ในช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน การแข่งขันทางการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัย  หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลือกจำนวนของมหาวิทยาลัยที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต จึงทำให้โอกาสที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของนักเรียนมีมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่จะชักจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น อาจมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความมีชื่อเสียงตั้งแต่เดิมของมหาวิทยาลัย  คณะหรือหลักสูตรที่สนใจ หรือแม้แต่ทัศนียภาพที่สวยงามของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น นั่นเอง

ด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มองเห็นถึงประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งของการที่จะดึงดูดใจนักเรียนให้มีความสนใจเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงทัศนียภาพให้มีความงดงาม มีพื้นที่ให้เป็นจุด Check In ถ่ายรูปสวย จึงได้มีการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนเองในฐานะที่มีความชอบในสีสันสดใสอยู่เป็นพื้นฐาน และในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 30 ปี ในวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น จึงขออนุญาตนำท่านไปชมอาคารที่มีสีสันสดใส COLORFUL ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไปติดตามด้วยกันเลยค่ะ

อาคารเรียนรวม 6 – พิกัดของอาคารจะอยู่ติดกับอาคารโรงอาหาร 4

เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่และเปิดใช้เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา มีลักษณะพิเศษที่เด่นชัดของสีที่ไล่สีอ่อน-แก่ตามลำดับของชั้น อีกทั้งโทนสีครีม-ออกเหลือง ทำให้อาคารนี้ดูโดดเด่นมาก

โซนอาคารวิชาการ – พิกัดของอาคารจะอยู่ติดกับอาคารวิจัยและบริการวิชาการ

สีของอาคารจะแยกต่างสีกันแต่ละอาคาร รวมถึงการเล่นสีเข้มตรงที่มีชื่อของสำนักวิชานั้น เพื่อให้ดูมีความเด่นของแต่ละอาคารว่าอาคารนั้นคือสำนักวิชาใด ทำให้ง่ายต่อการจดจำของผู้มาเยือน

กลุ่มอาคารเรียนรวม 1 3 5 7 – พิกัดของอาคารจะอยู่ด้านหลังของอาคารไทยบุรี

สีของแต่ละอาคารจะแยกต่างสีกัน ทำให้จดจำได้ง่าย ซึ่งในอดีตตนเองมักจะมีคำถามจากผู้มาเยือนเสมอว่าอาคารเรียนรวมนั้นคืออาคารไหนค่ะ??? แต่สำหรับวันนี้ตนเองสามารถตอบคำถามได้ทันทีด้วยการจดจำสีของอาคารเรียนรวมทั้ง 4 อาคาร คือ ชมพู เขียว ฟ้า เหลือง

กลุ่มอาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี – พิกัดของอาคารจะอยู่ระหว่างอาคารเรียนรวม และ อาคารวิชาการ

อาคารในกลุ่มศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอดีตจะมีคำถามเสมอเช่นกันว่าอาคาร B นั้นอยู่ตรงบริเวณใด แต่เมื่อได้มีการปรับปรุงโดยการแยกสีของแต่ละอาคารทำให้ตนเองนั้นสามารถจดจำอาคารทั้ง 6 ได้อย่างแม่นยำตามสีของอาคาร ได้แก่ อาคารเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 3 5 6 7 และ 8 แยกตามสีคือ ชมพู/แสด , เหลือง , แสด , ชมพู , เขียว , ฟ้า

อาคารสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ – พิกัดของอาคารจะอยู่บริเวณตรงข้ามกับอาคารโรงอาหาร 4

จุดเด่นของอาคารนี้คือ สีที่เด่นชัด ตัดกันมองเห็นแต่ไกล ดูสดใสตั้งแต่ภายนอกจนถึงภายในของตัวอาคาร

อาคารหอพักนักศึกษา WU Residence – พิกัดของอาคารจะอยู่ตรงกันข้ามกับ Tops Supermarket บริเวณหอพักด้านในสุดเข้าไปทางหอพักนักศึกษา 16 17 18

เป็นอาคารที่พักที่มีสีสันสะดุดตาด้วยสีม่วง/แสด สีประจำมหาวิทยาลัย เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทันสมัย ประกอบไปด้วย อาคาร A1 A2 B1 B2

อาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ – พิกัดของอาคารจะอยู่บริเวณใกล้กับประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยตรงกันข้ามกับสวนวลัยลักษณ์

ลักษณะเด่นของอาคารศูนย์การแพทย์ คือ อาคารด้านหน้าสุดจะมีสถาปัตยกรรมรูปทรงหลังคาแบบเรือนไทยของภาคใต้ ดูโดดเด่นสง่างาม ด้านหลังขนาบด้วยอาคารเฉดสีม่วง/เหลือง สีที่มีความหมายอันสำคัญยิ่ง

อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ – พิกัดของอาคารจะอยู่ติดกับจุดบริการรถรับส่งผู้โดยสาร

ลักษณะเด่นของอาคารนี้ คือ จะมีการออกแบบอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมแนว Modern และมีการแบ่งสีโซนห้องเรียนบริเวณชั้น 1 แต่ละฝั่งไว้อย่างชัดเจน สามารถหาได้ง่ายมาก ซึ่งโซนสีฟ้าจะเป็น AD1101-1112  โซนสีเหลืองจะเป็น AD1201-1214  และ โซนสีเขียวจะเป็น AD1301-1312

อาคารวิจัยและบริการวิชาการ – พิกัดของอาคารจะอยู่บริเวณใกล้กับอาคารบริหาร

จากเดิมของอาคารนี้แทบจะไม่มีความสวยงามปรากฎเลย แต่เมื่อได้มีการทาสีอาคารใหม่ด้วยเฉดสีสดใส ทำให้อาคารนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันใด

อาคารศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล – พิกัดของอาคารจะอยู่ตรงกันข้ามกับอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และ โรงอาหาร 4

อาคารนี้เน้นโทนสีน้ำเงิน/ฟ้า หมายถึง ความก้าวไกลของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ซึ่งเหมาะกับคำว่า “ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล”

ศูนย์อาหารช่อประดู่ – พิกัดของอาคารจะอยู่บริเวณหอพักนักศึกษา

หลังจากที่มีการปรับปรุงศูนย์อาหารแห่งนี้ใหม่ ทำให้ที่นี่ดูมีชีวิตชีวา มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอาคารอีกหลายอาคารที่แม้ไม่ได้มีการปรับปรุงให้มีสีสัน แต่ก็ยังคงความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อยู่ อย่างเช่น อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารไทยบุรี อาคารบริหาร หรือแม้แต่อาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ก็ยังมีความสวยงามอยู่เช่นเดิม

อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี – พิกัดของอาคารจะอยู่ใกล้กับส่วนอาคารสถานที่

อาคารไทยบุรี – พิกัดของอาคารจะอยู่บริเวณสระน้ำติดกับถนนตรงกันข้ามกับหอพักนักศึกษา

อาคารบริหาร – พิกัดของอาคารจะอยู่ตรงกับสะพานข้ามบริเวณวงเวียนถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย

อาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา – พิกัดของอาคารจะอยู่ตรงกันข้ามกับอาคารศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

ส่วนในด้านทัศนียภาพที่สวยงามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้น ทาง UI GreenMetric World University Ranking ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เมื่อปี 2021 จากจำนวน 959 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทั่วโลก ให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดอยู่ในอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยสีเขียวของภาคใต้สองปีซ้อน และขยับมาเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ และ อันดับที่ 116 ของโลก ซึ่งจากความสวยงามของสวนวลัยลักษณ์ และ อุทยานพฤกษศาสตร์ ที่มีความสวยงาม ร่มรื่น สดชื่น เหมาะแก่การพักผ่อน ออกกำลังกาย ควรค่ายิ่งกับการได้รับรางวัลดังกล่าว

สวนวลัยลักษณ์ – พิกัดของพื้นที่จะอยู่บริเวณด้านหน้าใกล้กับประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยและอยู่ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์

อุทยานพฤกษศาสตร์ – พิกัดของพื้นที่จะอยู่บริเวณด้านหลังติดกับหอพักบุคลากร

และท้ายที่สุดนี้ อยากจะขอขอบคุณคณะผู้บริหารและผู้มีส่วนร่วมทุกท่านที่ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในวันนี้มีความทันสมัย สวยงาม เพียบพร้อมในการเป็นเมืองมหาวิทยาลัย และเป็นแผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ “Walailak Land of Glory” แล้วพบกันที่นี่นะคะ

ขอขอบคุณภาพบางส่วน จาก ส่วนสื่อสารองค์กร มวล. , สมัครเรียน ม.วลัยลักษณ์ , ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เจ้าของผลงาน นางสาวจริยา รัตนพันธุ์

Visits: 89

Comments

comments