คลองปากพยิง : จากปากน้ำถึงต้นน้ำ

คลองปากพยิง มีต้นน้ำเกิดจากหนานระฟ้าในเขตเทือกเขาหลวง ไหลผ่านน้ำตกอ้ายเขียว อำเภอพรหมคีรี เรียกว่าคลองอ้ายเขียว ไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา มีลำคลองสาขาสามสาย ได้แก่ คลองชุมขลิง คลองเคย และคลองเก่า ในอดีตคลองปากพยิงเคยเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ทั้งขาขึ้น (จากปากแม่น้ำขึ้นไป) เรือสินค้าจากพ่อค้าต่างถิ่น เข้ามาทางปากแม่น้ำ นำสินค้า เกลือ เครื่องเทศ ผ้า ฯลฯ เข้ามาซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยน และขาล่อง (จากอ้ายเขียวลงมา) “เรือเหนือ” ชาวเหนือจะนำสินค้า พืช ผัก สมุนไพร ผลไม้ และ พลู บรรทุกเรือลงมาขายหรือแลกกับ เกลือ ปลาทะเล ข้าวเปลือกหรือข้าวสาร มีเรื่องเล่ามากมายตั้งแต่ปากน้ำจนถึงต้นน้ำเกี่ยวกับคลองสายนี้

ความกว้างปากแม่น้ำ คลองปากพยิง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 216 เมตร

คลองปากพยิง กับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์

บ้านจันพอ ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา ต่วนกูนาด เจ้านายนอกหน้า และต่วนกูกลาย (ทวดกลาย/พ่อท่านกลาย) บุตรทั้งสามของพระยารามเดโช อดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สร้างบ้านอาศัยอยู่นแต่ขาดแคลนน้ำใช้ทำนา จึงขุดคลองต่อจากคลองในเขียวถึงจันพอ แล้วไปต่อกับคลองปากพยิง ทำให้ชาวนาที่จันพอมีน้ำใช้ทำนาตั้งแต่นั้นมา

สงครามเก้าทัพ พม่ายกทัพเข้ามาตั้งทัพที่ฝั่งคลองทิศเหนือ บริเวณบ้านหน้าทัพในปัจจุบัน นครศรีธรรมราชตั้งกองกำลังยันทัพพม่าที่ฝั่งคลองทิศใต้คือบ้านปากพยิงในปัจจุบัน และมีการยิงต่อสู้กันจึงเรียกแถวนั้นว่าปากพม่าพยิงและเรียกชื่อคลองว่า คลองปากพม่ายิง จนปัจจุบันคงเหลือเรียกติดปากว่า “บ้านปากพยิง” “คลองปากพยิง”

คลองปากพยิง
สะพานปากพยิง เชื่อมระหว่างอำเภอท่าศาลาและอำเภอเมือง

ชุมชนพหุวัฒนธรรม

ความเป็นอยู่และประเพณีของชุมชนริมคลองปากน้ำปากพยิง จัดเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม พุทธ อิสลาม อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน และกลมเกลียว เสียงอาซาน เสียงสวดมนต์ เป็นสิ่งปกติที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ศาสนาไม่ใช่ปัญหาการอยู่ร่วมกันในชุมชน การพบปะสังสรรค์ ไปมาหาสู่ ร่วมกันแก้ปัญหาชุมชน สร้างงานให้ชุมชนนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนบ้านหน้าทัพ ชุมชนบ้านแหลม เป็นชุมชนนวัตวิถีของบ้านแหลมโฮมสเตย์ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ปากพูน ทั้งสองฝั่งคลองเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ชุมชนสร้างสรรค์ ชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนสร้างกันเองได้ เป็นชุมชนร่มเย็น สุข สงบ และสันติ

ต้นน้ำและกลางน้ำ พรหมโลก จันพอ ดอนตะโก และโมคลาน ชุมชนพหุวัฒนธรรม พราหมณ์ พุทธ และที่เป็นจุดเด่นสุดน่าจะเป็นชุมชนดอนตะโกถึงชุมชนโมคลานที่มีถึงสามศาสนา อิสลาม พราหมณ์ พุทธ อยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์ ชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ไปมาหาสู่กันมีการพบปะพูดคุย ศาสนาสถาน โบราณสถาน ได้รับการดูแลจากผู้คนในท้องถิ่นที่นับถือตามศาสนาของตน

เป็นที่สังเกตว่าต้นน้ำและกลางน้ำของคลองปากพยิงนั้นเป็นแผ่นดินเดิม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโมคลานแหล่งชุมชนพราหมณ์ที่ตั้งพื้นที่ลุ่มชายทะเล ที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ไศวนิกาย เป็นชุมชนค้าขาย มีเทวาลัยขนาดใหญ่ ปัจจุบันคือโบราณสถานโมคลาน ส่วนบริเวณปากน้ำนั้นเป็นแผ่นดินที่งอกใหม่จึงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคอารยธรรมโบราณ

โบราณสถาน

  • วัดไทรขาม วัดหญ้าปล้องและวัดจันพอ ตำบลดอนตะโก พบฐานโยนิโทรณะ หรือฐานโยนี
  • โบราณสถานวัดตาเณร (ร้าง) ตำบลโพธิ์ทอง พบเทวรูปพระวิษณุศิลา
  • แหล่งโบราณสถาน บ้านพรหมโลก มีการพบศิวลึงค์ คลองชุมขลิงไหลผ่าน
  • แหล่งโบราณคดีบ้านโมคลาน เป็นศูนย์กลางชุมชนลุ่มน้ำ มีทุ่งน้ำเค็ม เป็นจุดรวมของ คลองอ้ายเขียว คลองห้วยหินลับ คลองนอกท่า

การท่องเที่ยว

ปากคลองปากพยิงคือปลายน้ำกับสถานที่ท่องเที่ยวริมคลอง มีทั้งฝั่งตำบลท่าศาลา และฝั่งตำบลปากพูน จุดเด่นของปากคลองคือมีน้ำขึ้น น้ำลง มีคลื่น ในวันที่ทะเลมีคลื่นมากจะเห็นได้ชัด และน้ำเค็มมากกว่าน้ำกร่อย สถานที่ท่องเที่ยวที่แนะนำ:

  • โบสถ์เก่าแก่ วัดไพศาลสถิตย์ ตำบลปากพูน ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อปากแดง ตัวโบสถ์มีรากต้นไทรห้อยแทรกอยู่ งดงาม เป็นศิลปะในตัวเอง
  • อุโมงค์อเมซอน ตำบลปากพูน ไปชมความสมบูรณ์ของป่าโกงกางทอดตัวเรียงกันเป็นซุ้มให้เรือลอดผ่าน
  • บ้านแหลมโฮมสเตย์ หมู่ 14 ตำบลท่าศาลา (ห่างจากริมคลองมาหน่อย) ชุมชนนวัตวิถี ไปสัมผัสธรรมชาติ ตื่นเช้าล่องเรือไปจิบกาแฟแลหวัน สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ค่ำล่องเรือชมหิ่งห้อย
  • ร้านอาหาร(ไม่)ลับ ไปชิมอาหารทะเลสดมาก ๆ รสชาติพื้นบ้านแท้ ครัวชายคลองติดปากน้ำปากพยิง (ถ้าหาเจอ) และครัวปากพยิงใกล้สะพานปากพยิง (หาไม่ยาก)
  • จุดชมวิวเครื่องบินขึ้น-ลง สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่บริเวณปากน้ำจนถึงคลองชุมขลิง ร้านอาหารทั้งสอง และบนสะพานปากพยิง จะเห็นชัดมาก
  • ตลาดนัด วันจันทร์ วันศุกร์ บ้านปากพยิง ตำบลปากพูน (ไม่ไกลจากสะพานปากพยิงทางทิศใต้มากนัก) ตลาดนัดวันพุธ บ้านหน้าทัพ ท่าศาลา (จากสะพานมาทางทิศเหนือ)

ที่ไม่ได้แนะนำก็จะเป็นสถานที่ไกลจากริมคลองปากพยิงไป เช่น โบราณสถานโมคลาน โบราณสถานวัดขุนโขลง วัดจันพอ ตลาดนัดวันเสาร์

ต้นน้ำ

น้ำตกพรหมโลก และน้ำตกอ้ายเขียว เป็นน้ำตกต้นน้ำไหลลงสู่คลองปากพะยิง มีคลองชุมขลิง คลองอ้ายเขียวเป็นคลองต้นน้ำจากอำเภอพรหมคีรีไหลผ่านอำเภอท่าศาลา ผ่านแหล่งโบราณสถาน บ้านพรหมโลก แหล่งโบราณคดีบ้านโมคลาน บ้านทุ่งน้ำเค็ม นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่าโบราณสถานเขตลุ่มน้ำปากพะยิง ซึ่งมีต้นน้ำคือ:

  • คลองนอกท่า คลองชุมขลิง ไหลผ่านตำบลหัวตะพาน เรียกว่าคลองขุด ไหลผ่านตำบลโมคลาน เรียกว่า คลองวัดโหนด ไหลผ่านตำบลโพธิ์ทองเรียกว่า คลองบ้านยิง ไปบรรจบที่คลองปากโพธิ์ ไหลออกสู่คลองปากพยิง ออกสู่ทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ระหว่างหมู่ 8 (ฝั่งทิศใต้) หมู่ 14 (ฝั่งทิศเหนือ) ตำบลท่าศาลา
  • คลองอ้ายเขียวหรือคลองในเขียว ต้นน้ำเกิดจากเขาขี้แรด เทือกเขาหลวง ในเขตอำเภอพรหมคีรี ไหลผ่านตำบลดอนตะโก เรียกว่าคลองจันพอ ไหลผ่านตำบลโมคลาน เรียกว่าคลองอู่ตะเภา ไหลผ่านตำบลโพธิ์ทองเรียกว่า คลองไหล ไปบรรจบที่คลองปากโพธิ์ ไหลออกสู่คลองปากพยิง ออกสู่ทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ระหว่างหมู่ 8 (ฝั่งทิศใต้) หมู่ 14 (ฝั่งทิศเหนือ) ตำบลท่าศาลา
  • คลองห้วยหินลับ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหลวงในเขตอำเภอพรหมคีรีไหลผ่านตำบลดอนตะโก เรียกว่า คลองลาว ไหลผ่านตำบลโมคลาน เรียกว่าคลองโต๊ะเน็ง ไปบรรจบที่คลองปากโพธิ์ ไหลออกสู่คลองปากพยิง ออกสู่ทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ระหว่างหมู่ 8 (ฝั่งทิศใต้) หมู่ 14 (ฝั่งทิศเหนือ) ตำบลท่าศาลา
  • คลองปากโพธิ์ บรรจบด้วยคลองสามสายคือ คลองบ้านยิง คลองอู่ตะเภา คลองโต๊ะเน็ง ไหลออกสู่คลองปากพยิง ออกสู่ทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ระหว่างหมู่ 8 (ฝั่งทิศใต้) หมู่ 14 (ฝั่งทิศเหนือ) ตำบลท่าศาลา
  • ใกล้กับปากน้ำปากพยิงมีลำคลองสาขาคือ คลองเก่า ตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
สาขาคลองปากพยิง
ที่มา: Google

ลำคลองสาขาสามสาย ได้แก่:

  • คลองชุมขลิง
  • คลองเคย
  • คลองเก่า

เมืองนครศรีธรรมราชมีแม่น้ำ ลำคลอง สำคัญหลายสาย หนึ่งในนั้นมีคลองปากพยิงที่ไหลผ่านสามอำเภอได้แก่ อำเภอพรหมคีรี อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จัดเป็นแม่น้ำสายสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ทางเศรษฐกิจมีอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้มากมายจากลำคลอง เช่น อาชีพประมงพื้นถิ่น อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง อาชีพท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เลี้ยงนกนางแอ่น ชุมชนนวัตวิถี ต่อเรือประมงขนาดเล็ก ลอกใบจาก ฯลฯ และความสำคัญทางภูมิศาสตร์คือเป็นลำคลองที่มีปากแม่น้ำสู่อ่าวไทย ช่วยระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม อุทกภัย

คลองปากพยิง
เรือประมงพื้นถิ่น และการเลี้ยงปลาในกระชัง (ฝั่งตรงข้าม)

อ้างอิง

ท่าศาลาศึกษา

Visits: 48

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.