วิหารทับเกษตร ระเบียงรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์

เมื่อเข้าไปในพื้นที่ภายในวิหารคด (หรือวิหารพระด้าน) ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นอกจากจะเห็นองค์พระบรมธาตุเจดีย์และเจดีย์บริวารที่เรียงรายอยู่นับร้อยองค์แล้ว ยังมีสิ่งสะดุดตาอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ระเบียงรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง ระเบียงหรือวิหารนี้จึงเรียกกันว่า “วิหารทับเกษตร” หรือ “ระเบียงตีนธาตุ” (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, 2015)

วิหารทับเกษตร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระระเบียงตีนธาตุ เป็นระเบียงหรือวิหารที่อยู่โดยรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ คําว่า “ทับเกษตร” เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงผิวพื้นบริเวณที่ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปหรือนาบบนฐานพระ หรือเรือนซึ่งเป็นขอบเขต ซึ่งได้แก่ระเบียงคดวิหารคด ด้วยเหตุนี้วิหารทับเกษตรจึงได้ชื่อตามหน้าที่ก็คือวิหารคด ซึ่งเป็นวิหารแสดงขอบเขตของพระบรมธาตุเจดีย์ (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 455-456)

วิหารทับเกษตรมีขนาดดังนี้ คือยาวเท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑๘ วา ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว และกว้างก็เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๒ วา ในวิหารนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นและสําริดเรียงรายเป็นระเบียบเต็มไปหมดทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ    
          ด้านทิศเหนือ              มีพระพุทธรูปยืน ๑๔ องค์          พระพุทธรูปนั่ง ๙ องค์

          ด้านทิศใต้                  มีพระพุทธรูปยืน ๑๒ องค์          พระพุทธรูปนั่ง ๙ องค์

          ด้านทิศตะวันออก          มีพระพุทธรูปยืน ๑๕ องค์          พระพุทธรูปนั่ง ๙ องค์

          ด้านทิศตะวันตก           มีพระพุทธรูปยืน ๑๔ องค์          พระพุทธรูปนั่ง ๑๐ องค์

รวมพระพุทธรูปทั้งหมดในวิหารนี้ ๙๒ องค์  (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 455-456)

พระพุทธรูปเหล่านี้สร้างในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น รอบ ๆ ฐานพระบรมธาตุเจดีย์เป็นซุ้ม มีหัวช้างยื่นออกมาจากฐานพระบรมธาตุเจดีย์ราวกับว่าเป็นขื่อคานรับพระบรมธาตุเจดีย์ ซุ้มเหล่านี้มีโดยรอบ ๒๒ ซุ้ม (หัวช้าง ๒๒ หัว) ในระหว่างซุ้มหัวช้างแต่ละซุ้ม มีซุ้มเรือนแก้วครอบพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยอยู่สลับกันโดยรอบ ฐานพระบรมธาตุเจดีย์จํานวน ๒๕ ซุ้ม สันนิษฐานว่าซุ้มเหล่านี้สร้างสมัยอยุธยา แต่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบลพบุรี บางซุ้มมีลักษณะคล้ายของสุโขทัย ทุกด้านในวิหารนี้มีธรรมาสน์สําหรับพระสงฆ์ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนาในวันพระ ส่วนบนฐานที่ยกพื้นขึ้นเป็นชั้นที่ ๒ นั้น เดินได้โดยรอบ ๓ ด้าน ยาวเท่ากันทุกด้าน คือด้านละ ๑๕ วา ๓ นิ้ว (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 455-456)

วิหารทับเกษตรสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมถาวรสักการะบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ รวมทั้งฟังธรรมและเวียนเทียนในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะสามารถใช้พื้นที่ในวิหารนี้ได้ทุกฤดูกาล นอกจากนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหลักฐานว่ามีการใช้พื้นที่ทั้งสี่ด้านของวิหารนี้เป็นที่ฝึกเทศนาของพระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารอีกด้วย และในปัจจุบันนี้ยังเป็นวิหารที่รองรับการนำผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์อีกจุดหนึ่ง แทนการนำขึ้นห่มที่ลานประทักษิณ ในแต่ละวันจึงมักจะเห็นผู้คนนำผ้าสีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง และสีขาวบ้าง มาบูชาและห่มรอบฐานพระเจดีย์ที่วิหารแห่งนี้ (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, 2015)

ข้อมูลอ้างอิง

เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (2015, 20 กันยายน). วิหารทับเกษตร เมื่อเข้าไปในพื้นที่ภายในวิหารคด (หรือวิหารพระด้าน) … [ภาพ]. Facebook. https://www.facebook.com/media/set/?vanity=1697657507119723&set=a.1700177530201054

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร (wat phramahathat woramahawihan). (2018). https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e8f57532

วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ และ ปรีชา นุ่นสุข. (2521). นครศรีธรรมราช. โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.

Series Navigation<< วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยวิหารพระทรงม้า : วิหารแห่งประติมากรรม “มหาภิเนษกรมณ์” >>

Visits: 96

This entry is part 5 of 10 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.