วิหารโพธิ์ลังกา

วิหารโพธิ์ลังกา

วิหารโพธิ์ลังกา

วิหารโพธิ์ลังกา  เป็นหนึ่งในวิหารที่มีลักษณะเป็นวิหารหลังคามุงกระเบื้องทรงจั่ว ล้อมรอบฐานอิฐขนาดใหญ่ที่ก่อสูง เพื่อประดิษฐานพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งเคารพ ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2564)

ประวัติ

วิหารโพธิ์ลังกา เป็นวิหารประดิษฐานสิ่งสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดในพระพุทธศาสนาอยู่สองอย่าง คือพระพุทธรูปและต้นโพธิ์ (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, 2558) เป็นวิหารขนาดใหญ่  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุเจดีย์และวิหารเขียน สร้างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใจกลางมีต้นโพธิ์จากศรีลังกาปลูกมานับร้อยปี เรียกอีกชื่อหนึ่ง “วิหารโพธิฆระ” หรือ “วิหารโพธิมณเฑียร” ทางทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาว 6 วา (12 เมตร) ประดิษฐานอยู่ จึงเป็นสัญลักษณ์สะท้อนคตินิยมของชาวพุทธในศรีลังกาที่ชาวพุทธในนครศรีธรรมราชรับมาแต่โบราณสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ราวหนึ่งร้อยปี (คือราว พ.ศ.1816)  คำว่า “โพธิมณเฑียร” แปลว่าเรือนหลวงซึ่งมีต้นโพธิ์ปลูกอยู่  มาในชั้นหลังจึงเรียกกันว่า  “วิหารโพธิ์ลังกา” ต้นโพธิ์ที่วิหารนี้กล่าวกันว่าเป็นหน่อที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา ต้นเดิมเป็นต้นโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อสิ้นอายุขัย ได้มีการนำหน่อไปปลูกที่ศรีลังกา จึงถือกันว่าต้นโพธิ์ที่ประเทศศรีลังกาเป็นทายาทโดยตรงของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, 2559)

วิหารโพธิ์ลังกา

ลักษณะเด่น

ตามลักษณะเด่นที่มีต้นโพธิ์ปลูกอยู่ตรงกลาง หากมองจากมุมสูงก็จะเห็นว่า ต้นโพธิ์ปลูกอยู่ในระนาบเดียวกับพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธรูปในพระวิหารหลวง (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, 2558)

ชื่อของวิหารโพธิ์ลังกา หรือ วิหารโพธิมณเฑียร เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งตามคตินิยมของลังกา มีการปลูกต้นโพธิ์โดยนำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกา มาปลูกไว้ตรงกลางวิหารเพื่อแสดงสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิหารโพธิ์ลังกาอยู่ต่อจากวิหารเขียนขึ้นไปทางทิศเหนือ เป็นอาคารหลังคาคลุมคล้ายระเบียงที่สร้างล้อมรอบแท่นที่ปลูกต้นโพธิ์ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สามด้าน ทางทิศใต้คือบันไดทางขึ้นไปยังลานต้นโพธิ์ด้านบน ลักษณะนี้คล้ายกับอาคารที่เรียกว่าโพธิฆระของศิลปะลังกา (วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, 2561)

ลักษณะของวิหาร เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา จึงอาจเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอายุร่วมกันกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ข้อสังเกตที่สนับสนุนการกำหนดอายุนี้คือ องค์พระบรมธาตุเจดีย์และวิหารโพธิ์ลังกาถูกระเบียงคดที่สร้างสมัยหลังล้อมเอาไว้ภายในบริเวณเดียวกัน (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2553, น. 117)

ปัจจุบันทางวัดใช้วิหารโพธิ์ลังกาเป็นพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาโบราณวัตถุภายในจัดแสดงของถวาย เพื่อบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ สร้างแบบวิหารคด รอบปูนชนียวัตถุ ปูชนียสถานทั้งหลาย เป็นรูปห้องยาวสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 12 วา ตรงกลางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งนำมาจากลังกาจึงเรียกชื่อวิหารว่า “วิหารโพธิ์ลังกา”  ภายในวิหารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ศิลาจารึก ฯลฯ (วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, 2561)

วิหารโพธิ์ลังกา
ศรีธรรมราชพิพิธฑ์สถาน

องค์ประกอบ

 ก่อนจะเข้าประตูวิหารโพธิ์ลังกาเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับยืนปางประทานอภัยสมัยอยุธยา เรียกว่า พระพวย เล่าลือกันว่าพระพวยมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ที่ฐานบัวมีรูน้ำไหลเหมือนพวยกา เดิมอยู่วัดพระโมคลาน อำเภอท่าศาลา ต่อมาย้ายมาอยู่วัดประตูรักษ์ จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ในรัชกาลที่ 6 ได้นำมาประดิษฐานที่วัดพระมหาธาตุ พระพวยเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก  มักจะดลบันดาลให้ผู้ขอประสพความสำเร็จ ไม่ว่าใครจะบนบานให้หายเจ็บไข้ ทรัพย์สินเสียหาย อยากได้บุตรธิดา มักจะได้ผล ที่ฐานของพระพวยมีรูปภาพของเด็ก ๆ จำนวนมาก เด็กเหล่านี้คือเด็กที่ขอจากพระพวย เมื่อได้สมปรารถนาแล้ว จึงนำรูปมาถวาย  (วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, 2561)

ภายในวิหารโพธิ์ลังกาด้านตะวันตกมีพระพุทธไสยาสน์ ยาว 6 วา พระอุระกว้าง 4 ศอก พระบาทกว้าง 1 ศอก 7 นิ้ว ยาว 3 ศอก 10 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ลับแลมุก พบที่อำเภอหัวไทร บนชายหาดที่ลูกคลื่นซัดขึ้นมา หีบศพเจ้าพระยานคร ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเป็นของเจ้าพระยาองค์ใด พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ ชื่อพระบรมราชา มีจารึกว่าอยู่วัดหอไตร ต่อมานำมาที่วัดธาราวดี ตำบลนา ครั้นถึงวัน 3-6 ค่ำ เดือน 7 ปีระกา เอกศก พ.ศ. 2452 (25 พ.ค. ร.ศ. 123) ได้แห่พระบรมราชาจากวัดพระธาราวดีมาประดิษฐานที่พระวิหารโพธิ์ลังกา พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงปิดทองพระพักตร์สมโภชแล้วยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฝีมือสกุลช่างนครศรีธรรมราช มีจารึกว่า “พระพุทธได้เชิญมาจากวัดหัวรอ (วัดบูรณาราม) ประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุ วันที่  15 ร.ศ. 131” (วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, 2561)

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ข้อมูลอ้างอิง

เกรียงไกร เกิดศิริ. (2560). พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช: มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรมศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (2558, กันยายน 18). วิหารโพธิ์ลังกา  วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ “วัดพระธาตุ” ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอเอกสาร … [ภาพ]. เฟซบุ๊ค. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1699219283630212.1073741830.1697657507119723&type=3

ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2559). การขุดค้นทางโบราณคดีที่วิหารโพธิ์ลังกา. http://phramahathat-heritage.com/2016/10/18/การขุดค้นทางโบราณคดีที่วิหารโพธิ์ลังกา/

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2553). พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช มหาสถูปแห่งคาบสมุทรภาคใต้. เมืองโบราณ.

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2564). วิหารโพธิ์ลังกากับคติการบูชาพระศรีมหาโพธิ์. วัดศรีทวี (วัดท่ามอญ). https://watsritawee.org/article-142/

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร (Wat Phramahathat Woramahawihan). (2561). https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e8f57532

Series Navigation<< <strong>วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร </strong>วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย >>

Visits: 616

This entry is part 3 of 10 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.