สวดด้าน : จากภูมิปัญญาสู่ประเพณี

สวดด้าน (Suaddan) ประเพณีที่มีมาแต่โบราณของชาวเมืองนครศรีธรรมราช สวดที่ พระวิหารคด ทั้งสี่ด้าน การสวดด้าน คือ การอ่านหนังสือประเภทร้อยกรองเป็นทำนอง ใช้สำเนียงถิ่นใต้โดยประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร การสวดจะสิ้นสุดเมื่อพระสงฆ์เข้ามา ไม่จำเป็นต้องสวดจนจบบท สวดถึงไหนหรือได้แค่ไหนก็แค่นั้น ประเพณีสวดด้านเคยสูญหายไประยะหนึ่ง ปัจจุบันชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้รื้อฟื้นกลับมาใหม่และปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา ช่วงเทศกาล “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ” พระภิกษุ สามเณร พุทธศานิกชน จะมาร่วมสวดด้าน จากบทร้อยกรอง เป็นทำนองสรภัญญะ ภาษาถิ่นใต้ เพื่อสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ สวดด้าน มีการสวดเฉพาะในวิหารคด พระด้าน ระเบียงรอบพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองนครศรีธรรมราช เท่านั้น

ความเป็นมา

ประเพณีสวดด้าน เกิดขึ้นที่ระเบียงคดทางทิศเหนือ พระวิหารคด พระระเบียง หรือพระด้าน ล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชทั้ง 4 ทิศ ยกพื้นสูงประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นแถวยาวทุกด้านจำนวน 173 องค์ ฝีมือช่างสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมเรียกกันว่า “พระด้าน” ในวันพระ ชาวเมืองนครจะไปฟังธรรมที่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นจำนวนมากก็จะต้องมาเตรียมตัวนั่งรอพระสงฆ์ ระหว่างนั่งรอมีความเห็นตรงกันว่าควรหาสิ่งมีสาระมาทำ จึงตกลงกันว่าหาหนังสือมาอ่านจนกว่าพระสงฆ์จะมา เนื่องจากในสมัยโบราณคนที่อ่านออกเขียนได้มีอยู่น้อยมาก จึงอยากให้คนที่รู้หนังสือมาอ่านหรือสวดหนังสือให้ได้ฟังกัน โดยใช้หนังสือบุดมาอ่านที่ระเบียงพระด้าน อ่านหนังสือร้อยกรองเป็นทำนองเหมือนเพลงบอก โนรา ประชาชนที่มารอทำบุญก็มาร่วมนั่งฟังกันเยอะจนเกิดเป็น “ประเพณีสวดด้าน” นับแต่นั้นมา เดิมเรียกการอ่านหนังสือร้อยกรองเป็นทำนองว่า “สวดหนังสือที่พระด้าน ” แต่เหลือเรียกติดปากว่า “สวดด้าน” และมีทั้งสี่ด้าน 

สวดด้าน
ภาพจาก เฉลิม จิตรามาศ

ภาพจาก เฉลิม จิตรามาศ

วัน เวลา และสถานที่ในการสวดด้าน

วัน ที่มีการสวดด้านนั้นมีดังนี้

  • วัน: ประเพณีสวดด้าน มีเฉพาะในวันธรรมสวนะ (ขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ และขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ)
  • เวลา: ก่อนเพล ก่อนพระสงฆ์จะเข้ามาในพระด้าน ขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนา
  • สถานที่: วิหารคด พระด้านทั้งสี่ด้านขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช
  • หยุดสวดด้านเมื่อพระสงฆ์เข้ามา ผู้สวดด้านและผู้ฟังจึงร่วมกันทำบุญ

สถานที่ ที่ใช้ในการสวดด้าน คือ พระวิหารคด หรือเรียก พระระเบียง หรือพระด้าน

พระวิหารคด สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรอยุธยา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สร้างแบบหักมุมจึงเรียกว่า “วิหารคด” ส่วนที่เรียกว่า “พระด้าน” เพราะพระพุทธรูปประดิษฐานเป็นแถวยาวตลอดทุกด้านของระเบียง “พระระเบียง” เพราะเป็นระเบียงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

ภูมิปัญญา : ประชาชนเข้าวัดทำบุญในวันพระจำนวนมาก พระด้านคือสถานที่นั่งสวด มีการรักษา ดูแลวิหารคดให้สะอาด งดงาม และมีการบูรณะอยู่สม่ำเสมอ

สิ่งที่ใช้ประกอบ

หนังสือที่มีผู้แต่งเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการสร้างปราชญ์ เชิดชูปราชญ์ในถิ่น หนังสือบทร้อยกรองทำให้เพลิดเพลิน ไพเราะ และสุดท้ายอยากฟังเลยตั้งใจฟัง

สวดด้าน หนังสือ

หนังสือที่ใช้สวดในสมัยแรกจะใช้เป็นหนังสือบุด ต่อมาเปลี่ยนเป็นนิทานชาดก สำนวน กวีของผู้แต่งชาวนครศรีธรรมราช เช่น เรื่องสุบิน เรื่องวันคาร เรื่องทินวงศ์ เรื่องสีเสาร์ เรื่องกระต่ายทอง เรื่องพระรถเสน (ของนายเรือง นาโน) เรื่องเสือโค (ของพระมี) หนังสือที่ใช้สวดเป็นหนังสือร้อยกรอง

ผู้สวดด้าน

ผู้สวด  มีหน้าที่อ่านหนังสือบทร้อยกรอง ด้วยภาษาพื้นถิ่นนครศรีธรรมราช มีการออกเสียง การเน้นเสียง มีการเอื้อน การเล่นลูกคอ และการแสดงท่าทาง แสดงสีหน้าประกอบ (เมื่อถึงบทที่ต้องแสดง) จึงจำเป็นต้องหาคนที่สวดหนังสือเก่ง ๆ มาสวด ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการอ่านบทร้อยกรอง การสวดต้องมีการเน้นเสียง มีการเอื้อน มีการเล่นลูกคอ บางครั้งถึงบทสวดที่ต้องทำท่าประกอบก็ต้องโยกตัวหรือแสดงสีหน้าประกอบการสวด ถ้าวันพระไหนได้คนสวดเป็น นายหนังตะลุง โนรา เพลงบอก วันนั้นคนฟังจะถูกอกถูกใจมากเป็นพิเศษ เมื่อสวดเสร็จผู้สวดก็จะได้รับรางวัลเป็นเงินบ้างหรือเลี้ยงข้าวบ้าง

คุณสมบัติของผู้สวดด้าน

  • มีความรู้ความเข้าใจภาษาถิ่นใต้ (พื้นเมืองนครศรีธรรมราช)

  • มีความจำดี สามารถท่องจำบทสวดได้แม่นยำ

  • มีน้ำเสียงไพเราะ ชวนฟัง ควบคุมเสียงสูงต่ำได้ดี

  • แสดงท่าทางประกอบการสวดดึงดูดใจผู้ฟัง

  • มีทักษะการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง

ความสำคัญของผู้สวดด้าน

  • อนุรักษ์และสืบสานประเพณีสวดด้านให้คงอยู่

  • อนุรักษ์ ถ่ายทอดเรื่องราว คติธรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น

  • สร้างความบันเทิง ความรู้ ให้กับผู้ฟัง

  • ส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ภูมิปัญญา: การสวดต้องอ่านหนังสือ ผู้สวดได้อ่านหนังสือ สร้างนิสัยรักการอ่าน สร้างปราชญ์ สวดเป็นทำนองด้วยสำนวนภาษาถิ่นใต้ เป็นการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้คงอยู่

ผู้ฟัง

ประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เข้าร่วมฟังสวดด้านเพื่อรอพระสงฆ์ สวดบทร้อยกรองทำให้ตั้งใจฟัง เมื่อถึงบทที่จำได้ก็อาจจะท่องบทนั้นขึ้นด้วยเบา ๆ บางคนกลับไปบ้านท่องให้ลูกหลานฟังจนจำกันได้ก็ท่องกันต่อ ๆ กันไป ที่บอกว่าคนคอนเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่โบราณ น่าจะเพราะด้วยเหตุนี้ก็เป็นได้

ภูมิปัญญา: ไม่ส่งเสียงดัง ไม่พูดคุยเรื่องไร้สาระ ได้ความรู้ คติสอนใจ ได้รับความเพลิดเพลิน และสุดท้ายส่งต่อความรู้ได้ด้วย

ภูมิปัญญาประเพณีสวดด้าน

การสวดด้าน แผงไว้ด้วยภูมิปัญญาหลายประการดังนี้

    • ประชาชนไม่ส่งเสียงดัง ไม่พูดคุยเรื่องไร้สาระ

    • การสวดด้านด้วยการอ่านหนังสือเป็นทำนองเสนาะ แสดงท่าทางประกอบ เพื่อดึงดูดให้คนฟัง

    • สวดหนังสือ ได้สาระ ความรู้ คติสอนใจและความเพลินเพลิด

    • ผู้แต่งหนังสือสวดด้านชาวเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการสร้างปราชญ์ สร้างศิลปินในถิ่น

    • ผู้สวด ได้อ่านหนังสือ ปลูกนิสัยรักการอ่าน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

    • สร้างความรักความสามัคคีหมู่คณะที่ไปทำบุญ สร้างแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกหลาน

    • อนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้านไว้เป็นมรดกของท้องถิ่น

    • อนุรักษ์ภาษาถิ่น

    • ส่งต่อความรู้ จากการท่องบทกลอนที่จำได้ให้ลูกหลานฟัง

ประเพณี “สวดด้าน” เป็นประเพณีเก่าแก่และดั้งเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ไปทำร่วมทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม และพลังศรัทธาต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เกิดเป็นประเพณีสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน กิจกรรมสวดด้าน ในช่วงเทศกาลมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดให้มี การสวดด้าน สามวันติดกัน เวลา 09.00 น จัดขึ้นเป็นพิเศษไม่เฉพาะวันธรรมสวนะและคนสวดด้านกับหนังสือก็คัดเลือกมาพิเศษเช่นกัน (ไปฟังกันได้ที่วิหารคด) สวดด้าน อัตลักษณ์ของคนคอน สะท้อนให้เห็นความเจริญทางพุทธศาสนา วัฒนธรรมและการใช้ภาษาของชาวเมืองนครศรีธรรมราช

    • ด้านธรรมะ ส่งเสริมพระพุทธศาสนา อบรมจริยธรรม ให้กับพุทธศาสนิกชน

    • ด้านวรรณกรรม หนังสือที่นำมาสวดผู้แต่งเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช

    • ด้านภาษา อนุรักษ์ภาษาถิ่นให้คงอยู่อ่านด้วยการสวดทำนองภาษาถิ่นใต้

    • ด้านศิลปะ ผู้ฟังได้รับความบันเทิง ความรู้ สร้างศิลปินคือผู้สวดหนังสือ

    • ด้านความเป็นอยู่และประเพณี สร้างสายสัมพันธ์ สร้างสามัคคี สืบทอดประเพณีให้คงอยู่

    • ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยว นครศรีธรรมราช เมืองแห่งธรรมะและธรรมชาติ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Visits: 125

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.