วิหารพระทรงม้า : วิหารแห่งประติมากรรม “มหาภิเนษกรมณ์”

วิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิหารพระม้า หรือ วิหารพระทรงม้า หรือ วิหารพระมหาเภิเนษกรม อันเป็นชื่อเรียกทางราชการ แต่ชาวนครนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วิหารพระม้า ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าภายในวิหารนี้ มีปูนปั้นเป็นภาพเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงม้าเสด็จออกบรรพชา อยู่ที่ฝาผนังจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า วิหารพระม้า (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 450) ดังนั้น จึงถือว่าวิหารพระทรงม้า เป็นวิหารสำคัญลำดับหนึ่งของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพราะเป็นวิหารที่มีประติมากรรมปูนปั้นที่จัดสร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นฝีมือช่างที่สวยงามที่สุดในภาคใต้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, 2559, น. 53) และถือว่าวิหารพระม้า เป็นศูนย์รวมประติมากรรมปูนปั้นว่าด้วยจตุคามรามเทพขนานแท้และดั้งเดิม และประติมากรรมว่าด้วยเทวดาผู้รักษาโลกและจักรวาลที่มีรายละเอียดพิสดารยิ่ง รวมทั้งเป็นบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ เหนืออื่นใดยังมีประติมากรรมปูนปั้นว่าด้วยพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาโดยม้าพาหนะชื่อ “กัณฐกะ” ที่จัดสร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นฝีมือช่างที่สวยงามที่สุดในภาคใต้ ด้วยเหตุนี้เองวิหารนี้จึงมีชื่อเรียกเป็นทางการอีกชื่อว่า “วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์” (แต่คนทั่วไปมักเรียก “วิหารพระม้า”) ประติมากรรมปูนปั้นที่ถือเป็นจุดเด่นของวิหารพระทรงม้า ก็คือประติมากรรมว่าด้วย “มหาภิเนษกรมณ์” เป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะกำลังทรงม้ากัณฐกะ แวดล้อมด้วยหมู่เทวดาและท้าวจตุโลกบาลที่กำลังเหาะรับเท้าม้าอยู่ เบื้องหน้าของม้าเป็นรูปท้าววัสวดีมาร กำลังชูมือไปข้างหน้า ประหนึ่งห้ามมิให้ เจ้าชายสิทธัตถะออกบรรพชา ตรงข้ามให้กลับเข้าไปในปราสาทราชวังเพื่อจะได้ครองแผ่นดินและโลกียวิสัยต่อไป ภาพประติมากรรมนี้ติดอยู่ที่ผนังบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณทั้งสองด้าน เป็นภาพแบบเดียวกันอยู่บนผนังทั้งสองข้างของบันไดทางขึ้น เพียงแต่จัดองค์ประกอบกลับด้านกัน (ทั้งนี้เพื่อให้ภาพของม้ากัณฐกะหันหัวไปทางทิศเหนือเหมือนกันนั่นเอง) (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, 2558) 

ตำนานแห่งการสร้าง

เล่ากันว่า วิหารพระม้านี้ผู้สร้างเป็นเศรษฐีชาวลังกา 2 คน ชื่อ พลิติ และพลิมุ่ย (ซึ่งในที่สุดเศรษฐีทั้งสองนี้ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ) ความมีว่าเศรษฐีทั้งสองได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้ากรุงลังกาให้มาช่วยสร้างพระบรมธาตุที่เมืองนคร แต่เศรษฐีทั้งสองเดินทางมาถึงช้าไป พระบรมธาตุสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยแรงศรัทธาเศรษฐี ทั้งสองจึงดําเนินการก่อสร้างวิหารพระม้าแทน ในระยะเดียวกันนี้บุตรชายของเศรษฐีชื่อ มด และหมู เกิดทะเลาะกันเรื่องการชนไก่ เลยฆ่ากันตายทั้งสองคน เศรษฐีเศร้าสลดใจมาก จึงเอาอัฐิของบุตรมาตำเคล้าเข้ากับปูนแล้วปั้นเป็นรูปพระสิทธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ม้ากัณฐกะ เทวดา มาร พรหม โดยอาศัยตอนพระพุทธองค์เสด็จออกบรรพชา (เสด็จออกมหาภิเนษกรม) และปั้นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ปั้นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานที่ผนังตรงข้ามบันได (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 4)

วิหารพระทรงม้า
ปูนปั้นเป็นภาพเทวดาและสัตว์ในเทพนิยาย ที่ผนังทั้งสองข้างของบรรได

ความสำคัญของวิหารพระทรงม้า

วิหารพระทรงม้า เป็นวิหารหลักใช้สำหรับเป็นทางขึ้นไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ เพื่อเป็นการสักการะบูชาองค์พระมหาธาตุเจดีย์ จัดเป็นประตูขึ้นไปสู่การเคารพสักการะสิ่งสูงสุด คือ พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า  ผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วสาระทิศมักจะได้มาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่วิหารพระม้า เป็นลำดับแรก (NN1234, 2012)

ตำแหน่งของวิหารพระทรงม้านั้น อยู่ติดกับพระบรมธาตุเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ เป็นวิหารที่มีหลังคาเดียวกับวิหารเขียน แต่มีผนังกั้นอยู่จึงแยกออกเป็น 2 ส่วน คือเป็นวิหารพระม้าส่วนหนึ่ง และเป็นวิหารเขียนอีกส่วนหนึ่ง แต่เดิมมาวิหารทั้งสองหลังนี้มีประตูวงโค้งสามารถเดินทะลุถึงกัน ต่อมาวิหารเขียนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ จึงปิดประตูโดยทําเป็นผนังต้นไป ผนังนี้กว้าง 5 วา 10 นิ้ว ยาว 15 วา 3 ศอก 8 นิ้ว สูง 7 วา  (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 451)

ประติมากรรมของวิหารพระทรงม้า

วิเชียร ณ นคร และคณะ (2521, น. 451) ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุที่อยู่ภายในวิหารพระทรงม้าว่าประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ ตรงกลางวิหารมีบันได รวม 22 ขั้น ทอดเป็นทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบ ๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ (ก็คือลานภายใน กําแพงแก้วนั่นเอง) ที่ผนังทั้งสองข้างของบันไดมีปูนปั้นเป็นภาพเทวดาและสัตว์ในเทพนิยาย ทางด้านซ้ายตอนบนมีพระพุทธบาทจําลอง ด้านขวาเป็นรูปพระหลักเมือง ที่ผนังตรงหัวบันได มีรูปครุฑ 1 คู่ ที่เชิงบันไดมียักษ์และหัวนาคอย่างละ ๑ คู่ ที่ปลายบันไดที่จะขึ้นไปลานพระประทักษิณนั้นมีประตูไม้ ๑ ประตู ที่บานประตูมีภาพสลักทั้งสองบาน ใช้ไม้บานละแผ่นเท่านั้น ไม่มีการนําไม้มาต่อกัน ฝีมือการแกะสลักก็ประณีตสวยงามมาก บานประตูด้านซ้ายสลักเป็นรูปพระพรหม ส่วนด้านขวาเป็นรูปพระนารายณ์ บางแห่งว่าบานประตูนี้เป็นของทําขึ้นใหม่ภายหลัง มิใช่ของดั้งเดิม ที่ทําขึ้นใหม่นั้นก็เพื่อใช้แทนของเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายไป สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บานประตูแต่เดิมนั้นทําเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ประติมากรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่แพ้ประติมากรรมปูนปั้นมหาภิเนษกรมณ์ ก็คือเทวดา “จตุคามรามเทพ” เป็นรูปปั้นลอยองค์ ประทับนั่งอยู่ตรงบันไดทางขึ้นลานพระบรมธาตุเจดีย์ (ตรงบันไดขั้นที่ 17-18) ลักษณะเป็นเทวดาทรงเครื่องกษัตริย์ภูษาสีทอง (รูปแบบเครื่องทรงคล้ายทวารบาลที่ประตูสลักไม้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำหนดอายุศิลปะราวพุทธศตวรรษที่ 21) ประทับนั่งในท่าชันเข่าสององค์ (ขวา-ซ้าย) มีข้อความจารึกบนแผ่นหินแกรนิต องค์หนึ่งชื่อ “ขัตตุคาม” องค์หนึ่งชื่อ “รามเทพ” ส่วนที่บานประตูเป็นประติมากรรมแกะสลักนูนสูงบนแผ่นไม้ เป็นรูปเทวดาถือเทพาวุธทั้งสี่กรประหนึ่งเป็น “ทวารบาล” ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าเป็น “พระพรหม” กับ “พระนารายณ์” แต่ผู้รู้บางท่านก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “พระสุมนเทพ” กับ “พระลักขณาเทพ” ซึ่งเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุเจดีย์ตามคติชาวศรีลังกาสมัยโบราณมากกว่า แต่ละวันประติมากรรมทั้งสี่มีผู้ไปชมไปสักการะ และไปถ่ายภาพจำนวนนับร้อยคน โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2540-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่วัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” ได้รับความนิยมศรัทธาสูงที่สุดในประเทศ 

ส่วนประติมากรรมอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อท้องถิ่น และคติในไตรภูมิกถา ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช (เป็นนาค 7 เศียร) ท้าวเวฬุราช ท้าวเวสสุวรรณ (เป็นยักษ์ถือกระบอง) ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าววิรุฬหก (เป็นครุฑ) นอกจากนี้ยังมีสิงห์อันเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์อีก 3 คู่ (สิงห์ดำ สิงห์แดง และสิงห์ทอง) แต่ละตัวยืนอยู่ที่ราวบันไดทางขึ้นลานประทักษิณ ในท่าทางอ้าปากแคบกว้างตามลำดับความสูงของบันได ดูน่าคร้ามเกรงยิ่ง (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, 2558) 

วิหารพระทรงม้า
ด้านซ้ายตอนบนมีพระพุทธบาทจําลอง ด้านซ้ายตอนบนมีพระพุทธบาทจําลอง
วิหารพระทรงม้า
วิหารพระทรงม้า
ที่ผนังตรงหัวบันได มีรูปครุฑ 1 คู่
วิหารพระทรงม้า
บานประตูด้านซ้ายสลักเป็นรูปพระพรหม ส่วนด้านขวาเป็นรูปพระนารายณ์
วิหารพระทรงม้า

แผนผังโดยรวมพร้อมรายละเอียดวิหารทรงม้า

วิหารพระทรงม้า

ทั้งหมดนี้คือเสน่ห์ความงามอันเกิดจากประติมากรรมปูนปั้นที่ช่างท้องถิ่นน่าจะบรรจงสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาที่มุ่งถวายเป็นพุทธบูชาเป็นสำคัญ

ข้อมูลอ้างอิง

เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (12  กันยายน 2558). วิหารพระทรงม้า (Vihara Phra Ma) [Post]. Facebook. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1700148620203945&type=3

ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2559). พระบรมธาตุสู่มรดกโลก. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช. https://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/view/21878-พระบรมธาตุสู่มรดกโลก

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร (wat phramahathat woramahawihan). (2018). https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e8f57532

วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ และ ปรีชา นุ่นสุข. (2521). นครศรีธรรมราช. อักษรสัมพันธ์.

NN1234. (2012). วิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช. NATION.   https://www.oknation.net/post/detail/634f6796418f3e97962bf4fd

Series Navigation<< วิหารทับเกษตร ระเบียงรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์เจดีย์หกหว้า : เครื่องหมายแทนความกตัญญู ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช >>

Visits: 136

This entry is part 6 of 9 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.