หลาโดหก (ศาลาประดู่หก)

หลาโดหก ถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลาโดหก ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามกับสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

สถานที่ตั้ง

หลาโดหก ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับสนามหน้าเมือง “หลาโดหก” เป็นชื่อเรียกในภาษาไทยสำนวนท้องถิ่นใต้ คำว่า “หลา” มาจากคำว่า “ศาลา” คำว่า “โด” มาจาก “ประดู่” ส่วน “หก” มาจากคำว่า “หก” (จำนวนนับ) ชื่อ “หลาโดหก” จึงคือ “ศาลาประดู่หก” มาจากการที่บริเวณโดยรอบของศาลาหลังนี้ มีต้นประดู่ยืนต้นอยู่ 6 ต้นนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา

หลาโดหกมีความสำคัญมากต่อนักเดินทางในอดีต ด้วยว่าประตูเมืองนครศรีธรรมราชจะเปิดและปิดเป็นเวลา หากเข้าเมืองไปไม่ทัน นักเดินทางจึงมักหมายเอาศาลาประดู่หกนี้เป็นที่พักแรม ศาลาประดู่หกจึงมีหน้าที่เช่นเดียวกับ “หลากลางหน” หรือ ศาลากลางทางสำหรับพักผ่อน พักฝนหรือพักแรม บรรดานักเดินทางจากทั่วสารทิศจึงมาพบปะกันที่นี่ (วันพระ สืบสกุลจินดา, 2566, น. 75)

แต่เดิมนั้นมีต้นประดู่อยู่เต็มรายรอบศาลา มีอยู่หกต้นจริง เลยหมายตาเอาง่ายๆ ว่า หลาที่มีต้นโดหกต้น เรียก “หลาโดหก” ตามสไตล์คนใต้ไม่ชอบพูดยาว ตัดๆ คำเอาพอเข้าใจ เราคนเมืองปราชญ์นครศรีธรรมราชก็เข้าใจง่ายกันอยู่แล้ว

สำหรับศาลาที่อยู่หน้าเมืองคงจะมีการปลูกสร้างใหม่กันอยู่เสมอ อาจจะมีในเวลาเดียวกันหลายศาลาก็ได้ หรือบางสมัยมีอยู่หนึ่งเดียวก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันศาลาหน้าเมืองจะมีอยู่ 2 ศาลาใหญ่ๆ ด้านหน้ารูปทรงสถาปัตย์ฯ ของภาคกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยปี 2505 ได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ชื่อ “ศาลาเอกมหาชัย” ภายหลังเมื่อมีผู้คนต่อต้านก็เปลี่ยนมาเป็นศาลาประดู่หก ตำแหน่งก็ขยับออกมาสร้างอยู่ริมถนนราชดำเนิน ส่วนศาลาเดิมที่ถูกพายุพัดพังเสียหายพร้อมต้นประดู่ทั้งหกต้นก็เป็นอันยกเลิกไป ต่อมาภายหลังมีคนมาปลูกต้นประดู่เรียงเป็นแถวครบหกต้นอีกครั้ง

ส่วนศาลาอีกหลังที่อยู่หลังต้นประดู่ทั้งหกต้น เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างขึ้นจากการบอกเล่าของผู้คนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปนับสิบท่าน โดยระบุว่าเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องของ “หลาโดหก” รูปทรงเป็นศาลาแบบพื้นบ้านของเมืองนคร ขนาดใหญ่กว่าของเดิมเล็กน้อย เทศบาลนครนครศรีธรรมราชสมัยนายสมนึก เกตุชาติ เป็นผู้รื้อฟื้นสร้างขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบของเดิมทุกอย่าง แต่งานฝีมืออาจไม่เหมือนกัน (สุธรรม ชยันต์เกียรติ, 2566, น. 64-65)

ศาลาประดู่หก หรือ หลาโดหก ตามภาษาใต้ของชาวนครศรีธรรมราชนั้น เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เราลูกหลานคนนครควรช่วยกันทำนุบำรุงรักษาไว้สืบไป

บรรณานุกรม

  • วันพระ สืบสกุลจินดา. (2566). หลาโดหก. สารนครศรีธรรมราช, 53(12), 75.
  • สุธรรม ชยันต์เกียรติ. (2566). หลาโดหก. เล่าเรื่องเมืองลิกอร์ ฉบับรวมเล่ม, [ม.ป.ท.].

Visits: 55

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.