เจดีย์พระปัญญา : สถูปแห่งพระสารีบุตร

เจดีย์พระปัญญา (The Wisdom Stupa) สถูปแห่งพระสารีบุตร วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช 

สถานที่ตั้ง

ตั้งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระธาตุ) โดยเฉพาะในบริเวณวิหารคด (หรือวิหารพระด้าน) นอกจากจะมีพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งตระหง่านอยู่โดดเด่นแล้ว ยังมีเจดีย์รายหรือเจดีย์บริวารอยู่รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ถึง 158 องค์ และหนึ่งในจำนวนนี้มีเจดีย์อยู่องค์หนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “เจดีย์พระปัญญา” หรือ “พระปัญญา” รวมอยู่ด้วย (นครออนไลน์, 2566)

ประวัติความเป็นมา

“เจดีย์พระปัญญา” หรือ “วิหารพระปัญญา” อันเป็นเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งในหมู่เจดีย์รายในฝั่งตะวันตกนั้น ตามประวัติของพระเจดีย์ปัญญา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างพร้อมกันกับพระบรมธาตุ แต่อาจได้รับการซ่อมแซม ดัดแปลงในยุคสมัยอยุธยา จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่เดิม พระเจดีย์องค์นี้ เป็นที่ประดิษฐานของ “พระปัญญา” อันเป็นฉายา เอกะทัตคะของ “ พระสารีบุตรเถระ ” อัครสาวกเบื้องขวา ธรรมเสนาบดีผู้เลิศด้วยปัญญา ซึ่งแต่เดิมภายในพระเจดีย์องค์นี้ มีรูปปั้นของพระสารีบุตรเถระ และเป็นเจดีย์ที่อุทิศให้แก่พระสารีบุตร

กาลต่อมาเมื่อมีการซ่อมแซม มีการดัดแปลงรูปปั้นพระสารีบุตรเป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 59 นิ้ว ลงรักปิดทองทั้งองค์แทน คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “พระปัญญา” หรือ “พระออกเสื้อ” และได้มีการซ่อนสมบัติไว้บนเพดานทางเข้า และเป็นที่มาของลายแทง และการเดินถอยหลังออกมา เพื่อมิให้เห็นช่องซ่อนสมบัติที่อยู่ด้านบน

สำหรับอิทธิคุณที่เชื่อถือกันสืบมาของพระปัญญาภายในเจดีย์ ชาวนครศรีธรรมราช ยุคโบราณจักนิยมพาลูกจูงหลานที่เล่าเรียนในระดับต่าง ๆ นำเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะ เป็นอามิสบูชาแก่พระปัญญา เพื่อให้ผลานิสงส์ผลบุญ ทำให้เกิดความเลิศด้านสติปัญญาเฉียบแหลมเหมือนพระสารีบุตรมหาเถระ ทุกวันมักจะมีผู้ที่รู้อิทธิคุณของพระปัญญา แวะเวียนมาสักการะอยู่เสมอ และเจดีย์พระปัญญา หากขบคิดกันเล่น ๆ ว่าเป็นเจดีย์ของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า อันพระบรมธาตุนั้นแทนพระพุทธองค์ผู้ทรงแจ้งโลกแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่า ? เจดีย์หลังวิหารสามจอม เจดีย์สี่กา และเจดีย์ใหญ่ในทิศหรดี แต่เดิมอาจเป็นเจดีย์ที่แทนพระอัครสาวกทั้ง 4 อันได้แก่ พระสารีบุตร, พระโมคคัลลาน์, พระมหากัสสปะ, พระอานนท์ ก็เป็นได้ นี่เป็นปริศนาที่ต้องขบคิดกันต่อไป อาจพอเป็นไปได้ ที่เจดีย์ใหญ่ประจำมุมทั้งสี่ของพระบรมธาตุในหมู่เจดีย์ราย อาจเป็นเจดีย์ของพระอัครสาวก (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2566)

ซึ่งในบริเวณหน้าประตูของเจดีย์พระปัญญามีการจารึกตัวอักษรไว้ดังนี้ คือ “เจดีย์ขนาดย่อมภายในเขตพระวิหารคต มีลักษณะแตกต่างจากองค์อื่นๆ ฐานด้านตะวันออกเจาะเป็นช่องประตูมีทางเดินเข้าออกแคบๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย กล่าวกันว่ามีลายแทงโบราณกำกับไว้ว่า “ถอยหลังเข้าไป เหล็กในแทงตา หันหน้าออกมา กาขี้ใส่หัว” เพื่อกำชับให้เดินหันหน้าเข้าไปและถอยหลังออกมา ต่อมามีผู้ฝืนลายแทง จึงพบขุมทรัพย์ที่หลืบบนเพดาน เต็มไปด้วยทองลิ่มและทองรูปพรรณ กล่าวกันว่านี้เป็นปริศนาธรรมสำหรับผู้มีปัญญาที่จะไม่ทำตามๆ กันอย่างไม่มีเหตุผล จึงจะเป็นผู้พบขุมทรัพย์” (วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร)

ชาวนครแต่โบราณมีความเชื่อต่อ ๆ กันมาว่า พระปัญญาองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความเลิศด้านสติปัญญาเฉียบแหลมเหมือนพระสารีบุตรมหาเถระ ผู้ใดใคร่จะมีปัญญาให้มาบนบานขอพร โดยเอามือไปแตะที่พระอุระแล้วกลับมาแตะที่อกตนเอง เป็นทำนองว่าได้ปัญญาจากพระแล้ว ปัจจุบันผู้ที่มาบนบานส่วนใหญ่มักเป็นนักเรียนนักศึกษา เพราะเชื่อกันว่าบนบานทำให้มีความจำในการเรียนหนังสือมากขึ้น หรือฉลาดทันคนขึ้น

ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักบนบานกราบไหว้ขอให้บุตรที่จะคลอดมีสุขภาพสมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สุขุมรอบคอบ อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอก็คือ “ปริศนาลายแทงพระปัญญา” มีข้อความว่า “ถอยหลังเข้าไป เหล็กในแทงตา หันหน้าออกมา กาขี้รดหัว” แปลว่าเวลาเข้าไปให้หันหน้าเข้า เวลาออกให้เดินถอยออกมา ผิดจากคำบอกนี้แล้วจะได้รับอันตราย

เรื่องนี้พระครูสิริธรรมาภิรัต แห่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชได้เล่าว่า เมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา มีนักเลงมือดีคิดแก้ปริศนาได้ โดยกลับปริศนาเสียใหม่ว่า “ถอยหลังเข้าไป เหล็กไม่แทงตา หันหน้าออกมา น้ำตาพระร่วง” หรือ “สากทองคำ ตำแล้วพาไป”

ปริศนาลายแทงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านมีความเชื่อว่าภายในซุ้มพระปัญญา บนเพดานมีไหเป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติที่คนโบราณซ่อนไว้เหนือซุ้มประตู ถ้าถอยหลังเข้าไปแล้วเดินหันหน้าออก แหงนดูเพดานก็จะเห็นไหซ่อนทรัพย์อยู่ ซึ่งยังมีร่องรอยปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ (นครออนไลน์, 2566)

จึงเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความเคารพศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของเจดีย์พระปัญญาเป็นอย่างมาก เจดีย์พระปัญญาจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งของวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ที่มีผู้คนมาขอพรให้มีปัญญาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ จะขอพรให้ตนเองสอบผ่าน และเมื่อประสบผลสำเร็จก็จะมาแก้บนกันอีกครั้ง

นครออนไลน์. (2566). เจดีย์พระปัญญา (The Wisdom Stupa) สถูปแห่งพระสารีบุตร วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566 จาก https://www.nakhononline.com/2132/

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2564). เจดีย์พระปัญญา สถูปแห่งพระสารีบุตร ที่ วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566 จาก https://watsritawee.org/article-190/

Series Navigation<< เจดีย์หกหว้า : เครื่องหมายแทนความกตัญญู ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

Visits: 77

This entry is part 8 of 9 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.