พลูดีนครศรีธรรมราช : พลูปากหราม พลูวังโหล

พลูดีนครศรีธรรมราช

พลู (Betel) เป็นไม้เถา และเป็นพืชวงศ์เดียวกับพริกไทย จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นเกลี้ยงเป็นปล้อง และมีข้อ และเวลาแตกออกตามข้อของลำต้น ก็จะยึดเกาะวัสดุสำหรับช่วยพยุงลำต้นเลื้อยขึ้นที่สูงได้ และทำให้ลำต้นไม่หลุดร่วงลงสู่พื้นได้ง่าย ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ออกสลับกัน รูปหัวใจหรือกลมแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม เนื้อใบค่อนข้างเป็นมันสด ใบอ่อนมีสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน เส้นใบนูนเด่นทางด้านล่าง ก้านใบยาว ดอกพลู มีสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อ มีช่อดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละต้น ประกอบด้วยช่อดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้ มีใบประดับดอกขนาดเล็กรูปวงกลม ดอกมักบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ไม่ค่อยพบเห็นผลของพลู เพราะมีโอกาสผสมเกสรน้อย ดังนั้นเวลาปลูกจะต้องยึดกับเสาหรือต้นไม้อื่นเป็นหลักเรียกว่า ค้างพลู โดยทั่วไปจะเห็นต้นหมากเป็นค้าง (พลู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่น ๆ และข้อมูลงานวิจัย, ม.ป.ป.)

1. ลักษณะเฉพาะของพลู

พลูเป็นพันธุ์ไม้เถาใบมีสีเขียวหลายระดับ การปรับระดับสีของใบพลูเป็นไปตามระยะเวลาของธรรมชาติ เนื้อใบของพลูผลิใบออกมาเป็นสีเขียวอ่อนสว่างปนเหลืองและจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนสว่าง จนเป็นใบแก่มีสีเขียวเข้มแก่จัด

    • ใบเป็นรูปหัวใจขนาดต่าง ๆ กันตามความแก่อ่อน

    • พลูแตกยอดเป็นช่อและเติบโตตามแขนงของลำต้นอย่างมั่นคง แข็งแรง

    • เส้นของใบเป็นเส้นคู่สับหว่างบรรจบกันที่แกนกลางของใบ

    • เถาพลูจะยืดออกเกาะติดพื้นด้วยรากอ่อนเลื้อยไปตามระดับพื้น พลูบางเถายึดต้นไม้ทำหลักแต่จะไม่ทำให้หลักหรือค้างพลูเสียหาย ต้นพลูยิ่งแตกใบมาก ต้นไม้หลักก็จะดีไปด้วยกัน พลูช่วยห่อลำต้นไม้หลักให้อบอุ่น

พลูเป็นพืชที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน ในลักษณะการบริโภคกับหมากหรือที่เรียกกันว่า “การกินหมาก” ทั้งนี้เพราะในพลูมีสารชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคมีอาการกระปรี้กระเปร่า สมองแจ่มใส นอกจากนี้พลูยังสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด ทำให้พลูเข้ามามีส่วนกับศิลปะวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้นการปลูกพลูจึงมีอยู่ทั่วไป นครศรีธรรมราชปลูกพลูเฉพาะเชิงเขา นิยมกินพลูหนัก ที่นิยมกินมีหลายชนิด พลูวังโหล พลูปากหราม พลูจำปา และพลูคลองงา แต่ที่นิยมกินกันมากที่สุดคือพลูปากหราม จนมีสำนวนถึงของดีเมืองนครศรีธรรมราชว่า “เคยปากพนัง ยากลาย ดีปลีกลาย พลูปากหราม ควายงามสิชล คนงามฉลอง”

พลูที่นิยมปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่

  • พลูปากหราม ปลูกแถบอำเภอพรหมคีรี
  • พลูวังโหล ปลูกแถบอำเภอลานสกา
  • พลูจำปา ปลูกแถบอำเภอทุ่งสง
  • พลูคลองงา ปลูกแถบอำเภอช้างกลาง 

หลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยสุโขทัยมีกล่าวถึงพลูดีที่นครศรีธรรมราชไว้ว่า “ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น” เพราะพระร่วงเจ้าก็กินหมากสุโขทัยนำเข้า หมากและพลูไปจากนครศรีธรรมราช

2. พลูดีที่นครศรีธรรมราชกับบทบาทต่อประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่น

พลูมีประวัติความเป็นมายาวนานมีบทบาทต่อการบริโภคและเป็นยาสมุนไพร ในอดีตชาวบ้านมักพกพลูติดตัวหากเกิดอุบัติเหตุจะใช้พลูห้ามเลือด พอกแผลสด นอกจากนี้แล้วพลูยังมีบทบาทต่อประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของนครศรีธรรมราชอีกด้วย

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีที่มักจะใช้พลูเป็นส่วนสำคัญ และขาดไม่ได้ ได้แก่

  • ประเพณีการแต่งงาน ใช้หมากพลูจัดขันหมาก
  • ประเพณีสารทเดือนสิบใช้หมากพลูใส่หฺมฺรับ
  • พิธีไหว้ครูโนรา โนราโรงครู พิธีครอบริดผูกผ้าใหญ่ ใช้หมากพลู และกรวยพลู
  • พิธีทำขวัญเด็กใช้ใบพลูเจิมหน้าเด็ก
  • พิธีกรรมอื่น ๆ ที่ใช้กรวยหมากพลู เช่น พิธีอุปสมบท พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีบวงสรวงต่าง ๆ
  • และรวมถึงวัฒนธรรมการกินหมากมีใบพลูเป็นเครื่องเคียงด้วย
พลูดีที่นครศรีธรรมราช
พลูดีที่นครศรีธรรมราช

วัฒนธรรมการกินหมากและพลู

คนไทย โดยเฉพาะคนไทยสมัยโบราณมีวัฒนธรรมการกินหมากมีใบพลูเป็นเครื่องเคียงด้วย แต่ในปัจจุบันความนิยมลดลงมากจนหายากแล้ว

พลูเฉพาะถิ่นนครศรีธรรมราช

พลูปากหราม

พลูปากหราม
พลูปากหราม ใบสีเขียวอ่อน รูปใบคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม

ปากหราม เป็นชื่อเดิมของบ้านนอกท่า อยู่ในเขตตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี พื้นที่บ้านปากหราม ตั้งอยู่เชิงเขาใกล้แหล่งน้ำ มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ทำให้พลูเจริญงอกงาม รสชาติดีเป็นพิเศษกว่าที่อื่น และถูกปากชาวนครศรีธรรมราช พลูปากหราม ปลูกมากที่ตำบลพรหมโลก และตำบลทอนหงส์ ชื่อเรียกมาจากภาษาพื้นบ้านนครศรีธรรมราชเรียกคนที่กินหมากจนปากเป็นสีแดงว่า ปากหราม และพื้นที่ในเขตภูเขาเรียกว่า เหนือ ชื่อโบราณนี้จึงสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรมและทำเลที่ตั้งของชุมชน “เหนือปากหราม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น “พรหมโลก” ตามชื่อของผู้ปกครอง คือ ขุนพรหมโลก

ลักษณะพลูปากหราม

จะมีลักษณะดังนี้ ใบสีเขียวอ่อน รูปใบคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม ขนาดใบไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่หนาเกินไปมีขนาดพอดีคำ ใบพลูกรอบ รสเผ็ดพอดี ไม่เผ็ดมากเหมือนพลูเผ็ด และไม่จือเหมือนพลูก้านยาว มีกลิ่นหอม

สวนพลูปากหราม

      ชาวสวนปลูกพลูปากหรามในสวนสมรมที่มีต้นไม้ใหญ่ ให้เถาพลูยึดเกาะกับต้นไม้ใหญ่ในสวนเป็นหลัก เรียกว่าค้างพลู การเก็บใบพลูสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี อาจมีทิ้งช่วงสามถึงสี่เดือนให้พลูแตกยอดใหม่บ้าง ชาวสวนพลูปากหรามสามารถสร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง
      พลูดีต้อง “พลูปากหราม” รสชาติดี ถูกปาก สมัยก่อนชาวนครศรีธรรมราชนิยมกินหมาก ในแต่ละวันกินไม่น้อยกว่าสามคำ บางคนก็กินไม่ขาดปาก จนปาก ลิ้น ฟันแดง นาน ๆ เข้าจากฟันแดงก็กลายเป็นฟันดำ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกฟันดำว่า “ฟันงาม” ผู้ที่นิยมกินหมากก็อยากจะให้ฟันของตนงาม ก็จะเสาะหาหมากและพลูที่มีคุณภาพและรสชาติดี ถูกปาก นั่นก็คือ “พลูปากหราม”
      สวนพลูปากหราม พบได้มากในพื้นที่ริมคลองในเขียว ริมคลองชุมขลิง ตำบลทอนหงส์ ทั้งสองคลองไหลลงสู่ คลองปากพยิง และออกทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ในอดีตการค้าขายพลู ผัก ผลไม้ ก็ใช้เส้นทางนี้และเป็นที่มาของ “เกลอเขา-เกลอเล” หรือหากเคยเดินทางไปเที่ยวน้ำตกอ้ายเขียวสองข้างทางในสวนสมรมทางเข้าก่อนถึงน้ำตกจะปลูกพลูปากหรามเช่นกัน ปัจจุบันพบการปลูกพลูปากหรามในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มักจะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงอำเภอพรหมคีรี ได้แก่ อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช แต่รสชาติ และความกรอบอาจจะไม่เหมือนปลูกที่ปากหรามเสียทีเดียว    

พลูวังโหล

พลูวังโหล
พลูวังโหล ใบใหญ่ หนา กรอบ

สวนปลูกพลูวังโหล

สวนพลูวังโหล ปลูกมากที่ ตำบลกำโลน และตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา เป็นพลูที่ได้รับความนิยมมากจนได้รับฉายาว่าเป็น “พลูเทวดา” หรือ “พลูขุนน้ำ” ตามประวัติเล่าว่า พลูวังโหล นำพันธุ์พลูปากหรามมาปลูกที่บ้านวังโหล ได้รสชาติ สีของใบพลู ความหนาของใบพลูและความกรอบที่แตกต่างกันจนได้เป็นพลูพันธุ์ใหม่ขึ้นมาที่บ้านวังโหล เรียกตามชื่อสถานที่ว่า พลูวังโหล และได้รับความนิยมว่าเป็นพลูชั้นดีของนครศรีธรรมราชมีใบใหญ่ หนา กรอบ ใบเกลี้ยงเป็นมัน

ลักษณะเด่นพลูวังโหล

    • ใบใหญ่ หนา กรอบ เกลี้ยง เป็นมัน สีเขียวเข้ม ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนมน ก้านใบยาว

    • ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช

    • เป็นพลูหนัก พลูดี มีราคา เป็นที่นิยม พลูหนัก คือ พลูใบหนา ใบเรียวได้รูปสวยงาม โคนใบเป็นสีเขียวเข้ม แล้วสีจะไล่เป็นเขียวอ่อน จนเป็นสีเหลืองที่ปลายใบ ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต้องใช้พลูหนัก

    • รสชาติเผ็ดร้อน ปนหวานเล็กน้อยในเนื้อใบ

    • นิยมใช้กินกับหมาก และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

3. พลูเป็นยาสมุนไพร

  • แก้คัน แมลงกัดต่อย ลมพิษมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรค ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบของแผล
  • บรรเทาอาการปวด เคล็ดขัดยอก ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา กลาก เกลื้อน
  • มันหอมระเหย ลดอาการเกร็งของลำไส้ รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • เป็นยาถ่ายพยาธิ (คั้นน้ำจากใบพลูสด)
  • มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  • ป้องกันโรคหวัด
  • กำจัดกลิ่นปาก
  • ห้ามเลือด
พลูปากหราม

นอกจากนี้ พลูมีความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ในมิติวัฒนธรรมมลายู ได้สื่อความหมายและให้คุณค่าของพลูมากกว่าความเป็นพืชสมุนไพร บายศรีพลู วัฒนธรรมมลายูแบบดั้งเดิม บุหงาซีเระ ภาษามลายู บุหงา หมายถึง ดอกไม้ ซีเระ หมายถึง พลู รวมเรียกว่า บายศรีพลู คือการนำใบพลูเรียงซ้อนสลับด้วยดอกไม้โดยใช้ยอดกล้วยเป็นแกนกลาง ประดิษฐ์ในลักษณะต่าง ๆ ให้สวยงาม นิยมทำในงานมงคล งานแต่งงานที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปมอบให้ฝ่ายเจ้าสาว ปัจจุบันบายศรีพลูมีขบวนร่วมในประเพณีการแห่นก 

การทำสวนพลู เป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งของชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ในอดีต เป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นสื่อสำคัญทำให้เกิดวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวสวนพลูทั้งสองพื้นที่ว่า มีความผูกพันกับทุกเพศทุกวัย และพลูเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดหน้าที่การงาน ความเชื่อ ค่านิยม และการดำรงชีพในวิถีชีวิตของกลุ่มชนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ปัจจุบันพลูมีบทบาทลดลง จึงส่งผลต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ ถูกลดบทบาทลงไปด้วย

  • พลูปากหราม และพลูวังโหล เป็นพลูที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากบรรดาพลูในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และในปัจจุบันพื้นที่ทั้งสองแห่งยังคงมีชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนพลู พลูปากหรามนิยมปลูกในสวนสมรม พลูวังโหล ปลูกเป็นสวนสร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง พลูนอกจากจะมีบทบาทด้านการบริโภค สมุนไพร ประเพณี วัฒนธรรมแล้ว พลูยังมีบทบาททางเศรษฐกิจอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

พลู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย. (ม.ป.ป.). disthai.com. https://www.disthai.com/17039281/พลู

รัตติยา สาและ. บายศรีพลู. จังหวัดนราธิวาส. http://www2.narathiwat.go.th/nara2016/files/com_order/2019-05_e791aa7b3e711e4.pdf 

โสพิศ โพธิสุวรรณ. (2543). การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมการทำสวนพลูปากหราม กับพลูวังโหล จังหวัดนครศรีธรรมราช. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยทักษิณ]. TSU Knowleadge Bank. http://kb.tsu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/1463/1/โสพิศ%20โพธิสุวรรณ%2000057293.pdf

Visits: 63

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.