ลักษณะทางภูมิศาสตร์

นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อดีตควบคู่กับความเป็นมาของชาติไทย มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย มีแร่ธาตุหลายชนิด มีป่าไม้คลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง มีความงามตามธรรมชาติ ทั้งน้ำตกและทะเล เป็นต้น มีโบราณสถานโบราณวัตถุทั้งทางประวัติศาสตร์และศาสนา จึงเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยว  จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่กว้างขวางเหมาะแก่การทำกสิกรรม จึงมีอาชีพทำนา ทำสวนจากการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์ม รวมทั้งการทำสวนผลไม้  จึงถือได้ว่านครศรีธรรมราช เป็นอู่ข่าวอู่น้ำของจังหวัดในภาคใต้ก็ได้  

1. ขนาดและที่ตั้ง   

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่ 9,942,502 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1.98 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศ ที่ตั้งของตัวจังหวัดตั้งอยู่ประมาณละติจูด 9 องศาเหนือและลองติจูด 100 องศาตะวันออก อยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางของแหลมลายู โดยมี

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานีและอ่าวบ้านดอน อำเภอขนอมเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่เหนือสุดของจังหวัด
  • ทิศใต้  ติดต่อกับอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อําเภอห้วยยอดจังหวัดตรัง โดยมีอำเภอทุ่งสง อำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร เป็นอำเภอที่มีอาณาเขตอยู่ด้านทิศใต้
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยเป็นชายฝั่งทะเล มีความยาวตั้งแต่ตอนเหนือของอําเภอขนอมลงไปทางใต้ของอําเภอหัวไทรประมาณ 225 กิโลเมตร นับเป็นจังหวัดที่มีชายทะเลยาวที่สุดของประเทศไทย อำเภอที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเลจากเหนือสุดของจังหวัด ได้แก่ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดกระบี่ ส่วนใหญ่มีภูเขากั้นเป็นตอน อำเภอขนอม  อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง และอำเภอทุ่งใหญ่เป็นอำเภอที่ติดต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานี อำเภอทุ่งใหญ่และอำเภอทุ่งสงคิดต่อกับจังหวัดกระบี่

2. ภูมิประเทศ

จังหวัดนครศรีธรรมราชมีลักษณะภูมิประเทศทั้งที่เป็นภูเขา เนินเขา และที่ราบชายฝั่งทะเล มีลักษณะ 3 เขตดังนี้

1)  เขตเทือกเขาตอนกลาง  

        ในเขตจังหวัดของภาคใต้มีเทือกเขาเป็นแนวติดต่อกันเป็นแกนของแหลมของไทย บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง จะมีเทือกเขานครศรีธรรมราชต่อเนื่องกับเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะเทือกเขานครศรีธรรมราชทางตอนเหนือเป็นการแบ่งเขตจังหวัดระหว่างนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี แต่เมื่อลงไปทางใต้จะอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งนครศรีธรรมราชออกเป็นท่่ราบด้านชายฝั่งทะเลตะวันออกและที่ราบด้านตะวันตก ในเขตเทือกเขานี้มีภูเขาสูงสุดในจังหวัด คือเขาหลวง ซึ่งสูงประมาณ 1,835 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีอาณาเขตตั้งแต่ตอนเหนือของจังหวัดลงไป ถึงตอนใต้สุด บริเวณพื้นที่ของอําเภอที่อยู่ในเขตเทือกเขาตอนกลางได้แก่ อําเภอสิชล อําเภอ ขนอม อําเภอท่าศาลา อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช อําเภอลานสกา อําเภอพรหมคีรี อําเภอ ร่อนพิบูลย์ อําเภอชะอวด อําเภอจุฬาภรณ์ และอําเภอพระพรหม 

       นอกจากนี้เทือกเขาดังกล่าวยังเป็นเส้นแบ่งเขตอําเภอ ระหว่างอําเภอทุ่งสง อําเภอฉวาง กับอําเภอชะอวด อําเภอร่อนพิบูลย์ อําเภอลานสกา อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช อําเภอพรหมคีรี อําเภอท่าศาลา และเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชกับอําเภอบ้านนาสาร อําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี อีกด้วย

      บริเวณเทือกเขาตอนกลาง มีเส้นทางคมนาคมผ่านจากบริเวณที่ราบชายฝั่งตะวันออกไปยังบริเวณที่ราบด้านตะวันตกได้ คือทางหลวงหมายเลข 40 ซึ่งข้ามจากอําเภอสิชล อําเภอขนอม  สู่เขตอําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี และทางหลวงหมายเลข 40 5 จากอําเภอลานสกาไปสู่อําเภอฉวาง ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และทางหลวงหมายเลข 4 จากอําเภอร่อนพิบูลย์ ไปสู่อําเภอทุ่งสง    

 

2)  เขตที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก  

      มีอาณาเขตตั้งแต่เทือกเขาตอนกลางไปทางตะวันออกถึงทะเลฝั่งอ่าวไทย และตลอดตามแนวยาวเหนือใต้ เขตที่ราบตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัดมีขนาดกว้างขวาง บริเวณเกิดขึ้นจากตอนเหนือการถมของทะเลเป็นสำคัญ บางตอนมีลักษณะเป็นสันทราย มีแม่น้ำลำคลองซึ่งมีต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาตอนกลางไหลผ่านที่ราบนี้หลายสาย ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ดินตะกอนปนทราย และดินเหนียวร่วน เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา 

     สามารถจําแนกได้ เป็น 2 ตอน คือ ตั้งแต่อําเภอเมืองนครศรีธรรมราชลงไปทางใต้ เป็นที่ราบ ที่มีความกว้างจาก บริเวณเทือกเขาตอนกลางไปถึงชายฝั่งทะเลระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร มีแม่น้ำลําคลอง ที่มีต้นน้ำเกิดจากบริเวณเทือกเขาตอนกลางไหลลงสู่อ่าวไทยหลายสาย นับเป็นที่ราบ ซึ่งมีค่า ทางเศรษฐกิจของจังหวัด ลําน้ำสําคัญ ได้แก่ แม่น้ำปากพนัง และมี คลองสายเล็ก ในเขต อําเภอเมืองนครศรีธรรมราชอีกหลายสาย เช่น คลองปากพญา และคลองท้ายวังเป็นต้น อีก บริเวณหนึ่ง คือตั้งแต่อําเภอท่าศาลาขึ้นไปทางทิศเหนือ เป็นบริเวณฝั่งแคบ ๆ ไม่เกิน 15 กิโลเมตร อําเภอที่อยู่ในเขตที่ราบด้านนี้คือ อําเภอขนอม อําเภอสิชล อําเภอท่าศาลา อําเภอ เมืองนครศรีธรรมราช อําเภอปากพนัง อําเภอเชียรใหญ่ อําเภอหัวไทร และอําเภอชะอวด บริเวณที่ราบใกล้เชิงเขามีการปลูกยางพาราและผลไม้หลายชนิด

3)  เขตที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันตก  

         ลักษณะเป็นที่ราบเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาบรรทัด  มีลักษณะเป็นเชิงเขาและที่ราบหุบเขา มีเนินเขาเป็นแห่ง ๆ มีอําเภอที่อยู่บริเวณที่ราบด้านนี้ คือ อําเภอพิปูน อําเภอทุ่ง ใหญ่ อําเภอฉวาง อําเภอนาบอน อําเภอบางขัน อําเภอถ้ำพรรณรา และอําเภอทุ่งสง  ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เป็นเขตที่มีการปลูกยางพารามากที่สุด และมีสวนผลไม้ต่าง ๆ มีการทำนาเป็นบางตอน 

         ลำน้ำที่สําคัญ ได้แก่ ต้นน้ำของแม่น้ำตาปีไหลผ่าน อําเภอพิปูน อําเภอฉวาง และอําเภอทุ่งใหญ่ นอก จากนี้ ยังมีลําน้ำที่เป็นต้นน้ำของแม้น้ำตรังอีกด้วย คือน้ำตกโยง และคลองวังหีบ ซึ่งไหลผ่าน อําเภอทุ่งสง ไปยังอําเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และออกทะเลอันดามัน ที่อําเภอ กันตัง 

3. แม่น้ำลำคลอง

       จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่ไม่มีลำน้ำขนาดใหญ่ เพราะที่ตั้งของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล  โดยทั่วไปลำน้ำทั้งหลายเรียกว่า คลอง หากเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ เรียกแม่น้ำได้ ก็คือแม่น้ำหลวงและแม่น้ำปากพนัง และแม่น้ำหลวงที่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เป็นบริเวณต้นน้ำ ส่วนใหญ่ของแม่น้ำหลวงอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

        ต้นน้ำของแม่น้ำลำคลองทั้งหลายของนครศรีธรรมราชเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาบรรทัด บางสาขาไหลลงสู่อ่าวบ้านดอนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ส่วนใหญ่ไหลลงสู่ฝั่งทะเบของจังหวัด และมีบางสาขาที่เป็นต้นน้ำและไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ชายฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมไทย เช่น แม่น้ำตรัง ซี่งมีต้นน้ำอยํู่ในเขตอำเภอทุ่งสง เป็นต้น

 

      แม่น้ำลำคลองที่เราควรรู้จัก ได้แก่

1. แม่น้ำปากพนัง

        ต้
นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และมีสาขาจากอำเภอหัวไทร ไหลมารวมกันที่บ้านปากแพรก กลายเป็นแม่น้ำปากพนังไหลลงสู่อ่าวนครศรีธรรมราช นับเป็นแม่น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดมากโดยเฉพาะทางการเกษตรกรรม บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง และสาขาเป็นบริเวณที่ราบมีพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน เพื่อช่วยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการทำมาหากินมากที่สุด  
        ด้านการคมนาคมขนส่ง แม่น้ำปากพนังเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างอำเภอปากพนักงและอำเภอหัวไทร เชียรใหญ่ และชะอวดมาเป็นเวลานาน เคยเป็นที่ขนถ่ายสินค้าโดยเฉพาะข้าว ยังคงใช้เป็นการคมนาคมภายในอำเภออยู่มาก และแม่น้ำปากพนังเป็นที่ตั้งของท่าเทียบเรือประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และตลาดกลางกุ้งกุลาดำนครศรีธรรมราช

         ลำน้ำที่สําคัญ ได้แก่ ต้นน้ำของแม่น้ำตาปีไหลผ่าน อําเภอพิปูน อําเภอฉวาง และอําเภอทุ่งใหญ่ นอก จากนี้ ยังมีลําน้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำตรังอีกด้วย คือน้ำตกโยง และคลองวังหีบ ซึ่งไหลผ่านอําเภอทุ่งสง ไปยังอําเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และออกทะเลอันดามันที่อําเภอ กันตัง 

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

2)  แม่น้ำหลวง 

      เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำตาปี ต้นน้ำเกิดจากบริเวณทิศตะวันตกของเทือกเขานครศรี-ธรรมราช และเทือกเขาภูเก็ต ส่วนที่เกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอพิปูน และอำเภอฉวาง ไหลผ่านอำเภอฉวางและอำเภอทุ่งใหญ่ เข้าเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเขตอำเภอพระแสง อำเภอนาสาร ไปรวมกับแม่น้ำคีรีรัฐนิคม (แม่น้ำพุมดวง) ที่อำเภอพุนพิน เรียกว่า “แม่น้ำตาปี” แล้วไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของภาคใต้

2)  คลองปากพูน

    ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช บริเวณเขาหลวงทางด้านตะวันออกของเทือกเขา ต้นน้ำอยู่ที่น้ำตกพรหมโลก ในเขตอำเภอพรหมคีรี ไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านตำบลบ้านเกาะอำเภอพรหมคีรี และบ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองแล้วไหลลงสู่อ่าวนครศรีธรรมราช ต้นน้ำเรียกว่า คลองนอกท่า ใกล้ปากน้ำเรียกว่าคลองปากพูน เป็นคลองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาแต่สมัยโบราณ

     สมัยก่อนท่าแพในด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นท่าเรือสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาเป็นเวลานาน ก่อนที่การคมนาคมจะมีความสะดวกอย่างปัจจุบัน การเดินทางจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอชายฝั่งทะเลด้านเหนือ คืออำเภอท่าศาลา สิชล และทางใต้คืออำเภอปากพนัง หัวไทร หรือเชียรใหญ่ จะต้องลงเรือที่ท่าแพทั้งสิ้น และรวมถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญคือ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้คลองนี้เป็นเส้นทางลำเลียงทหาร การสู้รบระหว่างทหารไทยและทหารญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นที่บ้านท่าแพ มีอนุสาวรีย์บริเวณยุทธภูมือ คือ อนุสาวรีย์วีรไทย

 

3)  คลองปากพญา – คลองปากนคร

    ต้นน้ำเกิดจากแหล่งน้ำหลายสาขาในเขตเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยเฉพาะที่เขาคีรีวง เขตตำบลกำโลน อำเภอลานสกา ไหลผ่านอำเภอเมือง ต้นน้ำเรียกว่า คลองท่าดี ผ่านตำบลกำแพงเซา ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง เมื่อไหลมาถึงสันทรายซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมือง คลองแบ่งแยกเป็นหลายสาขา สายหนึ่งไหลเลียบตัวเมืองขึ้นไปทางตะวันออกผ่านตัวเมือง ที่สะพานราเมศวร์ ตำบลท่าวัง ผ่านตำบลท่าซัก ออกทะเลที่ปากพญาเรียกว่า คลองปากพญา ซึ่งเป็นคลองที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของจังหวัดมีหลักฐาน ว่าแต่เดิมมีขนาดกว้างและลึก เรือกำปั่นขนาดใหญ่เข้ามาติดต่อค้าขายได้ถึงตัวเมืองนครศรีธรรมราช เคยพบซากเรือขนาดใหญ่และปืนใหญ่ที่ตำบลท่าซัก แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
      ส่วนคลองปากนคร น้ำส่วนใหญ่มาจากคลองท่าดีเช่นเดียวกัน คือสายที่ไหลผ่านสายนครรน้อย ไหลลงคลองปากนครที่ท่านคร และสายที่ไหลผ่านวัดสวนหลวง ลงปากนครที่หัวตรุด และสายที่ผ่านสะพานเป่าเหล้า (สะพานเทวีจรดล) นอกจากนี้คลองปากนครยังได้น้ำจากคลองไม้เสียบ และแหล่งน้ำจากตำบลท่าเรือ ตั้งแต่บ้านจังหูน รวมกันคลองปากนคร ไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลปากนคร

4)  คลองเสาธง

      ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช ในเขตอำเภอลานสกา คลองนี้มีชื่อเรียกกันหลายชื่อตามท้องที่ที่คลองไหลผ่าน คือ เมื่อไหลจากน้ำตกกะโรม เรียกว่า คลองเขาแก้ว เมื่อไหลเข้าสู่อำเภอร่อนพิบูลย์ เรียกว่า คลองเสาธง เมื่อไหลผ่านบ้านโคกคราม อำเภอร่อนพิบูลย์ เรียกว่าคลองโคกคราม เมื่อไหลเข้าสู่ตำบลชะเมาเรียกว่า คลองชะเมา เมื่อถึงหนองน้ำมนต์มีคลองแยกไปลงคลองปากนคร แต่ส่วนใหญ่ออกทะเลที่ปากคลองบางจาก ตอนปลายคลองนี้จึงเรียกว่า คลองบางจาก
      คลองนี้เป็นคลองที่แบ่งเขต อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชกับอำเภอปากพนังในสมัยที่พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ขุดคลองนี้เชื่อมกับแม่น้ำปากพนัง เรียกว่า คลองสุขุม ที่ตำบลบางจาก กรมชลประทาน ได้สร้างประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำคลองและป้องกันน้ำเค็ม ระบายให้แก่คลองสุขุม และช่วยการเกษตรกรรมพื้นที่ 58,200 ไร่

5)  คลองกลาย

      อยู่ในอำเภอท่าศาลา ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชในเขตพื้นที่อำเภอนบพิตำ ไหลไปออกทะเลที่อำเภอท่าศาลา คลองกลายเป็นที่รู้จักของชาวนครศรีธรรมราช เพราะมีสะพานที่ยาวที่สุดในจังหวัดทอดข้ามไปยังอำเภอสิชล 

6)  คลองท่าทน

      ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนบน ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอสิชล

7)  คลองน้ำตกโยง

    ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชด้านตะวันตก บริเวณน้ำตกโยง ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง แล้วไหลผ่านตำบลปากแพรก ตำบลชะมาย ตำบลที่วัง และตำบลกะปาง เข้าสู่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง กลายเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำตรัง

8)  คลองมีน

       ต้นน้ำเกิดจากภูเขาสามจอม (สูง 754 เมตร) ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ ไหลลงมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านห้วยญวณข้างเหนือ ผ่านบ้านเขาขาว สหกรณ์นิคมทุ่งสง บ้านลำสาย บ้านทุ่งส้าน สถานีรถไฟหลักช้าง บ้านปากน้ำ คลองจันดี ไหลไปเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำหลวง หรือแม่น้ำตาปี และออกอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

10)  คลองท่าเลา

      ต้นน้ำเกิดจากภูเขาวังหีบ อำเภอทุ่งสง เป็นภูเขาลูกหนึ่งในเทือกเขานครศรีธรรมราชไหลลงทางใต้ผ่านบ้านประดู่ บ้านท่าเลา บ้านปังทอง บ้านเขาปรีดี สถานีรถไฟทุ่งสง บ้านตลาดใน บ้านด่านปาบ บ้านห้วยขัน บ้านเขากลาย บ้านนาหลาน้ำ บ้านฉลาง บ้านเขาโรแล้วเข้าอำเภอห้วยยอด อำเภอเมืองตรัง และออกทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

10)  คลองท่าโลน   

      ต้นน้ำเกิดจากภูเขาปลายเบิกใกล้ ๆ กับภูเขาวังหีบในอำเภอทุ่งสง ไหลลงทางใต้ ผ่านบ้านท่าเลา บ้านเป็นคุ้ง ที่ว่าการอำเภอทุ่งสงด้านตะวันออก บ้านในหวัง บ้านด่านปาบ บ้านห้วยขัน แล้วรวมเข้าเป็นลำน้ำเดียวกันกับคลองท่าเลา ไหลผ่านภูเขากลาย บ้านเขาโร เข้าอำเภอห้วยยอด อำเภอเมืองตรัง และออกทะเลอันดามันในเขตอำเภอกันตังที่ปันหยี จังหวัดตรัง

Visits: 5722