สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สนามหน้าเมือง ถือเป็นอีกแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช ใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของทางการบ้านเมือง  ตลอดไปจนถึงกิจกรรมของชาวเมือง 

ถนนราชดำเนินผ่านสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

ความเป็นมา

สนามหน้าเมือง น่าจะสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลของอารยธรรมการวางผังเมืองของอินเดียสมัยโบราณ กล่าวกันว่าหน้าเมืองปาตลีบุตร อันเป็นเมืองเก่าแก่ของอินเดียก็มีสนามอยู่หน้าเมือง เรียกว่า สนามหน้าพระลาน สนามดังกล่าวมีไว้สำหรับประกอบกิจกรรมสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองหลายประการ นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจากอินเดียโบราณมากมาย วิชการสร้างบ้านสร้างเมืองก็น่าจะเป็นวิชาหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมา (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 582-583)

และคาดว่าสนามหน้าเมือง น่าจะมีขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลาย ส่วนเมืองที่เกิดขึ้นบริเวณนี้สร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก่อนสุโขทัยเล็กน้อย ก็น่าจะอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ดังนั้นสนามหน้าเมืองนี้อายุอานามก็ปาเข้าไป 700 กว่าปีเข้าไปแล้ว ซึ่งสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่เดิมคงมีหลายร้อยไร่ การรบทัพจับศึกยกกองทัพกองทหารมาพัก หรือข้าศึกมาตั้งทัพโอบล้อมต้องใช้พื้นที่มากมาย ปัจจุบันลดเหลือไม่ถึงร้อยไร่ ใช้ที่ดินเป็นประโยชน์ทางด้านอื่นไปมากมาย บริเวณสนามหน้าเมืองมีสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญมากมาย เช่น หลาโดหก สระศรีปราชญ์ หอพระสูง คูเมือง แต่ละสิ่งมีประวัติ มีตำนาน มีเรื่องเล่าน่าสนใจ คนรุ่นหลังควรจะอนุรักษ์เอาไว้ เก็บเอาไว้ให้คนนครได้ภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง (สุธรรม ชยันต์เกียรติ, 2566, น. 75)

สถานที่ตั้ง

เป็นสนามสวนหย่อมที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ มีถนนราชดำเนินตัดผ่าน ดังนั้นสนามหน้าเมืองจึงอยู่ด้านตะวันตกของถนน มีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ ส่วนที่เหลืออีก 3 ด้านได้มีการตัดถนนโดยรอบ จึงทำให้สนามหน้าเมืองมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ — จดถนนลูกเสือ (ตอนหน้าของโรงเรียนเบญจมเดิม) ตรงข้ามกับสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช (เดิม) รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่งอันเป็นสถานที่เคารพศรัทธาของชาวเมือง คือ ศาลหลักเมือง และ หอพระสูง

ทิศใต้ — จากถนนเลียบริมคลองหน้าเมือง (หรือคูเมืองด้านเหนือ)  มีกำแพงเมืองสมัยโบราณ ถนนสายนี้เลียบไปทางฝั่งซ้ายของคลอง “คลองนครน้อย” และเชื่อมต่อไปยังสวนสาธารณะศรีธรรมโศกราช 

ทิศตะวันออก — จดถนนราชดำเนิน อยู่ตรงข้ามกับบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลาประดู่หก และโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช 

ทิศตะวันตก — จดถนนท่าช้าง ที่เป็นแหล่งรวมของร้านค้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงสนามเทนนิส ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช หอสมุดประชาชน ศาลาประชาคมโรงละคร อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองคอน และตึกศรีธรรมราชสโมสร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช ก็ตั้งอยู่ที่สนามหน้าเมืองด้วย

พระรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช
อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาลาประชาคมโรงละคร

 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ใช้พื้นที่สนามหน้าเมืองจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดงานประเพณีบุญเดือนสิบ   ซึ่งเป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชตลอดมา จนรัฐบาลมีนโยบายให้แต่ละจังหวัดจัดสร้างอนุสรณ์สถานสาธารณะประโยชน์ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถของรัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ส่วนราชการต่างๆ จึงมีมติให้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณสนามหน้าเมือง เป็นสวนสาธารณะประจำจังหวัด ชื่อเต็มว่า “สวนสาธารณะสนามหน้าเมือง” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ. 2535  (สงวน กลิ่นหอม, 2557)

ในปัจจุบันสนามหน้าเมืองเป็นสถานที่เดินออกกำลังกาย ในตอนเช้าและตอนเย็นของผู้คนมากมาย พร้อมทั้งมีร้านค้าขายอาหารหลากหลายให้ได้ซื้อหามารับประทาน นั่งพักผ่อน ชมน้ำพุสายรุ้งสีสันสวยงามในทุกวัน ทั้งนี้งานพิธีกรรมสำคัญของจังหวัดหลายงานก็จะจัดที่สนามหน้าเมืองด้วยเช่นกัน  และอาจกล่าวได้ว่า การไปเยือนสนามหน้าเมืองนั้น ได้ทั้งอิ่มบุญ อิ่มท้อง และอิ่มใจ ครบถ้วนกันเลยทีเดียว

บรรยากาศการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย ณ สนามหน้าเมือง (ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช)

บรรณานุกรม

สงวน กลิ่นหอม. (2557). สนามหน้าเมือง. สารนครศรีธรรมราช, 44(8), ไม่มีเลขหน้า.

สุธรรม ชยันต์เกียรติ. (2566). สนามหน้าเมือง. เล่าเรื่องเมืองลิกอร์ ฉบับรวมเล่ม, [ม.ป.ท.].

Visits: 64

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.