อนุสาวรีย์วีรไทย (พ่อจ่าดำ) อนุสรณ์สถานแห่งความกล้าหาญของทหารไทย

อนุสาวรีย์วีรไทย (พ่อจ่าดำ)

อนุสาวรีย์วีรไทย หรือที่มีชื่อเต็มว่า “อนุสาวรีย์วีรไทย พ.ศ.2484” และ อีกชื่อหนึ่งที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า “พ่อจ่าดำ หรือ เจ้าพ่อดำ” ตั้งอยู่ภายในใจกลางของค่ายวชิราวุธอันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ซึ่งกองทัพภาคที่ 4 ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามถนนสายนครศรีธรรมราช-ท่าแพ ทางทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร (สารนครศรีธรรมราช, 2559)

เป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของทหารไทย ที่ต่อต้านการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารไทยได้สู้รบอย่างดุเดือด โดยไม่คิดว่าชีวิตของตนจะล่วงลับหรือไม่ ขอเพียงให้อธิปไตยของชาติไทยคงมั่นอยู่ตลอดไปเป็นสำคัญ จึงถือได้ว่านี่คือ วีรกรรมของวีรชนโดยแท้ (กองบรรณาธิการ, 2535, น. 34)

อนุสาวรีย์วีรไทย ตั้งอยู่ในค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

เหตุการณ์การสู้รบในวันนั้น กองทัพไทยต้องสูญเสียกำลังทหาร และยุวชนทหาร ช่วยรบในจังหวัดปัตตานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมกว่า 100 นาย ดังปรากฏนามจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ ทั้ง 6 ด้านอนุสาวรีย์จ่าดำ หรือ อนุสาวรีย์วีรไทย ยังคงยืนตระหง่านบนจุด ที่ได้สู้รบปกป้องปฐพีไทยสืบมา

เรื่องราวการต่อสู้ดังกล่าวนั้น มีดังนี้ คือ ใน พ.ศ. 2482 ได้เกิดวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป โดยมีเยอรมนี และอิตาลีซึ่งเรียกว่าฝ่ายอักษะฝ่ายหนึ่ง กับสัมพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสอีกฝ่ายหนึ่ง การสงครามได้ขยายตัวกว้างขวาง ครั้นถึง พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ สงครามได้ลุกลามเข้าสู่ทวีปเอเชีย โดยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพร้อมกันในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มลายู และไทย

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่โจมตี ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ ของ สหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกพร้อมกันที่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และ ปราจีนบุรี โดยที่ฝ่ายไทยไม่คาดคิด

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของภาคใต้ คือมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลานั้น มี พลตรีหลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บัญชาการมณฑล เช้าวันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์ นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบ ประมาณ 15 ลำ มาลอยลำในอ่าวสงขลา และได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลา พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการรับศึก และสั่งให้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองทัพสงขลา โดยด่วน ขณะเตรียมการอยู่นั้น ก็ได้รับแจ้งจากพลทหารว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน ผู้บัญชาการมณฑลจึงสั่งการให้ทุกคน ทำการต่อสู้เต็มกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่น เข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด

การสู้รบระหว่างทหารไทย ยุวชนทหาร กับทหารญี่ปุ่นเป็นไปในลักษณะประจัญหน้า พื้นที่บริเวณสู้รบอยู่ในแนวเขตทหารด้านเหนือ กับบริเวณตลาดท่าแพ มี ถนนราชดำเนิน ผ่านพื้นที่ในแนว เหนือ-ใต้ การรบทำได้ไม่สะดวกนัก เพราะ ตลอดเวลาตั้งแต่ 07.00 – 10.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก การเตรียมรับมือข้าศึก ภายหลังที่ได้รับโทรเลขฉบับนั้น ผู้บังคับบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการให้แตรเดี่ยว ณ กองทัพรักษาการณ์ประจำกองบัญชาการ เป็นสัญญาณเหตุสำคัญ และเรียกหัวหน้าหน่วยที่ขึ้นมาประชุมที่กองบัญชาการมณฑลเพื่อเตรียมรับมือข้าศึกซึ่ง ผู้บังคับการมณฑล คาดว่าคงจะบุกขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย (สารนครศรีธรรมราช, 2559)

คลองท่าแพ – เส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อเข้ายึดนครศรีธรรมราช

และท่านพลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในช่วงสำคัญว่า

“หลังจากที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ เพื่อจะเข้ายึดโรงทหารและสนามบินโดยไม่ให้ฝ่ายเรารู้ตัว และยิงมายังโรงทหารด้วยอาวุธทุกชนิด ซึ่งเหตุการณ์ฉุกละหุกมาก แต่อาศัยที่ทหารของเราได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ประกอบกับมีกำลังใจและขวัญดีอย่างประเสริฐ จึงไม่มีการกระทบกระเทือนหรือตื่นเต้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับมีขวัญดี ฮึกเหิม เด็ดเดี่ยว กล้าหาญอย่างดีเลิศ ข้าพเจ้าตกลงใจทันทีว่า จะให้ต่างชาติรุกเข้ามาในแผ่นดินของเราในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เด็ดขาด จึงส่งกำลังทหารออกสู้รบลักษณะประชิดตัว บางส่วนเข้าตะลุมบอนกับข้าศึกด้วยดาบปลายปืน ทหารของเราแสดงความเด็ดขาด กล้าหาญ ไม่แพ้บรรพบุรุษของเรา…”

และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ฝ่ายเราได้รุกเข้าไปจนถึงท่าเรือ ห่างจากข้าศึกเพียง 100 เมตร ส่วนย่อยของเราได้เข้าตะลุมบอน เสียงไชโยดังลั่นทุกแนวที่เรายึดคืนได้ …ข้าศึกถอยแล้ว ๆ ๆ… พวกเราร้องบอกกัน ไม่มีครั้งใดที่จะเห็นการต่อสู้อย่างทรหดจนถึงขั้นตะลุมบอนด้วยดาบปลายปืนเหมือนในครั้งนี้…”

จิตใจของทหารญี่ปุ่นที่ถูกสั่งให้มารบ กับกำลังใจของคนไทยที่ปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง จึงไม่อาจเทียบกันได้ ญี่ปุ่นคงจะต้องถอยจนตกทะเลให้ขายหน้า และจะมีการเสียบกันตายคาดาบปลายปืนอีกหลายคู่ ถ้าไม่มีแตรสัญญาณให้หยุดยิงเมื่อเวลา 11.00 น. เศษ แม้แตรสัญญาณนี้จะถูกเป่าขึ้นหลายครั้ง ก็ไม่อาจทำให้ทหารไทยที่กำลังฮึกเหิมยอมหยุดได้ จนทั้ง 2 ฝ่ายต้องจัดให้มีผู้ห้ามยิงฝ่ายละคนเดินคล้องแขนกันไปกลางแนวรบของทั้ง 2 ฝ่าย การต่อสู้นองเลือดจึงได้ยุติลงได้

ญี่ปุ่นได้ส่งผู้แทนเจรจากับฝ่ายไทย โดยมีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 เป็นประธาน ผลการเจรจายุติการรบ สรุปได้ดังนี้ คือ ญี่ปุ่นขอให้ไทยถอนทหารจากที่ตั้งปกติไปพ้นแนวคลองสะพานราเมศวร์ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพราะญี่ปุ่นต้องการใช้สนามบินโดยด่วน

ฝ่ายไทยยินยอมให้หน่วยทหารญี่ปุ่นเข้าพักอาศัยในโรงทหารของไทยได้ทั้งหมด โดยฝ่ายไทยรวมทั้งครอบครัวนายทหารและนายสิบ จะย้ายไปพักในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช อาศัยตามโรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการ ฯลฯ ฝ่ายไทยขอขนย้ายอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุนวัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย สรุปผลของการสู้รบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 38 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 3 คน นายทหารประทวน 3 คน พลทหาร 32 คน ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่ยอมแจ้ง

หลังสงครามมหาเอเซียบูรพายุติแล้ว ทางราชการและประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกและเป็นเกียรติแก่ทหารหาญของชาติตรงบริเวณที่มีการสู้รบกับทหารญี่ปุ่น โดยให้ชื่อว่า “อนุสาวรีย์วีรไทย” แต่ชาวบ้านเรียกอนุสาวรีย์นี้ว่า “อนุสาวรีย์จ่าดำ” หรือ “อนุสาวรีย์เจ้าพ่อดำ” ซึ่งตามรายชื่อของผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครชื่อ “ดำ” เลย ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวนหรือสัญญาบัตร

แต่อย่างไรก็ตาม ร.อ.พิชิต สมภู่ ซึ่งเป็นทหารเสนารักษ์ในวันนั้น ได้ยืนยันกับผู้ใกล้ชิดว่า เป็นผู้ดึงดาบปลายปืนออกจากศพทหารไทยและญี่ปุ่นคู่หนึ่ง ฝ่ายไทยเป็นพลทหารมีชื่อจริงว่าอะไรไม่ทราบ ทราบแต่ชื่อเล่นว่า “ดำ” เมื่อตอนญี่ปุ่นบุกได้ออกวิ่งมาด้วยกันโดยไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว พลทหารดำอยู่ในชุดกางเกงขาสั้นเสื้อคอกลม และคว้าปืนจากศพทหารไทยออกไปประจัญบานกับข้าศึก ตอนที่ตนจะดึงดาบปลายปืนออกจากศพทหารทั้งสองนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอทำพิธีสดุดีวิญญาณผู้ตายก่อนถอน และเมื่อตอนที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์ ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของพลทหารดำให้ พล.ต.หลวงเสนาณรงค์ทราบ แต่ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์เห็นว่านุ่งกางเกงขาสั้นเสื้อคอกลมดูไม่เหมาะ จึงใส่เครื่องแบบให้ ทั้งยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างว่า เนื่องจากมีการบอกกล่าวร่ำลือ ว่ารูปหล่อวีรบุรุษที่ยืนอยู่บนแท่นอนุสาวรีย์นี้ เป็นนายทหารชั้นจ่านายสิบที่ประจัญบานกับทหารญี่ปุ่นด้วยดาบปลายปืนจนเสียบคาอกด้วยกันทั้งคู่ ส่วนคำว่า “ดำ” นั้น อาจจะมาจากอนุสาวรีย์นี้หล่อด้วยทองเหลือง แต่ทางราชการเกรงว่าจะมัวหมองจากอากาศ จึงเอาสีดำมาทาจนดำสนิท เลยเรียกกันว่า “จ่าดำ” ไปน (โรม บุนนาค, 2560)

อนุสาวรีย์วีรไทยนี้ กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบ โดยได้มอบหมายงานให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้รับผิดชอบ โดยศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้มอบงานนั้นให้แก่อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ประติมากรฝีมือดี ซึ่งผ่านสงครามอินโดจีนกลับมาเป็นผู้ปั้น ให้มีลักษณะเป็นทหารราบในเครื่องสนามครบครัน มือถือปืนกำลังวิ่งอยู่ในท่าจะเข้าประจันบาน เป็นผลงานที่อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ รักมากกว่ารูปปั้นอื่นๆ (กองบรรณาธิการ, 2535, น. 36)

และ ในทุกวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี จะถือเป็นวันวีรไทย กองทัพภาคที่ 4 จะจัดงานวางพวงมาลาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ เพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมของทหารและยุวทหารในภาคใต้ ในการปกป้องอธิปไตยของชาติไทย ซึ่งเราชนรุ่นหลังได้มองเห็นถึงความกล้าหาญของวีรชนไทย จะขอรำลึกจดจำวีรกรรมของทุกท่านไว้ไม่รู้ลืม

บรรณานุกรม

  • กองบรรณาธิการ. (2535). อนุสาวรีย์วีรไทย. สารนครศรีธรรมราช, ปีที่ 22(9), 34-39.
  • โรม บุนนาค. (2560). สมรภูมิเดียวที่ญี่ปุ่นต้องถอยตอนบุกไทย! ใจไม่ถึงที่จะยอมเสียบกันตายคู่ เป็นที่มาของ “อนุสาวรีย์จ่าดำ”. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2567. จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000069982
  • สารนครศรีธรรมราช. (2559). พ่อจ่าดำ ตำนานวีร(บุรุษ)ไทย. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2567. จากhttps://www.facebook.com/SanNakhonsithammarat/posts/3864707153540762/

Visits: 265

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.