พราหมณ์ : ศาสนสถานในเมืองนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชในสมัยประวัติศาสตร์ มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญทางการค้า การปกครอง และศาสนาบนคาบสมุทรภาคใต้เนื่องจากเป็นเมืองท่า มีการติดต่อค้าขายทางทะเล มีพ่อค้า จากอินเดีย ทมิฬ ชวา และจีน เข้ามาติดต่อซื้อ-ขายสินค้า ภายใต้การติดต่อค้าขายนี่เองก็รับเอาความเชื่อทางศาสนาและวิทยาการต่าง ๆ จากอินเดียโดยพราหมณ์เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลบทบาททางการค้าและความเชื่อ จนทำให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทั้งด้านศาสนา และด้านการเมืองการปกครอง เป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองสิบสองนักษัตร

สันนิษฐานว่าพราหมณ์รุ่นแรกที่เข้ามาน่าจะเป็น ไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 ต่อมาจึงเป็นไวษณพนิกายเข้ามาประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 เดินทางโดยเรือขึ้นฝั่งอันดามัน ทิศตะวันตกของภาคใต้แล้วเดินเท้าเข้ามายังนครศรีธรรมราช อีกส่วนข้ามช่องแคบมะละกาเข้ามาอ่าวไทยขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานบริเวณอำเภอสิขล ท่าศาลา และเมืองนครศรีธรรมราช ถ้าจะพูดว่า นครศรีธรรมราชคือ เมืองแห่งพราหมณ์ ก็คงไม่ผิดนัก

พราหมณ์ในนครศรีธรรมราช

พราหมณ์เข้ามาทำการค้าและมีความสัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช เจริญรุ่งเรืองสูงสุดราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ส่วนใหญ่เป็นพราหมณ์ไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ) มีไวษณพนิกายอยู่บ้าง (นับถือพระนารายณ์หรือพระวิษณุ) การตั้งหลักแหล่งจะอาศัยอยู่บริเวณที่เดินทางติดต่อและค้าขายสะดวก พราหมณ์มักอยู่เป็นกลุ่มชุมชนเรียกว่า มัณฑละ พราหมณ์ในนครศรีธรรมราชน่าจะแบ่งได้เป็น 3 มัณฑละ โดยเริ่มต้นที่

  • มัณฑละเขาคา พราหมณ์ไศวนิกาย ความเจริญของพราหมณ์ในเขตมัณฑละเขาคาจากหลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุพบว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15
  • มัณฑละโมคลาน ต่อเนื่องกับมัณฑละเขาคา เป็นแหล่งชุมชนพราหมณ์ที่ตั้งพื้นที่ลุ่มชายทะเล ที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ไศวนิกาย เป็นชุมชนค้าขาย มีเทวาลัยขนาดใหญ่ ปัจจุบันคือโบราณสถานโมคลาน
  • มัณฑละเมืองโบราณ เมื่อมัณฑละเขาคาล่มสลาย ความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลดลง มีการย้ายศูนย์กลางของเมืองเข้ามาอยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โบราณสถานพราหมณ์ในเขตมัณฑละเมืองโบราณ มีฐานพระสยม หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ วัดสวนหลวง สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราชและนอกกลุ่มเมือง เช่น บ้านกำโลน อำเภอลานสกา กลุ่มชุมชนคลองท่าดี วัดพระเพรง กลุ่มชุมชนคลองท่าเรือ วัดสระเรียง กลุ่มชุมชนโบราณ คลองเสาธง

ตามคติของพราหมณ์ เชื่อว่าบริเวณใจกลางเมืองต้องเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าผู้พิทักษ์อาณาจักร และเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุอันเป็นยอดเขาสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งก็คือ พระศิวะ พระนารายณ์ ใกล้ ๆ จะเป็นสระน้ำ จากนั้นเป็นที่ประทับของกษัตริย์ และพราหมณ์อาศัยอยู่โดยรอบ นครศรีธรรมราชมีศาสนสถานพราหมณ์ 5 แห่ง อยู่ในตัวเมือง โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร เสาชิงช้า หอพระนารายณ์ ฐานพระสยม ปัจจุบันยังคงมีการประกอบพิธีกรรม โบราณสถานทั้ง 5 จุดตั้งอยู่ใจกลางเมือง บนถนนราชดำเนิน 4 แห่ง สำหรับฐานพระสยม ตั้งอยู่บนถนนท่าชี บริเวณใกล้กัน

ศาสนสถานพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช

ศาสนสถานทั้ง 5 ในปัจจุบันมิใช่เทวสถานตามคติพราหมณ์เดิมแต่เป็นรูปแบบที่ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรและได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2479

1. โบสถ์พราหมณ์นครศรีธรรมราช

ประดิษฐานตรีมูรติ

  • ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช บริเวณเดียวกับหอพระอิศวร และเสาชิงช้า
  • เป็นศูนย์รวมของพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่บวชพราหมณ์และประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราชใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวาย และตรีปวาย เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ ทำในเดือนอ้ายตามคติพราหมณ์โบราณถือว่าเมื่อพระอิศวรเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้งควรจะมีการสมโภชต้อนรับ พระอิศวรเสด็จลงมาในวันขึ้น 7 ค่ำเดือนอ้าย เสด็จกลับในวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย อยู่ในโลกมนุษย์สิบวัน ต่อจากนั้นพระนารายณ์เสด็จลงมาตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ และเสด็จกลับในวันแรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย รวมห้าวัน พิธีของเมืองนครศรีธรรมราชทำตามกำหนดวันในตำราของพราหมณ์แต่ดั้งเดิม ทำอย่างสังเขปไม่มีพระยายืนชิงช้า เป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ยกเลิกพิธีโล้ชิงช้า เดิมในโบสถ์พราหมณ์เคยเก็บรักษาเทวรูปสำหรับใช้ในพิธีพราหมณ์ ศิวลึงค์ศิลา ศิวลึงค์โคนแปดเหลี่ยม ฐานสำหรับรองศิวลึงค์ ฐานรองเทวรูป รูปพระคเณศ นางกระดานจำหลักรูปพระธรณี พระคงคา พระอาทิตย์และพระจันทร์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และได้จัดทำนางกระดานทั้ง 3 แผ่นขึ้นใหม่เพื่อใช้ในพิธีแห่นางดาน นครศรีธรรมราช

ปี พ.ศ. 2557 กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการขุดค้น และในปี พ.ศ. 2562 ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ โบสถ์พราหมณ์ โดยใช้ข้อมูลหลักฐานเอกสารทางโบราณคดี ที่เคยมีการบันทึกภาพของโบสถ์พราหมณ์ในอดีต กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479

2. หอพระอิศวร

โบราณสถานพราหมณ์ไศวนิกาย ประดิษฐานศิวลึงค์ สัญลักษณ์ของพระศิวะ และฐานโยนิรวมทั้งเทวรูปศิวนาฏราช พระอุมา พระพิฆเนศ ซึ่งจำลองมาจากองค์จริง

  • ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช บริเวณเดียวกับโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า
  • เคยประดิษฐานเทวรูปสำริดอื่น ๆ ได้แก่ พระศิวนาฏราช พระอุมา พระคเณศและหงส์

กรมศิลปากรบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2509 แทนอาคารเดิมที่ชำรุด ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 8.50 เมตรสูงประมาณ 9 เมตร หลังคาหน้าจั่วทรงไทยไม่มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ สันนิษฐานว่าสร้างรุ่นเดียวกับหอพระนารายณ์และโบสถ์พราหมณ์ราวสมัยอยุธยาตอนต้น ด้านหน้าของหอพระอิศวรเป็นที่ตั้งของ “เสาชิงช้า” กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 34 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 95 ตอนที่ 126 หน้า 3981 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 62.5 ตารางวา

3. เสาชิงช้านครศรีธรรมราช

เสาชิงช้าเป็นสัญลักษณ์ หมายถึงพระบาททั้งสองของพระอิศวรที่หย่อนลงมาเพื่อทดสอบความแข็งแรงของพื้นโลก พิธีโล้ชิงช้าจึงเกิดขึ้นตามคตินิยมที่ว่าพระอิศวรต้องการจะทดสอบความแข็งแรงของพื้นโลก

โบราณถานพราหมณ์ไศวนิกาย ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหอพระอิศวร และโบสถ์พราหมณ์ สันนิษฐานว่าสร้างราวสมัยอยุธยาตอนต้น (ของเดิมสูงประมาณ 10 ศอกซึ่งชำรุดหมดแล้ว จากหนังสือ”ชีวิทัศน์ ตอนเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อ พ.ศ. 2427 จากสารนครศรีธรรมราช) เสาชิงช้าใช้ในพิธีตรียัมปวาย พิธีพราหมณ์ที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จนปี พ.ศ. 2471 จึงได้ยกเลิก แต่เสาชิงช้าเพิ่งรื้อเมื่อ พ.ศ. 2483 ต่อมากรมศิลปากรบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้ากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 เมษายนของทุกปีมีพิธีโล้ชิงช้าและพิธีแห่นางดานของงานสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช

หอพระนารายณ์ โบราณสถานพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์

4. หอพระนารายณ์

โบราณสถานพราหมณ์ไวษณพนิกาย ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์

  • ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ตรงข้ามกับหอพระอิศวร
  • ใช้ประกอบพิธีกรรมในไวษณพนิกาย

หอพระนารายณ์ อยู่ตรงกันข้ามกับหอพระอิศวร คนละฟากของถนนราชดำเนิน มีการบูรณะหลายครั้ง การบูรณะครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2462-2475) โบราณวัตถุสำคัญที่พบในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สี่กร สลักจากหินทรายสีเทาทรงมาลารูปกระบอกปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ ลักษณะเป็นเทวรูปรุ่นเก่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 ปัจจุบันนำมาเก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ส่วนเทวรูปพระนารายณ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในหอนั้น กรมศิลปากรจำลองจากองค์จริงที่พบในแหล่งโบราณสถานแถบอำเภอสิชล

อาคารหอพระนารายณ์เดิมไม่สามารถสืบทราบรูปแบบได้ และผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่าอาคารหอพระนารายณ์หลังปัจจุบันสร้างทับอาคารหลังเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่อาคารปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่า กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 74 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479

5. ฐานพระสยม

คำว่า “พระสยม” หรือ “รัสยมภูวนาถ” เป็นพระนามหนึ่งของพระอิศวรหมายถึง “ผู้ที่เกิดขึ้นเอง”

  • ตั้งอยู่บนถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช
  • ศูนย์รวมพิธีกรรมของพราหมณ์ไศวนิกาย

ฐานพระสยมของเดิมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร หอสำหรับพระอิศวร ปัจจุบันศาสนสถานเหลือเพียงส่วนฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นคูหารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในประดิษฐานศิวลึงค์บนฐานโยนิ ส่วนที่สองเป็นร่องรอยพื้นอิฐติดต่อฐานอาคารยาวต่อเนื่องไปทางด้านหน้า มีแท่นฐานเสา สันนิษฐานว่าส่วนนี้เป็นอาคารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องและมีแท่นฐานที่สันนิษฐานว่าสำหรับประดิษฐานรูปโคนนทิ (ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของฐานโยนิอีกฐานหนึ่ง) อายุสมัยอยู่ในราวสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานพระสยมแสดงให้เห็นว่าพราหมณ์ไศวนิกายแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราชราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 และน่าแปลกคือเมืองนครศรีธรรมราชมีเทวสถานพระอิศวรถึงสองแห่ง จึงอาจเป็นไปได้ว่าฐานพระสยมคือหอพระอิศวรเดิมของชุมชนพราหมณ์ก่อนที่จะมีการสร้างหอพระอิศวรที่ถนนราชดำเนิน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 74 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 126 หน้า 3982 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 2 งาน 14.32 ตารางวา

ศาสนสถานพราหมณ์ทั้ง 5 มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้งหลายยุคสมัย เป็นสิ่งที่บอกได้ว่าพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองคู่กับเมืองนครศรีธรรมราชและมีอิทธิพลมาตั้งแต่ อาณาจักรตามพรลิงค์ เรื่อยมาจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช พราหมณ์มีอิทธิพลทั้งในด้านการเมืองการปกครองและศาสนา เห็นได้จากวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อในอาณาจักรนี้มีหลายประเพณีที่ยังคงสืบทอดปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น พิธีโล้ชิงช้าหรือพิธีแห่นางดาน จนมีสำนวนของคนคอนกล่าวว่า “อิศวรมาเดือนหงาย นารายณ์มาเดือนมืด” เพราะพระอิศวร เสด็จลงมาในข้างขึ้น ส่วนพระนารายณ์เสด็จลงมาในข้างแรม และความเชื่อที่ยังคงสืบทอดกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องสงกรานต์ ขึ้นเบญจา สารทเดือนสิบ เรื่องเทพ ศาลหลักเมือง ศาลพระภูมิ พระแม่โพสพ ฯลฯ แล้วลองมองย้อนไปถึงสังคมไทยในปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่า พราหมณ์ ยังคงมีอยู่ในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อของไทย

ที่มา:

Visits: 149

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.