ขนมกรอก ขนมในประเพณีให้ทานไฟนครศรีธรรมราช

“ขนมกรอก”  นั้นมีความเชื่อกันว่าเป็นขนมในประเพณีให้ทานไฟที่สืบทอดมาจากขนมเบื้อง  หรือ ขนมกุมมาส ของเศรษฐีโกสิยะ ทำถวายพระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ในสมัยพุทธกาล

ความเป็นมาของขนมกรอก

ขนมกรอก พร้อมรับประทาน หอม นุ่ม อร่อย

การให้ทานไฟเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งนั้นในสมัยก่อนอาหารที่นิยมนำมาปรุงถวายพระส่วนมาจะเป็นอาหารที่ปรุงร้อน ๆ  เช่น ขนมเบื้อง ขนมกรอก  ขนมครก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู้จุน เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน อาหารในการให้ทานไฟมีความหลากหลายมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

“ขนมกรอก”  นั้นมีความเชื่อกันว่าเป็นที่สืบทอดมาจากขนมเบื้อง  หรือ ขนมกุมมาส ของเศรษฐี โกสิยะ ที่ทำถวาย แก่พระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ในสมัยพุทธกาล

ชนมกรอกในสมัยดั้งเดิม มีส่วนผสมและวิธีทำง่าย ๆ คือ ใช้ข้าวสารเจ้าแช่น้ำ กรอกลงใน “ครกบด” ซึ่งการบดแป้งนี้ต้องบดให้พอดีอย่าบดให้ข้นหรือเหลวจนเกินไป แล้วคั้นกะทิติดไฟเคี่ยวให้แตกมันผสมลงไปในแป้งพร้อมน้ำตาล พอให้ออกรสหวาน ตอกไข่ใส่ตามส่วน ซอยหอมให้ละเอียดโรยแล้วตีไข่ให้เข้ากัน ต่อจากนั้นก็เอา กะทิตั้งไฟให้ร้อน ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่น เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ เมื่อหยอดแป้งละเลงให้เป็นแผ่น ต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้องทั่วไป เพราะจะไม่นุ่มและขาดรสชาติ พอสุกก็ตลบพับตักรับประทานทั้งร้อน ๆ

ส่วนผสมและวิธีการทำขนมกรอก

ขนมกรอก การทำขนมกรอก

ส่วนผสมขนมกรอก

ในปัจจุบัน ไม่ค่อยมีการบดแป้งด้วย “ครกบด”  ในทำขนมกรอก เพราะมักจะใช้แป้งข้าวเจ้าสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง ส่วนผสมในการทำขนมกรอก ประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า  น้ำสะอาด น้ำกะทิ ไข่ไก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลปิ๊บ เกลือป่น หอมแดงซอย งาขาว หรือ งาดำคั่ว

วิธีทำการทำขนมกรอก

การทำขนมกรอก ละเลงแป้งที่เตรียมไว้เป็นแผ่นบาง ๆ ให้ทั่วกะทะ

การทำขนมกรอก ละเลงแป้ง ให้ทั่วกะทะ แป้งสุกสังเกตได้จากแป้งริมขอบกระทะจะเด้งออกมา เริ่มม้วนจากริมด้านหนึ่งจนถึงริมอีกด้าน

ขนมกรอก การทำขนมกรอก
  1. ผสมแป้งข้าวเจ้ากับน้ำให้เข้ากันพอปั้นเป็นก้อนได้
  2. ติดไฟตั้งหม้อ ใส่กะทิ น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากันชิมรสชาติให้ตามชอบใจ ตั้งไฟอ่อนรอจนเดือดกะทิพอแตกมัน ยกลง พักไว้ให้เย็น
  3. นำแป้งที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำกะทิเคี่ยวให้เข้ากัน กะประมาณไม่ให้แป้งข้นหรือเหลวจนเกินไป  ใส่หอมแดงซอย พักไว้รอให้แป้งขึ้น
  4. แป้งสุก สังเกตได้จากแป้งริมขอบกระทะจะเด้งออกมา เริ่มม้วนจากริมด้านหนึ่งจนถึงริมอีกด้าน
  5. ม้วนเสร็จยกวางเรียงบนจาน บางคนอยากให้หอมจะโรยงาคั่วในขั้นตอนนี้เพิ่มก็ได้
  6. ขนมกรอกพร้อมรับประทาน
ขนมกรอก เมื่อสุกเรียบร้อยแล้ว แป้งจะกรอบนอกนุ่มใน หอมกะทิ และหอมแดง รสชาติอร่อยมาก
ขนมกรอกขนมในประเพณีให้ทานไฟจังหวัดนครศรีธรรมราช

เคล็ดลับในการทำขนมกรอกให้ กรอบนอก นุ่มใน หอม หวาน ละมุนลิ้น

  1. ความหวานมากน้อยตามชอบหรือจะใช้น้ำตาลชนิดเดียวก็ได้
  2. ถ้าไม่ได้ใช้น้ำตาลปี๊บให้เพิ่มเกลือป่นในแป้งนิดหนึ่ง
  3. ถ้าแป้งข้นเกินไปจะร่อนขนมไม่ค่อยได้ให้เพิ่มน้ำกะทิ หรือน้ำเปล่า
  4. ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่น เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ

เกร็ดความรู้เรื่องประเพณีให้ทานไฟ

ความหมายให้ทานไฟ

ประเพณีให้ทานไฟ เป็นการถวายความอบอุ่นแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วยไฟในฤดูหนาว ซึ่งเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล และนิยมทำกันจนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาก่อไฟให้ความอบอุ่นและปรุงอาหารร้อน ๆ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ตอนเช้ามืดในช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นจนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

การก่อกองไฟ จะใช้ไม้ฟืนท่อนยาว ๆ ในการก่อกองไฟ

การก่อกองไฟ ในประเพณีให้ทานไฟ เพื่อให้ไออุ่น แก่พระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมให้ทานไฟ พร้อมกับการนำเชิ้อไฟจากกองไฟเป็นจุดไฟที่เตาของตัวเองเพื่อทำขนม

“ประเพณีให้ทานไฟ” สำหรับชาวนครศรีธรรมราชนั้น  เหตุที่เรียกว่า “ให้ทานไฟ” ถึงแม้ว่าจะยึดเค้ามาจากการทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าตามเรื่องในชาดก แต่ชาวเมืองนครก็มากำหนดให้ทานไฟ ในช่วงเวลาที่พระภิกษุเผชิญกับความหนาวเหน็บของอากาศ เพื่อให้พระภิกษุได้รับความอบอุ่นจากกองไฟที่จุดขึ้นมาและได้รับความอบอุ่นจากขนมและอาหารร้อน ๆ

ช่วงเวลาการทำบุญในประเพณีให้ทานไฟ

คำนวณตามจันทรคติ จะตกอยู่ในราวปลายเดือนอ้าย (ธันวาคม) ต่อเดือนยี่ (มกราคม) ซึ่งเป็นเวลาสิ้นฤดูฝน เริ่มฤดูแล้ง เมื่อถึงช่วงเวลานี้ลมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดจัดและหอบเอาไอเย็นมาปกคลุมภาคใต้ ทำให้อากาศหนาวเย็นกว่าปกติ ชาวนครศรีธรรมราขจึงยึดถือเอาช่วงเวลานี้ในการทำบุญให้ทานไฟ

อาหารและขนม

ขนมในประเพณีให้ทานไฟสมัยพุทธกาลเป็นขนมเบื้อง หรือ ขนมกุมมาส ตามตำรับเดิมของอินเดียในสมัยพุทธกาล ซึ่งเศรษฐี โกสิยะ ทำถวาย ภิกษุสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร

ในเวลาต่อมา ในการทำอาหารและขนม มีขนมมากมายหลากหลายชนิดมากขึ้นไม่เฉพาะขนมเบื้องเท่านั้น นอกจากขนมเบื้องที่เรียกกันว่าขนมเบื้องญวน ซึ่งละเลงด้วยแป้งข้าวเจ้าใส่ขมิ้นให้เหลือง ๆ มีไส้ประกอบด้วยกุ้ง มะพร้าว ถั่วงอกและอื่น ๆ ยังมีขนมเบื้องอย่างของชาวนครที่เรียกว่า “ขนมกรอก” ซึ่งใช้แป้งข้าวเจ้าคนด้วยน้ำกะทิ ที่เคี่ยวพอแตกมัน ผสมน้ำตาล เกลือ และไข่ลงกวนให้เข้ากัน แล้วละเลงสุกก็กินได้ โดยไม่ต้องใส่ไส้ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นขนมเบื้องตามต้นตำรับเดิมของอินเดียสมัยพุทธกาล

นอกจาก ขนมเบื้อง ขนมกรอกแล้ว ยังมีขนมพื้นบ้านของชาวนครศรีธรรมราชอีกมากมายหลายอย่าง เช่น ขนมจู้จุน ขนมปะดาแขก ขนมปะดาไทย (ขนมปะดากุ้ง) ขนมจู้จุน ข้าวเหนียวทอด และ ขนมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งขนมพวกนี้ทำให้สุกโดยการใช้ไฟร้อน ๆ แทบทั้งสิ้นโดยวิธีการทอดบ้าง ต้มบ้าง 

ขนมปะดาแขก

ขนมปะดาแขก ขนมโดนัทเมืองนครศรีธรรมราช  แป้งห่อไส้ เจาะรู แล้วทอดในน้ำมัน

ขนมปะดากุ้ง

ขนมปะดากุ้ง หรือ ขนมปะดาไทย ขนมในประเพณีให้ทานไฟ

นอกเหนือจากขนมพื้นเมืองแล้วยังมีขนมอื่น ๆ  อีกมากมายหลากหลายชนิด อาทิเช่น ข้าวต้ม ข้าวเหนียวไก่ทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง  สุกี้ ข้าวไข่เขียว  ขนมสาคู ขนมโค ข้าวต้มมัด ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ กระเพาะปลา รวมทั้งน้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มสมุนไพร  นอกจากนี้ยังมีอาหารภาคต่าง ๆ เช่น ส้มตำ ข้าวจี๋ ลาบ น้ำตก ไข่ปิ้งทรงเครื่อง หรือแม้แต่อาหารฝรั่ง เช่น ไส้กรอก แซนด์วิช หมูแฮม ไข่ดาว ขนมปัง เป็นต้น

ขนมและอาหารอื่น ๆ ในประเพณีให้ทานไฟ เช่น ขนมโค  ขนมสาคูไส้หมู ข้าวต้ม ขนมพิมพ์

ในปัจจุบันขนมและอาหารในประเพณีให้ทานไฟของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช จากขนมดั้งเดิมที่เคยทำถวายพระภิกษุสงฆ์ ก็แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีขนมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในพื้นถิ่นภาคใต้เอง และภูมิภาคอื่น ๆ อาหารฝรั่ง นอกจากขนมหวานแล้ว ในปัจจุบันยังนิยมทำอาหารคาวด้วย อาทิเช่น ข้าวต้ม ราดหน้า ข้าวผัด พร้อมกับเครื่องดื่ม อาทิเช่น น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น ในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนที่ไปร่วมในการทำบุญให้ทานไฟ นิยมร่วมสมทบทุนกับเพื่อน ๆ ที่นำขนมและอาหารมาร่วมในการให้ทานไฟอีกด้วย

สาระสำคัญในประเพณีให้ทานไฟ

  1. พุทธศาสนิกชน  ได้มีความเพียรมีความขยัน ด้วยการตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมอุปกรณ์ปรุงอาหารและขนมถวายพระภิกษุสงฆ์
  2. ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการถวายความอุปถัมภ์ให้กำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ซึ่งเป็นผู้รักษาสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป
  3. สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารร่วมกันและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม
  4. ได้ปฏิบัติตามประเพณี ทำให้เกิดความเบิกบานใจ ความสุขใจ ในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานของตนเองอีกด้วย
  5. ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดีแข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่จะทำให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบานใจ
  6. เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพบกัน ได้พูดคุยกัน ร่วมมือกันประกอบพิธีกรรมภายในวัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านกับพระภิกษุสงฆ์ได้วิสาสะสร้างความคุ้นเคยตามหลักสาราณียธรรม
  7. ได้บำเพ็ญบุญบารมีด้วยการถวายทานเป็นการสั่งสมความสุขและความดีไว้กับตน ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
  8. ได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชให้เป็นแบบอย่างกับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น
  9. ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ดิเรก พรตตะเสน. (2514). “ให้ทานไฟ”. สารนครศรีธรรมราช. 1, 12 (กุมภาพันธ์ 2514), หน้า 73-80.

พระมหาปรีดา ขนฺติโสภโณ. ประเพณีให้ทานไฟ.

ให้ทานไฟ ที่มา ที่ไป และที่เป็นอยู่

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ๙ สาระสำคัญที่ซ่อนไว้ในประเพณีให้ทานไฟ

ขอบคุณสูตรการทำขนมจาก แม่รจนา

ภาพประกอบ เอก กรุงชิง แม่รจนา คุณย่า

Visits: 161

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.