สาละลังกา : คือต้นสาละตามความเชื่อในพุทธประวัติหรือไม่?

เมื่อเวลาไปวัดก็จะสังเกตเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีดอกสวยงาม สีชมพูอมเหลืองหรือแดง ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู มีกลิ่นหอมมาก ช่อดอกยาวประมาณ 2-3 ฟุต มีผลขนาดใหญ่เท่ากับลูกตะกร้อหรือลูกปืนใหญ่ ต้นไม้ชนิดนั้นก็คือ ต้นสาละลังกานั่นเอง ดังนั้นจึงมาทำความรู้จักกับต้นสาละลังกาว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร

ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ต้นสาละ เป็นต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่ต้นสาละที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ คือต้นสาละลังกา เพราะมีประวัติอันยาวนานที่มาจากศรีลังกานั่นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อสาละลังกา หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อคือลูกปืนใหญ่ (ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์, 2553)  ชาวศรีลังกาถือว่าสาละเป็นไม้มงคลเพราะดอกสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมนำไปถวายพระ มักปลูกในบริเวณวัดและปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศเขตร้อน สาละลังกาไม่ใช่ต้นสาละในพุทธประวัติคนทั่วไปเข้าใจผิดด้วยชื่อสาละเหมือนกัน (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2557)

ต้นสาละลังกา หรือต้นลูกปืนใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ประเทศศรีลังกาได้พันธุ์มาจากอเมริกาใต้มาปลูกเมื่อพุทธศักราช 2422 ส่วนประเทศไทยนำมาปลูกเมื่อพุทธศักราช 2500 (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2557)

สาละลังกามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis  และมีชื่อสามัญว่า Cannonball Tree อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae  หรือวงศ์ของต้นจิก ต้นกระโดน  ลักษณะต้นของสาละลังกาคือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง จุดเด่นของต้นสาละก็คือดอกที่สวยงาม มีสีชมพูอมเหลืองหรือแดง ด้านในมีสีม่วงอ่อนอมชมพู กลิ่นหอมมาก ช่อดอกยาวประมาณ 2-3 ฟุต ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ  ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 เซนติเมตร และดอกบานได้นานเป็นเดือนส่วนผล มีลักษณะเป็นผลแห้ง ทรงกลมใหญ่ ขนาด 10-20 เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีน้ำตาลปนแดง เป็นที่มาของชื่อลูกปืนใหญ่ ข้างในมีเมล็ดจำนวนมากแต่ผลสุกมีกลิ่นเหม็น (ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์, 2553)

ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์ (2553) ได้กล่าวถึงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าประสูติ ดังประวัติที่ว่า เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระประสูติกาล จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า “สวนลุมพินีวัน” เป็นสวนป่าไม้ “สาละ”  (ปัจจุบันคือตำบล “รุมมินเด” แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ ก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ หลังจากที่ได้เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจุอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชราได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฏว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับใต้ต้นสาละตลอดเวลากลางวัน พอเวลาตอนเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน 6  

เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน (ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์, 2553)  

ต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจริง ๆ เรียกว่าต้นสาละ หรือต้นสาละอินเดีย คนทั่วไปคิดว่าเป็นต้นเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วต้นไม้นั้นเป็นคนละต้นกับต้นสาละลังกา ซึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่กันคนละวงศ์กัน (ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์, 2553)

สาละลังกา และ สาละอินเดีย ทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกัน แต่ก็ยังเกิดความสับสน และเข้าใจผิดถึงความสำคัญมาเป็นเวลานาน เพราะเป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์และโชคลาภ สาละลังกาเป็นไม้ดอกสวยมาก มีลักษณะรูปร่างของดอกที่พิสดาร หาดอกไม้อื่นมาเทียบได้ยาก อีกทั้งผลขนาดใหญ่เท่าตะกร้อก็ดูโดดเด่น ผู้คนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าสาละลังกาเป็นพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ  พระคุณเจ้าเกือบทุกวัดก็มีความเชื่อเช่นนั้น จึงมีการปลูกสาละลังกาไว้เกือบทุกวัด บางวัดก็ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกราบไหว้เพื่อขอพร ทั้งที่ความจริงแล้วนั้น ควรจะกราบไหว้ต้น“สาละอินเดีย” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยตรง ด้วยเป็นต้นไม้วงศ์เดียวกันกับยางนา จึงเห็นแต่ใบทั้งปี ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้จัก (วิชัย ปทุมชาติพัฒน์, ม.ป.ป.)

จึงสรุปได้ว่า “ต้นสาละลังกา” ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใดเลย ต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติก็คือ “ต้นสาละอินเดีย” ซึ่งเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง สำหรับประเทศไทยเองก็นิยมปลูกต้นสาละลังกาไว้ในบริเวณวัดเช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน เพราะมีชื่อ “สาละ” เหมือนกัน

ข้อมูลอ้างอิง

ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์. (2553). สาละลังกา. นิตยสารหมอชาวบ้าน, 377. https://www.doctor.or.th/article/detail/10954

ลูกปืนใหญ่ (พืช). (2566, 31 สิงหาคม). In Wikipedia. https://th.wikipedia.org/wiki/ลูกปืนใหญ่_(พืช)

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์. (ม.ป.ป.). สาละลังกา ไม้ดอกสวยที่มักสับสน. https://identity.bsru.ac.th/archives/3469

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2557). ต้นสาละลังกา. http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ต้นสาละลังกา-๒-กุมภาพันธ

Visits: 2434

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.