พระวิหารหลวง มรดกอันงดงามเคียงคู่พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช

สถานที่ตั้ง

อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมธาตุเจดีย์ ภายนอกเขตพระระเบียงคต  ถือเป็นพระอุโบสถของพระบรมธาตุเจดีย์ 

ประวัติความเป็นมา

                 พระวิหารหลวงนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหาร เพราะวัดพระมหาธาตุฯ นี้ เดิมไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา พระสงฆ์จะอยู่ในวัดที่ล้อมรอบวัดพระมหาธาตุฯ ทั้ง 4 ทิศ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่แสดงว่าพระวิหารหลวงเปลี่ยนมาเป็นพระอุโบสถภายหลัง คือ ใบเสมาเดิมเป็นหินทรายแดง ภายหลังได้ทำลายปิดกระจก คงจะเพิ่มเติมในรัชกาลที่ 5 ที่ได้ชื่อว่าพระวิหารหลวงก็เพราะถือกันว่าวิหารนี้เป็นของกลางที่พุทธศาสนิกชนทุกหนแห่งมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน ในสมัยแรกพระสงฆ์ไม่ได้จำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุ แต่จำพรรษาที่วัดอื่น ๆ ซึ่งอยู่รอบวัดพระมหาธาตุฯ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถือว่าเป็นวัดหลวง เป็นศาสนสมบัติกลาง ใครจะมาประกอบศาสนกิจอย่างไรก็ได้ ชาวพุทธทุกฝ่ายมีหน้าที่ช่วยกันบำรุงรักษา พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาก็คงอยู่ตามวัดต่าง ๆ ซึ่งอยู่รอบวัดพระมหาธาตุฯ ดังนั้น วิหารซึ่งมีมาแต่เดิมและใช้ประกอบพิธีสักการบูชาพระบรมธาตุร่วมกันนี้จึงเรียกว่าพระวิหารหลวง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระมหาธาตุ ภายนอกเขตพระระเบียงคต ต่อมาได้มีการดัดแปลงพระวิหารหลวง เป็นอุโบสถในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ผู้คนก็ยังเรียกว่าพระวิหารหลวงอยู่เช่นเดิม หาได้เรียกว่าอุโบสถไม่

                 สำหรับในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระวิหารหลวง สร้างโดยพระศรีมหาราชา เมื่อมหาศักราช 1550 (พ.ศ. 2171) และบางตำนานบอกว่าพระวิหารหลวงเชื่อกันว่า สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นของคู่กันมากับพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งพวกลังกาเข้ามาก่อสร้างและบำรุงรักษาตลอดมา  ในสมัยแรกสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์วิหารสูง 7 วา และสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวิหารธรรมศาลา สภาพปัจจุบันเป็นวิหารขนาด 13 ห้อง ลักษณะแบบผนังรับน้ำหนัก ซึ่งเดิมน่าจะออกแบบสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ส่วนลักษณะอาคารที่เป็นมุขประเจิด และส่วนฐานแอ่นโค้งก็กำหนดอายุได้ในช่วงอยุธยาตอนกลาง – ตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-23 ซึ่งสอดคล้องกับผลการขุดค้นทางโบราณคดี ที่มีการกำหนดอายุโบราณวัตถุ (อิฐฐานรากอาคาร) ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ค่าอายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21

พระวิหารหลวงแบบเดิม (ภาพจากกรมศิลปากร)

ลักษณะสำคัญของพระวิหารหลวง

การวางเสายึดแบบที่นิยมกันในสมัยอยุธยา คือลักษณะการตั้งเสาเอนปลายสอบเข้าหากัน ทำให้ดูสวยงาม ไม่แข็งกระด้าง หน้าบันไดพระวิหารหลวงด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปช้างสามเศียร หน้าบันด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ บนเพดานเขียนลายไทยปิดทอง มีลายดาวเป็นแฉก มีรัศมีสวยงามมาก พระประธานในวิหารหลวง ชื่อ “พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช” ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ขนาดหน้าตัก 3 วา 1 ศอก 12 นิ้ว สูง 5 วา ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เบื้องหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปพระสาวกนั่งซ้าย-ขวา คือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปยืนอีกหลายองค์ หลังคาพระวิหารหลวงมีช่อฟ้า และใบระกาอย่างอุโบสถทั่วไป

ตามปกติแล้วพระวิหารหลวงใช้เป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมอย่างอุโบสถโดยทั่วไป เช่น กระทำอุโบสถของพระภิกษุสงฆ์ ประกอบพิธีกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี เช่น การแต่งตั้งเจ้าเมืองและการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ประกอบพิธีสมโภชพระบรมธาตุประจำทุก ๆ ปี

พระวิหารหลวงได้รับการบูรณะหลายครั้ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการซ่อมแซมและขยายพระวิหารหลวงให้กว้างออกไปกว่าเดิม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2515 รัฐบาลก็ดำเนินการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงและในปี พ.ศ. 2517 ก็ได้มีการซ่อมแซมอีก โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง พระวิหารหลวงนับเป็นพระวิหารที่งดงามมาก ฝีมือในการสร้างแสดงออกถึงความเจริญทางศิลปะและเชิงช่างเป็นอย่างดี หากจะหาสิ่งก่อสร้างประเภทโบสถ์หรือวิหารสมัยใหม่มาเทียบกับพระวิหารหลวงในแง่ความประณีตสวยงามและมีศิลปะกันแล้ว คงจะหาที่ไหนมาเทียบไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการวางเสา ซึ่งอาศัยศิลปะแบบอยุธยานั้นหาดูได้ยากยิ่ง เป็นพระวิหารที่มีความเก่าแก่ควบคู่กับพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ จึงเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การหวงแหนและบำรุงรักษาเป็นอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงได้รับการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ในสมัยที่พระเทพวินยาภรณ์ (สมปอง ปุญญาทีโป) เป็นเจ้าอาวาส โดยใช้งบประมาณของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจำนวน 30 ล้านบาทดำเนินการซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 97-100)

การวางเสายึดแบบที่นิยมกันในสมัยอยุธยา คือลักษณะการตั้งเสาเอนปลายสอบเข้าหากัน ทำให้ดูสวยงาม (ภาพจากกรมศิลปากร)
หน้าบันด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ (ภาพจากกรมศิลปากร)

และในปี 2564 หรือปีงบประมาณ 2564 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ได้จัดทำโครงการบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของชาติให้คงอยู่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 30,000,000 บาท โดยจะทำการบูรณะในส่วนหลังคาอาคารเพื่อแก้ไขปัญหาการรั่วซึม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พระวิหารหลวงชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งซ่อมแซมอนุรักษ์เครื่องลำยอง (ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์) งานประณีตศิลป์หน้าบัน และงานเพดาน (ไทยโพสต์, 2564) แต่เนื่องจากการบูรณะยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2565  สำนักศิลปากรที่ 12  นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ได้ขอตั้งงบประมาณต่อเนื่องในลักษณะงบอุดหนุนร่วมกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นเงิน 40,000,000  บาท งบประมาณกรมศิลปากร 30,000,000 บาท และของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร 10,000,000  บาท ดำเนินการบูรณะพระวิหารหลวงในส่วนงานที่เหลือ ประกอบไปด้วยผนังอาคาร พื้น งานศิลปกรรมและการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ เพื่อให้พระวิหารหลวงกลับมามีสภาพแข็งแรงเรียบร้อยสวยงามดังเดิม

และคาดว่าเมื่อพระวิหารหลวงเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ จะเป็นสถานที่ทมีความสวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สถานที่ยึดเหนี่ยวใจสำคัญของพวกเราชาวนครศรีธรรมราช

เอกสารอ้างอิง

พระครูสิริธรรมาภิรัต. (2554). พระวิหารหลวง. ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. เม็ดทราย.
ไทยโพสต์. (26  ธันวาคม 2564). พระวิหารหลวง. ไทยโพสต์. https://www.thaipost.net/main/detail/9698

Series Navigation<< เจดีย์หกหว้า : เครื่องหมายแทนความกตัญญู ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประตูเยาวราช ประตูแรกที่สร้างตั้งแต่ ร.ศ. 128 >>

Visits: 85

This entry is part 8 of 10 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.