แห่นางดาน : ประเพณีปีใหม่ของพราหมณ์เพื่อบูชาเทพบริวารทั้ง 4 ด้วยไม้กระดาน 3 แผ่น

แห่นางดาน บางคนอาจจะไม่รู้จักแต่ประเพณีแห่งนางกระดานนี้ถือเป็นประเพณีที่ควรค่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อให้ชาวนครศรีธรรมราช ได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธศาสนา

ที่มา

แห่นางดาน เป็นประเพณีที่มีขึ้นตามคติความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่า พระอิศวรเสด็จมาเยี่ยมโลกในช่วงเดือนอ้ายซึ่งก็คือปีใหม่ของพราหมณ์เพื่อเป็นการทดสอบความแข็งแรงของโลกและประสาทพรให้มนุษย์โลกมีความสุขสงบ ช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัยโดยมีพิธีอัญเชิญเทพบริวารทั้งสี่มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ พระธรณี พระคงคา มารอรับเสด็จพระอิศวรหรือพระศิวะ คือ “นางดาน” นั่นเอง เมื่อบวงสรวงแล้วเสร็จพระอิศวรก็จะเชิญชวนให้เทพบริวารทั้งสี่บันดาลให้ชาวเมืองมีความสุข สมปรารถนาอีกทางหนึ่งด้วย แต่ประเพณีแห่นางดาน เคยถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2475 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้ร่วมกันฟื้นฟูขึ้นใหม่จนสำเร็จ (หลังจากที่พยายามกันมาหลายครั้ง) โดยจัดให้รวมเข้ากับเทศกาลมหาสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเห็นว่าประเพณีแห่นางดาน เป็นคติความเชื่อปีใหม่ของพราหมณ์ และกำหนดวันจัดประเพณีแห่นางดานขึ้นใหม่คือ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี

ความหมายของนางดาน หรือนางกระดาน

พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา

“นางดาน หรือ นางกระดาน” คือแผ่นไม้กระดาน กว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก มี 3 แผ่น แกะสลักเป็นรูปพระจันทร์กับพระอาทิตย์ พระธรณี พระคงคา อัญเชิญเทพทั้งสี่วางบนเสลี่ยง แผ่นละเสลี่ยงและมี ”นาลีวัน” หาม ขบวนแห่พิธีจะเริ่มในเวลาพลบค่ำ โดยสมมติว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา มารอรับเสด็จพระอิศวร จำลอง “พิธีแห่นางดาน” อัญเชิญนางดานจากสนามหน้าเมืองมายัง หอพระอิศวร ประดิษฐานในหลุมหน้าเสาชิงช้า เพราะเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาโลกมนุษย์ทางเสาชิงช้า จำลอง “พิธีโล้ชิงช้า” การรำเสนง การแสดง แสง สี เสียง เรื่องราวตำนานนางดานและเทพที่เกี่ยวข้อง

ประเพณีแห่นางดาน

นางดานขุดพบที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ส่วนที่เห็นในประเพณีแห่นางดานนั้นได้จัดทำขึ้นใหม่ทั้ง 3 แผ่น

ประเพณีแห่นางดาน

นางดานแผ่นที่ 1 พระอาทิตย์พระจันทร์

    • พระอาทิตย์ เทพผู้สร้างกลางวัน ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ เป็นดาวที่ให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิต ก่อให้เกิดฤดูกาล เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักร

    • พระจันทร์ เทพผู้สร้างกลางคืน สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความอ่อนละมุน เทพผู้อำนวยให้สรรพสิ่งมีชีวิตได้พักผ่อน
ประเพณีแห่นางดานิ

นางดานแผ่นที่ 2 พระธรณี ผิวกายขาวนวล

พระธรณี เป็นเทพผู้รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายให้ดำรงอยู่ เป็นเทพแห่งคุณงามความดีทั้งปวง เป็นผู้รับสั่งสมสิ่งมีค่า อาหาร ได้ชื่อว่า วสุธา ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์

ประเพณีแห่นางดาน

นางดานแผ่นที่ 3 พระคงคา ผิวกายสีม่วงแกมน้ำตาล

พระคงคา เป็นเทพผู้ประทานอันยิ่งใหญ่แก่มนุษย์ เป็นผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำและสมบูรณ์ ไหลชำระสิ่งต่าง ๆ ทำให้ดินชุ่มชื้นสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตเจริญงอกงามได้

แห่นางดาน

ประเพณีแห่นางดานเมืองนครศรีธรรมราช

ในอดีตพิธีตรียัมปวายหรือพิธีโล้ชิงช้่า สำหรับพิธีตรีปวายของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “ประเพณีแห่นางดาน” เพื่อไม่ให้ใช้เรียกชื่อเดียวกับประเพณีของราชสำนัก ทำตามตำราพราหมณ์ดั้งเดิมคือ พิธีตรียัมปวาย ต้อนรับพระอิศวร เริ่มพิธีในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย และพิธีตรีปวาย ต้อนรับพระนารายณ์ เริ่มวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย รวม 15 วัน และทำอย่างสังเขป ไม่มีพระยายืนชิงช้า

ประเพณีแห่นางดาน ของเมืองนครศรีธรรมราช เริ่มจาก “พิธีแห่นางดาน” โดยอัญเชิญนางดานประดิษฐานบนเสลี่ยง แผ่นละเสลี่ยง เริ่มพิธีแห่ในเวลาพลบค่ำ นำขบวนด้วยเครื่องดนตรีประโคม มีเครื่องสูง ได้แก่ ฉัตร พัดโบก บังแทรกและสังสูรย์ มีพระราชครูและปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคน มีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม และปิดท้ายขบวนด้วยนางละครหรือนางอัปสร และผู้ถือโคมบัว เมื่อถึงหอพระอิศวร เวียนรอบเสาชิงช้าสามรอบ อัญเชิญนางกระดานลงหลุมในมณฑลพิธีสมมติว่ารอรับเสด็จ รอเวลาพระอิศวรเสด็จลงมา จากนั้นจะมี “พิธีโล้ชิงช้า” เพื่อแสดงตำนานตอนพระอิศวรทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของโลก และมีการรำเสนงสาดน้ำ หลังจากส่งเสด็จพระอิศวรกลับสู่สวรรค์แล้วจากนั้นจะเป็นพิธีตรีปวาย ต้อนรับพระนารายณ์

ประเพณีแห่นางดานในปัจจุบันที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เป็นพิธีตรียัมปวายคือพิธีส่วนของพระอิศวรเท่านั้น และเป็นพิธีแบบรวบรัด ไม่มีพิธีตรีปวายหรือพิธีแห่พระนารายณ์และพิธีช้าหงส์หรือกล่อมหงส์ส่งเสด็จพระนารายณ์กลับสู่สวรรค์เช่นพิธีพราหมณ์โบราณที่ถือปฏิบัติกันมา ในอดีตประเพณีแห่นางดานประกอบด้วยพิธีกรรมหลายขั้นตอน โดยเริ่มจาก

  • วันขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนอ้าย เป็นพิธีต้อนรับพระอิศวร พิธีแห่นางดาน พิธีโล้ชิงช้า พิธีอ่านเม่า พิธีเปิดประตูสวรรค์ พิธียกอุลุบ พิธีร่ายพระเวท พิธีธรณีลงดิน พิธีรำเสนงกวักน้ำมนต์ พิธีช้าหงส์
  • วันแรมหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันส่งพระอิศวรเสด็จกลับ และทำพิธีต้อนรับพระนารายณ์จนถึงวันแรมห้าค่ำ ส่งพระนารายณ์เสด็จกลับ รวมเป็นเวลา 15 วัน

 

และในปี 2567 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดประเพณีแห่นางดานอย่างยิ่งใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า พิธีเปิดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ “นางดาน อลังการเมืองนคร ประจำปี 2567” วันที่ 12 เมษายน 2567 ได้ทำพิธีน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แห่ง และเริ่มทำพิธีแห่นางดานในวันที่ 14 เมษายน 2567 เวลา 19.20 – 21.00 น. ณ บริเวณสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

เริ่มจากพระราชครูทำพิธีเชิญแห่นนางดานทั้งสี่ขึ้นประดิษฐานบนเสลี่ยง ซึ่งแต่ละแผ่นจะมีขนาดกว้าง 1 ศอก สูง 4 ศอก แกะสลักเป็นรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ แผ่นแรกคือพระอาทิตย์และพระจันทร์ แผ่นสอง คือพระธรณี แผ่นสามคือพระคงคา แล้วอัญเชิญทั้งสามแผ่นไปตั้งขบวนในที่ชุมชน เมื่ออดีตกาลนั้นจะตั้งบริเวณฐานพระสยม หรือบริเวณตลาดท่าชีในปัจจุบัน พอเวลาโพล้เพล้จึงเคลื่อนขบวนสู่หอพระอิศวร โดยมีเครื่องดนตรีประโคม อันมีปี่นอก กลองแขก และฆ้อง ถัดมาเป็นเครื่อง ฉัตร พัดโบก บังแทรก บังสูรย์ มีพระราชครูเดินนำ มีมีปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยง มีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม และปิดท้ายนางละครหรือนางอัปสร 

พราหมณ์ทำพิธีจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แหล่งคือ ประกอบด้วย 1) บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน วัดหน้าพระลาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง 2) บ่อน้ำวัดเสมาเมือง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือโรงธรรมศาลาของวัดเสมาเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง 3) บ่อน้ำวัดเสมาไชย อยู่ทางทิศเหนือวัดเสมาเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง 4) บ่อน้ำวัดประตูขาว ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลัง อำเภอเมือง 5) ห้วยปากนาคราช หรือห้วยเทวดานาคราช ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา และ 6) ห้วยเขามหาชัย อยู่ในท้องที่หมู่ 4 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง 

แห่นางดาน
แห่นางดาน
แผ่นแรกคือพระอาทิตย์และพระจันทร์
แห่นางดาน
แผ่นที่สอง คือพระคงคา
แห่นางดาน
แผนที่สาม คือพระแม่ธรณี
แห่นางดาน
แห่นางดาน
แห่นางดาน
แห่นางดาน
แห่นางดาน

ประเพณีแห่นางดาน นครศรีธรรมราชปี 2567 (ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช)

 ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน ประกอบด้วย พิธีแห่นางดานและพิธีโล้ชิงช้า มีที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่เดียว เป็นการสืบสานประเพณีและพิธีกรรมเก่าแก่ตามคติพราหมณ์ที่เคยสูญหายให้คงอยู่ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่านครศรีธรรมราชยังเป็นเมืองแห่งพราหมณ์ คติความเชื่อของพราหมณ์ยังคงมีบทบาทในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองแห่งประวัติศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

    • Admin Bee. (15 เมษายน 2566). แห่นางดานที่เมืองคอน ประเพณีโบราณตามคติพราหมณ์. Misc.Today. https://www.misc.today/2023/04/Hae-Nang-Dan.html

 

Visits: 36

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.