เทริด : ศิราภรณ์ของโนรา

เทริด อ่านออกเสียงว่า /เซิด/ เป็นเครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรง หรือเรียกกันว่า “ตัวยืนเครื่อง” (โบราณไม่นิยมให้นางรำใช้) ทำเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า ถ้าเป็นเทริดที่เข้าพิธีแล้วจะมีด้ายมงคลตกแต่งประดับไว้ด้วย เทริดโนราเป็นการผสมผสานอิทธิพลจากหลายวัฒนธรรมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคใต้ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย จากการติดต่อค้าขาย ที่เห็นชัดคือ ลวดลายดอกบัว ลายกนก ที่ใช้ประดับเทริดโนรา มักพบในศิลปะอินเดีย และเทพเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม สวมมงกุฎที่ประดับด้วยลวดลายคล้ายกัน

เทริด
เทริดโนรา
เครื่่องประดับโนรา

เครื่องแต่งกายโนราหลัก ประกอบด้วย เทริด เล็บปลอม กำไล กำไลต้นแขน ทับทรวง รัดอก ปีกนกแอ่น ผ้านุ่ง ผ้าห้อยหน้า สนับเพลา ผ้าห้อยข้าง กำไลปลายแขน ปีก คลุมไหล่ ปิ้งคอ สร้อยคอ ปั้นเหน่ง สนับเพลาขาว ศิลปินโนรามีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเทริดอยู่มาก เราไปรู้จักเทริดกันค่ะ

เทริด โนรา

เทริด : องค์ประกอบ

  • ยอดเทริด ส่วนบนสุด ทำจากไม้รัก ไม้ยอ ไม้ทองหลาง นำมากลึงประกอบเป็น 3 ชั้น จากใหญ่ไปเล็กปลายแหลม สื่อถึงความสูงส่ง ศักดิ์ศรีและความเจริญรุ่งเรือง
  • กระจัง  เครื่องประดับตัวเพดานเทริด ตกแต่งขอบนอกและขอบในของเพดานเทริด คล้ายดอกไม้ไหว ทำจากแผ่นหนังบาง ๆ หรือแผ่นพลาสติกตัดให้โค้งขึ้นคล้ายกลีบบัวอยู่รอบ ๆ เพดานเทริดด้านบน แต่เทริดที่สร้างในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ช่างเก่า) จะมีลักษณะคล้ายกับรูปองค์พระมหาธาตุ โดยในหนึ่งยอดเทริดจะมีตัวกระจังกี่ตัวไม่กำหนด ดูตามความสวยงาม
  • ดอกไม้ไหว องค์ประกอบตกแต่งบนเพดานเทริด เป็นดอกไม้ที่ดัดจากเส้นลวด ปลายก้านตัดเป็นรูปดอกไม้ลงรักปิดทอง ส่วนโคนปักไว้กับเพดานเทริด
  • ด้ายมงคล ด้ายสีขาวพันอยู่บนเพดานเทริด มีเฉพาะเทริดที่เข้าโรงครูโนราแล้วเท่านั้น แต่ถ้าเทริดยังไม่ได้เข้าโรงครูโนราก็จะไม่มีด้ายมงค
  • เพดานเทริด อยู่ใต้ยอดเทริดเป็นข้อต่อระหว่างตัวเทริดกับยอดเทริด ใช้ไม้ที่มีชื่อเรียกเป็นมงคลและมีน้ำหนักเบา เช่น ไม้รัก ไม้ยอ ไม้ทองหลาง นำมากลึงให้เข้ากับรูปศีรษะ ตรงกลางเจาะรูเพื่อเป็นที่สอดยอดเทริด สื่อถึงจักรวาล
  • ตัวเทริด ทำจากไม้ไผ่สานหรือไม้เนื้ออ่อนที่มีชื่อเรียกเป็นมงคลและน้ำหนักเบา ดัดให้โค้งพันรอบเพดานเพื่อปิดศีรษะของผู้สวม
  • หูเทริด อยู่ด้านข้างของเทริด ลักษณะเป็นแผ่นไม้บาง ๆ ติดอยู่ 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ทำจากไม้รัก หรือไม้ยอ ปัจจุบันทำจากทองเหลืองก็มี สื่อถึงการได้ยิน
  • ทูเทริด ไม้ชิ้นเล็ก ๆ ติดกับตัวเทริดด้านในตรงหูเทริด ทำจากไม้ไผ่เหลาใช้ดามตรึงด้านในของตัวเทริดกับหูเทริด
  • อุบะรักร้อย ดอกไม้ที่นำมาร้อยกับเส้นด้ายแล้วรวมเป็นพวง ห้อยระหว่างหูเทริดข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ (จะเห็นได้ในบางเทริดเท่านั้น)

การทำเทริด

  • นำไม้ขนาดเท่าศีรษะผู้สวมตัดเป็นวงกลมคล้ายเขียง ทำเพดานเทริด ใช้ไม้ทองหลาง ถือเคล็ดตามชื่อและเป็นไม้มงคล
  • ยอดเทริด กลึงตกแต่งส่วนยอดให้ได้รูปทรง ทำเดือยใช้เป็นตัวยึดติดระหว่างยอดกับเพดานเทริด ใช้ไม้กระท้อนหรือไม้เนื้ออ่อนเพราะเหลาง่าย
  • หูเทริด กลึงตกแต่งให้มีลักษณะโค้งงอ เรียว คล้ายปีกนก
  • โครงเทริดโดยใช้ไม้ไผ่สาน ใช้ตอกไผ่สีสุกสานเป็นรูปทรงกระบอกกว้างปิดส่วนสูงของศีรษะถึงท้ายทอย ยาวครอบศีรษะมาพันรอบเพดานเทริดตัดปลายให้เสมอ นำไปประกอบกับเพดานเทริดใช้ตะปูเข็มหรือลวดเส้นเล็กร้อยเพื่อให้เพดานติดกับตัวเทริดทากาวตัดแต่งด้านหน้าให้กว้างเพื่อทำหน้าผาก ติดส่วนหูเทริด
  • ตกแต่งเพดานเทริด หรือเรียกว่า “เกร็ด” ด้วยหนังวัว ลดหลั่นกันเป็น 3 ชั้น นำหนังวัวมาตัดเป็นลวดลายแล้วใช้ตะปูตัวเล็กตอกให้เป็นลวดลายอย่างต่อเนื่องบนเพดานเทริด หรือใช้แผ่นพลาสติกก็ได้
  • การทาชันและทาสีเทริด ใช้ชันผงผสมกับน้ำมันก๊าด เพื่อให้เหนียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใช้พู่กันจุ่มชันที่ผสมแล้วทา โครงไม้ไผ่ให้ทั่วเพื่อปิดรอยสาน หลังจากนั้นใช้เชือกไนล่อนมาติดเป็นแนวเพื่อไว้ประดับกระจกแก้ว ชันที่เหลือมาปั้นเป็นรูปกนกตกแต่งเกร็ด โครงเทริดและยอดเทริด
  • การทาสีในส่วนของเทริดและยอดเทริด ตกแต่งประดับลายในส่วนต่าง ๆ ลงรักปิดทองหรือทาน้ำทอง ทาด้านหน้าของเกร็ด โครง และหูให้ทั่ว ผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1- 2 วัน (ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ) ให้สีแห้งสนิทจากนั้นทาสีแดงบนกะโหลกและด้านหลังของเกร็ดให้ทั่ว ส่วนยอดเทริดให้ทาสีทองและสีแดง
  • ตกแต่งและทำลวดลาย ใช้กระจกแก้วสีต่าง ๆ มาตัดเป็นรูปประดับเทริดให้เกิดความสวยตามแนวเชือกไนล่อน ยอดเทริดติดกนกตามชั้น
  • การติดยอดเทริด อาจประดับลูกแก้วหรือเหลาไม้เป็นทรงกลม ขึ้นอยู่กับความต้องการของโนรา ประดับตกแต่งด้วยกระจกแก้ว เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย

ประเภทของเทริดโนรา

  • เทริดชัย เทริดโนราใหญ่ โบราณดั้งเดิม
  • เทริดหน้าพระ เทริดที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ทั้งชายและหญิง
  • เทริดหน้านาง เป็นเทริดที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้เหมาะสมและสวยงามสำหรับโนราผู้หญิง

เทริดแบบดั้งเดิม ลงรักปิดทองคำแท้ ประดับกระจก แบ่งได้ดังนี้

  • เทริดลงรักปิดทองคำแท้ประดับเพชร-พลอย 
  • เทริดหน้านาง ลงรักปิดทองคำแท้ประดับเพชร-พลอย 
  • เทริดเงิน ทำขึ้นเพื่อใช้คู่กับเทริดทองคำ 
  • เทริดสีทอง ที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้มี 2 แบบ เทริดสีทองประดับกระจก เทริดสีทองประดับเพชร 
  • เทริดสีต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สั่งทำ 
  • เทริดย่อส่วนสำหรับบูชาติดหิ้ง

ศิราภรณ์ของโนรา

ตามตำนาน พระยาสายฟ้าฟาด ประทานเครื่องต้นหรือเครื่องทรงกษัตริย์ ประกอบด้วย เทริดและเครื่องประดับให้กับโนราคนแรกผู้ร่ายรำได้งดงาม และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนศรีศรัทธา” ตามขนบดั้งเดิมนั้นผู้ที่สวมใส่เครื่องแต่งกายนี้คือ นายโรง หรือ โนราใหญ่ เท่านั้น

ความเชื่อเรื่องเทริด

  • ข้ามเทริด เทริดเครื่องครอบศีรษะของโนรา ถือว่าเทริดเป็นของสูง ไม่ควรที่จะถูกหรือคร่อมเป็นอันขาด และเทริดของโนรามักจะมีของขลังและมีสายสิญจน์พันไว้ ใครที่ข้ามหรือคร่อมเทริดมักจะถูกครูหมอลงโทษ ความเชื่อเรื่องการข้ามเทริดนี้ถ้าพิจารณาแล้วก็น่าจะเป็นผลจาก การทำให้ยอดเทริดหักกว่าจะซ่อมหรือหาใหม่มาทดแทนได้ต้องใช้เวลานาน
  • การข้ามเทริด คือการข้ามครู การลบหลู่บุญคุณครู ศิลปินโนราถือว่าเทริดคือตัวแทนของครู วิชาของครูที่สืบทอดกันมาให้ตั้งแต่พิธีครอบเทริด ดังนั้นการข้ามหรือคร่อมเทริดเท่ากับเป็นการลบหลู่และดูหมิ่นวิชาชีพ
  • เทริด คือสิ่งแรกที่โนราต้องถอดในการถอดเครื่องแต่งตัว ซึ่งก่อนถอดจะต้องพนมมือบอกกล่าวครูหมอโนราเป็นการขอบคุณที่ช่วยให้การแสดงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากนั้นจึงเก็บเทริดไว้ในซุมเทริดวางไว้บนที่สูงป้องกันคนเดินข้าม เพราะเชื่อว่าเทริดเป็นของสูงใช้เป็นตัวแทนของครู ใช้สวมศีรษะ การวางในที่ต่ำถือเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นครู
  • ครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ คณะโนราเชื่อว่าผู้ที่จะเป็นโนราโดยสมบูรณ์สามารถเป็นโนราใหญ่หรือนายโรงโนรา และทำพิธีโนราโรงครูได้ ต้องได้รับการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่เสียก่อน

ภูมิปัญญาการทำเทริดโนรา

  • ไม้ที่นิยมทำเทริดได้แก่ ไม้ขนุน ไม้ทองหลาง ไม้ทุ้งฟ้า ไม้กระท้อน เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน หาง่ายและมีในชุมชน
  • การสวมเทริดให้ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งจับส่วนกลางของยอดเทริด อีกข้างประคองส่วนท้ายทอยของเทริดแล้วสวม การสวมเทริดให้สวยต้องให้ขอบกรอบหน้าเทริดแนบกับหน้าผากในจุดที่ดูเหมาะสมกับหน้า
  • ขนบธรรมเนียมโนราที่ยึดถือกันมาคือ คนที่สิทธิ์สวมเทริดคือคนที่ได้รับการประกอบพิธีกรรมผูกผ้าใหญ่ครอบเทริดมาแล้ว มีอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์

เทริดโนราทรงนครศรี

เทริดโนราทรงนครศรี เป็นเทริดโนราที่ใช้สำหรับตัวพระในโนราพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีลักษณะเฉพาะคือ

  • ยอดเทริด: มีลักษณะคล้ายฉัตร 7 ชั้น ประดับด้วยลูกแก้ว หมายถึง 7 ขันธ์ 5 ธาตุ
  • เพดานเทริด: มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ประดับด้วยลวดลายดอกบัวและลายกนก ลายดอกบัว หมายถึงความบริสุทธิ์
  • กรอบหน้าเทริด: มีลักษณะเป็นวงรี ประดับด้วยลวดลายกนก หมายถึงความอ่อนช้อย
  • ใบหูเทริด: มีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ประดับด้วยลวดลายกนก หมายถึงการได้ยิน
  • ผ้าประดับเทริด: นิยมใช้ผ้าไหมสีต่างๆ เช่น สีทอง สีเงิน สีแดง สีเขียว หมายถึงความสวยงาม อ่อนหวาน

เทริด ศิราภรณ์ของโนรา เครื่องแต่งกายส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความงดงาม ความน่าชมของ “โนรา” เครื่องแต่งกายที่ศิลปินโนราต้องอยู่ในกฎข้อบังคับ จารีตปฏิบัติของโนรา ผู้สวมใส่ต้องเคารพ เคร่งครัดในกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มี เทริดโนรา ของแต่ละพื้นที่มีจุดที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เทริดของนครศรีธรรมราชอย่างโบราณมีมาอย่างน้อยตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เรียกกันว่า “เทริดโนราทรงนครศรี” หลักฐานทางโบราณสถานได้แก่ ซุ้มประตูเยาวราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, วิหารทรงเทริด วัดก้างปลา อำเภอทุ่งสง และซุ้มประตูวัดยางใหญ่ ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา

ซุ้มประตูเยาวราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดก้างปลา
วิหารทรงเทริด วัดก้างปลา (ภาพจาก เที่ยวหนึ่งวัน รูปหนึ่งพัน)
วัดยางใหญ่
ทางเข้าวัดยางใหญ่

อ้างอิง

Visits: 93

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.