ( Jean Baptiste Pallegoix ) แต่ไม่เป็นที่นิยมของคนไทย เพราะความเชื่อที่ผิดๆว่าถ้าใครถูกถ่ายภาพแล้วอายุจะสั้น หรือจะถูกนำไปทำร้ายด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ความเชื่อดังกล่าวนี้มีมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นผู้นำในการถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ทำให้ประชาชนนิยมการถ่ายภาพเจริญรอยตามพระองค์มากขึ้นในเวลาต่อมาประมาณปีพ.ศ.2408ได้มีชาวอังกฤษเข้ามาเปิดร้านรับถ่ายภาพขึ้นที่ย่านถนนเจริญกรุง โดยคิดราคาภาพที่ถ่าย ขนาด 4 นิ้ว ราคา 1 ตำลึงและ ภาพขนาด15 นิ้วราคา 10 ตำลึง ทำให้เกิดความนิยมการถ่ายภาพในหมู่ประชาชนมากขึ้น นอกจากการถ่ายภาพบุคคลต่างๆทั้งในและนอกสถานที่แล้วยังมีการถ่ายภาพสถานที่สำคัญๆ ภาพทิวทัศน์ที่สวยงามต่างๆ เพื่อนำมาทำเป็นภาพโปสการ์ดขายอีกด้วยต่อมาในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคสมัยที่การถ่ายภาพแพร่หลายเป็นอย่างมาก มีคนไทยหลายคนที่นิยมชมชอบการถ่ายภาพ ช่างภาพคนแรกที่มีฝีมือเป็นเยี่ยมจนได้เป็นช่างภาพหลวงคือพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตกุล) นอกจากนี้ยังมีช่างภาพคนไทยชื่อ นาย จิตร จิตรานี บ้านอยู่กุฏีจีน ฝั่งธนบุรีเปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 และบริการถ่ายภาพจนมีความชำนาญเป็นอย่างมากจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรสารทิสลักษณ์ ส่วนช่างภาพหญิงคนแรกของไทยก็คือแม่สร้อย ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆของนายจิต นั่นเอง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ฉากหลังเรียบๆมาเป็นฉากรูปวิว ป่าไม้สวนดอกไม้ท้องพระโรง ห้องรับแขกที่จัดไว้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการนำเอาไฟมาใช้ในการถ่ายภาพโดยเริ่มที่โรงเรียนเพาะช่างและได้แพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางเพราะสามารถถ่ายภาพได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ปัจจุบันการถ่ายภาพได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคนิคใหม่ๆมาใช้กันมากขึ้นอีกทั้งการถ่ายภาพยังมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมากโดยใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องช่วยในการจดจำเหตุการณ์ต่างๆ บอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวให้เกิดการรับรู้ได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น

Visits: 1998

Comments

comments

Back To Top