พระบฏ : ภาพเขียนบนผืนผ้า

ภาพเขียนบนผ้าพระบฏ เกิดจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน พระบฏในคติธรรมเดิมสร้างขึ้นเพื่อประดับตกแต่งวัด ใช้ภาพเขียนเป็นคติธรรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชน ภาพเขียนบนผ้าพระบฎจึงเป็นภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธศาสนา แสดงถึงพระพุทธเจ้า พุทธประวัติ ทศชาติชาดก คําสอนคติธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นหลัก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “บฏ หมายถึง (๑) (แบบ) น. ผ้าทอ, ผืนผ้า (ป., ส. ปฏ) (๒) น. เรียกผืนผ้าที่เขียนหรือทอเป็นรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา ว่า พระบฏ. (ป., ส. ปฏ)” บฏ มาจากคําในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ที่แอบคล้ายกับ ภาคใต้มีคำว่า “ปาเต๊ะ” คำภาษามลายู ใช้เรียกผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงที่มีลวดลายและกรรมวิธีการทำเฉพาะตัว

ประวัติ “ผ้าพระบฏ” นครศรีธรรมราช

ผ้าพระบฏของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นผ้าพื้นสีขาว ผืนยาว เขียนภาพเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไปตามช่องภาพ ความยาวของผ้าอย่างน้อย 80 เมตร เนื่องจากความยาวรอบพระบรมธาตุเท่ากับ 80 เมตร เขียนภาพตามแนวนอน ผ้าพระบฏแต่ละผืนจึงมีภาพเขียนหลายภาพ เรื่องราวต่อเนื่องกันทั้งผืน เมื่อภาพเขียนเสร็จแล้วก็จะมีการสมโภชผ้าพระบฏ พิธีแห่ และนำขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ พิธีสมโภชผ้าพระบฏ มักจะนำไปสมโภชที่อำเภอปากพนัง เพราะเป็นต้นกำเนิดตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และที่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ถนนราชดำเนิน ใกล้สี่แยกตลาดแขก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ที่มา: ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช หน้า 10

ตามความเดิม “ครั้งนั้นชาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน 100 หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้าย สำเภาแตกชัดขึ้นปากพนัง พระบตซัดขึ้นปากพนัง ชาวปากพนังพาขื้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง ชาวอริยพงษ์ 10 คน ซัดขึ้นปากพูน เดินตามริมเลมาถึงปากน้ำพระญาน้อย ชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ชาวอริยพงษ์เห็นพระบตก็ร้องไห้ พระญาก็ถามชาวอริยพงษ์ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น และพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ไปเมืองหงษาวดีนิมนต์พระสงฆ์ ชาวอริยพงษ์ก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา 2 พระองค์ องค์หนึ่งชื่อมหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อมหาเถรสัจจานุเทพ ฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มาทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้วพระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ”

แปลความ “สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงปกครองนครศรีธรรมราช ชาวเมืองหงสาวดีพา “ผ้าพระบฏ” ไปถวายพระพุทธบาทที่ลังกา เกิดพายุพัดเรือล่มที่ปากพนัง คลื่นซัด “ผ้าพระบฏ” ขึ้นฝั่งที่ปากพนัง ชาวปากพนังนำ “ผ้าพระบฏ” มาถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาด เห็นภาพวาดพุทธประวัติจึงรับสั่งให้กาง “ผ้าพระบฏ” ไว้ที่ท้องพระโรงประกาศหาเจ้าของ คลื่นซัดชาวเมืองหงสา 10 คนไปขึ้นฝั่งที่ปากพูน ผู้รอดชีวิตเดินตามชายฝั่งมาถึงปากน้ำปากพญาชาวบ้านพาผู้รอดชีวิตทั้ง 10 คนมาเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ชาวเมืองหงสาผู้รอดชีวิตเห็น “ผ้าพระบฏ” ก็ร้องไห้ และทูลเล่าความเป็นมาตั้งแต่ต้น”

ซึ่งในช่วงนั้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่แล้วเสร็จและเตรียมการสมโภช ทรงเห็นว่าควรนำ “ผ้าพระบฏ” ไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ชาวหงสาเจ้าของ “ผ้าพระบฏ” ก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุ จึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและมีสืบมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน พิธีแห่ “ผ้าพระบฏ” ขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์จังหวัดนครศรีธรรมราชมีปีละสองครั้งคือ วันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา

ผ้าพระบฏ

ภาพเขียน “ผ้าพระบฏ”

  • ภาพพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
  • ภาพพระพุทธเจ้า พระบฏสมัยก่อนเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนตรงกลางเพียงองค์เดียว ต่อมาเพิ่มพระอัครสาวกซ้าย-ขวา
  • ภาพพระพุทธรูป
  • ภาพทศชาติชาดก พระชาติทั้งสิบ คือ เตมิยชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตตชาดก จันทกุมารชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก เวสสันดรชาดก
  • ภาพเวสสันดรชาดก บางครั้งเรียก “ผ้าพระเวส” มักใช้ในงาน เทศน์มหาชาติ มี 13 กัณฑ์ แบ่งผ้าเป็นตอน กัณฑ์ละ 1 ตอน ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ นครกัณฑ์
  • ภาพอื่น ๆ พระมาลัย ภาพเขียนเล่าเรื่องวรรณกรรมในพุทธศาสนา พระเจดีย์จุฬามณี อสุภะ 10 พระพุทธเจ้าห้าพระองค์
ผ้าพระบฏ

ขั้นตอนการเขียน “ผ้าพระบฏ”

  • ใช้ผ้าสีขาวใยสังเคราะห์ น้ำหนักเบา ความยาวของผ้าอย่างน้อย 80 เมตร ตามความยาวรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แบ่งกรอบภาพเป็นช่อง ตามแนวนอน ขนาดของช่องขึ้นอยู่กับความยาวผ้า และเว้นช่องว่างคั่นระหว่างกรอบภาพ
  • เตรียมวัสดุอุปกรณ์ กระดาษบรูฟ ดินสอ ยางลบ สี
  • ข้อมูลพุทธประวัติ
  • ร่างภาพต้นแบบขนาดตามกรอบที่กำหนดไว้ลงบนกระดาษ
  • ลงสีรองพื้นบนผืนผ้าตามกรอบภาพ
  • คัดลอกภาพต้นแบบลงบนผืนผ้า เขียนภาพพระบฏ
  • ลงสีภาพ เก็บรายละเอียดภาพ ตัดเส้น ตกแต่งภาพ
  • ภาพเขียนบนผ้าพระบฏเสร็จสมบูรณ์

พระบฏ ผืนผ้าอันงดงาม พุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สะท้อนให้เห็นความมีชีวิตของพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราชที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน พระบฏใช้เวลาในการสร้างนานนับเดือน สร้างด้วยศรัทธา ด้วยจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชน ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการบูรณาการให้มีการเรียนการสอนหลักสูตร การสร้างพระบฏ ขึ้นในโรงเรียน สถานศึกษา เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่แฝง คติธรรม คำสอน ไว้บน “พระบฏ ภาพเขียนบนผืนผ้า”`

ผ้าพระบฏ

อ้างอิง

Visits: 79

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.